เอกชนพาเหรดออกบอนด์ หลังพบสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้น จับตาสภาพคล่องตลาดเงินปีหน้า

เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1.25-1.50% เป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ของปี และเป็นครั้งที่ 5 นับตั้งแต่ปี 2558 ทั้งนี้ เฟดได้ส่งสัญญาณที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อในปี 2561 อีก 3 ครั้ง และจะต้องติดตามว่า ในช่วงเดือนมีนาคมหลังจากที่ นายเจอโรม พาวเวลล์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเฟดคนใหม่ ต่อจาก นางเจเน็ต เยลเลน แล้วการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะเป็นไปในทิศทางนี้หรือไม่ ขณะที่เศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐจะเอื้อให้เฟดปรับอัตราดอกเบี้ยได้เร็วมากน้อยเพียงใด เพราะแม้เศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตแต่สัญญาณการฟื้นตัวของเงินเฟ้อกลับอ่อนแอและอยู่ในระดับต่ำกว่า 2%

ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกขณะนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น โดยมีสหรัฐเป็นตัวนำ แม้เฟดจะส่งสัญญาณว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่การพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศอื่นๆ ยังไม่ชัดเจนว่าจะปรับขึ้นตามทันที เพราะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจประเทศด้วย เช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด กนง.ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% เป็นการคงอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุม 21 ครั้ง ซึ่งยาวนานต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558

ดบ.ตลาดเงินปรับขึ้นเอกชนชิงออกบอนด์

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ปรับขึ้น แต่ขณะนี้เริ่มเห็นทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินเริ่มปรับขึ้นแล้ว อย่างการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของไทยปรับขึ้นตามมา โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ที่ระดับ 2.40% ซึ่งปลายปี 2561 มีแนวโน้มอาจจะเห็นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวปรับขึ้นไปที่ระดับ 2.80% และแนวโน้มนี้อาจจะเห็นในตลาดหุ้นกู้เอกชน ซึ่งพบว่าเอกชนบางรายได้วางแผนที่จะออกหุ้นกู้เพื่อล็อกอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำก่อน อาทิ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี ที่มีแผนจะออกหุ้นกู้ 12,000 ล้านบาท โดย ชุติเดช ชยุติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน เคทีซี บอกว่า เป็นการออกหุ้นกู้เพื่อชดเชยหุ้นกู้ที่หมดอายุ 8,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการออกเพิ่มเติมเพื่อรักษาต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับต่ำในภาวะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกอยู่ในขาขึ้นและดอกเบี้ยไทยมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นตาม เช่นเดียวกับบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือเซ็นเทล ที่ รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายการเงินและบริหาร เซ็นเทล ระบุว่า บริษัทมีการล็อกต้นทุนทางการเงินและมีแผนที่จะออกหุ้นกู้จำนวน 1 พันล้านบาท ในช่วงเดือนมีนาคม เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด รวมทั้งใช้ขยายการลงทุนและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งต้นทุนทางการเงินต่ำกว่า 3% รวมทั้งเซ็นเทลได้จัดทำแผนงานรองรับแนวโน้มดอกเบี้ยผันผวนเอาไว้ หลังจากเห็นสถานการณ์ดอกเบี้ยสหรัฐและดอกเบี้ยไบบอร์เริ่มเพิ่มขึ้นหรือแม้แต่กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อย่าง บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ก็เห็นทิศทางดังกล่าว ซึ่ง สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน ก็ยังระบุว่า สิ้นเดือนธันวาคมนี้บีทีเอสจะออกบอนด์ อายุ 3-12 ปี วงเงิน 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยระหว่าง 2-4% เพื่อนำเงินมาใช้คืนตั๋วแลกเงินที่กำลังจะหมดอายุ ซึ่งการออกบอนด์ดังกล่าวเนื่องจากเห็นชัดเจนว่าทิศทางดอกเบี้ยในตลาดจะปรับเพิ่มขึ้นแน่นอนในปีหน้า ดังนั้น เมื่อเห็นแนวโน้มของตลาดจึงต้องรีบดำเนินการก่อน

Advertisement

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมตราสารหนี้ไทยรายงานว่า ในช่วงปี 2561 มีหุ้นกู้ที่ทยอยครบกำหนดราว 4.3 แสนล้านบาท ซึ่งบริษัทต่างๆ จะมีต้องการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นเดิม

