รัฐบาลเร่งระดมกึ๋น!คุมเงินดิจิทัล ต้านกระแสไม่ไหว…หวั่นหนีลงดิน

ความคืบหน้าการออกกฎหมายควบคุมเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอเรนซี หลังจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะสั่งการเองที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ปักธงไว้แล้วว่าจะออกประกาศแนวทางกำกับดูแลคริปโตเคอเรนซีและการระดมทุนด้วยเหรียญดิจิทัล (ไอซีโอ) ภายในเดือนมีนาคมนี้อย่างแน่นอน ซึ่งตอนนี้ก็มีความคืบหน้าพอสมควร

ครม.อนุมัติร่างพ.ร.บ.หลักทรัพย์

ล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. … ชุดยกระดับการกำกับดูแลตลาดทุนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535

โดยร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ชุดยกระดับฯ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 7 กลุ่ม กลุ่มแรก ระบุเกี่ยวกับการปรับปรุงบทนิยามการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ การกำหนดทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทหลักทรัพย์ และการกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่รัฐมนตรีกำหนดเพิ่มเติม ได้แก้ไขโดยกำหนดให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีอำนาจประกาศยกเว้นการประกอบธุรกิจบางลักษณะไม่ให้เป็นธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และการจัดการกองทุนรวม เพื่อให้กฎหมายมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรองรับนวัตกรรม รวมทั้งเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าร่วมทดสอบนวัตกรรมภายใต้โครงการเรกูลาทอรี่ แซนด์บ๊อกซ์ (Regulatory Sandbox) ได้

Advertisement

ซึ่งในเรื่องที่พูดถึงความยืดหยุ่นของกฎหมายที่จะรองรับนวัตกรรมใหม่ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว เป็นที่กังขาว่าร่าง พ.ร.บ.ชุดยกระดับฯนี้ รวมเรื่อง “การกำกับดูแลคริปโตเคอเรนซี” ไว้ด้วยหรือไม่ ขณะที่กระแสสังคมก็มี 2 ทิศทางคือ 1.บอกว่าร่าง พ.ร.บ.นี้รวมการกำกับดูแลเงินดิจิทัลไว้แล้ว และ 2.เกณฑ์การกำกับดูแลเงินดิจิทัลยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะฉะนั้น ไม่ได้รวมไว้ในร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯฉบับใหม่นี้

ไม่รวม’คริปโตฯ’ในร่างใหม่

เมื่อสอบถามไปยัง ก.ล.ต. ก็ได้รับข้อมูลยืนยันว่า พ.ร.บ.หลักทรัพย์ชุดยกระดับฯ ยังไม่ได้เขียนถึงคริปโตเคอเรนซี เพราะคณะกรรมการ (บอร์ด) ก.ล.ต.อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้น จึงอยากให้ยึดตามร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับจริง จะชัวร์ที่สุด

ขณะที่ นายศักรินทร์ ร่วมรังสี ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวย้ำว่า การประชุม ครม.เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เห็นชอบในหลักการของร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ชุดยกระดับฯ โดยในร่างแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์ฯ จะไม่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการระดมทุนผ่านไอซีโอและการลงทุนเงินสกุลดิจิทัล แต่เป็นการทำให้เกิดความยืดหยุ่นที่จะรองรับนวัตกรรมและบริการรูปแบบใหม่เพื่อส่งเสริมการพัฒนาฟินเทคเท่านั้น

“บอร์ด ก.ล.ต.จะประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางกำกับไอซีโอตามกฎหมาย โดย ก.ล.ต.จะดูแลเฉพาะไอซีโอที่เป็นหลักทรัพย์ ส่วนไอซีโอที่ไม่ใช่หลักทรัพย์และเงินดิจิทัลอื่นๆ นั้น คงต้องรอข้อสรุปจากคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ส่วนการกำกับดูแลเงินดิจิทัลอาจจะต้องออกกฎหมายอีกฉบับ เพื่อมารองรับการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาอย่างรอบคอบ” นายศักรินทร์กล่าว

