อาคม เติมพิทยาไพสิฐ อัพเดตเมกะโปรเจ็กต์ ‘บก-น้ำ-อากาศ’

หมายเหตุ – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถามทุกเรื่องเกี่ยวกับระบบราง ระหว่าง มีท เดอะ เพรส ที่ตึกนารีสโมสร เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา


ประเทศไทยว่างเว้นจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมานาน ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากการจัดอันดับของ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (World economic forum) เรื่องต้นทุนในระบบโลจิสติกส์ของไทย ตอนนี้อยู่ในอันดับ 3 เกือบทุกเรื่อง และอยู่ในระดับเดิมมาตลอด ดังนั้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจึงสำคัญ สิ่งที่พูดกันมาตลอดว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์พลังงาน ผมมองว่ามีทางเดียวที่เราต้องย้ายคนและการขนส่งสินค้าจากระบบการเดิมบนท้องถนน ย้ายทางถนนไปสู่ระบบสาธารณะให้มากขึ้น

เริ่มต้นจากกรุงเทพฯ มีแผนรถไฟฟ้า 464 กิโลเมตร แผนเขียนไว้แล้วก็นิ่งมาตลอด มีเพียงแค่สายสีน้ำเงิน ต่อขยายส่วนสีเขียว แล้วก็มีส่วนสีม่วงเท่านั้น รัฐบาลก็ต้องเติมให้เต็ม สิ่งแรกคือต้องทำแผนแม่บทของรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯให้ครบ มีการเตรียมการมาตลอดตั้งแต่รถไฟฟ้าสายสีชมพู เหลือง ม่วง ม่วงใต้ ส้มตะวันออก แดงเข้ม แดงอ่อน ขณะนี้โครงการทั้งหมดอยู่ระหว่างการก่อสร้าง รัฐบาลจะสามารถอนุมัติได้ครบภายในปี 2561 นี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาวกรุงเทพฯ มีความสุข ทำให้การกะระยะเวลาของการเดินทางมีเวลาแน่นอน มีเวลาพักผ่อน หรืออยู่กับครอบครัวได้มากขึ้น

ต่อมาคือ ระบบรางจากกรุงเทพฯ เชื่อมต่างจังหวัด หรือระหว่างจังหวัด ก็มีแผนเช่นเดียวกัน มีการขับเคลื่อนรถไฟทางคู่ ทั้งนี้ ในปัจจุบันทางรถไฟมีทั้งหมด 4,000 กว่ากิโลเมตร มีทางคู่อยู่ประมาณ 9% เท่านั้น ซึ่งในแผนระยะที่ 1 จะทำให้ระยะทางรถไฟทางคู่เพิ่มจาก 9% ขึ้นมาเป็น 33% ระยะที่ 2 ที่จะนำเสนอในปี 2561 นี้ จำนวน 9 โครงการ จะเพิ่มระยะทางรถไฟทางคู่เป็น 67% จากนั้นก็จะไปสู่ระยะที่ 3 ซึ่งอยู่ระหว่างการวางแผน ซึ่งเป็นส่วนของแนวตะวันออก-ตะวันตก (อีสต์-เวสต์ คอริดอร์) เส้นทางใหม่ที่ประชาชนรอคอยมา 60 ปี คือ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย และอีกเส้นทางคือบ้านไผ่-นครพนม เป็นแนวเชื่อมฝั่งตะวันตก ขณะนี้มีการศึกษาร่วมกันกับประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น รถไฟทางคู่ทั้งขึ้นเหนือ ลงใต้ ไปตะวันออกเฉียงเหนือ ล้วนเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่จะต้องสร้างให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ก็จะเกิดการลื่นไหลที่สะดวกมากขึ้น

Advertisement

เรื่องของรถไฟความเร็วสูงระยะทาง 2,506 กิโลเมตร เริ่มจากความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนสร้างรถไฟความเร็วสูง ส่วนที่ 1 กรุงเทพฯ-โคราช เริ่มต้นไปแล้วในวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ส่วนที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ไทยจะวิเคราะห์และออกแบบเองในช่วง 200-300 กิโลเมตร ใช้เวลาออกแบบไม่เกิน 6-8 เดือน ส่วนที่ 3 เชื่อมต่อกับประเทศลาว ทางจีนจะเป็นเจ้าภาพและจะประชุมหารือกันต่อไป

นอกจากนี้ มีความร่วมมือกับทางญี่ปุ่นสร้างรถไฟความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กม./ชม.) แต่ความเร็วจริงอาจอยู่ที่ 320 กม./ชม. ซึ่งเป็นเรื่องของความปลอดภัย รถไฟความเร็วสูงจะเป็นตัวเลือกใหม่สำหรับการเดินทางที่รวดเร็ว

