ผู้เขียน | ทีมข่าวเศรษฐกิจ |
---|
เหลืออีกไม่ถึง 2 เดือนดีก็จะเข้าสู่การเริ่มต้นปีใหม่อีกครั้งแล้ว ย้อนกลับไปมองเป้าหมายในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา มีอะไรที่ทำได้ตามเป้าหรือไม่ได้ตามเป้าหมายบ้าง อาทิ การเก็บออมเงินเพื่อใช้ในอนาคต วางแผนการเกษียณอายุอย่างมีความสุข
เนื่องจากภาคการลงทุนในปี 2566 ถือเป็นปีที่ให้ผลตอบแทนกลับตาลปัตรกับปี 2565 ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกทั้งในสินทรัพย์ปลอดภัยและสินทรัพย์เสี่ยง แม้เป็นช่วงที่โควิด-19 เพิ่งคลายตัว เศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงการเริ่มต้นฟื้นตัวกลับมาเท่านั้น เทียบกับปี 2566 ที่โควิดไม่ได้เป็นที่พูดถึงแล้ว สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ รวมถึงการประกอบธุรกิจที่กลับมาฟื้นตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ความคาดหวังว่าจะได้เห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ ผ่านภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะกลับมาอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อภาพยังไม่ได้เป็นไปตามที่คาดไว้ ทั้งเศรษฐกิจในภาพรวมที่ฟื้นตัวแบบลุ่มๆ ดอนๆ สวนทางปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัวอย่างต่อเนื่อง
⦁ สารพัดปัจจัยลบกดหุ้นไทยเตี้ยลงๆ
เริ่มต้นจากปัจจัยในประเทศตั้งแต่ความเชื่อมั่นที่ถูกสั่นคลอน เพราะเกิดกรณี บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) และ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ที่ทำให้นักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายเล็ก เหมือนถูกหอบเงินหนีแบบซึ่งหน้า เกิดคำถามถึงการรับมือของทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) การเลือกตั้งที่มีความไม่แน่นอน ทำให้ดัชนีตอบรับเชิงลบ และลบมากขึ้นเมื่อเจอปัจจัยความเสี่ยงในต่างประเทศ การล้มลงของธนาคารระดับยักษ์ในสหรัฐกว่า 3 ราย ภายใน 1 สัปดาห์ ปัญหาของธนาคารเครดิตสวิส ที่มองว่าเป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐ โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งของอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ที่มาแบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อบวกกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ยังมีความไม่แน่นอนในการปรับขึ้นหรือถึงจุดสูงสุดแล้ว ก็ทำให้ดัชนีตอบรับด้วยการไหลลงจนโงหัวไม่ขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อมีคำถามในเรื่องหุ้นไทยถูกทุบด้วยโปรแกรมซื้อขายอัตโนมัติ หรือธุรกรรมชอร์ตเซล และการยืมหุ้นมาขายเพื่อลงทุนช่วงที่ราคาหุ้นปรับลดลง แต่ไม่มีหุ้นในมือ หรือ Naked Short ทำให้ตลาดหุ้นที่ถูกแรงกระแทกจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนดัชนีไต่ระดับร่วงอย่างต่อเนื่อง จากระดับสูงสุดที่ 1,691.41 จุด ในวันที่ 10 มกราคม 2566 หลุดระดับ 1,400 จุด เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา อยู่ระดับ 1,399.35 จุด ถือเป็นระดับจิตวิทยาที่สำคัญ เพราะนับตั้งแต่การระบาดโควิด-19 คลายตัวลง ดัชนีหุ้นไทยก็ไม่เคยปรับลดลงหลุดระดับ 1,400 จุดเลยก่อนที่จะทำจุดต่ำสุดในระดับ 1,371.22 จุด เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา เท่ากับว่าตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน หุ้นไทยให้ผลตอบแทนลดลงกว่า 15.18%
⦁ เชื่อปี’67ดัชนีหุ้นกลับหัวเป็นขาขึ้น
ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (ไอเอเอ) กล่าวว่า ปี 2566 เป็นปีที่ดีสำหรับตลาดหุ้นโลก แต่ผลตอบแทนตลาดหุ้นไทย เกือบจะแย่สุดในโลก ติดลบอย่างรุนแรง โดยประเมินว่าในอีก 12 เดือนข้างหน้า ภาวะเงินเฟ้อไม่น่าจะมีปัญหาแล้ว ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะใกล้จบรอบวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น คาดว่ากลางปี 2567 เป็นต้นไป เฟดจะเริ่มมองการลดดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นจุดกลับที่จะเกิดแรงกระตุ้นให้เงินเข้ากลับสู่ตลาดหุ้น และหัวใจสำคัญคือกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ทั่วโลกมีทิศทางดีขึ้น ช่วงไตรมาส 3/2566 ติดลบน้อยลง ประกอบกับนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าในปี 2567 ตลาดหุ้นทั่วโลกจะกลับสู่ขาขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ จะเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุด ซึ่งตลาดหุ้นไทยเป็นส่วนหนึ่งของตลาดนั้น
“สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่น เพราะพื้นฐานของตลาดหุ้นไทยถือว่ายังดีอยู่ อาจติดอยู่แค่นโยบายเศรษฐกิจที่ยังสร้างความมั่นใจไม่ได้ แต่เริ่มดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะหลายนโยบายทางรัฐบาลเริ่มฟังเสียงของผู้ท้วงติงมากขึ้น อาทิ โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่รูปแบบเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากขึ้น” ไพบูลย์กล่าว
⦁ลุ้นไอเดียปล่อย‘กองทุนกู้’แก้เกม
เมื่อความหวังยังต้องรอไปถึงปี 2567 ทีเดียว และเพื่อให้ความหวังเป็นจริงได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงและความเชื่อมั่นที่ถูกกระทบจนหายไป ภาคเอกชนและรัฐจึงต้องรวมพลังเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา
กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้)กล่าวว่า สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) จึงส่งเสียงถึงรัฐบาล เพื่อหาทางแก้ไขภาวะตลาดหุ้นไทยที่กำลังเผชิญคลื่นลมแรง โดยได้เข้าหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง จนได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund หรือทีอีเอสจี) โดยกำหนดระยะเวลาลงทุน 8 ปีปฏิทิน วงเงินลงทุนไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย คาดว่าจะสามารถเริ่มขายได้ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นวงเงินเพิ่มเติมจากการลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีอื่นๆ ที่ภาครัฐให้สิทธิภายใต้วงเงินรวมไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย
ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า กองทุนทีอีเอสจีตอบโจทย์และดีกว่ากองทุนประหยัดภาษีที่มีอยู่ในตอนนี้ เพราะระยะเวลาการถือครองลงมาเหลือ 8 ปี ถือว่าตอบโจทย์และไม่ได้มากเกินไป แต่ด้วยช่วงเวลาเปิดขาย 1 เดือน อาจทำให้เม็ดเงินเข้ามาในตลาดไม่ได้มากตามที่เฟทโก้ประเมินไว้ 1 หมื่นล้านบาทได้ โดยทิศทางตลาดหุ้นไทย ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ตลาดขาดเรื่องความเชื่อมั่นมากกว่าภาพในอดีตที่ผ่านมา ทั้งในแง่บรรยากาศการลงทุนภาพรวม โดยเฉพาะความกังวลทิศทางขาลงของดัชนีหุ้น คำสั่งซื้อขายต่างๆ ที่ทำให้ราคาหุ้นปรับลดลง ทั้งธุรกรรมชอร์ตเซล และ Naked Short ทำให้นักลงทุนชะลอการซื้อขายเพื่อรอให้ทิศทางกลับมาดีขึ้นก่อน เม็ดเงินส่วนหนึ่งจึงหายไปจากตลาด ทำให้ความเชื่อมั่นจะต้องมาจากปัจจัยพื้นฐานของ บจ.ไทย และภาพรวมของประเทศด้วย ซึ่งผลประกอบการของ บจ.ไตรมาส 3/2566 ถือว่าออกมาใช้ได้เกือบหมด ส่วนใหญ่ใกล้เคียงหรือดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เป็นหลัก
ปัจจัยพื้นฐานจะต้องรอดูผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ที่หากปรับดีขึ้น ก็จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นโดยเฉพาะจากนักลงทุนต่างชาติให้กลับเข้ามาได้ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามปัจจัยภายนอกอย่างใกล้ชิดด้วย หากไม่ได้มีปัจจัยกดดันมากกว่าเดิม น่าจะทำให้ภาพรวมดัชนีทยอยฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ แม้ตอนนี้ทิศทางยังเป็นขาลง แต่อย่างน้อยดัชนีไม่ทำจุดต่ำสุดใหม่ ก็น่าจะพอคาดหวังได้ว่าน่าจะเห็นการฟื้นตัวของดัชนีได้ และมองว่าไม่น่าจะได้เห็นการหลุดระดับ 1,300 จุด หากไม่มีปัจจัยภายนอกส่งผลกระทบแบบรุนแรงอีกครั้ง โดยคาดดัชนีสูงสุดในปี 2566 จะอยู่ประมาณ 1,450 จุดเท่านั้น
จากข้างต้น เดิมนักวิเคราะห์หลายสำนักเป้าหมายดัชนีในต้นปี 2566 ที่ให้ไว้ระดับ 1,600 จุดขึ้นไป แต่ตอนนี้เหลือไม่ถึง 1,500 จุดแล้ว คงต้องรอลุ้นปีหน้า 2567 ทีเดียวว่า ดัชนีหุ้นไทยจะพุ่งขึ้นหรือพุ่งลงอีกปี