นักลงทุนต้องศึกษาข้อมูลก่อน

ฉะนั้น ระหว่างที่รอรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก.ล.ต. และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เคาะแนวทางกำกับหรือประกาศที่ชัดเจน ช่วงนี้จะต้องกรองข่าวสารดีๆ เพราะเราอยู่ในช่วงที่มีช่องว่าง จะซื้อขายเงินดิจิทัลก็ไม่ได้ผิด แม้ว่ากฎหมายไม่รองรับสถานะของคริปโตเคอเรนซีก็ตาม นักลงทุนจะต้องระมัดระวังและศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะรายละเอียดของโครงการ (ไวต์เปเปอร์) ก่อนตัดสินใจลงทุน

แต่ในช่วงที่ผ่านมาก็จะเห็นบริษัทหรือสตาร์ตอัพออกไอซีโอตามกันเป็นพาเหรดเลยทีเดียว

เอกชนรอเกณฑ์กำกับดูแลชัด

นายปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งเหรียญซีคอยน์และ Tdax เว็บไซต์สำหรับซื้อขายเงินสกุลดิจิทัลในประเทศไทยให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่แบงก์ชาติออกประกาศขอความร่วมมือแบงก์พาณิชย์งดทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซีทั้งทางตรงและทางอ้อม จนกว่าจะมีเกณฑ์การกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐ ส่งผลให้แบงก์กรุงเทพที่ผูกบัญชีกับ Tdax ขอปิดบัญชีการให้บริการ ทำให้ Tdax ต้องชะลอการออกไอซีโอเป็นการชั่วคราว และประกาศยกเลิกการทำไอซีโอของลูกค้าบางราย เพื่อรอความชัดเจนทั้งหมด แต่ก็ยังมั่นใจว่าจะไม่กระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ขณะที่ น.ส.ปรางพิสุทธิ์ แดงเดช ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตุ๊กตุ๊กพาส จำกัด สตาร์ตอัพที่ให้บริการด้านการท่องเที่ยวผ่านตู้บล็อกเชน เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น มั่นใจว่านักลงทุนที่สนใจยังเดินหน้าที่จะลงทุนในคริปโตเคอเรนซีอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (เจวีซี) ระบุว่าหากตัวโครงการไม่ชัดเจนอาจเกิดความเสี่ยงได้ เนื่องจากช่วงนี้มีบริษัทให้ความสนใจออกไอซีโอเป็นจำนวนมาก แต่การปิดหรือฟรีซบัญชีของแบงก์กรุงเทพจะไม่กระทบกับการซื้อขายหรือเทรดไอซีโอ เพราะเป็นการฟรีซบัญชีขาเข้า เพื่อป้องกันแหล่งที่มาของเงินที่ไม่แน่ชัด

ยธ.เปิดระดมความเห็นดูแล

นอกจากการเทกแอ๊กชั่นของฝ่ายกำกับทั้ง 4 หน่วยงานที่เร่งสปีดการทำงาน เพื่อให้ทันกับการเทรดคริปโตเคอเรนซีและการระดมทุนแบบใหม่ที่กำลังมาแรงในไทยแล้ว เมื่อไม่กี่วันก่อน กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นำโดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อระดมสมองเรื่องมาตรการกำกับดูแลคริปโตเคอเรนซีด้วย

งานนี้ พล.อ.อ.ประจินอธิบายให้ฟังว่า การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จะรวบรวมความคิดเห็นแล้วเสนอให้กับทางกระทรวงการคลัง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการออกกฎหมายมากำกับดูแล อย่างไรก็ตาม กระทรวงยุติธรรมอยู่ระหว่างกลางและปลายน้ำ ไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายหน้าที่ และย้ำว่าผู้บริหารส่วนใหญ่คือคนรุ่นเก่า ถ้าไม่รีบให้ความรู้หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เมื่อถึงเวลาที่มีคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจพูด จะสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง

พล.อ.อ.ประจินระบุว่า หลังจากรวบรวมความคิดเห็นเรื่องมาตรการกำกับดูแลการใช้เงินสกุลดิจิทัลแล้ว ในวันที่ 6 มีนาคมนี้ กระทรวงยุติธรรมจะแถลงสรุปมาตรการกำกับดูแลอีกครั้ง ก่อนจะส่งข้อมูลให้กับทางกระทรวงการคลังพิจารณาอย่างเร่งด่วน ซึ่งย้ำว่าต้องออกกฎหมายควบคุมในรูปแบบของ พ.ร.บ. หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อให้มีผลบังคับใช้

“สกุลเงินดิจิทัลมีประโยชน์และสร้างโอกาส ขณะเดียวกันก็ยังมีความเสี่ยง ขอให้ประชาชนตรวจสอบอย่างรอบคอบ โดยรัฐบาลกำลังหามาตรการบริหารจัดการสกุลเงินดิจิทัล เพื่อให้ผู้บริโภคไม่ตกเป็นเหยื่อ” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

แนะรัฐเก็บภาษี’เงินดิจิทัล’

ในเวทีระดมความเห็น นักกฎหมายอย่าง นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ จำกัด และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นห่วงอยู่ 4 ประเด็นด้วยกันคือ 1.การซื้อขายคริปโตเคอเรนซี ในหลักการจะต้องมีหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งเข้าใจว่าขณะนี้รัฐบาลได้มอบให้ ก.ล.ต.เป็นผู้ดูแล 2.ควรจะมีกฎหมายมากำกับดูแลอย่างเร่งด่วน หากไม่เข้าข่ายการกำกับภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ก็อาจจะต้องใช้กฎหมายอื่นที่มีอยู่แล้ว เช่น พ.ร.บ.ฟอกเงินมาใช้ได้ทันที รวมถึงจะต้องทำการยืนยันตัวตน (เควายซี) ด้วย 3.การฟอกเงิน และ 4.การเก็บภาษีคริปโตเคอเรนซี สามารถเก็บภาษีในรูปแบบภาษีเงินได้ แต่ต้องไปคิดต่อว่าจะเก็บภาษีอย่างไร อย่างภาษีการค้าผ่านแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (อีคอมเมิร์ซ) ที่ผ่านมาไม่ได้ทำรายงานไว้ก็บันทึกไม่ได้ ทำให้เรียกเก็บยาก

“หากเรากดไว้ไม่ให้มี จะทำให้ยิ่งอยู่ใต้ดิน เมื่ออยู่ใต้ดินก็เก็บอะไรไม่ได้เลย ในที่สุดจึงมองว่าต้องทำเรื่องนี้ให้ขึ้นมาบนดิน รัฐบาลจะต้องปรับตัว จะปล่อยให้ไม่มีกฎหมายคงไม่ได้ อย่างในต่างประเทศก็เริ่มเก็บภาษีคริปโตเคอเรนซีกันแล้วประมาณ 25% นอกจากนี้แล้วจะต้องให้ความรู้กับประชาชนควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะคนที่ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเข้าไปตักเตือน” นายกิติพงศ์กล่าว

ก.ล.ต.ย้ำต้องออกกฎหมายใหม่

ขณะที่ นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ ก.ล.ต. ซึ่งได้ไปร่วมเวทีระดมความคิดเห็นที่กระทรวงยุติธรรมด้วย กล่าวย้ำว่า ไม่อยากให้แยกเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ขอใช้รวมว่าเป็น “ดิจิทัลแอสเซ็ต” ซึ่งหมายถึงสินทรัพย์ที่เป็นดิจิทัล ยอมรับกันทั่วไป และเข้าถึงได้ในวงกว้างที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนมูลค่า ไปชำระราคาซื้อขาย หรือใช้เพื่อลงทุน รวมถึงการเก็บรักษาด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์และไม่ได้อ้างอิงกับเงินตราสกุลใดๆ เช่น บิตคอยน์ โดย ก.ล.ต.จะเข้าไปดูแลการออกและการเสนอขายไอซีโอ ทั้งการระดมทุนใช้ในกิจการ การระดมทุนใช้สำหรับสินค้าหรือบริการ และไม่มีการระดมทุน รวมถึงการกำกับผู้ให้บริการ เช่น ตัวแทน นายหน้า ผ่านตัวกลาง (พอร์ทอล) ที่ ก.ล.ต.อนุญาต

