เปิดเบื้องลึก ม.44 ลอยตัวน้ำตาล ระส่ำ! หวั่นผันผวนซ้ำรอยน้ำมัน

พลันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 1/2561 เรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ โดยยกเว้นการใช้บังคับ (18) ของมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายเฉพาะในส่วนของการกำหนดราคาน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในประเทศ มีผลช่วงกลางดึกของวันที่ 15 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา

มีคำถามตามมาในกลุ่มผู้บริโภคว่า นี่คือการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายอย่างเป็นทางการใช่หรือไม่ เพราะด้วยเนื้อหาคำสั่งไม่ได้ระบุชัดถึงคำว่า “ลอยตัว” เมื่อวันที่ 16 มกราคม กระทรวงอุตสาหกรรมโดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงเปิดแถลงข่าวด่วนถึงการใช้ ม.44 โดยระบุชัดว่านี่คือ “การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายอย่างเป็นทางการ” และรวมถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

มั่นใจราคาขายปลีกปรับลดลง

นายอุตตมระบุว่า ม.44 ดังกล่าวถือเป็นการปลดล็อกการควบคุมราคาน้ำตาลทรายไปสู่การลอยตัว เพื่อให้ราคาอิงตลาดโลกตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้วางไว้ในแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ โดยราคาตามกลไกลอยตัวหลังจากนี้จะใช้สูตรการอิงราคาน้ำตาลทรายตลาดลอนดอน นัมเบอร์ 5 บวกไทยพรีเมียมทันที ทั้งนี้ ผลจากการลอยตัวคาดว่าจะทำให้ราคาขายปลีกลดลงแน่นอน เพราะจะยกเลิกการเก็บเงินส่วนต่าง 5 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากปัจจุบันราคาขายปลีก 22-23 บาทต่อ กก. ประกอบกับปัจจุบันราคาตลาดลอนดอนนัมเบอร์ 5 บวกไทยพรีเมียม อยู่ระดับต่ำ 14-15 เซ็นต์ต่อปอนด์ และราคาเฉลี่ยในการส่งออกน้ำตาลอยู่ที่ 17 เซ็นต์ต่อปอนด์ โดยจะทราบราคาชัดเจนอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพราะต้องรอให้น้ำตาลที่โรงงานปล่อยออกไปจำหน่ายหมดก่อน

Advertisement

“กระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมมาตรการดูแลผู้เกี่ยวข้องกับการลอยตัวในกรณีราคาลดลงมากจนกระทบต่อชาวไร่ โดยจะมีกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเข้ามาอุดหนุน และหากราคาแพงเกินระดับเหมาะสม กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาดูแลแน่นอน นอกจากนี้ โรงงานน้ำตาลจะสำรองน้ำตาลทรายไว้ตลอดเวลาเพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนหรือราคาผันผวน” นายอุตตมชี้แจง

น้ำตาลทรายหน้ารง.ลง2บาท

ขณะที่นางวรวรรณ ชิตอรุณ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ให้ข้อมูลว่า “หลังจากประกาศลอยตัวราคาน้ำตาล คาดว่า ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานจะลดลงประมาณ 2 บาทต่อ กก. เฉลี่ยอยู่ที่ 17-18 บาทต่อ กก. จากเดิม 19-20 บาทต่อ กก. จากราคาน้ำตาลในตลาดลอนดอนนัมเบอร์ 5 บวกไทยพรีเมียมเฉลี่ยอยู่ที่ 450 เหรียญต่อปอนด์ แต่ยอมรับว่าราคาน้ำตาลทรายขายปลีกในประเทศจะยังไม่ลดลงทันที เพราะมีน้ำตาลบางส่วนขอขนส่งออกจากโรงงานจำนวน 3 แสนตัน ทำให้ราคาขายในประเทศอยู่ในราคาเดิมไปก่อน”

Advertisement

อย่างไรก็ตาม แม้กระทรวงอุตสาหกรรมจะเปิดแถลงข่าวเพื่อสร้างความเข้าใจต่อการ”ลอยตัว” แต่เนื่องจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อน มีการกำหนดโครงสร้าง ระบบแบ่งปัน การบริหารจัดการภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2527 แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการใช้ ม.44 ว่า ผลจากการลอยตัวจะไม่กระทบต่อผู้บริโภคจริงหรือ?