สำหรับ ศิริพร สุวรรณการ ผู้บริหารกลุ่มงานที่ปรึกษาทางการเงินไพรเวทแบงก์ สายงานธุรกิจบริการไพรเวทแบงก์ ธนาคารกสิกรไทย ให้ความเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะยังคงอยู่ที่ 1.50% ตลอดทั้งปี 2561 เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ระดับนี้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเร่งหรือชะลอ ซึ่งในปี 2561 คาดว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะขยายตัว 4% จากการลงทุนรัฐบาลที่มีค่อนข้างมาก และส่งออกโตต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลก

“อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมีโอกาสปรับขึ้นโดยมีสหรัฐเป็นผู้นำ เพราะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินของโลก ถ้าหากดอกเบี้ยสหรัฐขึ้น มีโอกาสที่เงินดอลลาร์สหรัฐที่ไปลงทุนในประเทศอื่นๆ จะวิ่งกลับไปสหรัฐ ทำให้ประเทศอื่นๆ จะต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อที่จะให้สามารถแข่งขันกับดอกเบี้ยสหรัฐให้ได้เพื่อดึงนักลงทุนให้ยังคงอยู่ เพราะนักลงทุนจะมองหาแหล่งที่มีผลตอบแทนสูง เป็นไปได้ว่าดอกเบี้ยนโยบายอาจจะไม่ได้ขึ้น แต่ดอกเบี้ยพันธบัตร หุ้นกู้อาจจะปรับขึ้น แต่ก็จะไม่ได้กระตุกมาก ส่วนดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์จะต้องพิจารณาโครงสร้างธุรกิจ เพราะทุกวันนี้สินเชื่อยังเติบโต แต่ไม่ได้มากมายขนาดที่จะต้องไปขึ้นหรือลดดอกเบี้ย ดังนั้น ดอกเบี้ยสินเชื่อหรือเงินฝากของธนาคารพาณิชย์จะอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับปัจจุบันนี้” ศิริพรกล่าว

Advertisement

ดอกเบี้ยนโยบายไทยยังไม่ขึ้นตาม

อย่างไรก็ดี หากมองไปทั่วโลกก็จะมีที่เดียวที่ปรับขึ้น คือ สหรัฐ ขณะที่ฝั่งยุโรปหรือญี่ปุ่น หากจำเป็นต้องปรับขึ้นจะเป็นช่วงปลายปี 2561 ไปแล้ว ดังนั้น แนวโน้มดอกเบี้ยโลกที่ปรับขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว อย่างไรก็ตาม

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยและสหรัฐขึ้นมาเท่ากันแล้ว สำหรับไทยจะต้องขึ้นดอกเบี้ยให้สูงเท่ากับสหรัฐหรือไม่นั้น มองว่าไม่มีความจำเป็น เพราะปีนี้ดอกเบี้ยสหรัฐขึ้นทั้งปี แต่เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อน จากเดิมที่หากประเทศไหนขึ้นอัตราดอกเบี้ย นักลงทุนจะวิ่งเอาเงินไปลงทุน ทำให้ค่าเงินประเทศนั้นแข็ง สำหรับประเทศไทยหากสบายใจที่ค่าเงินบาทอ่อนเทียบดอลลาร์สหรัฐก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยแข่ง แต่สถานการณ์วันนี้กลับตรงข้าม เพราะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าจากปัจจัยภายในโดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ของสหรัฐ ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยกลับแข็งค่า เพราะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ค่าเงินบาททุกวันนี้ก็แข็งอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแข่งกับสหรัฐ

ธปท.ถก ก.ล.ต.เกณฑ์ให้แบงก์ที่ช่วยรับผิดชอบ

ในภาวะที่ดอกเบี้ยพันธบัตรไทย และหุ้นกู้ไทยมีโอกาสปรับขึ้น การลงทุนของนักลงทุนจะกลับมาลงทุนในไทยมากขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าปี 2561 จะมีซัพพลายทั้งหุ้นกู้และพันธบัตรออกมามากหรือไม่ เพราะปัจจุบันการลงทุนของนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจการลงทุนมากขึ้น จะแบ่งเงินส่วนหนึ่งสำหรับการฝากเงินส่วนใหญ่ รวมทั้งจะแบ่งไปลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 จะมีการออกหุ้นกู้ออกมามาก เพราะขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังหารือกันอยู่ว่าการออกหุ้นกู้ขายประชาชนทั่วไป ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นคนพาบริษัทต่างๆ มาออกหุ้นกู้ หากกรณีที่หุ้นกู้มีปัญหา ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่พาไปออกหุ้นกู้จะต้องรับผิดชอบความเสียหายด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปและคำนิยามว่าความรับผิดชอบมากน้อยเพียงใด

