คิดเห็นแชร์ : ค้นหาเป้าหมายที่ใช่ ใส่แรงบันดาลใจ ปลุกไฟวัยทำงาน

ด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจในทุกวันนี้ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง ไม่มีความแน่นอน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ข้าวปลาอาหารก็ปรับราคาสูงขึ้นตาม ส่งผลทำให้ค่าครองชีพในปัจจุบันสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว คนวัยทำงานต้องเผชิญกับความกดดันและเคร่งเครียด ครั้นจะออกไปทำธุรกิจส่วนตัวก็มีแต่ความเสี่ยงที่จะล้มเหลวและขาดทุน เรียกได้ว่า “จะกลับตัวก็ไม่ได้ จะเดินต่อไปก็ไปไม่ถึง” อย่างที่พี่เบิร์ด ธงไชย เคยร้องไว้ จนทำให้คนวัยทำงานอย่างพวกเราจะทำอย่างไรดีในสภาวะเช่นนี้

สวัสดีท่านผู้อ่านคอลัมน์คิดเห็นแชร์ทุกท่าน วันนี้ผมจะมาแชร์มุมมองถึงการค้นหาแรงบันดาลใจเพื่อปลุกไฟวัยทำงานกันนะครับ หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมแรงบันดาลใจถึงสำคัญสำหรับคนวัยทำงานในยุคนี้ นั่นก็เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนำไปสู่แนวคิดในการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม ปัจจุบันเทคโนโลยีหรือความเจริญที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้คนในสังคมมีความสะดวกสบายและมีมุมมองที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น จากเครื่องมือ อุปกรณ์ และสื่อต่างๆ รอบกายที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ในทางตรงกันข้าม สภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นส่งผลให้เกิดการเข้าถึงและรับข่าวสารข้อมูลได้หลากหลายมากเกินไป ทั้งที่กลั่นกรองและไม่กลั่นกรองจนทำให้ผู้ไม่หวังดีที่มีเจตนาปลุกปั่นหรือปลุกระดมใช้เป็นช่องทางในการก่อความไม่สงบหรือใช้หลอกลวงให้เสียทรัพย์อย่างที่เราได้เห็นตัวอย่างกันทางสื่อต่างๆ ทำให้เราต้องใช้วิจารณญาณในการคิดไตร่ตรองในการรับข้อมูลข่าวสารให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งคนยุคนี้เคยชินกับความรวดเร็ว ส่งผลให้ความอดทนของคนน้อยลง หงุดหงิดง่ายเพราะที่ผ่านมาในอดีตนั้น การรอคอยคือส่วนหนึ่งในกระบวนการของการฝึกความอดทนให้ดีขึ้นได้

เมื่อสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดโอกาสของธุรกิจใหม่มากขึ้น ธุรกิจบางประเภทไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากแต่สามารถสร้างรายได้มหาศาล หากสามารถจับทิศทางและแก้ปัญหาของกระแสสังคมได้ถูกต้อง เช่น การทำดิจิทัลคอนเทนต์ หรือการขายของออนไลน์ เป็นต้น ทำให้เกิดทางเลือกในการทำงานมากขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับการที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ส่งผลให้ตลาดแรงงานในปัจจุบันไม่ใช่ตลาดของนายจ้างอีกต่อไป การวัดผลลัพธ์ความสำเร็จที่เงิน ถึงแม้ว่าจะมีส่วนสำคัญแต่การที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปทำให้ถึงแม้ว่านายจ้างจะทุ่มเงินในการจ้างมากเท่าไรก็ตาม หากตำแหน่งงานนั้นไม่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานที่มีความอดทนน้อยลงและมีข้อมูลทางเลือกจากสื่อต่างๆ ที่หลากหลายทั้งจากในและต่างประเทศมากขึ้น จนนำมาสู่แนวคิดของความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว (Work Life Balance) ก็ไม่สามารถรักษาคนให้อยู่กับองค์กรนานๆ ได้ เนื่องจากเขามีทางเลือกที่ดีกว่าในการสร้างรายได้ที่เพียงพอกับการเลี้ยงชีพและรักษาสมดุลของงานและชีวิตส่วนตัวได้

ซึ่งสิ่งที่กล่าวมานี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคนรุ่นใหม่เท่านั้น คนวัยเก๋าวัยทำงานที่สามารถรับข่าวสารและก้าวทันความเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปเช่นเดียวกัน

Advertisement

ถึงแม้ว่าอยาก “จะออกไปแตะขอบฟ้า” ตามที่พี่ตูน บอดี้สแลม บอกในเพลงเรือเล็กควรออกจากฝั่งก็ตาม แต่ในสถานการณ์โควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเป็นดั่งพายุถาโถมเข้าใส่ ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ หากยังไม่เจอจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมในช่วงนี้ ประจวบกับอารมณ์ชั่ววูบจากการที่เราอดทนน้อยลงและสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ทำให้เราตัดสินใจอย่างรวดเร็ว หากลาออกจากงานไปก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป และเมื่อเจอกับความเครียด ปัญหา ภาระและอุปสรรค ก็อาจเกิดอาการ “หมดไฟในการทำงาน”

หรือ Burnout Syndrome ซึ่งวันนี้ผมมี 5 ข้อแนะนำที่ใช้ปลุกไฟในการทำงานมาให้พวกเราได้ลองนำไปปรับใช้กันครับ

