บาทโป๊ก-หุ้นพุ่งรับปี ‘จอ’ ทุนนอกพาเหรดเข้า…หวั่นเศรษฐกิจป่วน

ต้อนรับศักราชใหม่ปีจอ 2561 สัปดาห์แรกที่ผ่านมาด้วยดัชนีตลาดหุ้นที่พุ่งทะยานถึง 1,800 จุด ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ระดับ 32.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบกว่า 3 ปี ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558

เปิดมาต้นปีดีขนาดนี้ ช่วงที่เหลือของปีนี้ยังต้องมาลุ้นกันต่อว่าจะมีปัจจัยหนุนเพิ่มให้ดัชนีตลาดหุ้นและค่าเงินบาทวิ่งไปต่ออีกหรือไม่

ดัชนีหุ้นร้อนแรงทำสถิติพุ่งสูงสุด

ตั้งแต่วันทำการวันแรก 3 มกราคมที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นอยู่ที่ 1,761.38 จุด จากปิดตลาดสิ้นปี 2560 ที่ 1,753.70 จุด ซึ่งดัชนีพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความผันผวนระหว่างวัน อย่างไรก็ตาม วันที่ 5 มกราคม ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นไปทดสอบระดับสำคัญที่ 1,800 จุด โดยดัชนีอยู่ที่ 1,800.36 จุด และสูงสุดที่ 1,803.93 จุด เป็นระดับดัชนีสูงสุดในประวัติการณ์นับแต่เปิดซื้อขายในปี 2518 แต่ปิดตลาด ดัชนีอยู่ที่ 1,795.45 จุด จากการขายทำกำไร

Advertisement

สำหรับสถานการณ์ตลาดหุ้นขาขึ้นในเดือนมกราคมของแต่ละปี หรือ January effect นั้น เป็นผลมาจากการที่นักลงทุนกลับมาจากซื้อหุ้นหลังจากที่หยุดยาวในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ซึ่งในช่วงเดือนธันวาคม นักลงทุนได้ขายหุ้นเพื่อทำกำไรและปรับพอร์ตการลงทุนไปแล้ว โดย นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย มองว่า ปีนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะไปต่อได้ตามภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยสำนักงานเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ คาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตถึง 4% ซึ่งเศรษฐกิจที่เติบโตดีขึ้นกว่าปีก่อน ส่งผลให้กำไรบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็นแรงหนุนให้มีเงินเข้ามาในตลาดหุ้น และมีผลจากเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติ จากมุมมองเศรษฐกิจไทยดีขึ้น การเมืองนิ่ง จึงเข้ามาซื้อหุ้นไทย ทั้งนี้ เดือนมกราคมเป็นช่วงที่นักลงทุนกลับมาจากช่วงหยุดยาวปลายปี คริสต์มาสต่อเนื่องปีใหม่ ทำให้มักจะมีแรงซื้อหุ้นของกองทุนในประเทศเข้ามาอยู่แล้ว เรียกว่าเป็น January effect ทำให้เดือนมกราคมหุ้นมักจะบวก รวมทั้งปีนี้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อหุ้นขนาดใหญ่ของไทยในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ได้รับอานิสงส์ เมื่อหุ้นขนาดใหญ่ปรับขึ้น ส่งผลดีต่อภาพรวมตลาดด้วย

แบงก์ชาติพร้อมดูแลบาทแข็ง

ฟากค่าเงินบาทเปิดตลาดวันทำการแรกของปีที่ 32.42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากปิดสิ้นปี 2560 ที่ 32.57 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ผลจากแรงเทขายดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ซึ่งต้องติดตามทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะจะมีผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงเร็ว โดยปิดตลาดวันที่ 4 มกราคม ที่ 32.22 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

Advertisement

ทำสถิติแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 39 เดือน หรือ 3 ปี 3 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 และรักษาระดับนี้ตลอดสัปดาห์

ที่ผ่านมา ทั้งนี้ นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ความเห็นว่า เงินบาทตั้งแต่ต้นปีแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับเงินสกุลของภูมิภาค แต่เคลื่อนไหวค่อนข้างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า กอปรกับมีการไหลเข้าของเงินทุนเข้ามาในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรทั้งภูมิภาค ซึ่งขณะนี้ได้ติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด และหากค่าเงินเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินควร จนอาจกระทบต่อการปรับตัวของภาคเอกชน ธปท.พร้อมทำหน้าที่ธนาคารกลางในการเข้าดูแล

