กระหึ่ม! ปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ขสมก. ไฟเขียวเบสท์รินร่วมประมูล คลายปมหรือขันนอต

เริ่มทดลองให้บริการไปแล้ว สำหรับรถเมล์สายใหม่ตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยเปิดทดลองวิ่ง 8 เส้นทาง จากที่กำหนดไว้ 269 เส้นทาง เพื่อดูว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไรที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ ก่อนที่จะเดินหน้าตามแผนในขั้นตอนต่อไป

ประชาชนมองรถเมล์ใหม่ด้านลบ

การทดลองกำหนดเวลาไว้ 1 เดือน คือวันที่ 15 สิงหาคม-15 กันยายน 2560 แต่ยังไม่ทันข้ามวันผลตอบรับเชิงลบก็ดังกระหึ่ม เพราะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกโซเชียลเกี่ยวกับตัวอักษรที่เป็นภาษาอังกฤษ ป้ายด้านหน้ารถเมล์ที่มีอยู่หลายอัน ทั้งที่บอกเส้นทางใหม่และสายเดิม ทำเอาผู้โดยสารที่ยืนรอรถเมล์ออกอาการงงไม่กล้าขึ้นรถ

ที่พูดถึงมากอีกเรื่องคือการนำสติ๊กเกอร์สีไปแปะติดไว้ที่ด้านหน้าของรถ เพื่อบ่งบอกว่าเป็นรถเมล์เส้นทางไหน ตามแผนใหม่ของ ขสมก.ต้องการใช้สัญลักษณ์สีเข้ามาแทนพื้นที่การเดินรถในเส้นทางเดียวกัน คือ 1.ด้านทิศเหนือ ย่านรังสิต บางเขน มีนบุรี ใช้สีเขียว 2.ทิศใต้ ย่านปากน้ำ คลองเตย สาธุประดิษฐ์ ใช้สีแดง 3.ทิศตะวันตก ย่านพระประแดง พระราม 2 ศาลายา ใช้สีเหลือง และ 4.ทิศตะวันออก ย่านหมอชิต 2 ดินแดง สวนสยาม ใช้สีน้ำเงิน

Advertisement

หลายคนเห็นสีของรถแล้วพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “นี่ปฏิรูปแล้วเหรอ” พร้อมนำภาพไปเปรียบเทียบกับรถเมล์ของต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น เพราะนอกจากจะดูเชย เก่า ล้าสมัยแล้ว ยังไม่ให้ความรู้สึกที่อยากจะใช้บริการเลยแม้แต่น้อย

ย้อนรอยสาเหตุปฏิรูปรถเมล์

หากจะให้เข้าใจเรื่องนี้อย่างชัดเจน คงต้องย้อนไปดูผลการดำเนินงานของ ขสมก.ที่ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง โดยปี 2558 มีรายได้รวมประมาณ 8 พันล้านบาท แต่มีผลขาดทุน 4.79 พันล้านบาท เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 1.28 หมื่นล้านบาท และมีหนี้สินสะสม 1 แสนล้านบาท

ดังนั้นรัฐบาลจึงมีนโยบายให้ ขสมก.จัดทำแผนฟื้นฟูองค์กรขึ้นมาเพื่อไม่ให้มีปัญหาขาดทุน สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต จึงเป็นที่มาของการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ในครั้งนี้

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังได้มติให้ยกเลิกมติ ครม. เดิมวันที่ 11 มกราคม 2526 ที่ระบุให้ ขสมก.เป็นผู้ประกอบการเดินรถเพียงรายเดียว และรถร่วมบริการเอกชนจะต้องทำสัญญาเข้าร่วมเดินรถกับ ขสมก. ซึ่งเมื่อยกเลิกมติ ครม.ดังกล่าวแล้ว จะทำให้รถร่วม ขสมก.ต้องไปขอใบอนุญาตกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ที่เป็นผู้กำกับดูแลแทน ขสมก. เพื่อมีความชัดเจนในบทบาทและแนวทางกำกับดูแลการเดินรถโดยสารมากขึ้น โดย ขสมก.จะเป็นเพียงผู้ประกอบการเดินรถรายหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ผู้กำกับดูแลรถร่วมอีกต่อไป ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาบริการได้ดียิ่งขึ้น

