คิดเห็นแชร์ : อยากเริ่มต้นธุรกิจยุคใหม่ให้ประสบความสำเร็จ ต้องมีจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่ดี

สวัสดีท่านผู้อ่านคอลัมน์คิดเห็นแชร์ทุกท่าน ปี 2565 ถือว่าเข้าสู่การเริ่มต้นของยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง และผันผวน ตั้งแต่ที่เราได้ประสบวิกฤตหลายสิ่งหลายอย่างมา ทั้งในเรื่องของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ที่กว่าจะคลี่คลายแล้วก็ยังไม่หายดี กลับต้องเจอกับปัญหาสงครามความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ตกต่ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนหลายธุรกิจต้องปิดกิจการ แรงงานถูกเลิกจ้าง ลดค่าแรง ผู้คนตกงาน หรือแม้กระทั่งหุ้นตก ค่าครองชีพสูงขึ้นจากค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนเกิดพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ตระหนักรู้และหันมาให้ความสนใจในสุขภาพและความมั่นคงในชีวิตมากยิ่งขึ้น การได้ทำงานในองค์กรใหญ่ๆ มีตำแหน่งระดับผู้บริหาร มีรายได้หลักแสน อาจไม่ได้มีความมั่นคงอีกต่อไป จึงทำให้คนยุคปัจจุบันปรับเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) แตกต่างไปจากเดิม เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจในงานประจำ แต่กลับมองหาสิ่งแปลกใหม่หรือสิ่งที่ตัวเองถนัดและสนใจที่สุด มาสร้างให้เกิดรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ไม่ได้ยึดติดกับกรอบแนวคิดเดิมๆ ที่ว่า ตั้งใจเรียน หางานทำในบริษัทดีๆ แล้วจะมีความมั่นคง อย่างที่ทราบกันดีครับว่าเราเจอกับอะไรมาบ้าง? แนวคิดนั้น Out!! ไปแล้วครับสำหรับคนยุคนี้

คนรุ่นใหม่ในปี 2565 หรือที่บางคนเรียกกันว่ายุคมิลเลนเนียล (Millennials Generation) ที่กำลังจะมากุมชะตาของประเทศไทยในอนาคต คนรุ่นใหม่เหล่านี้มีความใฝ่ฝันที่จะมีธุรกิจหรือสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง สานต่อความฝันของตัวเองและครอบครัว และหวังว่าวันหนึ่งธุรกิจที่ตัวเองทำนั้นจะกลายเป็นมรดกให้กับลูกหลานได้ต่อไปในอนาคต มีพฤติกรรมการทำงานที่เลือกงานและเปลี่ยนงานเร็ว จนทำให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องประสบปัญหาการขาดแคลนพนักงานคุณภาพและต้องแย่งหาคนมาทำงานในยุคที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยที่มีจำนวนคนทำงานน้อยลงเรื่อยๆ ดังที่ผมเคยได้ให้ความคิดเห็นแชร์ไว้ ในเรื่อง “คน” ความท้าทายของการดำเนินธุรกิจในยุคหลังโควิด-19 แต่ทราบมั้ยครับว่า ธุรกิจ SMEs และธุรกิจ Startup ของคนรุ่นใหม่ จาก 100% มีธุรกิจเป็นจำนวนมากถึง 95% ที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน มีเพียงแค่ 5% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ อย่างที่เราๆ ท่านๆ ได้เห็นตัวอย่างจากสื่อต่างๆ ที่ตีแผ่ความสำเร็จของผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ผมถือว่านั้นเป็นแบบอย่างที่ดี

ที่ทำให้ใครหลายๆ คนมีกำลังใจทำในสิ่งที่ตัวเองรักมากยิ่งขึ้น ซึ่งธุรกิจของคนรุ่นใหม่เหล่านั้น มีมุมหรือลักษณะธุรกิจที่เป็นรูปแบบใหม่ที่สามารถทำรายได้ดีในยุคนี้อย่างน่าประหลาดใจนัก จนทำให้คนที่ทำงานประจำที่อยู่ในกรอบเดิมๆ ต้องหันกลับมาคิดกับตัวเลยทีเดียวว่าฉันกำลังทำอะไรอยู่ แต่ถ้าหากมองอย่างวิเคราะห์เจาะลึกลงไปแล้วเราจะพบครับว่า พวกเขาที่ประสบความสำเร็จเหล่านั้น มีบางสิ่งบางอย่างที่เหมือนกัน และยังคล้ายคลึงกับผู้ประกอบการรุ่นเก่าที่ประสบความสำเร็จ ถึงแม้จะต่างมุมต่างวัยกัน นั่นก็คือ “จิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Spirit)”