แค่ไหน คาดว่าหากมีประกาศฉบับนี้ออกมามีผลบังคับใช้ แนวโน้มการที่ธนาคารพาณิชย์จะเป็นคนพาบริษัทมาออกหุ้นกู้จะน้อยลง และจะต้องเป็นกลุ่มบริษัทที่มีเครดิตดี ส่วนไตรมาส 2-3 เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นกู้อาจจะสะดุดไปบ้าง เพื่อดูทิศทางว่าประกาศที่ออกมาจะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่เพิ่มขึ้นแต่ยังต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ ทำให้หากเป็นบริษัทเล็กๆ ที่งบการเงินไม่แข็งแรงมากนักและเป็นชื่อที่นักลงทุนไม่รู้จักไม่คุ้นเคย กลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ เพราะหากธนาคารพาณิชย์พาไปออกหุ้นกู้ นักลงทุนจะไม่รู้จักก็ไม่สามารถหานักลงทุนมาซื้อหุ้นกู้ได้ แต่หากเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หรือเป็นบริษัทขนาดใหญ่นอกตลาดฯ ที่มีคนรู้จักและเชื่อมั่น การออกหุ้นกู้ก็ทำได้อยู่แล้ว

ส่วนตลาดตั๋วแลกเงินระยะสั้น หรือบีอี จะกลับมาหรือไม่นั้น มองว่ายังเป็นช่องทางการระดมทุนที่ดี แต่การออกบีอียังหานักลงทุนยาก เพราะนักลงทุนกลัวข่าวที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น บีอีที่แต่ก่อนเห็นว่ามีการให้อัตราดอกเบี้ยสูง 4-5% นักลงทุนก็จะเริ่มถามว่าทำไมให้ได้ระดับนี้ นักลงทุนเริ่มต้องการแนะนำว่าลงทุนตรงนี้แล้วเขาจะได้เงินคืนหรือไม่

ด้าน จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปีและในช่วงครึ่งหลังปี 2561 จะเริ่มมีการส่งสัญญาณว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ผ่านการส่งสัญญาณของคณะกรรมการ กนง. โดยจะเริ่มเห็นการโหวตขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการ กนง.บางท่านก่อน เพื่อให้นักลงทุนเตรียมตัวรับดอกเบี้ยที่อาจจะปรับขึ้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริงของคณะกรรมการ กนง.จะเกิดขึ้นในปี 2562

สำหรับสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยช่วงที่ผ่านมา พบว่า สภาพคล่องยังอยู่ในระดับสูง ยังเห็นธนาคารพาณิชย์นำสภาพคล่องไปฝากไว้กับ ธปท. โดยสภาพคล่องสิ้นวันผ่านพันธบัตรอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท ถือว่าสูงมากหากปี 2561 ไม่มีการลงทุนเอกชนที่จะดึงสภาพคล่องออกไป คาดว่าสภาพคล่องจะยังสูงต่อเนื่องหรืออาจจะเพิ่มขึ้นอีก

จับตาสภาพคล่องดอลลาร์

ขณะนี้ดอกเบี้ยระยะสั้นผ่านตลาดสวอปลงไปอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ปัจจุบันดอกเบี้ยระยะ 1 เดือน ติดลบอยู่ 0.1% ส่วนดอกเบี้ย 6 เดือน อยู่ที่ 0.6% ทั้งที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.50% เป็นผลจากดอกเบี้ยต่างประเทศอยู่สูงในประเทศที่ไม่มีสภาพคล่องดอลลาร์ เมื่อดอกเบี้ยดอลลาร์ในต่างประเทศสูง แต่ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่สามารถให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายได้ทำให้ไม่มีทางมีสภาพคล่องดอลลาร์สหรัฐเหลืออยู่ ในกรณีที่ดอลลาร์หายไปจำนวนมาก ดอกเบี้ยระยะสั้นผ่านตลาดสวอปจะลดลงไปอีก กรณีที่ไม่ต้องการให้ดอกเบี้ยระยะสั้นผ่านตลาดสวอปลงไปต่ำมาก ต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดึงดอกเบี้ยทุกตัวขึ้นมา แต่ ธปท.ยังไม่ทำในขณะนี้ เพราะมองว่าอัตราดอกเบี้ยผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ

