บาทแข็งไม่ยอมอ่อน กูรูประสานเสียงเสี่ยงส่งออกปี’61 วัดใจ’กนง.’ลด ด/บ.ช่วยชาติฉุดค่าเงิน

ตั้งแต่ต้นปีสถานการณ์ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง โดยค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2560 ปิดตลาดที่ 33.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าสูงสุดในรอบ 27 เดือน และเมื่อเทียบกับต้นปีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 7.78% เป็นการแข็งค่าขึ้นมากที่สุดต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย โดยวอน-เกาหลีใต้ แข็งค่า 7.37% ดอลลาร์ไต้หวัน-ไต้หวัน แข็งค่า 6.70% ดอลลาร์สิงคโปร์-สิงคโปร์ แข็งค่า 6.66% รูปี-อินเดีย แข็งค่า 6.65% เยน-ญี่ปุ่น แข็งค่า 6.28% ริงกิต-มาเลเซีย แข็งค่า 4.86% ขณะที่หยวน-จีน แข็งค่า 3.35% ส่วนดอลลาร์ฮ่องกง-ฮ่องกง อ่อนค่า 0.79% และเปโซ-ฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 0.85%

การแข็งค่าของสกุลเงินต่างๆ เป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง รวมทั้งยังมีเงินไหลเข้าทำให้กดดันค่าเงินบาทเพิ่มเติม เกิดคำถามว่าการแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลต่อภาคการส่งออกไทยที่กำลังฟื้นตัวหรือไม่

จับตาค่าบาทแข็งเร็ว

ภาพรวมการแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของเงินสกุลภูมิภาค เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุระยะหลังเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็ว สะท้อนปฏิกิริยาของตลาดที่อ่อนไหวกับความผันผวนในระยะสั้นที่มากเกินไป ซึ่ง ธปท.จะติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่มองว่า ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าเร็วและแข็งค่ามากกว่าค่าเงินสกุลในภูมิภาคเดียวกัน คงอยู่ในวิสัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังคงต้องติดตามผลการประชุมธนาคารกลาง ทั้งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งจะมีแนวโน้มค่อยๆ ลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างระมัดระวังในช่วงข้างหน้า การเลือกตั้งของเยอรมนีที่อาจมีผลต่อประเด็นการเจรจาการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (เบร็กซิท) ซึ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวในตลาดการเงินและค่าเงินบาทที่อาจผันผวนได้ต่อเนื่อง

Advertisement

ยันบาทแข็งไม่กระทบส่งออก

ทั้งนี้ กกร.ประเมินว่าการส่งออกในปี 2560 น่าจะสามารถรักษาการขยายตัวได้ตามกรอบประมาณการที่ 3.5-4.5% โดยช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีแรงส่งด้านปริมาณหรือคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้ายังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า การส่งออกครึ่งปีแรกขยายตัวได้ 7.4% คิดเป็นมูลค่ารวม 1.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมูลค่าต่อเดือนเฉลี่ยที่ 1.87 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทั้งปี 2560 นี้ มั่นใจว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 5% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยช่วงที่เหลือของปีนี้การส่งออกต้องเติบโตเฉลี่ย 2.7% ต่อเดือน หรือมูลค่าเฉลี่ย 1.88 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

Advertisement

ดอนกล่าวด้วยว่า หากพิจารณาดัชนีค่าเงินบาท (NEER) จะพบว่าดัชนีค่าเงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐโดยเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 110.89 จากเดือนมกราคมที่ 108.30 แต่ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) เป็นดัชนีที่สะท้อนการแข่งขันไม่ได้ปรับตัวมากนัก เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 103.09 จากเดือนมกราคมที่ 101.79 สะท้อนว่าผู้ประกอบการยังสามารถแข่งขันได้ ดังนั้น ค่าเงินบาทในระดับปัจจุบันผู้ประกอบการยังขายของได้ตามตลาดโลกที่ฟื้นตัว ประเมินว่าค่าเงินบาทระดับนี้จะไม่ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกทั้งปี แต่ในภาวะที่ตลาดผันผวนเช่นนี้ผู้ประกอบการต้องทำประกันความเสี่ยง เพราะไม่มีใครที่การันตีได้ว่าค่าเงินบาทจะไม่หลุดระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ชี้ไทยเสียโอกาส

ขณะที่ กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้ เกิดจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังเกินดุลในระดับสูง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการแข็งค่าของเงินบาทถ้าเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาจจะอยู่ในทิศทางเดียวกัน แต่หากเทียบกับประเทศคู่ค้าของไทยพบว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าสกุลอื่นราว 2.4% ทำให้เสียโอกาส ทั้งนี้ ค่าบาทที่แข็งค่ายังทำให้อัตราเงินเฟ้อต่ำลง เพราะความมั่งคั่งของผู้ส่งออกเมื่อแปลงเงินดอลลาร์สหรัฐมาเป็นเงินบาทได้เงินน้อยลง การกระจายเงินไปยังซัพพลายเชนต่างๆ ไม่เต็มที่ กระทบต่อการบริโภค และเป็นส่วนที่กดดันเงินเฟ้อให้อยู่ระดับต่ำ และไม่เข้าสู่กรอบเป้าหมายต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

“เศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญ เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาส่งออกไทยโตได้ 13% แต่หากพิจารณาประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซียโตถึง 24% เวียดนามโต 25% สะท้อนว่าการส่งออกไทยยังโตช้ากว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้น จะชะล่าใจไม่ได้ในภาวะที่ค่าเงินบาทยังแข็งค่ามากกว่าสกุลอื่น” กอบสิทธิ์กล่าว

ด้าน พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ความเห็นว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า คือ ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม แต่ยังไม่เห็นผลกระทบ แต่หากค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง จะกระทบกับสินค้าที่ไทยมีการส่งออกเหมือนกับประเทศเหล่านั้น เช่น ข้าว ยางพารา ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ทำให้ไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้

ส่วนเสียงสะท้อนจากผู้ส่งออก อย่าง กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ไม่มีผลต่อคำสั่งซื้อในช่วงนี้เพราะได้ปิดยอดไปหมดแล้ว แต่ต้องติดตามว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรกับยอดคำสั่งซื้อในช่วงไตรมาสที่ 4 รวมถึงต้นปีหน้าเพราะการแข็งค่ามากกว่าสกุลอื่นๆ สะท้อนความเสี่ยงที่มากกว่า

แนะลดดอกเบี้ยนโยบายชะลอค่าบาท

จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินแข็งค่าขึ้นเพราะมีการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินตราสารหนี้ระยะสั้นของไทย โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นของกระทรวงการคลัง ทำให้นักลงทุนในตลาดขายเงินดอลลาร์สหรัฐ และมีเงินบาทเหลือจึงนำมาซื้อพันธบัตร ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินบาทในตลาดต่างประเทศ (offshore) ลดลงต่อเนื่องอยู่ที่เพียง 1.350% ดังนั้น เรียกได้ว่าสามารถกู้เงินบาทในต่างประเทศโดยไม่มีต้นทุนทำให้สามารถนำเงินบาทเข้ามาซื้อพันธบัตรได้ต่อ

ในระยะข้างหน้าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่วนปัจจัยหนุนดอลลาร์สหรัฐให้แข็งค่าได้ จะมี 2 ปัจจัย คือ กรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตดีขึ้นอีก แต่ขณะนี้ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว จึงไม่น่าจะมีเซอร์ไพรส์ต่อตลาด และอีกปัจจัยคือ ความเชื่อมั่นต่อการทำนโยบายเศรษฐกิจของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก ทั้งนี้ เมื่อไม่สามารถจัดการกับปัจจัยดอลลาร์ได้ การที่จะทำให้บาทอ่อนค่าต้องพิจารณาปัจจัยในประเทศ ซึ่งมองว่าเรื่องการลดดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่คงมาเป็นระยะเวลานานที่ 1.50% เป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องหารือกัน

ส่วนภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี มาจากปริมาณและส่วนหนึ่งผู้ประกอบการมีการป้องกันความเสี่ยงไว้อยู่แล้ว กรณีหากค่าเงินบาทไม่ได้แข็งเกินไปมากกว่า 10% ผู้ประกอบการก็ยังรับได้ ขณะนี้แข็งค่าไปแล้วกว่า 7% ถ้าแนวโน้ม

ค่าบาทยังแข็งค่าไปอีก อาจจะส่งผลต่อการส่งออกโดยเฉพาะในปี 2561 ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะต้องมีการปรับราคาขาย ถ้าอยากได้รายได้และกำไร ช่วงที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการเข้าไปซื้อดอลลาร์สหรัฐเพื่อดูแลค่าเงินบาท แต่คิดว่ายังไม่พอ ต้องหาทางอื่นรับมือ เพื่อดูแลค่าเงินบาทไม่ให้กระทบกับการส่งออก เช่น การส่งเสริมให้ใช้สกุลเงินคู่ค้า หรือต้องนำนโยบายดอกเบี้ยมาช่วยหรือไม่

“การจะตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ขึ้นอยู่กับ กนง. แต่หากดูภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อขณะนี้ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นดี ขณะนี้แรงกระตุ้นหลักมาจากการลงทุนภาครัฐอย่างเดียว การบริโภคยังต่ำ ลงทุนเอกชนก็ไม่มี ถ้าทำให้ค่าเงินบาทอ่อนกลับมาได้อาจจะทำให้เซนติเมนต์ส่งออกดีขึ้น อย่างถ้าลดลง 50 สตางค์ก็จะส่งผลต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่าได้เป็นบาท” จิติพลระบุ

สถานการณ์ค่าเงินบาทช่วงที่เหลือของปีจะเป็นอย่างไรยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและต้องวัดใจ 7 อรหันต์ กนง. ว่าจะมีมาตรการออกมาดูแลหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image