เหมืองทองอัคราฯ ก้างชิ้นใหญ่ตำคอรัฐบาล ฤๅจะซ้ำรอยค่าโง่ทางด่วน

การประกอบธุรกิจยุคนี้ต้องเน้นเรื่องการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมกับดูแลชุมชนโดยรอบ ต้องมีกติกาในการกำกับดูแลที่สอดรับ ส่วนกิจการที่ล้าสมัย สุ่มเสี่ยงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและชุมชน

ก็มีแต่รอวันปิดกิจการแม้จะกวาดรายได้มากมายแค่ไหนก็ตาม ที่เห็นได้ชัดคือ กิจการเหมืองแร่ ที่ครั้งหนึ่งในยุคเริ่มต้นอุตสาหกรรม กิจการเหมืองคือ เทคโนโลยีลำดับแรกๆ ในการพัฒนาประเทศ จิ๊กซอว์สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แร่ ที่ใช้กำกับดูแลที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2510 ก็ต้องยกเลิกและประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ พ.ศ.2560

เริ่มปรับปรุงกม.แร่ฉบับใหม่ปี”48

โดยกฎหมายแร่ฉบับใหม่กรมพื้นฐานอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรมได้เริ่มยกร่างแก้ไขมาตั้งแต่ปี 2548 แต่ถูกแตะเบรกเรื่อยมา และได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560 ให้เวลาเตรียมพร้อม 180 วัน มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา

Advertisement

ที่ผ่านมาข่าวคราวการประกอบการกิจการเหมืองแร่มักมีกระแสลบ เช่น เหมืองหินส่งผลกระทบทางเสียง ฝุ่นควันต่อชุมชน กรณีเหมืองเหล็กมีการลักลอบขุดเพราะแร่ประเภทนี้มีกรรมวิธีดำเนินการไม่ซับซ้อน ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายติดตามเพราะส่งผลกระทบต่อประเทศชาติในเวลานี้ คือ กรณี เหมืองทองคำชาตรี ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งมี บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่กำลังเดินเกมกดดันไทย ด้วยการนำเรื่องเข้าสู่อนุญาโตตุลาการ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (ทาฟตา)

ที่ผ่านมาบทบาทของ กพร.คือเน้นการตั้งรับมากกว่ารุก ปัญหาวนเวียนไปตามยุคสมัย โดยมีฝ่ายการเมืองเข้ามาตักตวงผลประโยชน์

รวบกม.2ฉบับเป็นหนึ่งเดียว

Advertisement

กพร.ได้มีการปรับปรุงกฎหมายแร่ 2 ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยแร่หรือพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ.2509 รวมเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรแร่และการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ให้เป็นไปอย่างมีระบบ มีการปรับปรุงค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้สูงขึ้น ขั้นสูงสุดอยู่ที่ 1,000 เท่าจากกฎหมายเดิมเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

ภายใต้กฎหมายยังจัดทำยุทธศาสตร์แร่เศรษฐกิจ 5 ชนิด คือ หินอุตสาหกรรม ควอตซ์ โพแทช เหล็ก และทองคำ

โดยกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ หาพื้นที่ทำเหมือง ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ระหว่างปรับปรุงกฎหมายได้สื่อสารไปยังประชาชนและเอกชนอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อกฎหมายใหม่ใกล้บังคับใช้ กลับพบประทานบัตรค้างการอนุญาตนับ 100 คำขอ เฉพาะคำขอที่รออนุมิติจาก นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ราวๆ 40 คำขอ

ซึ่งการคั่งค้างใบอนุญาตไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะกว่าที่คำขอแต่ละคำขอจะฝ่าไปถึง กพร.ได้ บางกรณีใช้เวลาขออนุญาตจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลายปี เพราะกิจการเหมืองมีความละเอียดอ่อนต่อทรัพยากรประเทศ

