เดินหน้า-แลหลัง ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี’65

หมายเหตุความเห็นภาคธุรกิจภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี และครึ่งหลังของปี 2565

ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร
นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า)

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีเท่าที่คาดหวังไว้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพียง 1.3-1.4 ล้านคนเท่านั้น ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้ลำบาก โดยคาดหวังครึ่งหลังปี 2565 จะต้องนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากกว่านี้ให้ได้

Advertisement

โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4/2565 หรือช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี (ตุลาคม-ธันวาคม) ที่จะปกติจะเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเราต้องติดตามต่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้มากน้อยอย่างไร

ตอนนี้เราเห็นทั้งภาครัฐและเอกชน ทำทุกวิธีทาง เพื่อให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาคือ เมื่อประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งถือเป็นการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบแล้ว เราต้องการนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ แต่หากไม่มีสายการบินที่จะเข้ามาได้ หรือมีเที่ยวบินเข้ามาไม่มากพอ นักท่องเที่ยวก็ไม่สามารถเข้ามาได้ อาทิ แม้เราเปิดน่านฟ้าให้บินแล้ว แต่ประเทศต้นทางไม่มีการเพิ่มเที่ยวบิน หรือสายการบินยังเข้ามาน้อย ก็ไม่มีทางที่นักท่องเที่ยวจะเข้ามาเที่ยวไทยได้ ทำให้สิ่งที่รัฐบาลต้องเดินหน้าเร็วที่สุดคือ การเพิ่มเที่ยวบินเข้าไทยจากประเทศที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักของเรา

ทุกประเทศอยู่ระหว่างการเดินหน้าเปิดประเทศท่องเที่ยว คาดว่าส่วนใหญ่น่าจะคิดเหมือนกันคือ การอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้ เพราะความอันตราย หรืออัตราการเสียชีวิตลดน้อยลงมากแล้ว ต่อไปก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ทำให้การเปิดท่องเที่ยวจะต้องเดินหน้าต่อไป แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ความพร้อมในการใช้จ่ายของตัวนักท่องเที่ยวเอง เพราะผลกระทบจากโควิดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คนส่วนใหญ่มีรายได้ลดลง ความสามารถใช้จ่ายและเดินทางท่องเที่ยวลดลงด้วย แม้ความจริงจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังมีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงอยู่ แต่คนส่วนนี้ถือว่าเป็นกลุ่มจำนวนน้อย หากเทียบกับคนทั่วไป

Advertisement

เป้าหมายปี 2565 ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดการณ์ไว้ที่ 5-7 ล้านคนเท่านั้น มองว่าตัวเลขที่มีความเป็นไปได้ อยู่ประมาณ 5 ล้านคน เนื่องจากประเทศต้นทางยังเดินทางมาได้ไม่สะดวกเท่าที่ควร ทำให้คนที่จะเข้ามามีจำนวนจำกัด บวกกับประเทศที่เข้ามาเที่ยวไทยแน่นอน และมีจำนวนมากๆ อย่างจีน ยังไม่สามารถเข้ามาเที่ยวได้ เพราะนโยบายรัฐบาลจีนยังไม่เปิดให้พลเมืองเที่ยวนอกประเทศ ทำให้ตัวเลขที่คาดหวังจะเห็นแบบ 10 ล้านคนทั้งปี 2565 ดูเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก

การฟื้นตัวของภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ก็เริ่มเห็นการฟื้นตัวกลับมาบ้างแล้ว แต่ไม่ได้เกิดขึ้นในทุกอาชีพ เพราะหลายอาชีพยังไม่สามารถกลับคืนมาได้ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางลงล่าง ส่วนขนาดใหญ่ขึ้นไปไม่มีปัญหาอะไรแน่นอน เพราะมีเม็ดเงินและมีความสามารถแบกรับได้มากกว่า แต่ธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงธุรกิจบริการ ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้มากนัก เพราะลูกค้ายังไม่มา การฟื้นตัวที่พูดถึงจึงใช้วัดในส่วนรวมไม่ได้

ส่วนแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของทั่วโลก รวมถึงไทยด้วยนั้น มองว่าแม้เป็นเทรนด์ของมหภาคที่เริ่มเห็นกันมากขึ้น แต่ขณะนี้เราเห็นผู้ประกอบการในเกือบทุกธุรกิจ รวมถึงสมาชิกในสมาคม ก็มีการกู้เงินอยู่จำนวนมาก ทำให้หากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลกระทบต่อการเพิ่มค่าใช้จ่ายของธุรกิจให้มากขึ้นอีก ซึ่งตอนนี้ต้องยอมรับว่า ต้นทุนของธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจบริการเพิ่มขึ้นสูงมากอยู่แล้ว จึงอยากให้รัฐบาลช่วยดูแลตรงนี้ด้วย เพราะตอนนี้ภาคการท่องเที่ยวในประเทศ ยังไม่ได้ขยับมากเท่าที่ควร

ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)

จากการประเมินเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ประเมินว่ามีธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากโควิด-19 อาทิ อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ และธุรกิจผลิตถุงมือยาง ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไปได้ดีตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน แต่ในช่วงปลายของไตรมาสที่ 2/2565 เข้าไตรมาสที่ 3/2565 ไทยต้องเผชิญกับวิกฤตพลังงานแต่ยังมีธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากพลังงาน อาทิ โรงกลั่น และอุตสาหกรรมยางพารา เช่นเดียวกับภาคการส่งออก ก็ยังขยายตัวได้ดีเนื่องจากไทยเป็นเมืองอาหาร ทำให้หลายอุตสาหกรรมได้ประโยชน์

ดังนั้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 หลายอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัว ส่วนที่ดีอยู่แล้วก็ดีขึ้นไปอีกโดยเฉพาะภาคการส่งออก ที่ได้รับอานิสงส์จากค่าบาทอ่อน ส่วนธุรกิจที่ยังทรงตัวไม่ฟื้น ยังเป็นธุรกิจที่อยู่ในประเทศ เนื่องจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตมีปัญหา จนทำให้เกิดเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งการเกิดขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ เกิดจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน แต่ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยภายนอก อาทิ ราคาน้ำมันดิบโลกตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน เพิ่มขึ้น 18% ต่อเดือน ส่วนราคาหน้าโรงกลั่นเพิ่มขึ้น 16% ต่อเดือน ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นแต่รายได้ของประชาชนต่ำลง การจับจ่ายใช้สอยก็น้อยลง เป็นเหตุให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ปรับเป้าหมายการบริโภคของภาคเอกชนลง จาก 4.5% เหลือ 3.9% ทั้งนี้ คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในครึ่งแรกของปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 2.9-3% ซึ่งคาดว่าจะไม่เกินค่าเฉลี่ยของทั้งปีอยู่ที่ 3.2%

ขณะที่ภาพรวมในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เชื่อว่าภาคการส่งออกยังขยายตัวได้ แต่การนำเข้า เมื่อเงินบาทอ่อนค่าขึ้น 9.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบและสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาสูงขึ้น บวกกับเงินเฟ้อที่ติดมากับต่างประเทศมีอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ จึงทำให้ราคาวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้นไปด้วย ส่งผลให้อำนาจการซื้อลดลง และคนเป็นหนี้สูงขึ้น ซึ่งธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง รวมถึงภาพรวมการท่องเที่ยวที่หวังว่าจะฟื้นตัวขึ้น อาจโดนเงินเฟ้อฉุดกำลังซื้อลงได้ รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันเบนซิน ที่ปรับขึ้นอย่างน่ากลัว จึงคาดว่าในช่วงไตรมาสที่ 3/2565 เศรษฐกิจจะยังซึมตัวและโตช้า

หลังจากนี้ หวังอย่างเดียวว่าภาคการเกษตรจะดีขึ้น โดยเฉพาะราคาพืชผลการเกษตรต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร มาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ส่วนภาคการท่องเที่ยว ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย 7-10 ล้านคนภายในปีนี้นั้น มองว่าเทียบไม่ได้กับที่เราเคยมีก่อนช่วงโควิด-19 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามากว่า 40 ล้านคน เพราะธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวพอล้มแล้วฟื้นยาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เมื่อปิดตัวไปแล้วบางรายก็ปิดกิจการยาวเลย เพราะไม่มีเงินทุนกลับมาดำเนินการใหม่ และการที่ธนาคารจะกลับมาปล่อยเงินกู้ให้อีกครั้งก็เป็นไปได้ยาก

แม้หลายธนาคารจะไม่นำเรื่องเครดิตบูโรมาเป็นตัวพิจารณาว่าจะปล่อยเงินกู้ให้หรือไม่ แต่เมื่อเช็กจากสภาพคล่องแล้วจะพบว่าธุรกิจเหล่านี้แทบไม่เหลือเงินเพื่อมาฟื้นธุรกิจแล้ว

ดังนั้น ความท้าทายในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการเติมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ จึงคาดว่าการเติบโตของจีดีพีตลอดทั้งปี 2565 คาดว่าจะโตประมาณ 3.18% พยากรณ์ได้จากการเติบโตของครึ่งแรกของปี 2565 ที่คาดว่าจะเติบโตไม่เกิน 3%