จำเป็นต้องใช้ม.44เพื่อลอยตัว

ในเรื่องนี้ “มติชน” ยังได้สอบถามข้อมูลจากนายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่คลุกคลีกับเรื่องนี้มานานหลายปี ก็ทราบว่า

“ที่ต้องอาศัย ม.44 ในการลอยตัวก็เพื่อกันเหนียวไว้ก่อน เพราะหากรอตามขั้นตอนกฎหมายปกติจะใช้เวลานานอาจจะเป็นปีก็ได้ เนื่องจากจะต้องรอให้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับใหม่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อน ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน สนช.มีหลายเรื่องที่อยู่ระหว่างพิจารณา ขณะที่เรื่องการลอยตัวไปจนถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน รองรับการเจรจากับประเทศบราซิลที่ร้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ว่า ไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล จากการกำหนดราคาหน้าโรงงาน การกำหนดโควต้า การให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อเพิ่มเงินค่าอ้อยให้ชาวไร่ และมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รองรับ ซึ่งผลจากการลอยตัวน่าจะทำให้การเจรจาระหว่างไทยและบราซิลจบลงด้วยดี เพราะไม่มีการอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลแล้วปล่อยให้ชาวไร่และโรงงานน้ำตาลทรายร่วมบริหารจัดการ มีภาครัฐดูแลในภาพรวมเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคเท่านั้น”

ไม่กำหนดราคาเข้าข่ายละเว้น

นายสมชายยอมรับว่า เดิมกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) วางกรอบเวลาเรื่องนี้ว่าจะประกาศลอยตัวราคาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่เอื้อ จึงมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2560 ว่า การปรับแก้ระเบียบต่างๆ เป็นไปด้วยดี แต่มี 1 ข้อ คือ เรื่องการประกาศราคา กฎหมายระบุชัดว่าคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ต้องเป็นผู้ประกาศราคา ซึ่งหาก กอน.ประกาศแล้วราคาสูงกว่าตลาดโลก บราซิลอาจมองว่าไทยกำลังอุดหนุนในอีกรูปแบบหนึ่ง ทั้งที่ตัวบราซิลเองปัจจุบันราคาน้ำตาลในประเทศขายแพงกว่าโลกถึง 2 เท่า แต่เพราะบราซิลให้เอกชน คือ โรงงานและชาวไร่ร่วมกำหนดราคา จึงไม่เข้าข่ายอุดหนุนราคา

เรื่องนี้จึงมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าหาก กอน.ไม่ประกาศราคาและปล่อยลอยตัวด้วยการใช้ราคาของลอนดอน นัมเบอร์ 5 บวกไทยพรีเมียม เป็นข้อมูลในการดูแลราคาขายปลีกในประเทศจะเป็นอย่างไร คำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา คือ หากไม่กำหนดราคาจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ยืนยันขายปลีกราคาไม่ผันผวน

แม้จะเคลียร์ประเด็น ม.44 แต่มีอีกประเด็น คือ ราคาขายปลีก ที่ผู้บริโภคกังวลว่าจะต้องซื้อในราคาแพงลิ่วเหมือนราคาน้ำมันที่เคยพุ่งตามตลาดโลกหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ราคาโลกพบว่า ราคาน้ำตาลทรายลดลงอยู่ระดับ 14-15 เซ็นต์ต่อปอนด์ ขณะที่น้ำตาลส่งออกของไทยถูกขายทำราคาแล้วประมาณ 30% ในราคาเฉลี่ย 17 เซ็นต์ต่อปอนด์