‘อุตตม’ยันไม่ปล่อยผี

จากการตรวจสอบคำขอที่คั่งค้างเป็นจำนวนมากนั้น พบว่าส่วนหนึ่งมาจากคำขอปกติ อีกส่วนมาจากความตื่นตัวของเอกชนที่ทราบว่ากฎหมายใหม่เข้มข้นขึ้น จึงเร่งเครื่องขอต่ออนุญาตประทานบัตร ทั้งขอใหม่และขอต่ออายุ ซึ่งนายอุตตมค่อนข้างระมัดระวังในการอนุญาต พร้อมออกตัวว่า “จะดำเนินการตามกฎหมาย ไม่เร่งรัด หรือล่าช้าแน่นอน เพราะหากเร่งรัดมากไปจะถูกสื่อมวลชนมองว่าปล่อยผี”

ทั้งนี้ก่อนกฎหมายบังคับใช้ไม่กี่วัน กลุ่มผู้ประกอบการเหมืองแร่ได้แจ้งปัญหาไปยังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ช่วยเหลือเร่งรัดและสร้างความชัดเจนในการปฏิบัติช่วงคาบเกี่ยวกฎหมายเก่าและใหม่ ทำให้

นายเจน นำชัยศิริ ประธาน ส.อ.ท. ต้องขอหารือด่วนกับนายอุตตม

นายอุตตมจึงมีคำสั่งให้ นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เชิญผู้ประกอบการกิจการเหมืองแร่มาหารือ!!!

ย้ำต้องปฏิบัติตาม กม.ใหม่

นายสมชายสรุปข้อหารือว่า จะเร่งรัดคำขอให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 29 สิงหาคม ตาม พ.ร.บ.แร่ ฉบับเดิม แต่หากดำเนินงานไม่เสร็จตามกำหนด ผู้ประกอบการไม่ต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ แต่จะต้องเพิ่มขั้นตอนบางส่วนให้สอดคล้องตามกฎหมายใหม่ และหลังได้รับอนุมัติแล้ว เมื่อกิจการเริ่มนับหนึ่งก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ที่เน้นผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับ มาตรการและกองทุนต่างๆ ที่จะนำไปพัฒนาท้องถิ่น การดูแลสุขภาพประชาชน ส่วนผลตอบแทนที่ประเทศได้รับ คือ การจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ไม่เกิน 30% ของราคาตลาดแร่จากเดิมไม่เกิน 20% กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยปรับเพิ่มอัตราโทษ 30 เท่าของโทษเดิม ปรับค่าธรรมเนียมเพิ่ม 100 เท่าจากกฎหมายเก่า

สุดท้ายเมื่อกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี ไม่มีใครร้องเรียน หรือข้องใจกับการทำงานของรัฐ เพราะ 40 คำขอในมือของนายอุตตมก็ได้รับอนุมัติด้วยดี

ปมเหมืองทองอัคราลุกลาม

แม้ภาพรวมกฎระเบียบของอุตสาหกรรมเหมืองจะเข้าที่เข้าทาง แต่กิจการเหมืองทองคำของบริษัท อัคราฯ ก็ยังเป็นกระแสลบและบานปลายเป็นเงื่อนปมที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

โดยพื้นที่รอบเหมืองมีความขัดแย้งลากยาวมานาน บางฝ่ายระบุว่าต้นตอมาจากผลกระทบจากกิจการเหมืองที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน บางฝ่ายระบุว่ามาจากการเสียประโยชน์ของแกนนำชาวบ้านที่ต้องการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำเช่นกัน จึงพยายามใช้มวลชนไล่ต้อนอัครา

ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐรับรู้มาตลอด จนกระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ช่วงต้นปี 2559 มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบร่วม 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสารธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง 2 ประเด็น คือ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ไร้คำตอบอัคราทำผิด

แม้จะระดมผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ตลอดจนเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ ก็ยังตอบสังคมไม่ได้ว่าอัคราเป็นต้นเหตุของปัญหาดังที่มีการร้องเรียนหรือไม่!!