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการยุโรปสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

เศรษฐกิจช่วงไตรมาสแรกปี 2565 มีความหวังหลังการแพร่ระบาดส่งสัญญาณดีขึ้น แม้โอมิครอนจะเป็นสายพันธุ์ที่ติดง่ายแต่การเจ็บป่วยน้อยลง ส่งผลให้หลายประเทศเปิดประเทศ ความหวังเริ่มเข้ามาเนื่องจากสินค้าไทยเริ่มขายดี การส่งออกขยายตัว ส่งผลให้การค้าทั่วโลกเริ่มกลับมา

แต่ในช่วงเวลาเดียวกันกลับเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมมีปัญหา สินค้าสำคัญต่อการผลิตของแต่ละประเทศหายไป รวมถึงต้นทุนการผลิตมีราคาสูง ปัญหาทั้งหมดมาจากราคาพลังงานที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต อีกทั้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นยังเป็นปัจจัยทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อที่หลายประเทศเผชิญ

จากปัญหาเงินเฟ้อเกิดขึ้น สินค้าที่เคยคิดว่าอาจขายได้ดี หรือคาดว่าทำออกมาแล้วจะมีกำไรก็เริ่มขายยาก เนื่องจากกำลังซื้อหายไป เพราะเจอปัญหาราคาแพง ซึ่งราคาไม่ได้แพงจากตัวสินค้าแต่แพงจากต้นทุนที่มีราคาสูง อาทิ วัตถุดิบพื้นฐานใช้ประกอบภาคการเกษตรที่มาจากพืชมีความเกี่ยวพันในการใช้ปุ๋ย และราคาปุ๋ยปรับตัวขึ้นเร็วตามทิศทางพลังงาน เป็นผลกระทบรุนแรงเกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

อย่างไรก็ตาม ไทยมีเสถียรภาพด้านดุลบัญชีเดินสะพัด เงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังดี รวมถึงค่าเงินไม่ได้อ่อนค่าจนเกินไป หรือถ้าอ่อนไปมากกว่านี้จะเกิดปัญหาการนำเข้าพลังงาน

จากภาพดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจสะวิงและไม่มีทิศทางชัดเจน เนื่องจากเป็นเรื่องของการรอคอยการเกิดสันติภาพระหว่างประเทศที่เกิดการขัดแย้ง

ขณะที่เศรษฐกิจช่วงไตรมาส 2/2565 คาดการณ์ว่าภาคการท่องเที่ยวจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นอีกทั้งภาคการบริการจะเข้ามาเสริมให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐได้ปลดล็อกให้มีการเปิดประเทศและผ่อนคลายให้ธุรกิจภาคบริการกลับมาเปิด

ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวที่เข้ามาคาดว่าจะเป็นนักธุรกิจ หรือผู้มีรายได้สูง เป็นกลุ่มที่พร้อมใช้จ่ายจะทำให้เงินสะพัดมากขึ้น นอกจากนี้ สำหรับนักท่องเที่ยวในประเทศ รัฐต้องมีการสนับสนุนการท่องเที่ยวไทยให้มากขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่สำหรับเศรษฐกิจยังอยู่ที่กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ไม่ได้ขยับตัวสูงขึ้น โดยราคาสินค้าแพงจากต้นทุนด้านพลังงานปรับตัวเป็นผลกระทบที่ทุกฝ่ายต่างเหนื่อยเหมือนกัน อาทิ ภาคการผลิต เนื่องจากมีสินค้าหลายประเภทของภาคการผลิตที่ไปอยู่ในระดับสินค้าควบคุม จึงไม่สามารถขึ้นราคาได้ในภาวะต้นทุนสูง ส่วนภาคประชาชนมีรายได้ต่ำมาตั้งแต่ช่วงโควิดจนทำให้กำลังซื้อหายต่อเนื่อง จึงยังเป็นเศรษฐกิจที่เรียกว่ายังไม่เห็นแสงสว่างที่ชัดเจน ทั้งนี้ หากภาคการท่องเที่ยวสามารถทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาได้มากจะช่วยเติมให้เศรษฐกิจสำหรับภาคบริการดีขึ้น

ทั้งนี้ จากกรณีหลายประเทศหยุดส่งออกอาหารบางชนิด ส่งผลให้ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าประเภทอาหารในตลาดใหม่ๆ ได้บางตัว จากสินค้าที่เรามีความสามารถสูงหรือบางตัวที่เป็นส่วนเกินการบริโภคภายในประเทศ ก็เป็นโอกาสดีของไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image