รัฐ-เอกชน พาเหรดปรับขึ้นจีดีพี… สะท้อนศก.ไทยดีจริงหรือ?

ล่วงเข้าสู่ครึ่งหลังของปี 2560 รัฐบาลดูจะใจชื้นกับแนวโน้มการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ขยายตัวได้ดีกว่าปีกลาย เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้หลายสำนักเศรษฐกิจทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรอิสระ ต่างมีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีกว่าคาด และคาดกันอีกว่าปีนี้จะเป็นปีที่อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) สูงที่สุดในรอบ 3 ปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยพระเอกสำคัญ คือ การส่งออก การท่องเที่ยวและโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เป็นต้น ซึ่งช่วงนี้และหลังจากนี้จะเห็นแต่ละหน่วยงานมีการทบทวนตัวเลขประมาณการจีดีพีปีนี้ใหม่

˜กนง.นำร่องปรับจีดีพี

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น “จาตุรงค์ จันทรังษ์” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. ย้ำว่า เศรษฐกิจขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง เนื่องจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวมากขึ้นในหลายกลุ่มสินค้า การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้เร็ว การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้น แต่รายได้ของแรงงานในภาคการผลิตยังไม่ได้รับผลดีอย่างชัดเจน การใช้จ่ายของภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ

กนง.จึงได้ปรับประมาณการตัวเลขจีดีพีใหม่มาอยู่ที่ 3.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.4% การส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้นเป็น 5.0% จากเดิมคาดขยายตัวเพียง 2.2% ทำให้การนำเข้าสินค้าขยายตัวดีขึ้นเป็น 10.9% จากเดิม 7.2% และคาดว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 34.9 ล้านคน จากเดิม 34.5 ล้านคน การบริโภคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 3.1% จากเดิม 2.7% แต่กำลังซื้อโดยรวมยังไม่เข้มแข็ง เพราะรายได้ของแรงงานในภาคการผลิตยังไม่ได้รับผลดีอย่างชัดเจนจากการส่งออกที่ปรับดีขึ้น เช่นเดียวกับการลงทุนเอกชนที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ สอดคล้องกับการลงทุนภาครัฐที่เดิมคาดขยายตัว 11.8% ปรับประมาณการเป็นขยายตัว 7.7% จากเม็ดเงินลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ล่าช้าออกไป

Advertisement

“กฤษฎา จีนะวิจารณะ” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า สศค.กำลังทบทวนตัวเลขจีดีพีใหม่จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.6% เพราะมีบางปัจจัยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็คาดการณ์ว่าจีดีพีจะขยายตัวอยู่ที่ช่วง 3.3-3.8% ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5%

˜พาเหรดปรับตัวเลขใหม่

ส่วน “ปรีดี ดาวฉาย” ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย คาดว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัว 3.5-4.0% จากการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่คาด โดยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 3.5-4.5% จากเดิม 2.0-3.5%

Advertisement

“ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล” ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ การท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง และใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ดีขึ้นตามรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยได้ปรับประมาณการจีดีพีเพิ่มเป็น 3.4% จากเดิมที่อยู่ที่ 3.3% และคาดว่าการส่งออกทั้งปีจะอยู่ที่ 3.8% จากเดิม 2.2%

“เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า เวิลด์แบงก์อยู่ระหว่างปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2560-2561 ใหม่ เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป โดยมีนโยบายการคลังเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก การบริโภคฟื้นตัว การส่งออกดีขึ้น โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เวิลด์แบงก์มองว่าจีดีพีไทยปีนี้จะขยายตัว 3.2% ส่วนปี 2561 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 3.4%

เช่นเดียวกับศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น ต่างก็กำลังทบทวนตัวเลขใหม่เช่นกัน

˜ปัจจัยเสี่ยงยังรุมเร้า

แม้ตัวเลขต่างๆ ดีขึ้นแต่เมื่อสอบถามพ่อค้าแม่ขาย ชาวบ้านร้านตลาด ก็ยังรู้สึกว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะรายได้ยังไม่เพิ่มขึ้น หนี้สินก็ยังสูง กดดันกำลังซื้อ ขณะที่เงินเฟ้อก็อยู่ในระดับต่ำสวนทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

ทั้งยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่ง กนง.ยังให้น้ำหนักปัจจัยต่างประเทศ เพราะไทยพึ่งพาการส่งออก 60-70% ความต่อเนื่องของการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า นโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนในประเทศต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่หนี้เสียยังเพิ่มขึ้น พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาเป็นเวลานาน ซึ่ง กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% มากว่า 2 ปี การเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้น และผลกระทบจากสถานการณ์แรงงานต่างด้าวอย่างใกล้ชิด

