เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย-ค่าบาท โจทย์หินเขย่าสมการแก้ ‘ศก.’

เงินเฟ้อ-ดบ.-ค่าบาท โจทย์หินเขย่าสมการแก้ ‘ศก.’

สถานการณ์เงินเฟ้อสูงกำลังเป็นปัญหาหนักอกของทุกประเทศทั่วโลก ผลจากราคาน้ำมันโลกแพงขึ้น หลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ลุกลามไปถึงวัตถุดิบการผลิตขาดแคลน ราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งดีดขึ้นเป็นเท่าตัว ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก ต่อจากการแพร่ระบาดของโควิด ที่ยังตามหลอกหลอนอยู่ทุกวัน เมื่อสินค้าแพง ก็ก่อเกิดเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแรง เชื่อมโยงต่อถึงค่าเงินและอัตราดอกเบี้ย

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ความเห็นว่า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) เดือนมิถุนายนของสหรัฐสูงถึง 9.1% มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 8% สร้างความกังวลมากขึ้น เพราะสวนทางกับก่อนหน้านี้ ที่สหรัฐเคยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะค่อยๆ ชะลอลงช่วงครึ่งปีหลัง

เมื่อเงินเฟ้อสหรัฐสูง ต้องจับตาธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเทกแอ๊กชั่นอย่างไรจากที่ผ่านมาเฟดให้จุดยืนและคงน้ำหนักควบคุมเงินเฟ้อ และทำทุกวิถีทางสกัดเงินเฟ้อให้ลดลง จึงมีมุมมองต่อเฟดใหม่ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% อาจไม่พอ คงเพิ่มเป็น 1% เป็นปัจจัยหนุนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเพิ่ม เป็นแรงกดดันต่อค่าเงินหลักภูมิภาคอื่นทั่วประเทศอ่อนลง

ขณะที่หลายประเทศส่วนใหญ่อิงทิศทางเศรษฐกิจของตลาดสหรัฐเป็นหลัก เนื่องจากมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และมีการค้ากับทั่วโลก ดังนั้น หากเศรษฐกิจภายในประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงจะกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ที่สหรัฐเงินเฟ้อสูงผลมาจากเศรษฐกิจฟื้นตัวจากช่วงโควิด ที่สหรัฐใช้นโยบายการอัดฉีดเงินเข้าระบบการเงิน (Quantitative Easing หรือ QE) ไปก่อนหน้า

Advertisement

อีกทั้งยังเป็นประเทศบริโภคนิยม โดยนำเข้ามากกว่าส่งออก และนำเข้าจากจีนเป็นหลัก เมื่อจีนล็อกดาวน์ประเทศก็เกิดปัญหาต่อเนื่อง เกิดการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ขนส่งทางเรือไปไม่ได้ เพราะไม่มีคนนำของลงจากเรือ ส่งผลให้การส่งสินค้าล่าช้า และของแพงขึ้น ระยะถัดมาเกิดปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานแพงต่อเนื่อง กระทุ้งให้เงินเฟ้อสหรัฐสูง จึงเสี่ยงเป็นเศรษฐกิจถดถอย

“เฟด” เลือกคุมเงินเฟ้อ โดยยอมแลกให้เศรษฐกิจถดถอยดีกว่าปล่อยให้เงินเฟ้อจนควบคุมไม่ได้ กรณีเงินเฟ้อสูงถึง 9-10% ท้ายที่สุดต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยอยู่ดี เพราะไม่มีเครื่องมือใดจะช่วยควบคุมเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยจะไม่วนเวียนเป็นวัฏจักร ซึ่งตามคอนเซ็ปต์การขึ้นดอกเบี้ยจะแลกมาด้วยผลกระทบต่างๆ เช่น คนใช้จ่ายน้อยลง ผู้ประกอบการลงทุนน้อยลง เพราะต้นทุนการใช้เงินแพงขึ้น ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยต้องใช้มาตรการควบคู่ไปกับการพิจารณาเศรษฐกิจประเทศด้วย

Advertisement

ผลกระทบจากเงินเฟ้อ หากเทียบระหว่างประเทศในภูมิภาคเดียวกัน บางประเทศอาจได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศนำเข้าสินค้าต่ำ มีความสามารถผลิตพลังงานใช้ภายในประเทศได้ อีกทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจยังดี ส่งผลให้เงินเฟ้อในประเทศไม่สูงมากนัก เช่น เวียดนาม อยู่ที่ 3.37% อินโดนีเซีย อยู่ที่ 4.35% มาเลเซีย อยู่ที่ 2.8% ไทย อยู่ที่ 7.6% จากต้นทุนนำเข้าด้านพลังงาน

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังอยู่ระหว่างฟื้นตัว สถานการณ์แตกต่างกับเมียนมาที่มีปัญหาการเมืองในประเทศ หรือลาวเกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ส่งผลกระทบมากกว่าไทย

