ควงแขน‘เอฟตา’ฟื้นความหวัง เอฟทีเอ‘ไทย-ยุโรป’ฉบับแรก

ควงแขน ‘เอฟตา’ ฟื้นความหวัง เอฟทีเอ ‘ไทย-ยุโรป’ ฉบับแรก

ช่วงวันที่ 28-30 มิถุนายน 2565 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ การประชุมเจรจาเปิดการค้าเสรี (FTA) ในกรอบความตกลงการค้าเสรีไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) รอบแรก ซึ่งสมาชิก EFTA ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์

ฝ่ายไทย นำโดย นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

นางอรมนกล่าวถึง การประชุมรอบแรกว่า ที่ประชุมครั้งแรกเน้นการหารือทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้าง แนวทาง และรูปแบบการเจรจา โดยในส่วนโครงสร้างการเจรจานั้นจะมีคณะกรรมการเจรจาการค้า (TNC) มีระดับอธิบดีและเจ้าหน้าที่อาวุโส (ประชุม SOM) ของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม

โดยดูภาพรวมการเจรจาพร้อมกับการแบ่งกลุ่มเจรจาย่อยในเรื่องต่างๆ กำหนดการเจรจากลุ่มย่อยไว้ 16 หัวข้อ แต่ละเรื่องจะมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม

Advertisement

ประกอบด้วย 1.การค้าสินค้า 2.กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าและความร่วมมือด้านศุลกากร 3.การอำนวยความสะดวกทางการค้า 4.มาตรการเยียวยาทางการค้า

5.มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 6.มาตรการอุปสรรคเทคนิคต่อการค้า 7.การค้าบริการ 8.การลงทุน 9.พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 10.ทรัพย์สินทางปัญญา 11.การแข่งขัน

12.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 13.การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 14.ความร่วมมือด้านเทคนิคและการเสริมสร้างศักยภาพ 15.ข้อบททั่วไป ข้อบทสุดท้าย และข้อบทเชิงสถาบัน และ 16.การระงับข้อพิพาท โดยในที่ประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลพื้นฐานในแต่ละเรื่อง และซักถามเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น รวมทั้งกำหนดแผนการเจรจาในรอบต่อๆ ไป ที่จะมีรายละเอียดมากขึ้น

Advertisement

กรอบ FTA ไทย-EFTA เป็นเรื่องต่อเนื่องจากที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะเยือนสาธารณรัฐไอซ์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 18-22 มิถุนายนที่ผ่านมา

โดยในวันที่ 20 มิถุนายน ทั้ง 5 ประเทศได้จัดพิธีประกาศเริ่มการเจรจาความไทยกับเอฟตา ณ ร้านอาหารเอ็งแลนดิงกาวิก (Englendingavik) เมืองบอร์กาเนส ประเทศไอซ์แลนด์ นับหนึ่งในการเริ่มการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับเอฟตา และเป็นการพบปะกันของนายจุรินทร์ กับนางธอร์ดิส โคบรุน เรคเฟรียด กิลฟาดอตติร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไอซ์แลนด์ นางโดมินิค ฮาสเลอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ การศึกษาและกีฬาของลิกเตนสไตน์ นางยานิคกะ อันเดรียอัสเซน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของนอร์เวย์ นางมารี เกเบรียล อินไนเชน เฟลช เลขาธิการสํานักงานกิจการเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ และ นายอองรี เจทาซ เลขาธิการเอฟตา

“ถือเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศยุโรป เราใช้ความพยายามในการเจรจา FTA ระหว่าง ไทย-เอฟตา มาเกือบ 20 ปี เพิ่งมาประสบความสำเร็จเที่ยวนี้ ครั้งนี้ถือเป็นการประกาศนับหนึ่งในการเริ่มการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับเอฟตา และตั้งเป้าว่าจะได้ข้อสรุปของการเจรจาให้จบ ภายใน 2 ปี จากนั้นจะเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการกฎหมายของแต่ละประเทศต่อไป โดยตั้งเป้าจะเจรจาให้จบภายใน 2 ปี และยิ่ง FTA ไทย-เอฟตา บรรลุผลเร็ว จะก่อประโยชน์ทางการค้า การลงทุน ระหว่างกัน ทั้งไทยกับกลุ่มประเทศเอฟตา จะช่วยเพิ่มมูลค่าระหว่างกันไปเร็วมากยิ่งขึ้น”

