คิดเห็นแชร์ : ท่าอวกาศยาน&การให้บริการนำวัตถุขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ประตูบานแรกเข้าสู่เศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่

บทความนี้เป็นภาคต่อจากบทความของผู้เขียนเมื่อครั้งที่แล้วที่แนะนำเรื่องเศรษฐกิจอวกาศ ที่จะพูดถึงประตูบานแรกสำหรับประเทศไทยในการเข้าสู่เศรษฐกิจอวกาศ เป็นที่ทราบว่าการทำธุรกิจนำวัตถุขึ้นสู่อวกาศจะนำไปสู่การเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศที่เป็นอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศขั้นสูงและมีความต้องการอย่างยิ่งในหลายประเทศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศใดๆ จะมีความเหมาะสมกับธุรกิจนี้ โดยสถานที่ตั้งพื้นที่บนพื้นโลกอย่างน้อยต้องมีความเหมาะสมทั้งภูมิประเทศและภูมิอากาศ ปัจจัยที่สำคัญสำหรับธุรกิจการส่งวัตถุอวกาศขึ้นสู่วงโคจร ต้องอาศัยจรวดนำส่งที่มีแรงขับสูงเพื่อให้พ้นแรงดึงดูดของโลกไปได้ โดยทั่วไป การตั้งฐานยิงจรวด (Launch Pad) จะอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรเพื่อที่จะสามารถอาศัยแรงหมุนของโลกช่วยในการส่งจรวดไปสู่อวกาศได้ จึงทำให้ยิ่งใกล้เส้นศูนย์สูตรได้มากเท่าไร งบประมาณในการพัฒนาจรวดยิ่งน้อยลงเท่านั้น รวมทั้งจะต้องมีพื้นที่ติดทะเลเปิดโล่งหันไปทางทิศตะวันออกเพื่อให้แรงหมุนของโลกช่วยเสริมอีก และชิ้นส่วนของจรวดตกลงในทะเล

เนื่องด้วยปัจจุบันการเติบโตความต้องการที่จะส่งวัตถุอวกาศเข้าสู่วงโคจรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นการเติบโตจำนวนดาวเทียมวงโคจรต่ำและปานกลางที่จำเป็นจะต้องมีจำนวนดาวเทียมนับหมื่นดวงที่จะลอยอยู่ในวงโคจรที่ความสูงตั้งแต่ 300-1,000 กิโลเมตรจากพื้นโลก ทำให้ธุรกิจการนำวัตถุขั้นสู่ห้วงอวกาศมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ถึงแม้ว่าประเทศไทยยังไม่ได้มีส่วนร่วมในเศรษฐกิจอวกาศใหม่ในระดับโลก รวมทั้งยังไม่มีการพัฒนาบุคลากรในประเทศด้านการพัฒนาท่าอวกาศยานและส่วนประกอบต่างๆ (Spaceport Environment) แต่ด้วยพื้นฐานการพัฒนาดาวเทียมของ สทอภ. และการพัฒนาจรวดของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ทำให้สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจในการพัฒนาท่าอวกาศยานประเทศไทย Spaceport Thailand จากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศได้ เฉกเช่นเดียวกับการเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมและเทคโนโลยีจรวดที่ผ่านของหน่วยงานรัฐในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังสามารถอาศัยความสามารถของภาคเอกชนในประเทศที่มีบุคลากรที่มีเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีอวกาศเข้าร่วมในการเรียนรู้ต่างๆ กับภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม มีโอกาสและความเป็นไปได้ในการเติบโตของธุรกิจนำส่งดาวเทียมและวัตถุอวกาศขึ้นสู่วงโคจร (Launching Service) และอุตสาหกรรมอวกาศ (Space Industry) ในประเทศไทย เพราะจากการศึกษาพบว่าประเทศไทยมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบและเหมาะสมต่อการจัดตั้งท่าอวกาศยานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Spaceport จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและเป็นบันไดสำคัญที่จะเชื่อมโยงประเทศไทยและอวกาศให้ใกล้กันขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ที่ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาดาวเทียมเพื่อการศึกษา เพื่อการพาณิชย์ หรือเพื่อความมั่นคงทางทหาร ก็สามารถทดลองและทดสอบส่งได้ทันทีในประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความสามารถจากต่างประเทศซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการส่งดาวเทียมหรือวัตถุไปอวกาศ นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อการวิจัยหรือการทดลองในอวกาศที่ต้องศึกษาหาความรู้และสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ให้กับประเทศหรือการสร้างนวัตกรรมจากอวกาศให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้ได้และกลายเป็นสินค้าส่งออกก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายภายในประเทศ รวมทั้งยังส่งเสริมการเกิดลงทุนและการเพิ่มรายได้เข้าประเทศอีกมากมาย