“ณัฐพร” มองเงินเฟ้อไทยอยู่ในทิศทางขาขึ้น แม้ระยะนี้น้ำมันมีแนวโน้มลดลง ต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ยังไม่มีความแน่นอนสูง เพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังมีอยู่ รวมถึงปริมาณผลิตน้ำมันจากแหล่งอื่นไม่ได้เพิ่มมากนัก ราคาน้ำมันระยะนี้ลดลงเพราะตลาดกังวล และอยู่ช่วงเก็งกำไรของตลาดซื้อขายน้ำมัน แต่ตัวที่จะกำหนดราคาน้ำมันจริงๆ คือ ดีมานด์และซัพพลายตลาดโลก ยังมีแรงกดดันเรื่องสงครามเป็นหลัก ทำให้ราคาน้ำมันทรงตัวสูง จึงเป็นปัจจัยกระทบต่อเงินเฟ้ออย่างมาก

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่าการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อในช่วงเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นดี อาจไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในภาวะหนี้ครัวเรือนสูง โจทย์ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีถึง 2 ด้านกับช่วงเวลาการขึ้นดอกเบี้ย คือ 1.หากปล่อยเงินเฟ้อคงอยู่ระดับสูงและค่าเงินบาทไหลลงต่อเนื่อง โดยการคงดอกเบี้ยต่ำเช่นเดิมเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ถ้าสมมุติว่าด้านนี้ช่วยหนุนเศรษฐกิจดีแล้ว ขณะเดียวกันอีกทางหนึ่งก็มีปัญหาต้นทุน เช่น การที่เงินบาทอ่อนลงเยอะมากกับเงินเฟ้อทะยานต่อไป ถ้าขึ้นดอกเบี้ยแล้วช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดกับเศรษฐกิจในอนาคตได้อาจเป็นอีกทางเลือกที่ดีมากกว่า กนง.ต้องชั่งน้ำหนักถึงความเสี่ยงด้านใดที่จะเกิดผลกระทบมากกว่ากัน

ขณะเดียวกันหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้ดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐกับไทยเกิดช่องห่างมากขึ้น อีกทั้งเงินบาทอ่อน เคลื่อนไหวที่ระดับ 36.60-36.80 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อาจอ่อนตัวใกล้แนวต้านใหม่ที่ระดับ 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และมีความเสี่ยงที่บาทจะอ่อนทะลุกรอบที่ได้ตั้งไว้

“เงินเฟ้อเป็นปัญหาที่กระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้างอยู่แล้ว แต่ช่วงนี้ที่ราคาสินค้าเริ่มปรับลดลงบ้าง อาจช่วยเรื่องของความรู้สึก และกระตุ้นให้ประชาชนดำเนินชีวิตต่อไปได้ ช่วยให้ความรู้สึกของบางครัวเรือนที่มีปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง สามารถประคองค่าใช้จ่ายได้ แม้ก่อนหน้านี้จะเผชิญปัญหาสินค้าปรับตัวสูง หากสามารถลดราคาลงเพื่อช่วยบรรเทาภาระผู้บริโภคได้เป็นเรื่องที่ดี รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงก็ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการท่องเที่ยวมากขึ้น และช่วยเสริมให้ประชาชนออกไปท่องเที่ยวนอกบ้าน หากราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่อง” ณัฐพรให้ความเห็น

ขณะที่ รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า เงินเฟ้อสหรัฐที่สูงขึ้นมากนั้น หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยอย่างมีนัยสำคัญจนมีส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยสหรัฐกับไทยมาก จะยิ่งส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงอีก แล้วส่งผลผ่านต้นทุนนำเข้าสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภคในไทย โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานและสินค้าวัตถุดิบ ทำให้ต้นทุนผลิตสินค้าไทย และสินค้าปลีกราคาเพิ่มขึ้น อาจส่งผลต่อเงินเฟ้อไทย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เงินเฟ้อไทยยังอยู่ในระดับไม่สูงนักเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

“ถ้าไทยขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หรือทำให้เงินบาทไม่อ่อนค่ามาก ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลที่ทำให้ราคาสินค้าลดลง เพราะเงินเฟ้อไทยเกิดจาก cost push คือ อุปทานตึงมาก ทำให้ราคาสินค้าแพง ไม่ได้เกิดจาก demand pull อย่าลืมว่า การขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ ไม่ใช่สาเหตุของเงินเฟ้อโลก เพียงแต่เมื่อขึ้นดอกเบี้ย จะมีผลต่อค่าเงินประเทศอื่น ยิ่งซ้ำเติมเงินเฟ้อในมิติต้นทุนนำเข้าเท่านั้น” รณรงค์ให้ความเห็นทิ้งท้าย

ทั้งนี้ คนไทยคงต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงยาวนานตลอดปีนี้ จากนั้นต้องลุ้นต่อปีหน้าชะลอตัวแค่ไหน ซึ่งเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1-2% นั่นคือสินค้าขึ้นเฉลี่ย 5-10 บาท สร้างความรู้สึกว่าราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก แม้กระทรวงพาณิชย์ ขอให้เอกชนร่วมมือตรึงราคา แต่ในทางปฏิบัติคงไม่มีใครทำการค้าแล้วยอมขาดทุน แม้ไม่ขึ้นราคา แต่ลดน้ำหนักหรือเลี่ยงเปลี่ยนหีบห่อใหม่แล้วขึ้นราคา เป็นเงินเฟ้อแฝงตัว!!

ดังนั้น “เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย-ค่าบาท” เป็นสมการเศรษฐกิจที่จะต้องแก้ไขให้สมดุลที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image