วิกฤต ‘เอิร์ธ’ แบงก์สะเทือน เบี้ยวหนี้ตั๋วบี/อี…คลื่นใต้น้ำระลอกใหม่

สถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้น (บี/อี) ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ดูจะเป็นซีรีส์ในฝั่งตลาดทุน ไล่มาตั้งแต่มีเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ในปี 2559 ซึ่งบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่เมื่อจะต้องการระดมทุนระยะสั้น มักจะออกตั๋วบี/อี เพราะสามารถทำได้เร็วและมีขั้นตอนไม่มาก โดยข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยระบุว่าไตรมาส 2 ปี 2560 ที่ผ่านมามีบริษัทจดทะเบียนผิดนัดชำระหนี้รวม 4 บริษัท คิดเป็นมูลค่าราว 3,755 ล้านบาท และยังมีอีกหนึ่งก้อนที่จะครบกำหนดชำระตามเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ (ครอส ดีฟอลท์) อีก 10,498 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.48% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งหมด 3.2 ล้านล้านบาท

ตลาดหลักทรัพย์แขวน’เอิร์ธ’

ล่าสุดบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ “เอิร์ธ” ที่ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี และกำลังถูกจับตาจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องอย่างธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาต รวมถึงนักลงทุนและผู้ถือหุ้นก็รับผลกระทบกันเป็นทอดๆ หลังจากตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมายห้ามการซื้อขายหุ้นชั่วคราว หรือขึ้นเครื่องหมาย SP และขึ้นเครื่องหมายอยู่ระหว่างรอข้อมูลจากบริษัท หรือเครื่องหมาย NP เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา และยังคงห้ามซื้อขายหุ้นไปจนกว่าบริษัทจะนำส่งผลการตรวจสอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (สเปเชียลออดิท) ตามคำสั่งของ ก.ล.ต.ที่ให้เอิร์ธเปิดเผยข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์ภายใน 30 วัน และให้นำส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินดังกล่าวต่อ ก.ล.ต.ภายใน 5 วันทำการ ซึ่งจะครบกำหนดภายในสัปดาห์นี้

โดยเรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ร้อนที่เอิร์ธจะต้องรีบชี้แจงข้อมูล เพราะในรายงานงบการเงินไตรมาส 1/2560 ที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์นั้น เอิร์ธแจ้งว่ามีสินทรัพย์รวมประมาณ 31,829 ล้านบาท มีหนี้สินรวมประมาณ 21,480 ล้านบาท ซึ่งพบว่ามีสินทรัพย์มากกว่าหนี้ประมาณ 10,349 ล้านบาท ก็ดูจะไม่มีปัญหาเรื่องฐานะการเงินของบริษัท หากมองเรื่องจำนวนหนี้ที่มีน้อยกว่าสินทรัพย์ แต่ทาง ก.ล.ต.ตั้งข้อสังเกตว่า ธุรกิจหลักของเอิร์ธ คือการซื้อขายถ่านหินหรือเทรดดิ้งถ่านหิน การบริหารสภาพคล่องมีความสำคัญมาก โดยที่ผ่านมาบริษัทใช้แหล่งเงินทุนจากการขอสินเชื่อและการออกตราสารหนี้เพื่อจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าและค่าจองสิทธิในการซื้อสินค้า ซึ่งรายการดังกล่าวมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากปี 2558 อย่างมีนัยสำคัญ จึงมีคำสั่งให้เอิร์ธจัดหาสเปเชียลออดิทเกี่ยวกับการทำรายการเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้าและเงินจองสิทธิในการซื้อสินค้า