Advertisement

จิตวิญญาณ หรือ Spirit ในภาษาอังกฤษ คือ สิ่งที่มองลึกเข้าไปในจิตใจ หรือสิ่งที่มีคุณค่าสูงทางจิตใจ ดังนั้น จิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ ก็คือ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องมีภายในจิตใจนั่นเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาตนเองให้มีแรงขับเคลื่อนภายในซึ่งถือเป็นคุณลักษณะสำคัญของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ และจากข้อมูลงานวิจัยเรื่อง แนวคิดการพัฒนาจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ ในวารสารสมาคมนักวิจัย

ปีที่ 25 (2563) พบว่า จิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ ถือเป็นคุณสมบัติที่มีความจำเป็นในการสร้างความก้าวหน้าและความสำเร็จของการเป็นผู้ประกอบการ คุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทั้งองค์กรที่แสวงหาผลกำไรและองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรต่างต้องการ เพราะบุคคลที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ย่อมสร้างสรรค์ผลงานและพัฒนาตนเอง พัฒนางาน และองค์กรได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในการทำงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือดีพร้อมที่มีประสบการณ์ในการบ่มเพาะผู้ประกอบการและช่วยเหลือผู้ประกอบการมากว่า 80 ปี ที่ส่งเสริมให้นักธุรกิจต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง ไม่ใช่มีเพียงความฝันในการเริ่มต้นและอยากทำธุรกิจเท่านั้น โดยจำเป็นต้องมีคุณสมบัติภายในจิตใจที่เข้มแข็ง ได้แก่ 1) มีความรักและมุ่งมั่นในสิ่งที่ทำไม่ย่อท้อ (Passion) 2) มีกระบวนการคิดไปในเชิงบวก (Positive Thinking) สามารถมองเห็นโอกาสในวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นได้ คอยเป็นกำลังใจให้ตัวเองและทีมงาน 3) มีความพร้อมที่จะปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานเสมอ (Adaptability) ไม่ยึดติดกับสิ่งเดิมๆ ยอมรับและปรับตัวให้ก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ๆ 4) มีความเป็นผู้นำ (Leadership) มีแรงบันดาลใจที่สามารถดำเนินธุรกิจไปสู่เป้าหมายได้ตามที่ตั้งใจไว้ และ 5) มีความทะเยอทะยาน (Ambition) ที่จะนำพาธุรกิจของตัวเองไปสู่จุดที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งในบางคนอาจมีคุณลักษณะด้านอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ผมได้กล่าวมาอีก ที่สำคัญคือ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ สามารถฝึกฝนเรียนรู้ขึ้นได้จาก “การลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ” เท่านั้น หลายโครงการที่ผ่านมาของภาครัฐได้สนับสนุนงบประมาณหรือทรัพยากรการผลิตให้กับผู้ประกอบการในลักษณะที่ให้เปล่ามากจนเกินไป จนทำให้ผู้ประกอบการกลับอ่อนแอลงและไม่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันมีสื่อการเรียนรู้มากมายให้ท่านได้ศึกษาค้นคว้าได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือการสมัครเข้าร่วมอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการใหม่กับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ อย่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือดีพร้อม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ท่านร่นระยะเวลาในการลองผิดลองถูก ประกอบกับการมีเจ้าหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงหรือโค้ชที่คอยให้คำปรึกษาแนะนำและพร้อมประคองท่านให้ก้าวไปด้วยกัน

สุดท้ายนี้ จะเห็นได้ว่าการเป็นผู้ประกอบการ นั้นใช้แค่ “ความอยากเป็น” อย่างเดียวคงเป็นกันไม่ได้

แต่จะต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการที่มีอยู่ภายในด้วย ไม่ว่าท่านผู้อ่านมุ่งมั่นที่จะทำหรือเป็นอะไร อย่าลืมใส่จิตวิญญาณและความมุ่งมั่นตั้งใจลงไปในสิ่งเหล่านั้นด้วย มันจะทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ขึ้นมา ดั่งที่ ไมเคิล จอร์แดน อดีตนักบาสเกตบอลอาชีพในตำนาน สังกัดทีมชิคาโก บูลส์ กล่าวไว้ว่า “ฉันชู้ตพลาดมากกว่า 9,000 ครั้งในอาชีพการงานของฉัน ฉันทำเกมแพ้เกือบ 300 ครั้ง 26 ครั้งที่ฉันได้รับความไว้วางใจให้ชู้ตลูกตัดสินแพ้ชนะและฉันพลาด ฉันล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีกในชีวิตของฉัน และนั่นคือเหตุผลที่ฉันประสบความสำเร็จ” สำหรับวันนี้ผมต้องขอลาไปก่อน พบกันใหม่คราวหน้า กับเรื่องราวและข้อคิดดีๆ ใน คิด เห็น แชร์ ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image