มองซื้อหุ้นรอเลือกตั้งปลายปี

“ตลาดเงินเดือนแรกไม่สามารถใช้เปรียบเทียบทั้งปีได้เพราะเดือนแรกจะมีเงินจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนทั่วเอเชีย ปีนี้ก็เห็นเช่นกัน จะเห็นว่าบาทอาจจะผันผวนผิดปกติ หุ้นก็จะดีผิดปกติ ต้องติดตามไปอีกระยะ” นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุ และว่า ทุกครั้งที่หุ้นขึ้นจะเกิดคำถามตลอดว่าเศรษฐกิจไทยดีจริงหรือไม่ เพราะขณะนี้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยราว 4% เป็นตัวเลขที่โตสูงกว่าที่ผ่านมาแต่ว่าคนไม่รู้สึก ซึ่งกรณีที่คนจะรับรู้ได้ เศรษฐกิจต้องโต 5-6% เท่ากับประเทศอื่นในเอเชีย อย่างไรก็ตาม ด้านการจัดการเลือกตั้ง หากเกิดขึ้นจริงในช่วงปลายปีนี้ ก็จะอาจจะเป็นเหตุผลได้ว่ามาซื้อหุ้นรอตั้งแต่ต้นปี เพราะถ้ามีการเลือกตั้งปลายปี ช่วงครึ่งปีจะเริ่มมีการหาเสียงของพรรคต่างๆ แต่ละพรรคต้องชูนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ถือเป็นปัจจัยบวกที่รออยู่ โดยถามว่าซื้อหุ้นขณะนี้เลวร้ายหรือไม่นั้น ถ้าไม่มีเลือกตั้งเกิดขึ้นจะถือว่าค่อนข้างแพง แต่ถ้ามีเลือกตั้งเกิดขึ้นก็มีเหตุผลประกอบว่าหุ้นปลายปีจะดีขึ้นไปอีก

ด้านค่าเงินบาทขณะนี้ประคองตัวได้ แต่มีความผันผวนพอสมควร ยังต้องติดตามปลายเดือนมกราคมนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ จะสรุปผลงานในปีที่ผ่านมาและแถลงแผนงานของปีนี้ที่อาจจะมีการเดินหน้าแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โครงการเฮลธ์แคร์ที่ยังทำไม่สำเร็จจะกลับมาดำเนินการใหม่ต่อ เป็นต้น และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่มีการจุดพลุไว้หลายจุด หากมีมาตรการอะไรออกมาอาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น นักลงทุนอาจจะขายสินทรัพย์เสี่ยงกลับไปลงทุนดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งกลับขึ้นได้ อีกทั้งโดยเฉพาะช่วงปลายเดือนมีนาคม ปลายเดือนเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต้องดูว่าช่วงต้นเดือนมีนาคมตลาดเอเชียขณะนั้นจะดีอยู่ไหม

ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยสหรัฐจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยไทยที่ 1.50% เงินจะไหลกลับไปลงทุนในสหรัฐ ถ้า ธปท.ไม่ขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐ ก็ต้องติดตามดูว่าค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร

ต่างชาติแห่ลงทุนดันบาทแข็ง

ขณะที่ นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า กระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาทำให้บาทแข็งค่า หรือหุ้นที่ขึ้นมาในระยะสั้น เป็นผลจากปัจจัยของดอลลาร์สหรัฐมากกว่าปัจจัยในประเทศ ซึ่งเรื่องสำคัญ คือนโยบายการเงินสหรัฐที่มีสัญญาณออกมาว่าจะผ่อนคลาย ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจจะไม่ได้ขึ้นเร็ว และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งในปีนี้

ส่วนการเปลี่ยนประธานเฟดคนใหม่เป็น นายเจอโรม พาวเวล เชื่อว่ามุมมองในการดำเนินนโยบายการเงินจะเป็นในทิศทางเดียวกันและไม่ได้รีบที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐก็ยังอยู่ในระดับต่ำ

“ช่วงนี้เป็นธีมของดอลลาร์อ่อนค่า เงินลงทุนต่างๆ ทั่วโลกจึงไม่ได้พักอยู่ในดอลลาร์สหรัฐและไหลมาตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย บ้านเราเห็นเงินเข้ามาในตลาดหุ้นและพันธบัตร (บอนด์) ระยะสั้นเห็นบาทแข็งค่าจากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ทั้งนี้ ช่วงไตรมาสแรกนี้โอกาสที่บาทจะหลุดระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ลงมาที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐก็มี โดยประมาณการแนวรับอยู่ที่ 31.50-31.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยต้องจับตา 2 ปัจจัยในเดือนมีนาคม ได้แก่ เรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่นักวิเคราะห์มองว่าจะไม่ขึ้น แต่หากตัวเลขการว่างงานออกมาดี ตัวเลขเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ท้ายที่สุดเฟดก็ยังต้องขึ้นดอกเบี้ย และคงต้องมีการสื่อสารการขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไป

ดังนั้นมองต่อไปโอกาสที่ดอลลาร์สหรัฐจะกลับมาน่าสนใจมีอยู่ เพราะดอกเบี้ยจะขึ้นต่อเนื่องและอัตราดอกเบี้ยสหรัฐจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยไทย อีกปัจจัยการเลือกตั้งอิตาลีที่เศรษฐกิจค่อนข้างเปราะบาง หนี้ธนาคารพาณิชย์สูง หนี้เสียมีมาก เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่นักลงทุนอาจจะกังวล และมีการขายเงินยูโรที่มีอยู่ไปถือดอลลาร์สหรัฐแทน สำหรับดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าในรอบนี้ไม่ได้เป็นทิศทางระยะยาว แต่อาจจะมีความหวือหวาระหว่างทางได้” นายอมรเทพระบุ

บาทแข็งกระทบส่งออกไม่มาก

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าก็เริ่มมีผู้ประกอบธุรกิจส่งออกเริ่มส่งเสียงให้ ธปท.ออกมาดูแลค่าเงินบาทบ้างแล้ว แม้ปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางแข็งค่าแต่การส่งออกขยายตัวได้ดี คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 9-10% ตามตลาดโลกที่ฟื้นตัว ทั้งนี้ คาดการณ์การส่งออกปีนี้แม้จะไม่สูงเท่ากับปี 2560 ที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในทิศทางที่เติบโตต่อเนื่อง โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการส่งออกเติบโต 6% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง คาดเติบโต 5.7% สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดเติบโต 5% ธปท.คาดเติบโต 4% โดยนายอมรเทพระบุว่า ค่าเงินบาทจะมีผลต่อการส่งออกหรือไม่นั้น จากข้อมูลที่ ธปท.ได้ทำรายงานออกมา พบว่าการเติบโตเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีผลมากกว่าค่าเงินบาท อย่างปี 2555-2556 ค่าเงินบาทแข็งค่าไปที่ระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่การส่งออกไทยเป็นบวกตามเศรษฐกิจโลกที่เติบโตดี แต่หลังจากนั้นเกิดวิกฤตและปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ เศรษฐกิจทั่วโลกแย่ ส่งออกติดลบแต่ไม่ใช่ผลจากค่าเงินอย่างเดียว มองว่าค่าเงินมีผลต่อการส่งออกแต่ไม่มากนัก ประเด็นที่จะกำหนดส่งออกเป็นบวกหรือลบส่วนใหญ่ คือ การเติบโตเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป หรือจีน หากยังต้องการสินค้าก็ส่งออกได้ ทั้งนี้ แม้ค่าเงินบาทแข็งแต่เป็นการเคลื่อนไหวตามประเทศในภูมิภาค ก็ทำให้ไม่เสียความสามารถในการแข่งขัน ที่สำคัญปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจทั่วโลกจะเติบโตพร้อมกัน ไทยจะใช้โอกาสการเติบโตเศรษฐกิจโลกอย่างไร จะแข่งขันกับเพื่อนบ้านอย่างไร ซึ่งเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้นทำให้มีความต้องการสินค้ามากขึ้น แต่หากสินค้าเราไม่สู้เพื่อนบ้าน ก็ขายไม่ได้ จึงต้องสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่มของสินค้า

แนะลงทุนเครื่องจักรเพิ่มมูลค่า

นายอมรเทพกล่าวย้ำว่า อยากให้ระวังการติดกับดักค่าเงิน คือเมื่อค่าเงินบาทแข็ง ก็กลัวแข่งขันไม่ได้ ไปลดราคาเพื่อแข่งขัน ขณะที่บาทอ่อนก็ถูกกดราคาทำให้แข่งขันกันเฉพาะแต่ราคา ไม่ได้แข่งขันที่คุณภาพ ซึ่งสิ่งที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนควรทำในจังหวะนี้ คือใช้โอกาสจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าในการลงทุนและปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ เพราะเป็นช่วงที่ได้ของถูก ขณะที่ดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับต่ำ ต้นทุนการเงินต่ำ ซึ่งการลงทุนจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า ซึ่งการขายของถูกขายยากกว่าของแพงเพราะการแข่งกันรุนแรง มีคนขายมากกว่าคนซื้อ ทั้งนี้ สิ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศไทยระยะต่อไป คือการใช้เครื่องจักร (ออโตเมชั่น) ที่จะแก้ปัญหาเรื่องคนงานและค่าจ้างที่สูงขึ้น