ด้วยเหตุผลที่ว่าการทำธุรกิจนำส่ง Space Launching Service จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมอวกาศให้กับประเทศ จึงทำให้เกิดผลกระทบที่ดีในด้านอุตสาหกรรม กล่าวคือ จะมีขับเคลื่อนให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตจรวดและชิ้นส่วน อุตสาหกรรมการผลิตดาวเทียม อุตสาหกรรมพลังงาน ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และระบบไฟฟ้า อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและโลหะ อุตสาหกรรมวัสดุทนความร้อน อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มอวกาศ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดไปจนธุรกิจอวกาศที่น่าสนใจ อาทิ การท่องเที่ยวในอวกาศ (Space Tourism) ได้ ทั้งยังส่งผลกระทบที่ดีในด้านสังคมด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การจัดตั้งท่าอวกาศยานในประเทศจะทำให้ประชาชนมีแหล่งประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้น และประชาชนมีโอกาสได้รับสวัสดิการจากภาครัฐหรือภาคเอกชนที่เข้าร่วมประกอบการ ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตและครอบครัวดีขึ้นตามลำดับ

ADVERTISMENT

ปัจจุบันกิจการอวกาศมีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน ทำให้มีหน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชน ให้ความสนใจและร่วมดำเนินกิจกรรมเพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ ภารกิจด้านกิจการอวกาศยังมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ นโยบายด้านเศรษฐกิจอวกาศเป็นองค์ประกอบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานโยบายการบริหารกิจการอวกาศของประเทศไทยดำเนินการภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารกิจการอวกาศ พ.ศ.2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 มีข้อจำกัดเรื่องลำดับชั้นของกฎหมาย การบังคับใช้งาน อาทิ การกำหนดหลักเกณฑ์ปฏิบัติสำหรับภาคเอกชน ซึ่งไม่อาจกระทำได้เว้นแต่จะอาศัยอำนาจตามกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ดังนั้น เพื่อให้การให้บริการสถานที่นำส่ง หรือธุรกิจนำส่งดาวเทียมและวัตถุอวกาศขึ้นสู่วงโคจรสามารถดำเนินกิจการได้อย่างถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมายทั้งในระดับสากล ประเทศไทยจึงต้องตราร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ…. และกำหนดให้มีองค์กรเพื่อทำหน้าที่จัดทำนโยบายและแผนกิจการอวกาศ รวมทั้งจัดให้มีกลไกเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการอวกาศ และก่อให้เกิดเศรษฐกิจอวกาศ (New Space Economy) เพื่อให้เป็นอุตสาหกรรมที่สามารถขับเคลื่อนประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ต่อไป

ในมายาคติ ที่เห็นว่าประเทศไทยกับธุรกิจท่าอวกาศยานและการให้บริการนำวัตถุขึ้นสู่ห้วงอวกาศ เป็นเรื่องไกลจากความสำเร็จ ประเทศไทยควรอาศัยชาติมหาอำนาจในการพึ่งพิงบริการและไม่สมควรจะต้องลงทุนเอง จะเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ ในมุมมองลักษณะนี้จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากโอกาสที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ได้ เปรียบเสมือนกับการลงทุนการสร้างสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิที่รองรับเครื่องบินจากหลายประเทศในระยะแรก ที่มีมุมมองต่อต้านว่าใหญ่โตเกินความจำเป็น แต่ด้วยช่วงเวลาที่ผ่านมา สนามบินสุวรรณภูมิกลายเป็นประตูเปิดไปสู่ธุรกิจต่างๆ ที่เติบโตก้าวกระโดดได้ ท่าอวกาศยานที่จะอยู่ในอวกาศ จะเป็นเกตเวย์ที่จะรองรับยานอวกาศจากนานาประเทศ ไม่ต่างอะไรกับสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิที่รองรับเครื่องบินจากหลายประเทศในปัจจุบัน

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image