“เดิมการออกกฎหมายจะคิดแล้วคิดอีก และศึกษาจากหลายๆ ประเทศ จะต้องเพอร์เฟ็กต์ อย่าง พ.ร.บ.สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงมือเขียนจนกว่าจะผ่านออกมาใช้เวลา 9 ปี แต่ว่าสมัยนี้ต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ต ต้องกล้าทดลอง กล้าทำอะไรให้ออกมาเร็ว และกล้าที่จะรับความผิดพลาด หากมีอะไรต้องปรับปรุงก็แก้ใหม่ แล้วเดินต่อไป ไม่ใช่ไม่กล้าออกมา เพียงเพราะมันไม่เพอร์เฟ็กต์” นางทิพยสุดากล่าว

ธปท.ย้ำคริปโตฯไม่ใช่เงินตรา

น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า คริปโตเคอเรนซีโดยเฉพาะบิตคอยน์ มีทำการซื้อขาย (เทรด) มาสักระยะหนึ่งแล้วในไทย โดยผ่านเทรดดิ้งแพลตฟอร์มใหญ่ๆ คือ BX และ TDAX และมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังย้ำว่าขณะนี้คริปโตเคอเรนซีไม่ใช่เงินตราและไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่ยอมรับว่าเป็นแอสเซ็ตประเภทหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ที่คนนิยมใช้เพื่อการลงทุนหรือเก็งกำไร เพราะฉะนั้นต้องมีความปลอดภัยสูง อย่างไรก็ตาม ถ้าดูแนวทางการกำกับดูแลของธนาคารกลางทั่วโลก จะมีทั้งที่เคร่งสุด เช่น จีน อินโดนีเซีย ที่รัฐบาลออกมาห้ามการเทรดคริปโตเคอเรนซีอย่างเคร่งครัด และที่อนุญาตให้ออกคริปโตเคอเรนซีได้ เช่น ญี่ปุ่น โดยรัฐบาลกำหนดให้คริปโตเคอเรนซีเป็นช่องทางหนึ่งในการชำระเงินได้ แต่รัฐบาลก็จะออกเกณฑ์มาควบคุมเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้วย นอกจากนี้ก็จะมีประเทศที่ก้ำกึ่งหรืออยู่ตรงกลาง ซึ่งเชื่อว่าเทคโนโลยีมาแน่นอน และอยู่ระหว่างการหาวิธีจัดการ เช่น เกาหลี

“ทุกประเทศไม่ว่าเคร่งสุดหรือปล่อยมากสุด สิ่งที่ห่วงมากที่สุดคือ การยืนยันตัวตนและความเสี่ยงต่างๆ เช่น การทำเควายซี การทำโจรกรรมทางการเงินขณะที่บางประเทศก็มองคริปโตเคอเรนซีเป็นสินค้าโภคภัณฑ์” น.ส.วชิรากล่าว

6มี.ค.คลังถกเกณฑ์คุมเงินดิจิทัล

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 6 มีนาคมนี้ หน่วยงานกำกับดูแลทั้ง 4 แห่งจะประชุมร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้คาดว่าจะสรุปแนวทางการกำกับดูแลได้ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของนักลงทุน

ฉะนั้น มั่นใจได้เลยว่าเกณฑ์การกำกับดูแลซื้อขายเงินดิจิทัลของไทยจะออกมาในเร็วๆ นี้ ซึ่งบรรดานักลงทุนและผู้ออกไอซีโอก็จะได้ฟังกันชัดๆ เสียทีว่า “ตกลงรัฐบาลจะเอายังไง” !!! 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image