ในเรื่องนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า จากสถานการณ์โลกจะทำให้ได้ราคาขายปลีกในไทยลดลงแน่นอน ส่วนจะลดลงเท่าไรไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องอ้างอิงราคาตลาดโลก โดยประชาชนสามารถตรวจสอบราคาได้จากเว็บไซต์กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ หรือติดต่อสอบถามเข้ามาโดยตรง ขณะเดียวกันในเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดเหมือนราคาสินค้าตัวอื่นแน่นอน ทำให้ราคาไม่ผันผวนเหมือนราคาน้ำมันแน่นอน

อย่าห่วงน้ำตาลทรายขาดตลาด

นอกจากนี้ นายสมชายยังอธิบายกลไกภายใต้การลอยตัวครั้งนี้ว่า จะทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลใหม่เริ่มใช้เช่นกันมีผลตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2561 ประกอบด้วย การยกเลิกระบบโควต้าน้ำตาลที่มี 3 ส่วน คือ บริโภคในประเทศ (โควต้า ก.) ที่ปกติจะอยู่ที่ประมาณ 25-26 ล้านกระสอบ ส่งออกเพื่อทำราคาขาย (โควต้า ข.) และส่งออกโดยโรงงาน (โควต้า ค.) โดยระบบจัดการรูปแบบใหม่จะมีการกำหนดให้โรงงานจัดสรรน้ำตาลในประเทศให้เพียงพอ ขณะที่การส่งออกจะมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปทำราคาให้ทุกฝ่ายพอใจ เพื่อให้โรงงานใช้เป็นเกณฑ์ในการส่งออก ซึ่งการส่งออกนั้นไม่ต้องกังวลว่าหากราคาตลาดโลกพุ่งแล้วจะทำให้โรงงานจะขายน้ำตาลจนบริโภคไม่เพียงพอ เพราะรัฐบาลได้อนุญาตให้การนำเข้าส่งออกน้ำตาลมีภาษีเป็น 0% ดังนั้น หากในประเทศเน้นส่งออก โรงงานที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นส่วนประกอบหรือผู้ค้าส่งน้ำตาลก็สามารถนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศได้ ซึ่งจุดนี้จะเป็นความเสี่ยงของผู้ผลิตในประเทศมากกว่า เพราะหากราคาโลกลดลงน้ำตาลอาจขายไม่ได้

“สำหรับสถานการณ์ราคาขายปลีก ยืนยันว่ากระทรวงอุตสาหกรมและกระทรวงพาณิชย์จะดูแลอย่างใกล้ชิดแน่นอน ขณะเดียวกันจะมีกองทุนฯดูแลทั้งภาวะราคาตกต่ำเพื่อช่วยเกษตรกร และภาวะสูงเพื่อดูแลผู้บริโภค โดยเงินกองทุนปัจจุบันมีประมาณ 8,000 ล้านบาท รายได้ของกองทุนฯตามโครงสร้างใหม่จะใช้วิธีนำราคาเฉลี่ยขายปลีกของผู้ใช้บริโภครายหลัก อาทิ โรงงานผลิตอาหาร โมเดิร์นเทรด มาลบกับราคาตลาดโลก (ลอนดอนนัมเบอร์ 5 บวกไทยพรีเมียม) และนำส่วนต่างเข้ากองทุนเป็นรายได้หลัก แต่หากลบแล้วติดลบก็ไม่จำเป็นต้องส่งเงินเข้ากองทุน” นายสมชายกล่าว

พณ.คงน้ำตาลบัญชีสินค้าควบคุม

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างเตรียมแนวทางการดูแลราคาน้ำตาล และราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ โดยมาตรการเบื้องต้นที่จะใช้ในการบริหารจัดการ คือ จะให้คงสินค้าน้ำตาลไว้ในบัญชีรายการสินค้าควบคุมเช่นเดิม ตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) และไม่มีการยกเลิกเพดานราคาขายปลีกสูงสุดไว้ที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เพื่อให้สามารถออกมาตรการได้ทันท่วงที กรณีมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพราคา และใช้เป็นเกณฑ์ในการดูแลสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค สำหรับดูแลเรื่องการรายงานสต๊อก การปรับขึ้นลงของราคาขาย

