อัพเดตรถไฟฟ้าหลากสี ความหวังคนเมือง ทางเลือกยุคน้ำมันแพง-ค่าครองชีพกระฉูด!!

อัพเดตรถไฟฟ้าหลากสี ความหวังคนเมือง ทางเลือกยุคน้ำมันแพง-ค่าครองชีพ

ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัจจัยลบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุดลง ผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ส่งผลให้ทั้งประเทศไทย และทั่วโลกต้องแบกรับค่าน้ำมันสูงวัตถุดิบโลกขาดแคลน การลงทุนภาครัฐ คือ แนวทางหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศยุคเงินเฟ้อสูง ค่าครองชีพพุ่งน้ำมันแพง

⦁สศช.ชี้เงินเฟ้อมีโอกาสพุ่งแตะ5-6%

ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะเดินหน้าลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่หลายฝ่ายยังคงกังวล คือ ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ โดย ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า จากแนวโน้มราคาน้ำมันและเชื้อเพลิงที่ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต และการขนส่งของผู้ประกอบการ จนเป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อของไทยให้ยังคงอัตราสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2565 สูงจากปีก่อน 5-6% เมื่อรวมกับปัจจัยผลกระทบสะสมต่อเนื่อง อาทิ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และความผันผวนของค่าเงินบาท ขณะที่การส่งออกยังดี การท่องเที่ยวเริ่มฟื้น คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 7-10 ล้านคนในปีนี้ ส่วนเสถียรภาพการเมืองในประเทศเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย เชื่อว่าทุกฝ่ายจะสามารถช่วยกันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้ และคาดว่าจากปัจจัยบวกเหล่านี้ จีดีพี ในปี 2565 จะขยายตัวอยู่ที่ 3%

จากความกังวลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชนต่างต้องการให้ภาครัฐ เดินหน้าลงทุนและพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้วยกันทั้งสิ้น โดยมีความหวังร่วมกันว่าโครงการที่จะเกิดขึ้นจะช่วยให้ประชาชนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันลดลง ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลได้เดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าไปหลายเส้นทางแล้ว ซึ่งหลายเส้นทางสามารถช่วยร่นระยะเวลาในการเดินทางระหว่างเมืองได้เป็นอย่างดี

Advertisement

⦁วอนรัฐเร่งลงทุนสกัดเงินเฟ้อ

เศรษฐกิจไทยในมุมมองภาคเอกชน ธวัชชัย เศรษฐจินดา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย ได้ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจในตอนนี้เป็นเศรษฐกิจทวิภพ คือ ธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจในภาคของการผลิตและส่งออก เซ็กเตอร์นี้ยังสามารถเติบโตได้ดี ประเมินจากการส่งออกที่เห็นบริษัทขนาดใหญ่มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง แต่หากมองในแง่ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้บริโภคในระดับกลางลงล่าง พบว่าคนกลุ่มนี้ คือ คนที่ได้รับผลกระทบสูงมากเป็นหลักซึ่งมีปัญหาทั้งในแง่รายได้และต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยในภาวะปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้า หรือบริการได้แบบทันทีทันใด จึงต้องแบกรับต้นทุนที่สูงเอาไว้แทน ทำให้รายได้ หรือกำไรลดลง

ดังนั้น จึงมองว่ารัฐบาลคงเข้าใจว่าปัญหาของเงินเฟ้อไม่ได้เกิดจากปัญหาภายในประเทศอย่างเดียว แต่เป็นปัจจัยมาจากต่างประเทศด้วย ซึ่งการแก้ปัญหาของรัฐบาลผ่านควบคุมราคาสินค้าและต้นทุนพลังงานเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น โดยควรที่จะเร่งรัดโครงการลงทุนของรัฐบาล ขยับเพิ่มในด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อให้การใช้จ่ายของภาครัฐ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการเติบโตในประเทศ รวมถึงต้องสร้างความโปร่งใสและชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ด้วย