แต่ด้วยกระแสแห่งความขัดแย้งที่ปะทุและทวีความรุนแรง คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ต่อใบอนุญาตโลหกรรมของบริษัทอัคราฯ ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 จากนั้นให้บริษัทอัคราฯปิดเหมืองทองคำถาวร และเข้าสู่แผนฟื้นฟูตาม พ.ร.บ.แร่ ขณะเดียวกัน ครม.ได้ให้ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตร ซึ่งมีการย้ำชัดว่าแม้ว่าจะยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเรื่องที่ร้องเรียนและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวบ้านเกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัทอัคราฯหรือไม่ แต่เพื่อประโยชน์ของสังคมและประชาชนส่วนรวม และแก้ปัญหาความแตกแยกของประชาชนในชุมชนก็ต้องทำ

ส่งผลให้บริษัทอัคราฯ โดย นายเกรก ฟาวลิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทคิงส์เกตฯ ต้องขอเจรจากับภาครัฐ โดยระบุว่าบริษัทปฏิบัติถูกต้องมาโดยตลอด การที่รัฐปฏิบัติเช่นนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมกับบริษัท ผู้ถือหุ้น และพนักงาน

ขอให้ทุกอย่างพิสูจน์กันไปตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

อัคราใช้สิทธิทาฟตา

สุดท้ายเหมือนฟ้าผ่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2559 รัฐบาลตัดสินใจใช้ ม.44 เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ โดยสั่งให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตทุกประเภท ยุติการการทำเหมือง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 และให้เร่งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เรียบร้อย พร้อมตั้งคณะทำงาน 4 กระทรวง ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานให้ ครม.รับทราบ

สุดท้ายบริษัทอัคราฯตัดสินใจใช้สิทธิตามทาฟตา ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 จนนำไปสู่การเจรจาหารือระหว่าง 2 ฝ่ายด้วยกำหนดเวลา 3 เดือน คือภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 และปัจจุบันสิ้นสุดกรอบเจรจา แต่ยังไม่ชัดเจนว่าบริษัทอัคราฯจะขอเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการนานาชาติหรือไม่ มีเพียงกระแสข่าวที่รัฐบาลกำลังเสียเปรียบและเตรียมชดใช้เงิน 30,000 ล้านบาท!!

รบ.มั่นใจไม่แพ้

ประเด็นนี้ นายสมชายตอบโต้ทันที “ผมขอไม่บอกรายละเอียดเพราะเป็นประโยชน์ของประเทศชาติ เราไม่ได้กำหนดว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ หากไปขีดเส้นให้ตัวเอง จะทำให้กระบวนการของการเจรจาลำบาก แต่ยืนยันว่าเราทุกคนทำเพื่อชาติ รักชาติ เหมือนคนที่เคยว่าเรา”

ซึ่งเกมที่รัฐบาลกำลังเดินอยู่ ข้อมูลเชิงลึกค่อนข้างมั่นใจว่าไทยไม่แพ้ แต่หากสุดท้ายต้องซ้ำรอยเหมือนกับคดีอื่นๆ ก็ยังไม่มีใครในรัฐบาลชุดนี้ยอมรับผิดแน่นอน!!

แม้กิจการเหมืองอัคราชุลมุน แต่รัฐบาลส่งสัญญาณแล้วว่ากิจการเหมืองทองคำของประเทศก็ยังเดินหน้าต่อภายใต้ยุทธศาสตร์ทองคำ ที่รักษาประโยชน์ประเทศขั้นสูงสุด ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่

น่าติดตามว่าการบังคับใช้จะเข้มข้นได้จริงตามลมปากหรือไม่ หากยังซ้ำรอยเดิม ต่อให้แก้กี่ฉบับก็ต้องถูกพวกโกงรุมกินโต๊ะอยู่ดี!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image