Advertisement

สั่งสเปเชียลออดิทหลังหนี้งอก

เมื่อเวลาผ่านมาราว 1 เดือน หลังจากที่ ก.ล.ต.มีคำสั่งให้จัดหาผู้ตรวจสอบบัญชีพิเศษเอิร์ธได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เนื่องจากมีหนี้สินล้นพ้นตัว จากกรณีที่มีคู่ค้ายื่นฟ้องบริษัท ทำให้เอิร์ธมีหนี้สิน ณ ปัจจุบันรวมทั้งหมดประมาณ 47,480 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้สินที่มียอดปรากฏในงบการเงินไตรมาส 1/2560 21,480 ล้านบาท และมีหนี้ที่เพิ่มภายหลังการรายงานงบและไม่ปรากฏในงบการเงินไตรมาส 1/2560 อีกประมาณ 26,000 ล้านบาท จนเป็นเหตุให้ ก.ล.ต.-ตลท.ต้องสั่งให้มีสเปเชียลออดิทด่วน และหยุดการซื้อขายหุ้นเอิร์ธ จนกว่าจะอธิบายข้อกังขาให้ได้ว่าหนี้เพิ่มมาจากไหน มีการตั้งด้อยค่าของสินทรัพย์หรือไม่

ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้มีคำสั่งย้ำอีกครั้งว่า ให้เอิร์ธเร่งจัดหาสเปเชียลออดิทเข้ามาตรวจสอบ เพราะทาง ก.ล.ต.เห็นว่าจำนวนหนี้สินที่เพิ่มขึ้นมีจำนวนสูงถึง 1.21 เท่า ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของเอิร์ธเป็นอย่างมาก ประกอบกับที่มาและสถานะของหนี้สินดังกล่าวที่เพิ่มมานั้นยังคลุมเครือไม่ชัดเจน มีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นในวงกว้าง รวมทั้งการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนได้ จึงได้ระบุว่าสเปเชียลออดิทที่จัดหามาจะต้องสังกัดสำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่ง(บิ๊กโฟว์) โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ อย่างนายรพีสุจริตกุล เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต.ได้บอกกับสื่อมวลชนว่า “ก.ล.ต.สั่งให้เอิร์ธจัดหาสเปเชียลออดิท เพื่อตรวจว่ารายการหนี้ที่ปูดขึ้นมามีจริงหรือไม่ หากไม่มีหนี้หรือมีหนี้จริงแต่ไม่ลงบันทึก คณะกรรมการจะมีความผิดทางแพ่งและอาญา โดยทาง ก.ล.ต.มีหน้าที่ดำเนินการแต่จะต้องรอผลสเปเชียลออดิทและเอกสารที่เกี่ยวข้องก่อน”

ฟ้องแบงก์ธนชาตเผยความลับ

ยังไม่ทันจะได้เคลียร์เรื่องเหล่านี้ เอิร์ธฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 60,000 ล้านบาทต่อธนาคารธนชาต เนื่องจากนำความลับของบริษัทไปเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกจนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และไม่สามารถโอนเงินไปหมุนเวียนตามแผนธุรกิจที่ประเทศจีนได้ เพราะถูกอายัดบัญชีเงินฝากที่มีอยู่ประมาณ 800 ล้านบาท จากสถาบันการเงินดังกล่าว ซึ่งการฟ้องร้องธนาคารธนชาตดังกล่าว เป็นเม็ดเงินที่สูงกว่ามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือธนาคารธนชาต ที่มีมูลค่า 56,100 ล้านบาท ซึ่งทางธนาคารธนชาตเองก็เล็งจะดำเนินการทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญาด้วยเช่นกัน

ส่วนสถาบันการเงินอีกแห่งอย่างธนาคารกรุงไทยที่เป็นผู้ให้กู้รายใหญ่ที่สุดของเอิร์ธ ได้ตั้งสำรองหนี้ของบริษัทให้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไปแล้วเต็มจำนวน 100% หรือตั้งสำรองไป 12,000 ล้านบาท ในงบการเงินไตรมาส 2/2560 เพราะไม่แน่ใจว่า เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วจะกระทบเอ็นพีแอลของแบงก์หรือไม่

