ห่วงบาทแข็ง-ค่าแรงขึ้น กดดันรายได้ผู้ประกอบการ หวั่นเป็นโดมิโนกระชากเศรษฐกิจ

ช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยถูกให้นิยามว่า “แข็งนอกอ่อนใน” เพราะแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักมาจากภาคต่างประเทศทั้งการส่งออกที่ขยายตัวสูงตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และการท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับปี 2561 นี้ เป็นปีที่รัฐบาลมองว่าเป็นปีแห่งการลงทุน ทั้งการลงทุนของภาครัฐและการลงทุนของภาคเอกชน ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร รถไฟความเร็วสูง ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สนามบิน โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้น หากโครงการเหล่านี้เกิดขึ้นจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก และจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อและการบริโภคที่ได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็มีการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องในกลุ่มฐานราก

เศรษฐกิจขยายตัวสมดุล

ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะมีแรงขับเคลื่อนการเติบโตจากทั้งภายในประเทศและภาคต่างประเทศมาหนุนแบบสมดุลมากขึ้น คาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของหลายสำนักเศรษฐกิจจึงคาดว่าจะเห็นที่ระดับ 4% ใกล้เคียงปีที่ผ่านมา และเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะขยายตัวได้สูงกว่านี้ หากเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่ละตัวขยายตัวได้มากกว่าที่ประเมินไว้

ตลอดปี 2560 ที่ผ่านมาต่อเนื่องต้นปีนี้ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ผลจากดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า และมูลค่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ทำให้กระแสเงินทุนไหลเข้า เมื่อต่างชาติมองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยดี

Advertisement

ปีนี้เศรษฐกิจก็ยังขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งมีช่วงปลายปี 2561 นี้จะมีการเลือกตั้ง จึงนำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตร เพราะความเสี่ยงต่ำจากหนี้ต่างประเทศต่ำและเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง

บาทแข็งกดดันส่งออก

ส่งผลให้ค่าเงินบาทช่วงปลายสัปดาห์ก่อนจึงแข็งค่าทะลุระดับแนวรับสำคัญที่ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงสั้น ลงไปที่ 31.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 40 เดือน นับตั้งแต่ปี 2557 ก่อนจะกลับมายืนที่ระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ ขณะที่ค่าเงินบาทเปิดต้นปีที่ 32.42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยสิ้นปี 2560 ที่ 32.57 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนต้นปี 2560 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 35.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

Advertisement

แม้ว่าปีนี้หน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆ อย่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 5.0% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศช.) กระทรวงการคลัง 4.0% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 4.0% สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) 5.5% คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) 3.5-6.0%

ขณะที่สำนักวิเคราะห์ของธนาคารพาณิชย์ อาทิ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดส่งออกขยายตัว 4.5% ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย 4.8% ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ 5.0%

แน่นอนว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าที่ส่วนใหญ่ค้าขายด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อแปลงเงินกลับมาเป็นเงินบาท ย่อมได้รายได้และกำไรที่น้อยลง ขณะที่การท่องเที่ยว หากค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าสกุลใด ก็จะทำให้การมาท่องเที่ยวในไทยของนักท่องเที่ยวประเทศนั้นๆ รู้สึกว่าต้องจ่ายแพงขึ้น นักท่องเที่ยวอาจจะลดค่าใช้จ่ายลง หรือเปลี่ยนจุดหมายการเดินทางไปในประเทศที่อยู่ใกล้เคียงที่ค่าใช้จ่ายถูกกว่าก็ได้ ขณะที่การนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์หรือสินค้าจากต่างประเทศได้รับอานิสงส์เพราะค่าใช้จ่ายถูกลง

กรณีนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ไม่ว่าจะเป็น สรท. กกร. ที่ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลและ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนสูงมาก เพราะหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วและแรง แม้ว่าผู้ส่งออกจะมีการทำประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้อยู่แล้วอาจจะรับผลกระทบ ส่วนกรณีที่ไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ก็ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นกลุ่มที่มีความแข็งแกร่งน้อยและสายป่ายสั้นกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมทั้งดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับคู่ค้าและคู่แข่ง