“ปีนี้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ไทยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมัน ดังนั้นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอาจจะเป็นบวกน้อยลง ลดแรงกดดันค่าเงินบาท โอกาสไม่มากที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าจากต้นปีมาถึงปลายปีที่ราว 10% เหมือนปีที่ผ่านมา แต่ผลของราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ พืชผัก ผลไม้ หวังว่าช่วยให้รายได้เกษตรขยับขึ้นได้ ตามผลผลิตที่ออกมาได้ราคาดีขึ้น และหวังว่าจะเป็นตัวที่ทำให้เศรษฐกิจปีนี้กระจายตัวมากขึ้น” นายอมรเทพระบุ

ท่องเที่ยวไม่กระทบบาทแข็ง

ขณะที่การเที่องเที่ยว ซึ่งปีนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาไทย 36-37 ล้านคน สร้างรายได้การท่องเที่ยวกว่า 3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ทำสถิติสูงสุดด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 35 ล้านคน และสร้างรายได้กว่า 2.7 ล้านล้านบาทนั้น ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเทียบดอลลาร์สหรัฐหรือสกุลอื่นๆ ทำให้นักท่องเที่ยวต้องใช้เงินสกุลประเทศที่เดินทางมาแลกบาทมากขึ้น จะส่งผล

กระทบต่อการท่องเที่ยวไทยหรือไม่ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. ให้มุมมองว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้กระทบต่อการท่องเที่ยวไทยมากนัก เพราะคนที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวไม่ได้ใช้ต้นทุนท่องเที่ยวพิจารณาเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นประกอบ ในแง่จำนวนคนมองว่าจะไม่กระทบ เพราะไทยมีกลุ่มนักท่องเที่ยว

ที่เป็นนักท่องเที่ยวเส้นทางระยะไกลที่เดินทางมาท่องเที่ยวระยะยาว กลุ่มนี้จะมีระยะการท่องเที่ยวชัดเจน เช่น 2-3 สัปดาห์ ขณะที่นักท่องเที่ยวระยะสั้น อาจจะเปลี่ยนแปลงจุดหมายไปบ้าง เพราะประเทศอื่นๆ ก็เปิดการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยด้านการใช้จ่าย นักท่องเที่ยวอาจจะประหยัดค่าใช้จ่ายลงบ้าง ซึ่งจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวต่อทริปลดลง แต่รายได้จากการท่องเที่ยวปีนี้ยังเพิ่มขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น และจากที่ได้ติดตามดูในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่าอัตราการเพิ่มของค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงกว่าอัตราการเพิ่มของจำนวนคน

ห่วงคนไทยแห่เที่ยวเมืองนอก

“สิ่งที่กังวลคือนักท่องเที่ยวไทยจะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น โดยเฉพาะตลาดบนที่มีกำลังซื้อ ดังนั้น ททท.จึงจะขยายฐานนักท่องเที่ยวคนไทยให้เที่ยวในประเทศมากขึ้น โดยโฟกัสกลุ่ม

นักท่องเที่ยวตามช่วงอายุ และตอบโจทย์การท่องเที่ยวที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้ จะใช้กลยุทธ์ first visit ที่เคยใช้ในตลาดต่างประเทศ นำมาใช้ในประเทศเพื่อเปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และจะเพิ่มความถี่การเดินทางท่องเที่ยวให้มากขึ้น ซึ่งล่าสุดได้มีแคมเปญ ‘Amazing Thailand Go Local : เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต’ ที่จะเป็นธีมหลักการท่องเที่ยวปีนี้

ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ที่สอดคล้องไปกับมาตรการของรัฐบาลที่สามารถนำค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวมาหักลดหย่อนภาษีได้ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา” นายยุทธศักดิ์ระบุทิ้งท้าย

ในที่สุดแรงหนุนของกระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศจะดันหุ้นและค่าเงินบาทไปอีกเท่าไหร่ ระยะยาวจะสร้างความผันผวนให้กับค่าเงินจนกระทบต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวด้วยหรือไม่ ยังต้องติดตามใกล้ชิด!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image