คิดเห็นแชร์ : ‘สมาร์ท ปาร์ค’ นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ มุ่งตอบสนองนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน

ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ แสดงเจตจํานงต่อรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ในการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรม ให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 ซึ่งกลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกันเพื่อให้บรรลุ เป้าหมายที่ได้แสดงเจตนารมณ์ในเวลทีระดับโลก

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะหน่วยงานที่พัฒนา จัดตั้ง บริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม ตลอดจนเป็นองค์กรที่ร่วมสร้างฐานการผลิตเพื่อรองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมของประเทศ ก็ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว โดยที่ผ่านมา กนอ.ได้กำหนดนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เพื่อแสดงเจตจำนงมุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำในการลดก๊าซเรือนกระจก สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและสนับสนุนส่งเสริมแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการ นิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาหกรรม ให้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ และมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals ; SDGs) ขณะนี้ยังต่อยอดไปสู่การพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่เป็นต้นแบบของการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม คือ นิคมอุตสาหกรรม
สมาร์ท ปาร์ค ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ห้วยโป่ง อ.เมือง จ.ระยอง

เพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค บรรลุเป้าหมายในการเป็นนิคมฯต้นแบบสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน นำไปสู่การเป็นนิคมฯ Carbonless กนอ.ตั้งเป้าส่งเสริมการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการพลังงานภายในนิคมอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดทดแทนการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล เช่น การออกแบบติดตั้ง Solar floating ในอ่างเก็บน้ำ 166,400 ตร.ม. สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 17 MW ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 9.13 ล้าน kgCO2eq/ปี ติดตั้งระบบ Solar Rooftop บนพื้นที่ 840,000 ตร.ม. สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 80 MW ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 42.96 ล้าน kgCO2eq/ปี นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะนำพลังงานไฮโดรเจนและพลังงานชีวภาพ มาใช้ในระบบการขนส่ง และระบบ District Cooling ภายในโครงการอีกด้วย คาดว่านิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะดำเนินการได้ถึงร้อยละ 70 อยู่ที่ 35.6 ล้าน kgCO2eq/ปี เมื่อเทียบกับนิคมอุตสาหกรรมที่พัฒนาบนพื้นฐานเดิม ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 132.6 ล้าน kgCO2eq/ปี สำหรับในช่วงของการก่อสร้าง กนอ.ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์
ไฮดรอลิกในการก่อสร้าง โดยจะใช้ปูนซีเมนต์ประมาณ 40,000 ตัน ซึ่งคาดการณ์ว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ชนิดนี้ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะก่อสร้างได้ถึง 2 ล้าน kgCO2eq หรือเท่ากับปลูกต้นไม้ประมาณ 200,000 ต้น

แนวคิดในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ถูกยึดโยงภายใต้คอนเซ็ปต์การพัฒนาทั้ง 9 ด้าน คือ

Advertisement

1.Smart Location ตําแหน่งที่ตั้งเชื่อมต่อเส้นทางการคมนาคนแห่งอนาคตใจกลางเมืองศูนย์กลางการบิน AEROTROPOLIS สอดคล้องกับเขตพื้นที่ EEC ที่แวดล้อมด้วยการคมนาคมขนส่งที่เชื่อมต่อทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศที่สำคัญ

2.Smart Transportation สนับสนุนการขนส่งทางราง เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะภายในโครงการ สถานีขนส่งทางรางด้านหน้า ระบบที่จอดรถส่วนกลาง เชื่อมต่ออู่ตะเภาและตัวเมืองระยอง รองรับการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัดในอนาคต

3.Smart Industry ส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation & Logistics) กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ (Medical Device) กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital)

Advertisement

4.Smart Security การควบคุมและการรักษาความปลอดภัยด้วยระบบเทคโนโลยี ยกระดับการรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้ประกอบการด้วยระบบควบคุมการเข้าออกทางเดินเท้าและรถขนส่งสินค้า

5.Smart Infrastructure ระบบบําบัดน้ำเสีย มีการควบคุมการทํางานของระบบเติมอากาศอัตโนมัติ พร้อมอุปกรณ์วัด อัตราการไหล แรงดัน ระดับน้ำ ค่า PH ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ และ BOD ภายในโรงบําบัดน้ำเสีย ในส่วนระบบไฟฟ้า มีการเดินร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน และการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว ในส่วนระบบสื่อสารและโทรคมนาคม มีระบบรองรับกับเทคโนโลยีการสื่อสารแห่งอนาคตรองรับการควบคุม และในส่วนการบริหารและการจัดการกระบวนการผลิตสินค้า มีระบบศูนย์กลางผลิตน้ำเย็น เพื่อระบบปรับอากาศ ช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า สามารถเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการ เป็นต้น

6.Smart I.O.T โดยร่วมกับระบบสื่อสารและโทรคมนาคม รองรับอุปกรณ์ดิจิทัลในกระบวนการควบคุม และการจัดการเพื่อประสิทธิภาพ ในการบริหารนิคมอุตสาหกรรม และประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน

7.Smart Energy ส่งเสริมผู้ประกอบการให้ออกแบบอาคารตามเกณฑ์ Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability for New Construction (TREES) ของสถาบันอาคารเขียวไทย (TGBI) เพื่อช่วยลดการใช้พลังงานรวมภายในโครงการลง และลดต้นทุนรวมด้านพลังงานของประเทศ 8.Smart Environment โครงการมีพื้นที่สีเขียวรวม 17.22% ส่งเสริมการใช้ทางเท้าและทางจักรยาน และ

9.Smart Life โดยการสร้างสังคมน่าอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีสําหรับชีวิตคนทํางานภายในนิคมอุตสาหกรรม ภายใต้สภาพสิ่งแวดล้อมดี มลภาวะน้อย และเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความสุขในการทํางาน

นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค นอกจากจะถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่ทันสมัย ทั้งทางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ระบบการสื่อสาร ระบบการขนส่ง ระบบพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคต (New S-Curve) ยังมุ่งเน้นเพื่อเชื่อมโยงวิสาหกิจชุมชนสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างครอบคลุมทุกมิติด้วย

ขณะเดียวกัน กนอ.ยังร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ในการส่งเสริมการลงทุนให้กับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate : Smart IE) และพื้นที่ประกอบการอัจฉริยะในนิคมอุตสาหกรรม (Smart Industrial Zone : Smart IZ) โดยเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2565 บอร์ด BOI ได้มีมติเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนกิจการนิคมฯหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โดยมีเงื่อนไข คือ ต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะ 5 ด้าน ได้แก่ 1.Smart Facilities 2.Smart IT 3.Smart Energy 4.Smart Economy และ 5.บริการระบบอัจฉริยะด้านอื่นๆ อย่างน้อยอีก 1 ใน 3 ด้านนี้ คือ Smart Good Corporate Governance / Smart Living / และ Smart Workforce ซึ่งสิทธิประโยชน์ดังกล่าวสอดรับกับความต้องการของนักลงทุนที่สนใจพัฒนานิคมฯอัจฉริยะ และลงทุนในอุตสาหกรรมที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยบรรลุเป้าหมาย Carbonless ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image