อีกเส้นทางคือ รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ที่มีการปรับใหม่เชื่อม 3 สนามบิน ระหว่างอู่ตะเภา สุวรรณภูมิ และดอนเมือง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาที จากต้นสายถึงปลายสาย รวมถึงเส้นกรุงเทพฯ-หัวหิน ที่จะใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งรัฐบาลใช้เงินลงทุนประมาณ 80% ของเงินลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดมาอยู่ที่ระบบราง

Advertisement

ทั้งนี้ ในเดือนเมษายนกระทรวงจะเสนอโครงการระบบรางให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติรวม 4 โครงการ วงเงินลงทุน 162,287 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง คือเด่นชัย-เชียงใหม่ และเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และรถไฟชานเมืองสายสีแดงอีก 2 โครงการคือเส้นทางสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, ตลิ่งชัน-ศิริราช และสายสีแดงเข้ม รังสิต-ธรรมศาสตร์

ส่วนในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม คาดว่าจะเสนอโครงการรถไฟทางคู่ให้ ครม.พิจารณาอนุมัติเพิ่มเติมอีก 2 เส้นทางคือ เส้นทางบ้านไผ่-นครพนมและชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี สำหรับโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา-ดอนเมือง) ว่าคณะกรรมการจัดทำร่างทีโออาร์ได้เริ่มประชุมรวมกันแล้ว คาดว่าจะเสนอร่างเข้าสู่การพิจารณาภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคม ประกาศทีโออาร์ได้ช่วงเมษายนถึงพฤษภาคม และเปิดประกวดราคาได้ในช่วงมิถุนายนถึงกรกฎาคมนี้

ขณะที่การเดินทางโดยเส้นทางถนนก็ยังมีความจำเป็นอยู่ เนื่องจากถนนคือเส้นทางหลักไปสู่ทุกบ้าน ไปสู่ชนบททั่วทุกหย่อมหญ้า โดยปกติในประเทศที่พัฒนาแล้วจะสำรองงบประมาณไว้สำหรับการบำรุงรักษาถนน เพราะหากถนนพังแล้วค่อยแก้ไขจะมีค่าใช้จ่ายมหาศาล ถ้าเราดูแลรักษาสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราจัดงบประมาณซ่อมแซมและเห็นความสำคัญในจุดนี้ รวมถึงรัฐบาลได้จัดงบประมาณขยายถนนเส้นทางหลักที่เพิ่มขึ้นมาเกือบ 1,000 กิโลเมตร เช่น การขยายช่องจราจรจาก 2 เป็น 4 ช่องจราจร รวมถึงเส้นทางหลักที่ลุ่มแม่น้ำโขงจากแม่สอดไปถึงมุกดาหาร ซึ่งยุทธศาสตร์อีกอย่างหนึ่งคือยุทธศาสตร์อีสานตอนใต้ ซึ่งขาดไป 300-400 กม. ก็สามารถทำแล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้ เส้นทางนี้จะต่อเชื่อมไปยังประเทศลาวและประเทศเวียดนามด้วย

ในส่วนการเชื่อมต่อระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและกลุ่มประเทศในอาเซียน ที่ถูกพูดถึงมาอย่างยาวนาน แต่ไม่เกิดผลทางปฏิบัติ รัฐบาลชุดนี้ได้เปิดถนนเชื่อมกับประเทศพม่า ซึ่งด่านที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าการค้าขายระหว่างประเทศสูงมาก เมื่อช่องทางไม่พอก็จำเป็นต้องเพิ่มสะพาน ขยายถนน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2561 นี้

อีกจุดหนึ่งคือที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ที่เป็นจุดเชื่อมกับประเทศกัมพูชา ซึ่งก็เป็นด่านที่มีมูลค่าการซื้อขายระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับ 1 ช่องทางของนักท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าก็ไม่เพียงพอเช่นเดียวกัน จึงต้องสร้างถนนและสะพานใหม่ รวมถึงประเทศลาว ขณะนี้กำลังวางแผนสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงอีกแห่งหนึ่งที่ จ.บึงกาฬ โดยการออกแบบเสร็จสมบูรณ์แล้ว และอีกโครงการที่ จ.อุบลราชธานี จะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 6

การแก้ปัญหาการจราจรอีกเรื่องหนึ่งคือ ปัญหารถติดระหว่างจังหวัด เช่น ถนนมิตรภาพที่เป็นประตูสู่ภาคอีสาน รวมถึงถนนสายเอเชีย ที่แม้จะมี 6 เส้นทางการจราจร แต่กลับมีปริมาณรถติดเพิ่มมากขึ้น ยิ่งในช่วงเทศกาลปัญหายิ่งปรากฏชัด รัฐบาลนี้จึงได้เริ่ม 3 โครงการด้วยกัน คือโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช บางใหญ่-กาญจนบุรี และพัทยา-มาบตาพุด ที่จะเพิ่มความสะดวกสบายในเรื่องการเดินทางสู่เมืองท่องเที่ยวต่างๆ รวมทั้งพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ด้วย