“สภาพคล่องดอลลาร์สหรัฐที่หายไปมากกว่าปกติ หากเราต้องการดอลลาร์สหรัฐทันที จะส่งผลให้ค่าเงินบาทจะแกว่งมากอาจจะเห็นการปรับตัวขึ้นวันละ 20-30 สตางค์ก็เป็นไปได้ เพราะขณะนี้ไทยไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐ สำหรับคนที่จะกู้บาทเป็นดอลลาร์สหรัฐกู้ที่ตลาดไทย ต้องไปกู้ต่างประเทศเพราะดอกเบี้ยถูกกว่า ขณะที่ฝั่งฝากเงินของไทย ถ้าเราไม่มีดอลลาร์สหรัฐ ต้องให้อัตราดอกเบี้ยดอลลาร์สหรัฐสูงกว่าสหรัฐ เพื่อดึงเงินเข้ามา แต่ในจังหวะนี้ที่สหรัฐขึ้นดอกเบี้ยและเราไม่อยากให้ดอกเบี้ยขึ้นตาม เพราะกลัวว่าดอกเบี้ยดอลลาร์สหรัฐจะสูงกว่าดอกเบี้ยบาท จะทำให้คนซื้อดอลลาร์สหรัฐมาเก็บกันหมด ธนาคารพาณิชย์อาจจะคุมไม่ได้ เมื่อมีดอลลาร์สหรัฐมากก็ไม่รู้จะไปปล่อยกู้ให้ใคร” นายจิติพลกล่าว

แนวโน้มกู้แบงก์เพิ่ม

ช่วงที่ผ่านมาความนิยมการใช้หุ้นกู้ในการระดมทุน พรเทพ ชูพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ มองว่า อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทำให้บริษัทต่างๆ จะเปลี่ยนมาใช้การกู้ธนาคารพาณิชย์มากขึ้นเพื่อรองรับวัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณจากการเติบโตของหุ้นกู้ที่ลดลงและการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจากรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่า การระดมทุนโดยรวมของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากการระดมทุนผ่านตราสารหนี้และตราสารทุน ตามการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ของธุรกิจในภาคการเงินและการธนาคาร และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในการขยายกิจการ ใช้เป็นทุนหมุนเวียน และชำระคืนหนี้สินบางส่วน สำหรับการระดมทุนผ่านตราสารทุนเพิ่มขึ้นจากการออกหุ้นเพิ่มทุนและหุ้นใหม่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมยังต่ำกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี ขณะที่ปริมาณสินเชื่อใหม่ที่ให้แก่ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวด เช่นเดียวกับมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ประเมินว่าสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ปี 2561 จะขยายตัวที่ 4.5% โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัว 3.5% โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) คาดว่า เติบโตตามมาหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่วนสินเชื่อรายย่อยขยายตัว 5.5% สินเชื่อที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง คือ สินเชื่อบ้านขยายตัว 6.0% สินเชื่อเช่าซื้อขยายตัว 5.5% สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัว 6.5% และสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัว 1% สำหรับธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดี ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าปลีกออนไลน์ เช่น คอมเมิร์ซ ขนส่งและโลจิสติกส์ สื่อโฆษณา การชำระเงินเป็นต้น รวมทั้งการท่องเที่ยว ที่แนวโน้มนักท่องเที่ยวคุณภาพเพิ่มขึ้น รวมถึงรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีเทรนด์ใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์อัจฉริยะ (ไอโอที) การใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น

ท่ามกลางกระแสการปรับขึ้นดอกเบี้ยของโลก แต่ในการประชุมทุกครั้งที่ผ่านมา กนง.เห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น จึงให้คงนโยบายการเงินอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป ซึ่ง กนง.พร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ แต่ในจังหวะที่ดอกเบี้ยในตลาดเงินปรับขึ้นไปแล้ว เมื่อถึงจังหวะที่ กนง.ขึ้นดอกเบี้ย ต้องติดตามว่าในตลาดเงินจะตอบรับและปรับดอกเบี้ยอีกหรือไม่ เพราะนั่นหมายถึงต้นทุนการเงินของธุรกิจที่จะปรับขึ้นอีก หากต้นทุนการเงินสูงเกินไปการลงทุนเอกชนที่หวังจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2561 อาจจะสะดุดได้!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image