1.หาทางคลายเครียด ในการทำงานอย่างมุ่งมั่นทำให้เราเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว และหากสะสมเป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดความล้าในการทำงานและอาจมีอาการซึมเศร้าได้ ดังนั้น จึงควรหาหนทางพักผ่อน คลายเครียดอยู่เสมอ เช่น การนอนพักผ่อน ดูโทรทัศน์ ออกกำลังกาย ท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมในยามว่างกับครอบครัวให้สนุกสนานและเป็นประโยชน์

Advertisement

2.ตั้งเป้าหมายที่ใช่สำหรับตนเอง ในการทำงานหรือใช้ชีวิตโดยไร้จุดหมาย ทำให้เราไม่ทราบถึงความคืบหน้าหรือจุดสิ้นสุดของกิจกรรมหรืองานต่างๆ การกำหนดเป้าหมายสำหรับตนเองไม่ใช่เป้าหมายที่คนอื่นขีดกำหนดไว้ให้ จึงเป็นการสร้างความท้าทายให้เราก้าวเดินไปในชีวิตและการทำงานได้

3.สร้างแรงบันดาลใจที่ชอบ การคิดในเชิงบวก สร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง เติมพลังในการทำงาน ความรักและความหลงใหลจะช่วยสร้างแรงผลักดันให้เราสามารถทำงานอย่างไม่ย่อท้อกับอุปสรรค มองเห็นสิ่งที่กำลังทำเป็นเรื่องสนุก จนสามารถหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆ ได้ไม่ยากนัก

4.รอจังหวะที่เหมาะสม ในการทำงานหรือการดำเนินธุรกิจ อุปสรรคและปัญหาที่เข้ามาถือว่าเป็นเรื่องปกติ ย่อมมีช่วงเวลาชีวิตทั้งขาขึ้นและขาลง การรอจังหวะที่เหมาะสมก็เป็นการเตรียมการที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าเมื่อโอกาสที่ดีมาถึง เปรียบเสมือนกับการลงทุนในหุ้นที่ต้องรอเวลาเพื่อให้หุ้นขึ้นไปถึงราคาที่ต้องการ และบางครั้งก็จำเป็นต้องตัดขาดทุนไปเมื่อไปผิดทางเช่นเดียวกัน

5.อยู่ร่วมกับความแตกต่าง อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า สภาพแวดล้อมทางสังคมทำให้กรอบความคิดและทัศนคติของคนแตกต่างกัน ทั้งหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน การยืดหยุ่นยอมรับในความแตกต่าง และพยายามประสานการทำงานระหว่างความแตกต่าง ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การทำงานในธุรกิจและองค์กรเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

ในสังคมยุคใหม่ที่การสร้างความอดทนแบบไร้เหตุผล ทนเป็นวัวเป็นควาย อย่างเพลงของวายน็อตเซเว่น ไม่สามารถยอมรับได้ จนเห็นว่ากิจกรรมในรูปแบบเดิม เช่น กิจกรรมรับน้อง ระบบโซตัส (SOTUS) ที่ถูกนำมาใช้ผิดๆ จนทำให้เริ่มเสื่อมถอยไป งานที่เสี่ยง สกปรก แสนลำบาก (Dangerous Dirty Difficult) นั้น ปัจจุบันแทบจะเป็นงานที่มีไว้สำหรับให้แรงงานต่างด้าวเป็นผู้ทำงานทั้งสิ้น ดังนั้น การสร้างความอดทน โดยใช้สมองหรือโดยแรงบันดาลใจ (Passion) จึงเข้ามาแทนที่ ตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จที่เห็นชัดที่สุดก็น่าจะเป็น สตีฟ จ็อบส์ แห่งบริษัท Apple ที่เคยกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดไว้ว่า “People with passion can change the world” ซึ่งนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจของเขาก็สามารถเปลี่ยนโลกได้จริงๆ

นอกจากนี้ แองเจล่า ดั๊กเวิร์ธ นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้ศึกษาคนที่ก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จในหลากหลายวงการ ทั้งดนตรี กีฬา ธุรกิจ และวิทยาศาสตร์ จนพบว่ากุญแจสู่ความสำเร็จของพวกเขานั้นไม่ใช่พรสวรรค์ ฐานะ การศึกษา หรือประสบการณ์ที่พวกเขามี แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่า กริท (GRIT) ที่อาจแปลว่า วิริยะหรือความเพียร ซึ่งก็แตกต่างจากการอดทน ไม่ใช่อดทนแบบไร้เหตุผล ทนเป็นวัวเป็นควายเช่นเดียวกัน

สุดท้ายนี้ ผมขอเป็นกำลังใจให้คนวัยทำงานทุกท่าน สามารถค้นหาเป้าหมายที่ใช่ สร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเอง สร้างพลังในการสู้ชีวิตทำงาน หรือเริ่มต้นธุรกิจใหม่ได้อย่างประสบความสำเร็จ ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงนี้ไปได้ครับ พร้อมน้อมนำคาถาฝ่าวิกฤตตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า วิริเยนะ ทุกขะมัด เจติ คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร

สำหรับวันนี้ผมต้องขอลาไปก่อน พบกันใหม่คราวหน้า กับเรื่องราวและข้อคิดดีๆ ใน คิด เห็น แชร์ ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image