เตรียมยกเลิกสัมปทานรถร่วม

ตามแผนการปฏิรูปในครั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกต้องยกเลิกสัมปทานรถร่วมบริการเอกชนที่ทำไว้กับ ขสมก.ด้วย โดยจะใช้เวลา 2 ปีในการเปลี่ยนผ่าน คือ จะเริ่มอนุญาตเส้นทางเดินรถเมล์ใหม่ตั้งแต่ปี 2561-2562 โดยช่วงเปลี่ยนผ่านจะออกใบอนุญาตเดินรถชั่วคราวให้แก่รถร่วมเอกชน 2 ปี และหลังปฏิรูปเสร็จจึงจะออกใบอนุญาตถาวรทุกๆ 7 ปี

ล่าสุดฟากเอกชนก็เตรียมพร้อมที่จะขออนุญาตกันแล้ว โดยสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ซึ่งมีผู้ประกอบการรถร่วม 34 ราย และบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เตรียมจัดตั้งบริษัทประกอบกิจการเดินรถเมล์ด้วยทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท เพื่อไปขอใบอนุญาต ซึ่งการรวมตัวกันดังกล่าวจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ

ขสมก.จึงจำเป็นต้องรีบปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันกับเอกชนได้มากขึ้น ซึ่งวิธีที่สำคัญคือ การจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูป หากไม่สามารถจัดซื้อรถเมล์ใหม่มาให้บริการได้ ก็จะไม่สามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองได้สำเร็จ เนื่องจากการจัดหารถเมล์ใหม่ถือเป็นเงื่อนไขหลักที่จะทำให้ ขสมก.ลดต้นทุนการบริการ จนสามารถพลิกฟื้นกลับมามีกำไร เพราะจะมีการติดตั้งระบบเพื่อลดการใช้แรงงานให้น้อยลงด้วย

เปิดประมูลเมล์เอ็นจีวี489คัน

ขสมก.จึงได้เปิดประกวดราคาใหม่อีกครั้ง หลังจากได้ล้มประมูลไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ผู้ชนะการประมูลไม่สามารถส่งมอบรถเมล์ได้ตามเวลาที่กำหนด เนื่องจากมีปัญหาเรื่องแหล่งกำเนิดรถที่กรมศุลกากรตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นการนำเข้าจากประเทศจีนทั้งคัน ไม่ใช่ประกอบในประเทศมาเลเซียตามที่บริษัทแจ้งมาเพื่อใช้สิทธิภาษี จึงต้องยกเลิกผลการประมูลไป

ในครั้งใหม่นี้ ขสมก.ได้ใช้ราคาที่บริษัทเบสท์รินเสนอต่ำสุด คือ 3,389 ล้านบาท เป็นราคากลาง โดยเปิดขายเอกสารประกวด ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีเอกชน 3 รายซื้อซองคือ บริษัท ไทย เทคโนโลยี แอนด์ เดเวลอปเมนท์ จำกัด บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด และกิจการร่วมค้า JVCC นำโดยบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน)

ตามแผนจะเปิดให้ยื่นเอกสารประกวดราคา วันที่ 24 สิงหาคม ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติวันที่ 1 กันยายน และเปิดเสนอราคาวันที่ 8 กันยายน นำรายชื่อผู้ชนะให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก.พิจารณาอนุมัติวันที่ 20 กันยายน ลงนามในเดือนกันยายน และรับมอบรถภายใน 90 วัน หรือประมาณปลายเดือนธันวาคม 2560 ส่วนกรณีที่บริษัทเบสท์รินยังสามารถเข้ามาซื้อซองได้นั้น ผู้บริหาร ขสมก.แจ้งว่า เนื่องจากคดีฟ้องร้องระหว่างบริษัทกับ ขสมก.ยังไม่สิ้นสุด ศาลยังไม่ได้ชี้ขาดจึงเข้าประกวดราคาได้

ขสมก.มั่นใจได้รถใหม่ปีนี้

นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. ระบุว่า ในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ บอร์ด ขสมก.จะพิจารณาแนวทางที่ชัดเจนในการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายได้รถใหม่ในสิ้นปีนี้ โดยบอร์ดจะพิจารณาปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย เช่น หากไม่มีเอกชนรายใดมายื่นซองประกวดราคา บอร์ดจะมีแนวทางอย่างไรต่อไป โดยประเมินว่าหากเกิดเหตุการณ์นี้จะต้องกลับไปดูว่าเหตุผลเพราะอะไร จะต้องไปทบทวนราคากลางใหม่หรือไม่ และหากย้อนไปถึงขั้นตอนตั้งราคากลางใหม่ก็อาจจะทำให้ได้รถเมล์ล่าช้าออกไป 3 เดือน หรือประมาณมีนาคมปีหน้า แต่ยังมั่นใจว่าจะมีเอกชนร่วมประมูลแน่นอน และจะสามารถจัดซื้อรถเมล์คันใหม่ให้ประชาชนได้ใช้ทันภายในสิ้นปีนี้

สำหรับการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์นั้น ขสมก.ได้เปิดสายด่วน 1348 เพื่อให้ประชาชนโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็น โดยที่ผ่านมามีประชาชนโทรมาประมาณ 50 คนต่อวัน ซึ่ง 50% สอบถามเส้นทาง อีก 30% ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ เพราะยังสับสนกับตัวเลข อักษรภาษาอังกฤษ และการจัดเส้นทาง ส่วนที่เหลือ 20% เห็นด้วยกับการปฏิรูป

ขบ.แจงแนวทางปฏิรูปรถเมล์

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดี ขบ. ระบุแนวทางการปฏิรูปรถเมล์ว่าใน 2 ปีนี้จะครอบคลุมตั้งแต่มาตรฐานของตัวรถที่เหมาะสมในการให้บริการประชาชน คุณสมบัติผู้ให้บริการ การติดเครื่องส่วนควบคุมที่รถ เช่น จีพีเอส อุปกรณ์ที่จะรองรับบัตรโดยสารอัจฉริยะ (อี-ทิคเก็ต) รวมถึงการจัดโครงข่ายเส้นทางเดินรถใหม่ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ลดความซ้ำซ้อน และเชื่อมโยงอย่างทั่วถึงกับการคมนาคมขนส่งประเภทอื่น ซึ่งการปรับปรุงสัญลักษณ์ หมายเลขรถและสีของตัวรถ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปเท่านั้น

เส้นทางเดินรถใหม่ 269 เส้นทาง แบ่งเป็นเส้นทางของ ขสมก. ประมาณ 127 เส้นทาง เพื่อให้สามารถนำรถเมล์ไปให้บริการได้ 2,700-3,000 คัน ส่วนเส้นทางที่เหลือจะเปิดให้เอกชนที่มีศักยภาพร่วมประมูลนำรถมาวิ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขัน มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่เกิดการผูกขาด

ในช่วงเปลี่ยนผ่านการปฏิรูปรถร่วมเอกชนจะมีเส้นทางวิ่งแน่นอน โดยอาจจะจัดสรรให้วิ่งเส้นทางเดิมหรือปรับเปลี่ยนเส้นทางที่คล้ายเดิมตามความเหมาะสม โดยจะออกใบอนุญาตเดินรถชั่วคราว 2 ปีให้ก่อน และหลังปฏิรูปเสร็จจึงจะออกใบอนุญาตถาวรทุกๆ 7 ปี แต่หากทำผิดเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะประเมินและถอนใบอนุญาตก่อนครบกำหนดได้

พร้อมนำความเห็นมาปรับปรุง

“การทดลองเดินรถเมล์ 8 เส้นทางใหม่ มีประชาชนมาแสดงความเห็นแล้วหลักหมื่นราย ส่วนใหญ่ยังสับสนตัวเลขรถและอักษรภาษาอังกฤษที่จัดทำขึ้นใหม่ ต้องการให้มีเฉพาะตัวเลขของรถอย่างเดียว แต่ยังไม่ค่อยแสดงความเห็นด้านคุณภาพของการปฏิรูปรถเมล์โดยรวม ซึ่งกรมยังเดินหน้ารับฟังความเห็นต่อไป และจะนำมาประมวลเพื่อปรับปรุง” นายสนิทกล่าวทิ้งท้าย

นอกจากการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ใหม่ที่ประชาชนให้ความสนใจจำนวนมากแล้ว การซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ก็ถูกจับตามองไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อทราบว่าบริษัทเบสท์รินยังเข้าร่วมประมูลได้ ทั้งที่ในสมัยนายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. ได้สั่งให้แบล๊กลิสต์บริษัทไปแล้ว แต่พอเปลี่ยนรักษาการคนใหม่กลับยกเลิกแบล๊กลิสต์และเปิดให้เข้าประมูลได้จะกลายเป็นปัญหาให้โครงการต้องสะดุดอีกหรือไม่ต้องจับตาใกล้ชิด!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image