ในส่วนของสนามบินที่มีปัญหานักท่องเที่ยวแออัด ไม่ว่าจะเป็น สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ ที่เป็นสนามบินหลัก รัฐบาลชุดนี้ก็ได้เข้ามาพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิในระยะที่ 2 ที่เป็นส่วนของอาคารและลานจอดเครื่องบิน ซึ่งจะช่วยเพิ่มการรองรับผู้โดยสารได้เป็น 60 ล้านคนต่อปี สนามบินดอนเมืองก็กำลังวางแผนจะขยายเพิ่มเติมให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี สนามบินภูเก็ตกำลังวางแผนขยายต่อ และจังหวัดเชียงใหม่กำลังวางแผนในการสร้างสนามบินแห่งที่สองของจังหวัด

นอกจากนี้ รัฐบาลได้เริ่มปรับปรุงและพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เพื่อผลักดันให้เป็นสนามบินนานาชาติแห่งใหม่อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งพื้นที่การรองรับที่เพิ่มขึ้นของสนามบินอู่ตะเภาจะช่วยแบ่งเบาภาระความแออัดจากสนามบินหลักได้ โดยสนามบินนี้จะขยับการรองรับนักท่องเที่ยวจาก 15 ล้านคน เป็น 30 ล้านคน และมุ่งสู่ 60 ล้านคน ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ยิ่งไปกว่านั้น สนามบินอู่ตะเภาจะมีศูนย์ซ่อมอากาศยานที่สมบูรณ์แบบครบวงจรเป็นครั้งแรก ปัจจุบันแอร์บัส ได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในส่วนของศูนย์ซ่อมอากาศยานนี้

ส่วนสนามบินในภูมิภาคอื่นๆ ของกรมท่าอากาศยานทั้ง 28 สนามบินนั้น จะมีการขยาย ปรับปรุง เพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวเช่นกัน รวมไปถึงจะมีการสร้างสนามบินใหม่ที่ อ.เบตง จ.ยะลาด้วย เนื่องจากปัจจุบันอัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวของทุกสนามบินอยู่ที่ 15-20% ต่อปี

ในส่วนของการคมนาคมทางน้ำนั้น ท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 3 ที่เป็นหนึ่งในโครงการของอีอีซี ก็กำลังเร่งรัดให้เกิดการก่อสร้างภายในปี 2562

เมื่อโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ แล้วเสร็จทั้งหมด แต่หากทุกระบบไม่เกิดการเชื่อมต่อกันก็จะไม่เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ในสถานีรถไฟ หรือในทุกสนามบิน จะต้องมีระบบการขนส่งสาธารณะ อาทิ รถประจำทางที่ขนส่งผู้โดยสารจากสถานีไปสู่เมือง หรือสู่ท่าเรือให้การเดินทางเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการใหญ่ๆ แล้วเสร็จในอีก 4-5 ปี ข้างหน้า ก็ต้องมีมาตรการผลักดันเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนนให้ได้ ซึ่งต้องมีมาตรการจูงใจให้ประชาชนเลือกใช้รถไฟฟ้า ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าคนเริ่มหันมาใช้รถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เพราะคนเริ่มคุ้นเคย แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือปริมาณรถยนต์เพิ่มขึ้นประมาณ 5-10% ตลอดทุกปี จึงต้องมีมาตรการที่ผลักดันให้คนจอดรถก่อนเข้าเมือง ซึ่งรัฐก็ต้องเพิ่มพื้นที่ในการจอดรถให้กับประชาชนด้วย ต้องทำให้ครบวงจร

ในส่วนของโครงการไทยแลนด์ริเวียร่า กระทรวงคมนาคมจะลงไปส่งเสริมถนนเลียบชายฝั่งทะเลเพื่อการท่องเที่ยว ขณะนี้ได้เริ่มโครงการตั้งแต่ จ.เพชรบุรี ไปถึง จ.ชุมพร เป็นระยะทาง 564 กม. ขณะนี้ยังขาดอยู่ 176 กม. ที่ยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนใหญ่เป็นถนนของกรมทางหลวงชนบท ซึ่งถนนท้องถิ่นมีเพียง 19 กม. ทั้งนี้ ถนนเลียบชายฝั่งทะเลในโครงการนี้ อาจจะไม่ใช่ถนนที่ชิดติดทะเลเลย แต่บางส่วนจะเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีถนนคั่นกลาง และมองเห็นชายฝั่งเหมือนในหลายๆ ประเทศ ซึ่งจะมีความสวยงาม เนื่องจากชายหาดหลายพื้นที่ยังไม่มีการบุกรุก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image