Advertisement

⦁อัพเดตรถไฟฟ้าหลากสี

หนึ่งในการลงทุนสำคัญ คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟฟ้า “มติชน” สำรวจการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าทั้งหมด 5 สี 14 เส้นทางหลักของรัฐบาล ทางเลือกหนึ่งของประชาชนในยุคน้ำมันแพง ปัจจุบันมีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าทั้งหมด 5 สี 14 เส้นทางหลัก ที่ได้เปิดให้บริการแล้ว ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สายสุขุมวิท) เส้นทาง หมอชิต-อ่อนนุช สายสีเขียวเข้ม (ต่อขยายสุขุมวิท) เส้นทาง อ่อนนุช-แบริ่ง,แบริ่ง-เคหะ และหมอชิต-คูคต โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สายสีลม) เส้นทาง สนามกีฬา-ตากสิน ส่วนต่อขยายสีลม เส้นทาง ตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า สีน้ำเงิน เส้นทางบางซื่อ-หัวลำโพง, หัวลำโพง-หลักสอง และบางซื่อ-ท่าพระ สายสีม่วง เส้นทาง บางใหญ่-เตาปูน สายสีทอง เส้นทาง กรุงธนบุรี-ประชาธิปก และโครงการรถไฟชานเมือง สายสีแดงเข้ม เส้นทาง บางซื่อ-รังสิต สายสีแดงอ่อน เส้นทาง บางซื่อ-ตลิ่งชัน

ขณะเดียวกัน ยังมีรถไฟฟ้าในอีกหลายสี หลายเส้นทางต่างๆ ที่ยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง และเตรียมทยอยเปิดให้บริการในไม่ช้านี้ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ต่อขยาย) ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 เชื่อมต่อสายสีน้ำเงินช่วง หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ตามแผนคาดเปิดให้บริการในปี 2572 รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เป้าหมายเริ่มก่อสร้างปี 2565 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการปี 2570 สายสีแดงเข้ม (ส่วนต่อขยาย) รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ซึ่งตามแผนคาดจะเปิดให้บริการในปี 2569 สายสีแดงอ่อน (ต่อขยาย) ตลิ่งชัน-ศาลายา-ศิริราช ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570 และยังมีแผนขยายต่อในเส้นทางที่เรียกว่ามิซซิ่งลิงก์ ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง-หัวหมาก วางเป้าหมายเปิดให้บริการในปี 2571

⦁จับตาแก้ปมสายสีเขียว-ส้ม

ขณะที่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โครงการนี้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน คือ เส้นทางตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ ในปี 2568 ส่วนโครงการช่วงตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ยังอยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนเข้าดำเนินการ หลังจากได้มีการยกเลิกการประมูลรอบแรกไป และได้เปิดประมูลใหม่ คาดจะได้ลงนามสัญญาร่วมทุนปลายปี 2565 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2570 เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-คูคต แม้จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ยังติดปัญหาเรื่องการโอนย้ายสัมปทานกลับมาให้กับกระทรวงคมนาคม ซึ่งประเด็นนี้คาดว่าจะมีการหารือร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรต้องติดตามต่อไป

ขณะเดียวกัน โครงการรถไฟฟ้าสีชมพู เส้นทางแคราย-มีนบุรี คาดว่าจะเปิดให้ทดลองให้บริการฟรี จากสถานีมีนบุรี-หลักสี่ ในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ส่วนสายสีเหลือง เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง คาดว่าจะเปิดให้ทดลองให้บริการฟรี จากสถานีสำโรง-พัฒนาการ ในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 เช่นกัน ขณะที่สายสีน้ำตาล เส้นทางแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ถือเป็นอีกเส้นทางที่เป็นระบบรถไฟฟ้าแบบรางโมโนเรล คาดจะเปิดให้บริการได้ในปี 2571 ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัรชพล-ทองหล่อ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมแผนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี 2566 คาดว่าจะได้ตัวผู้ชนะระหว่างปี 2567-2568 จากนั้นเริ่มก่อสร้างและทดสอบระบบระหว่างปี 2569-2572 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2573

เมื่อโครงการรถไฟฟ้าหลากสีเหล่านี้เสร็จสิ้น เชื่อว่าจะสะดวกสบายในการเดินทางได้จริง แต่ “หนีเสือปะจระเข้” ประชาชนจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้นคงต้องจับตาดูกันต่อไป!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image