นายจุรินทร์ระบุต่อว่า ในปี 2564 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเอฟตารวมกันประมาณ 7,500 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าภายหลังจากที่เอฟทีเอฉบับนี้ประสบความสำเร็จและเริ่มบังคับใช้ จะทำให้มูลค่าการค้าเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวในเวลาอันรวดเร็ว เพราะความร่วมมือเที่ยวนี้ มีทั้งเรื่องความร่วมมือการค้า สินค้าบริการ และการลดภาษีนำเข้า-ส่งออกระหว่างกัน

รวมทั้งเรื่องการลงทุนอีคอมเมิร์ซและการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน และที่สำคัญจะจับมือกันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งจะมีรายละเอียดในเรื่องสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ตามมา ที่เห็นชัดในรูปธรรมเร็วที่สุด คือ หลังจากประกาศเริ่มการเจรจา FTA ไทย-เอฟตา โดยภายในหนึ่งสัปดาห์จากการพบปะ ไทยจะป็นเจ้าภาพการประชุมผู้บริหารระดับอาวุโส (SOM) ทันทีที่กรุงเทพฯ

การเยือนครั้งนี้ ในวันที่ 21 มิถุนายน นายจุรินทร์ก็ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมด้าน เศรษฐกิจและการค้า (Joint Economic and Trade Committee :JETCO) ไทย-สหราชอาณาจักร (ระดับรัฐมนตรี) ครั้งที่ 1 ที่สหราชอาณาจักร ร่วมกับ นางเพนนี มอร์ดอนท์ รัฐมนตรีด้านนโยบายการค้า กระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ของสหราชอาณาจักร

โดย JETCO จะครอบคลุมใน 6 ด้าน 1.ด้านการเกษตร 2.ด้านดิจิทัล 3.อาหารเครื่องดื่ม 4.ด้านการลงทุน 5.ด้านการค้า และ 6.ด้านการเงิน เป้าหมายเพื่อฟื้นตัวเลขความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร (ยูเค) ในอนาคต พร้อมกับตั้งเป้าว่าจะทำอย่างไร ให้การค้าระหว่างกันกลับมาเป็น 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐเหมือนเดิมให้เร็วที่สุด และเพิ่มขึ้นในปีถัดๆ ไป

“ได้มีการพูดกันว่าความสัมพันธ์เศรษฐกิจในรูปแบบ JETCO คือ Joint Trade Committee: JTC คณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งหลายประเทศทำ แต่ในอนาคตอันใกล้เราจะพัฒนาไปเป็น ETP หรือหุ้นส่วนทางการค้าที่แน่นแฟ้น (Enhanced Trade Partnership) จะเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้าเศรษฐกิจระหว่างการในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น และแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นจากนั้นจะพัฒนาไปเป็น FTA ต่อไป เหมือนที่ปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ” นายจุรินทร์กล่าว

ในการเยือนยุโรปครั้งนี้ นายจุรินทร์ยังชักจูงให้ภาครัฐและเอกชนเห็นถึงประโยชน์ไม่แค่การใช้สิทธิประโยชน์จากการทำข้อตกเปิดเสรีในกรอบเอฟทีเอ (FTA) หลักเท่านั้น ยังเสนอแนวคิดใช้ประโยชน์ระดับ Mini FTA ต่อนักลงทุนในยูเค

หลังจากเห็นถึงความต้องการนำเข้าสินค้าไทยภายใต้กิจกรรมส่งเสริมการค้า ที่มีภาคเอกชนไทยเข้าร่วมงาน ที่เมือง “ครอยดอน” (Croydon) ของยูเค ปรากฏว่าเกิดการลงนามซื้อสินค้าไทยรวดเร็วถึง 4,600 ล้านบาท อาทิ สินค้าไก่ ข้าวหอมมะลิ เครื่องปรุงรส และอาหารทะเลแปรรูป เป็นต้น หรือการสำรวจสินค้าไทยที่ห้าง Kronan (โครนาน) เมืองเรคยาวิก ประเทศไอซ์แลนด์

พบว่า มีสินค้าไทยที่หลากหลาย และเจ้าของห้างระบุว่า สินค้าไทย มียอดนำเข้าและวางขายในห้างนี้มากขึ้น โดยเฉพาะข้าวสาร เครื่องปรุงรสอาหาร และอาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น ข้าวราดแกงบรรจุกล่องเพียงอุ่นในไมโครเวฟก็สามารถรับประทานได้เลย รวมถึงสินค้าเพื่อประกอบอาชีพ เช่น อวนจับปลา เพราะเป็นประเทศอุดมด้วยอาหารทะเล