“เมื่อกระทรวงพาณิชย์ได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการจากกระทรวงอุตสาหกรรมแล้วในเรื่องลอยตัวราคาน้ำตาล กระทรวงพาณิชย์จะต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม กกร.ก่อนว่าจะมีแนวทางการดำเนินการอย่างไร อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้น้ำตาลยังเป็นสินค้าควบคุม ตามประกาศของ กกร. ที่จะต้องมีการกำหนดราคาขายสูงสุด ซึ่งราคาขายปลีกสูงสุดไม่เกิน 23.50 บาทต่อ กก. หากมีร้านค้าใดขายน้ำตาลทรายเกินราคากำหนด จะเข้าข่ายมีความผิดละเมิดประกาศ กกร. มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายสนธิรัตน์ระบุ

แนะเครื่องดื่มปรับลดราคา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังระบุว่า เมื่อลอยตัวราคาน้ำตาล ราคาขายปลีกในประเทศจะปรับขึ้นลงตามราคาตลาดโลก หากราคาน้ำตาลทรายปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ผลิตสินค้าที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้าควรจะต้องมีการจัดโปรโมชั่นคืนกำไรให้กับลูกค้าด้วย อาทิ ผู้ประกอบการเครื่องดื่มต่างๆ ดังนั้น จากนี้จะเชิญห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) ต่างๆ มาทำความเข้าใจว่า จะต้องลดราคาขายปลีกน้ำตาลทรายลงมาให้เห็นชัดเจนเพื่อผู้บริโภค แต่อาจจะให้ระยะเวลาปรับตัวช่วงหนึ่งที่ยังมีสต๊อกเก่าเหลืออยู่” นายสนธิรัตน์ระบุทิ้งท้าย

ทั้งนี้ แนวทางลอยตัวดังกล่าวน่าจะเป็นตัวอย่างของการปลดล็อกสินค้าเกษตรของไทยให้เคลื่อนไหวตามตลาดโลก ซึ่งหลายรัฐบาลพยายามผลักดันเรื่องนี้มาตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เสียงบประมาณไปมหาศาลกับการศึกษาทั้งทำเอง และจ้างหน่วยงานอิสระอย่างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่มีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเป็นตัวชูโรงก่อนที่ พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะผ่าน สนช. น่าจะเป็นเพียงยกแรกในการเริ่มต้นอนาคต “น้ำตาลเสรี” ของไทยว่าจะเดินไปอย่างราบรื่นหรือทุลักทุเล

เพราะต้นทุนในปัจจุบัน ภาครัฐมีความได้เปรียบจากสถานการณ์ราคาโลกที่ราคาซื้อขายล่วงหน้าค่อนข้างต่ำ จากการที่มีน้ำตาลจากทั่วโลกเข้าระบบ แต่หากหลังจากนี้สถานการณ์เป็นช่วงขาขึ้นเหมือนหลายปีที่ผ่านมา และราคาจะสามารถกลับไปไต่ระดับสูงกว่า 25 เซ็นต์ต่อปอนด์ หรือต้นทุนโลกสูงกว่าราคาที่ควบคุมไว้ที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) น่าจะเป็นโจทย์สำคัญว่ารัฐบาลจะบริหารจัดการราคาขายปลีกไม่ซ้ำรอยน้ำมันได้หรือไม่

เนื่องจากถึงเวลานั้นเกษตรกรและโรงงานจะยังรับได้กับราคาสูง แต่ไม่สูงที่สุดหรือไม่ หรือหากตลาดนอกระบบมีการจำหน่ายเกินราคาที่กระทรวงพาณิชย์ควบคุมจนผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน “รัฐบาล” จะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร

นี่เป็นโจทย์ยากที่ต้องวางมาตรการรับมืออย่างรอบคอบ!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image