เพราะหากขาดแคลนแรงงานจะส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าความท้าทายของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือมาจากแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อ่อนลง อาจจะส่งผลต่อการขยายตัวมูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี และรายได้เกษตรที่ชะลอลงหลังมีผลผลิตออกมาจำนวนมาก ส่วนเรื่องแรงงานต่างด้าวนั้นประเมินผลกระทบไว้ 3 แบบ คือ 1.กระทบน้อย จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประมาณ 12,400 ล้านบาท หรือ 0.08% ของจีดีพี 2.กระทบปานกลาง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประมาณ 28,400 ล้านบาท หรือ 0.2% ของจีดีพี 3.กระทบค่อนข้างมาก จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประมาณ 46,500 ล้านบาท หรือ 0.3% ของจีดีพี โดยกลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบ คือ ก่อสร้าง โรงแรม ภัตตาคาร ค้าขาย เกษตรกรรมและกิจกรรมที่ต่อเนื่อง

ส่วนความเสี่ยงที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินไว้ คือ กรณีสหรัฐยังคงอันดับการค้ามนุษย์ของไทยอยู่ที่ เทียร์ 2 เฝ้าระวังเป็นพิเศษติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการส่งออกของไทย เพราะหากอยู่ติดต่อกันครบ 2 ปีมีโอกาสที่จะถูกปรับลดไปอยู่เทียร์ 3 ได้ในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลให้สหรัฐดำเนินมาตรการกีดกันการส่งออกในอุตสาหกรรมที่พบรายงานการค้ามนุษย์กับไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการต่ออายุสิทธิประโยชน์จีเอสพี นอกจากนี้ ยังต้องจับตาการทบทวนสถานะใบเหลืองในเรื่องแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและขาดการควบคุม (ไอยูยู) จากสหภาพยุโรปในเดือนตุลาคมนี้

˜เอกชนมองศก.ยังไม่กระจายตัว

“อธิป พีชานนท์” นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ประเมินว่า รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น เอกชนก็เชื่อตามนั้น แต่ก็ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงว่ามีอะไรเป็นปัจจัยชี้นำ เช่น การลงทุนภาครัฐมีการเบิกจ่ายเงินจริงลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจหรือไม่ หรือลงทุนผ่านคำพูดอย่างเดียว เพราะการลงทุนภาครัฐถือเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญตัวหนึ่ง การจูงใจให้เอกชนลงทุนรัฐจะมีมาตรการกระตุ้นอย่างไร กระทั่งโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็น่าสนใจ แต่ก็ต้องลงทุนพัฒนาจริงให้เห็นเป็นรูปธรรม ถ้ามีแต่การโปรโมต จัดสัมมนาให้ความรู้อย่างเดียวก็คงยาก ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นก็ต้องติดตามว่าภาครัฐจะแก้ไขปัญหาการปฏิเสธสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อย่างไร

กำลังซื้อในประเทศยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจน ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการธุรกิจการค้ายังมีความหนักใจอยู่ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด แม้ว่ารัฐให้ข่าวว่าเศรษฐกิจดูดีแล้ว แต่เศรษฐกิจภาคสนามสะท้อนความเป็นจริงหรือไม่ หรือแค่เป็นการพูดเพื่อให้เกิดกำลังใจ อาจจะมีบางกลุ่มที่ดีขึ้น ฝนตกทั่วฟ้าหรือไม่ หรือยังกระจุกตัวในบางอุตสาหกรรมเพราะอย่างภาคอสังหาริมทรัพย์เองก็ยังชะลอตัวอยู่ บริษัทที่เปิดตัวโครงการใหม่เป็นบริษัทที่อยู่ในจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นหลัก มีแรงกดดันด้านยอดขายและยอดรับรู้รายได้ หากไม่เติบโตขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น ส่วนบริษัทที่อยู่นอกตลาดฯ การเปิดตัวโครงการใหม่น้อย ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็ยังไม่ได้มีการแข่งขันปล่อยสินเชื่อมากนัก เพราะความกังวลเรื่องภาระหนี้ของผู้กู้ ส่วนปัจจัยต่างประเทศก็ยังน่ากังวล โดยเฉพาะนโยบาย

เศรษฐกิจสหรัฐ

“กลินท์ สารสิน” ประธานกรรมการหอการค้าไทยฯ บอกว่า ผู้ประกอบการทุกภาคมีความมั่นใจว่าครึ่งปีหลังปีนี้เศรษฐกิจจะดีกว่าครึ่งปีแรก แต่ผู้ประกอบการภาคใต้มองว่าเศรษฐกิจจะทรงๆ ตัว เพราะโครงการลงทุนโครงสร้าง

พื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐจะกระจายอยู่ในภาคกลาง ตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในภาคใต้ยังไม่มีแผนชัดเจน มีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่เป็นปัจจัยหนุนหลัก ซึ่งช่วงที่เหลือของปีนี้ภาครัฐเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ การส่งออกที่ขยายตัวดี การท่องเที่ยว เชื่อว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ราว 3.5-4% และการส่งออกขยายตัว 4.5% ส่วนปัจจัยเสี่ยงคือไม่อยากให้รัฐมีข่าวเซอร์ไพรส์ หรือออกมาตรการแบบกะทันหัน เพราะจะกระทบกับเอกชนและเศรษฐกิจโดยรวมได้

เหลืออีกไม่กี่เดือนนับจากนี้เศรษฐกิจจะดีดังคาด หรือจะมีปัจจัยใหม่เข้ามาช็อก เซอร์ไพรส์หรือไม่ ยังต้องลุ้นกัน!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image