ธปท.ยันเอ็นพีแอลไม่กระทบ

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมายืนยันว่า เอ็นพีแอลของแบงก์รายใหญ่ดังกล่าวจะไม่กระทบกับเศรษฐกิจ เพราะเป็นปัญหาเฉพาะโดย น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท.ให้ข้อมูลว่า “เอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาสที่ 2/2560 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.95% จากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 2.94% เป็นผลมาจากธุรกิจขนาดใหญ่ในภาคเหมืองแร่และบางอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นสำคัญ และหากไม่รวมเอ็นพีแอลของลูกหนี้รายใหญ่นี้จะทำให้สัดส่วนเอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.86% จึงยังไม่น่ากังวล”

และหากเอ็นพีแอลไม่กระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจ แล้วสุขภาพบริษัทจดทะเบียนน่าเป็นห่วงหรือไม่ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ให้ความเชื่อมั่นว่า ภาพรวมสุขภาพบริษัทจดทะเบียนยังดีและไม่มีปัญหาอะไร โดยในระยะหลังมีการบริหารหนี้สินได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันหากมองเรื่องหนี้สินต่อทุนของบริษัทจดทะเบียนพบว่า อยู่ในเกณฑ์แข็งแรงดี ส่วนกรณีการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี เช่น กรณีของเอิร์ธ มองว่าไม่ได้มีปัญหาอะไรซ่อนอยู่ เป็นเพียงกรณีพิเศษ ส่วนแนวโน้มของเหตุการณ์ใหม่ๆ หลังจากนี้ยังตอบไม่ได้

บริษัทจดทะเบียนไทยแกร่ง

ขณะที่นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กขยายตัวใกล้เคียงการขยายตัวของเศรษฐกิจ ที่ขยายตัวปีละ 3-4% ขณะที่บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่โตปีละ 7% รวมถึงการเริ่มเห็นข่าวเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในตลาดหุ้นบ้างแล้ว จากเมื่อก่อนที่มักจะเห็นปัญหาในกลุ่มเอสเอ็มอีเล็กๆ ส่วนเรื่องตั๋วบี/อี บางครั้งอาจจะดูเหมือนว่าเป็นกรณีพิเศษ เช่น ปัญหาโครงสร้างภายใน แต่หากย้อนไปมองหลายๆ บริษัทที่เคยประสบปัญหาคล้ายๆ กัน ก็มักจะมีประเด็นเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี เพียงแต่ว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น บริษัทจดทะเบียนก็ผ่านปัญหาเหล่านี้ไปได้ แม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์เฉพาะตัวที่เกิดขึ้นหลายครั้งก็ตาม

“ข้อได้เปรียบของภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน คือบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ของไทยยังแข็งแกร่ง สามารถควบคุมหนี้ในระดับที่เหมาะสมได้ ขณะเดียวกันสถาบันการเงิน และฐานะทางการคลังของรัฐบาลก็ยังดี แต่จะต้องระวังการจัดการสภาพคล่อง หรือฐานะทางการเงินของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งอาจจะมีเหตุการณ์มากระตุกตลาดหุ้นบ้างในบางช่วงเวลา แต่ไม่น่าจะเป็นประเด็นถึงขนาดที่จะทำให้ไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในลักษณะของวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือถึงจะเกิดขึ้นก็จะผ่านครั้งนี้ไปได้เหมือนครั้งที่เคยผ่านวิกฤตซับไพร์มมาได้ เพียงแต่การลงทุนมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น นักลงทุนจะต้องระวังมากขึ้น” นายกวีกล่าว

ท้ายที่สุดไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ยังต้องติดตามสถานการณ์กันต่อว่าการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อีที่ลากยาวมาทั้งปี จะเป็นเพียงเหตุการณ์พิเศษที่เข้ามาสร้างสีสันให้ตลาดหุ้น หรือจะเป็นคลื่นใต้น้ำที่รอเวลาในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image