ธปท.แจงดูแลบาทสอดคล้องภูมิภาค-ทุนสำรองพุ่ง

ภาพรวมเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค แต่ในบางช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินควรไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ ธปท.ได้เข้าดูแล ซึ่ง จันทวรรณ สุจริตกุล โฆษก ธปท. ระบุ และยืนยันว่า การดูแลค่าเงินที่ผ่านมาไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ไทยได้เปรียบการค้ากับต่างประเทศ หรือเพื่อฝืนทิศทางของตลาด แต่เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการและให้เวลาในการปรับตัว สะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศในปี 2560 ที่ปรับสูงขึ้นตลอดทั้งปี โดยต้นปีอยู่ที่ 1.719 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ปิดสิ้นปีที่ 2.026 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.07 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ล่าสุดเงินสำรองระหว่างประเทศรายงานเมื่อวันที่

12 มกราคมที่ผ่านมา ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.040 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ตัวเลขจากรายงานฐานเงินและเงินสำรองระหว่างประเทศที่เผยแพร่ทุกสัปดาห์ พบว่า ธปท.มีการขาดทุน (ทางบัญชี) จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าเช่นกัน โดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ปิดสิ้นปีที่ 2.026 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทที่ระดับ 32.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นมูลค่า 6.6155 ล้านล้านบาท ขณะที่สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูงสุด 2.040 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาที่ 32.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าเงินสำรองในรูปแบบบาทจึงลดลงอยู่ที่ 6.5701 ล้านล้านบาท

ห่วงภาคเกษตร-อาหารกระทบหนัก

แต่สำหรับผู้ประกอบการไม่ได้เป็นการลดลงในทางบัญชีเท่านั้น แต่รายได้จริงและกำไรของลดลงไป โดย กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธาน สรท. มองว่า ผลกระทบภาพรวมจากการที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ทำให้รายได้ผู้ประกอบการลดลง อย่างไรก็ตาม แต่ละอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบไม่เหมือนกัน กลุ่มที่อาจจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก กลุ่มนี้มีสัดส่วนประมาณ 17% ของมูลค่าการส่งออกของรวมทั้งประเทศ ขณะที่ด้านคำสั่งซื้อขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เพราะตลาดโลกฟื้นตัวขึ้น ทำให้มีความต้องการสินค้าเข้ามา ซึ่งแม้ว่าตั้งแต่ปีที่ผ่านมาไทยเผชิญกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่มูลค่าการส่งออกไทยปีที่ผ่านมายังขยายตัวได้ถึง 10%

การส่งออกทั้งปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 5.5% คาดว่าจะมีมูลค่าราว 2.30 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอยู่บนสมมุติฐานค่าเงินบาทที่ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะมีรายได้เงินบาทประมาณ 7.590 ล้านล้านบาท แต่หากเงินบาทในปีนี้ยังแข็งค่าต่อเนื่องและนานทั้งปี ที่สมมุติฐาน 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นรายได้เงินบาทประมาณ 7.360 ล้านล้านบาท ซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 1 บาท จะทำให้รายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาทหายไป 2.30 แสนล้านบาท และประเมินว่าจะกระทบไปยังห่วงโซ่การผลิตที่เกี่ยวข้อง จะทำให้เม็ดในระบบเศรษฐกิจหาย 7.912 แสนล้านบาท ส่งผลกระทบต่อจีดีพีให้ลดลง 5% ของมูลค่าจีดีพีทั้งประเทศ สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยที่ว่าดีจากการส่งออกดี แต่เศรษฐกิจในประเทศไม่ได้ดีตาม

สรท.แนะชะลอการปรับขึ้นค่าแรง

ไม่เพียงเท่านี้ ยังต้องติดตามความชัดเจนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะมีความชัดเจนในสัปดาห์นี้ด้วยว่าทั่วประเทศจะปรับขึ้นเท่าไหร่ เพราะค่าแรงคิดเป็น 10-20% ของต้นทุนการผลิต หากขึ้นค่าแรงจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น กระทบภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร รวมทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทค่อนข้างมากอยู่แล้ว ซึ่ง สรท.มีความเห็นว่าอยากให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาชะลอขึ้นค่าแรงในปีนี้ออกไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่เหมาะสม เพราะเป็นการปรับในขณะที่ตลาดแรงงานไม่ได้มีการพัฒนาศักยภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ การปรับค่าแรงต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น แต่การปรับราคาสินค้าขึ้นทำได้ยาก ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