โดยนายจุรินทร์กล่าวถึงโอกาสในไอซ์แลนด์เป็นตลาดที่มีอนาคต เนื่องจากมีผู้นำเข้าประสงค์จะนำเข้าสินค้าไทยมากขึ้นในอนาคต ภาพรวมการค้าไทยกับไอซ์แลนด์ ประเทศไอซ์แลนด์เป็นประเทศมีประชากรประมาณ 300,000 กว่าคน แต่เป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจสูง และมูลค่าการค้าไทยกับไอซ์แลนด์ยังน้อย เพราะถือเป็นตลาดใหม่ของไทย

แม้ปีก่อนหน้านี้ ตัวเลขการค้าระหว่างไทยกับไอซ์แลนด์ มีมูลค่า 782 ล้านบาท ไทยส่งออกมาที่ 212 ล้านบาท ซึ่งน้อยมาก อนาคตเชื่อว่าจะดีขึ้น คาดว่าปี 2565 ตัวเลขส่งออกจะขยายไม่ต่ำกว่า 10%

สำหรับภาคบริการไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน ได้มีเจ้าของร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai select ใน 2 ประเทศนี้ ยินดีกับการเพิ่มนำเข้าสินค้าและผูกพันกันด้วยเปิดเสรีการค้า อย่าง นางยุพิน ลำภา ซึ่งเป็นคนไทยที่มาตั้งรกรากที่ไอซ์แลนด์นานกว่า 30 ปี และได้ประกอบกิจการร้านอาหารไทยในไอซ์แลนด์มากว่า 20 ปี

ปัจจุบันมีร้านครัวไทย 2 สาขาในเมืองเรคยาวิก มีเมนูอาหารไทยให้เลือกหลากหลาย โดยอาหารที่ชาวไอซ์แลนด์นิยม ได้แก่ ผัดไทย มัสมั่น ข้าวผัด ผัดกะเพรา เป็นต้น ขณะที่ในยุโรป มีร้านอาหาร Thai Select จำนวน 327 แห่ง จาก 1,500 แห่งทั่วโลก ถือเป็นตลาดสำคัญไม่แพ้ภูมิภาคอื่น

“เป็นเรื่องน่ายินดี ที่ไทยกับกลุ่มประเทศเอฟตา จะตกลงที่จะลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน เพิ่มสัมพันธ์เรื่องภาคบริการ และแรงงานข้ามแดนได้ง่ายขึ้น สินค้าที่นำมาปรุงอาหารไทยในต่างแดนก็จะได้มีต้นทุนต่ำลง และหลากหลายมากขึ้น ในขณะนี้อาหารไทยเป็นที่รู้จักและนิยมมากขึ้นในยุโรป แม้ประเทศที่ได้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติดระดับโลก อย่างไอซ์แลนด์ ซึ่งก็มีคนไทยเข้ามาพักอาศัยและทำงานถึง 3 พันคนแล้ว”

ย้อนหลังจะพบว่า ไทย-EFTA ได้มีความพยายามกันมาตลอด โดยการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีทำมาแล้ว 2 รอบ ปี 2548 ที่ภูเก็ต และปี 2549 ที่เชียงใหม่ แต่การเจรจาได้หยุดชะงักในเดือนกันยายน 2549 เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ซึ่งต่อมาฝ่าย EFTA เสนอให้ไทยเริ่มเจรจาใหม่อีกครั้ง

แต่ไทยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 โดยมาตรา 190 ได้กำหนดแนวทางและขั้นตอนการดำเนินการก่อนการเจรจารวมถึงการขอความเห็นชอบการเจรจาจากรัฐสภาอีกครั้ง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา จนถึงปัจจุบัน ก็ฟื้นกันอีกครั้ง และแต่ละปีการค้า 2 ฝ่ายจะเกือบ 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ดังนั้น ในการฟื้นเจรจาอีกครั้ง ต่างเชื่อว่าจะบรรลุตามเป้าหมาย จะได้เห็นการลงนามและบังคับใช้จริงปี 2568 เนื่องด้วยขั้วการค้าโลก กำลังเปลี่ยนทิศ จากผลการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือเบร็กซิต (Brexit) การเกิดโรคระบาดโควิด และล่าสุดพิษจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ข้อตกลงแบบทวิภาคี กลับมามีบทบาทในเวทีโลกอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image