ขณะที่มุมมองของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดย ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ มองว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลรักษาค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ เพราะค่าเงินบาทที่มีการแข็งค่าผันผวนมีผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยค่าเงินบาทที่แข็งค่าถึง 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจหายไป 1 แสนล้านบาท มีผลต่อจีดีพีลดลง 0.7% ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้าลง จะส่งผลต่อการบริโภคในประเทศ รวมถึงความไม่มั่นใจต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ อีกทั้งค่าแรงขั้นต่ำที่มีโอกาสปรับขึ้น จะเป็นปัจจัยกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกขยายตัว 5% และปีนี้จีดีพีไทยจะขยายตัว 4.2-4.5% ซึ่งจะติดตามปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลกระทบว่ารุนแรงมากน้อยเพียงใด

ด้าน พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า คาดว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัว 5% และมีโอกาสที่การส่งออกจะขยายตัวมากกว่า 5% ตามความต้องการสินค้าในตลาดโลก ขณะที่การบริโภคค่อยๆ ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงการเติบโตจีดีพี ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำจากผลผลิตที่ออกมามากจะกระทบกับรายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่ เป็นการส่งผลซ้ำเติมต่อกำลังซื้อที่ยังไม่ได้ฟื้นตัว สอง คือ การแข็งค่าของเงินบาท คาดว่ากรอบค่าเงินบาทปีนี้จะอยู่ที่ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะกระทบกับรายได้ในรูปเงินบาทและความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก รวมทั้งกังวลว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่ายาวนาน จะกดดันรายได้เกษตรเมื่อแปลงมาเป็นค่าเงินบาท เนื่องจากประเทศที่มีสินค้าเกษตรส่งออกใกล้เคียงกันไม่ได้มีค่าเงินแข็งค่าเท่ากับค่าบาทที่แข็งค่า 10% เทียบดอลลาร์สหรัฐ อาทิ เวียดนาม จีน เป็นต้น ต้องติดตามสินค้าเกษตรชนิดที่คล้ายกัน

ลุ้นมีนาคมบาทอ่อนค่าลง

เช่นเดียวกับ เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่เห็นว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วสัปดาห์ละประมาณ 1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ต้องรอติดตามสถานการณ์อีกระยะหนึ่งก่อนว่าอัตราการแข็งค่าจะอยู่ที่ระดับนี้ในระยะยาวหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาอาจจะได้รับผลกระทบบ้างแต่ยังพอปรับตัวได้ แต่หากค่าเงินบาทยังแข็งค่านานต่อระยะยาว กรณีที่จะได้รับผลกระทบคือ ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถเสนอคำสั่งซื้อให้คู่ค้าได้ แต่คู่แข่งอย่างเวียดนาม อินโดนีเซียทำได้ ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนตลาดใหม่ หากไม่มีคำสั่งซื้อจะกระทบในแง่ของกำลังการผลิตที่จะต้องใช้ลดลง รวมทั้งต้องติดตามว่าปัจจัยการขึ้นค่าแรงจะเข้ามาเพิ่มต้นทุนการผลิตมากน้อยเพียงใดด้วย ทั้งนี้มองว่าในภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่า กลุ่มการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร กรณีที่ผู้ส่งออกรับซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกรมาขายต่อจะได้รับผลกระทบก่อน ซึ่งหากผู้ส่งออกแข่งขันไม่ได้ ส่งออกไม่ได้ ผลกระทบจะวนกลับมาการซื้อสินค้าจากเกษตรกรจะลดลง ซึ่งจะยิ่งส่งผลต่อกำลังซื้อภาคเกษตรกรที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ และอาจจะทำให้กำลังซื้อหายไป

อย่างไรก็ดี จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่สิ้นเดือนมีนาคม ซึ่งจะมีการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และเป็นครั้งแรกที่ประธานเฟดคนใหม่ คือ นายเจอโรม พาวเวล แทน นางเจเน็ต เยลเลน จะเข้าร่วมประชุมเป็นนัดแรกโดยรอบนี้เฟดจะมีการประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ และมีความชัดเจนทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ หากตลาดมีความเชื่อมั่นว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐที่ถ้าออกมาดี เชื่อว่าดอลลาร์สหรัฐเริ่มกลับมาแข็งค่าได้ ดังนั้น ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าสถานการณ์ค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร จะกลับมาอ่อนค่าลงกว่าระดับปัจจุบันได้หรือไม่

ซึ่งหากไม่เป็นไปตามคาด ภาคการส่งออกไทยที่เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ รวมทั้งการบริโภคจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

และสุดท้ายอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะไปได้ถึงไหน!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image