พลิกปมคดีประวัติศาสตร์เจ๊ติ๋มž บทสรุปสุดท้ายไม่พ้น ม.44 สางปมทีวีดิจิทัล

นับตั้งแต่วันที่ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาให้ เจ๊ติ๋ม ทีวีพูลŽ หรือ นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชยผู้รับใบอนุญาต 2 ช่องทีวีดิจิทัล ไทยทีวี และช่อง MVTV Family (Loca เดิม) ที่เคยยื่นฟ้อง กสทช.Ž หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มีสิทธิบอกเลิกสัญญาคืนช่องทีวีดิจิทัล โดยที่ กสทช.ต้องคืนเงินแบงก์การันตีที่วางค้ำประกันการชำระเงิน ตั้งแต่งวดที่ 3 เป็นต้นไป รวมๆ แล้วราว 1,500 ล้านบาท
โดยศาลปกครองกลางระบุถึงเหตุผลจำต้องบอกเลิกสัญญาของไทยทีวีชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กสทช.ไม่สามารถทำตามประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูลช่องทีวีดิจิทัลในหลายประเด็น ทั้งการแจกคูปองส่วนลด เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกสู่ระบบทีวีดิจิทัลให้ประชาชนล่าช้ากว่ากำหนดถึง 6 เดือน อีกทั้งตอนนี้ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสัดส่วนจำนวนผู้ชม ค่าเช่าช่วงเวลา และอัตราค่าโฆษณาด้วย

๐ย้อนยุคสถานีโทรทัศน์เบ่งบาน
หากย้อนกลับไปในยุคทองของวงการ โทรทัศน์เบ่งบานŽ ขณะนั้นมีช่อง ฟรีทีวีŽ อยู่ราว 6 ช่อง ประกอบด้วย ช่องของหน่วยงานภาครัฐ 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง 5 (กองทัพบก) ช่อง 9 (เอ็มคอต) และช่อง 11 (เอ็นบีที) ช่องที่หน่วยงานรัฐให้สัมปทานเอกชน ได้แก่ ช่อง 3 (สัมปทานจาก อสมท ให้กลุ่มบริษัทบีอีซี) และช่อง 7 (กองทัพบกให้สัมปทานแก่กลุ่มบริษัทบีบีทีวี) ทีวีสาธารณะของหน่วยงานอิสระของรัฐ ได้แก่ ไทยพีบีเอส
ขณะนั้นใช้การส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินที่เรียกกันว่าระบบอนาล็อก หากแปลตรงตัวก็คือ เป็นการส่งคลื่นความถี่ไปมาบนผิวโลก โดยใช้วิธีส่งผ่านอากาศจากเสาโทรทัศน์ใหญ่ๆ ไปยัง เสาก้างปลาŽ หรือว่า
เสาหนวดกุ้งŽ ตามที่อยู่อาศัย หากแต่ระบบอนาล็อกนี้มีขีดจำกัดในการใช้งาน อาทิ ถูกสัญญาณอื่นรบกวนได้ง่าย
แต่ต้องยอมรับว่าช่อง ฟรีทีวีŽ ในขณะนั้นมีสภาพการแข่งขันแบบกึ่งผูกขาดโดยรัฐมาอย่างยาวนาน ขณะเดียวกันก็ได้รับความนิยมสูงในประเทศไทย โดยมีอัตราการเข้าถึงของประชากรถึง 98% (ตัวเลขอ้างอิงจากรายงานของ กสทช.) มากกว่าสื่อชนิดอื่นๆ อย่างวิทยุและหนังสือพิมพ์ ส่งผลให้เม็ดเงินเชิงพาณิชย์จำนวนมหาศาลไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมโทรทัศน์ และผู้ที่ได้รับความมั่งคั่งย่อมเป็นหน่วยงานต่างๆ ที่มีอำนาจควบคุมสถานีโทรทัศน์ของไทยทั้ง 5 ช่องนั่นเอง (ไม่นับรวมไทยพีบีเอสที่อยู่ได้จากเงินภาษี ไม่รับโฆษณาจากภาคเอกชน)

๐กลุ่มทุนกึ่งผูกขาดกีดกันรายอื่น
โดยกลุ่มทุนที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากภาวะกึ่งผูกขาดของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทย ย่อมเป็น บีอีซีŽ และ บีบีทีวีŽ เนื่องจากมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับหน่วยงานผู้ให้สัมปทาน และพยายามกีดกันคู่แข่ง
รายอื่นๆ โดยใช้กลไกเรื่องสัมปทานเป็นเครื่องมือ และในเมื่อโทรทัศน์ระบบอนาล็อกจำเป็นต้องใช้ช่วงคลื่นที่กว้างขึ้นในการแพร่สัญญาณ ในทางเทคนิคจึงมีจำนวนสถานีได้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับความถี่ที่ประเทศไทยมีใช้งานสำหรับกิจการโทรทัศน์
การเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์เอง ย่อมสร้างอำนาจต่อรองกับโฆษณาได้มากกว่าผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของสถานี ในอดีตที่ผ่านมาเราจึงเห็นกลุ่มทุนใหญ่ของประเทศหลายกลุ่มพยายามแทรกตัวเข้ามาจัดตั้งสถานีโทรทัศน์อยู่เป็นระยะ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ สถานีไอทีวี ที่กลุ่มทุนหลายกลุ่มอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ เครือเนชั่น และเครือชินคอร์ป หมายมั่นปั้นมือว่าจะกลายเป็นสถานีโทรทัศน์ภาคเอกชนรายใหม่ของไทย แต่ก็ต้องประสบกับปัญหามากมาย ทั้งประเด็นการเมือง ธุรกิจ และสัญญาสัมปทาน จนต้องถอนตัวออกไปทั้งหมด
เมื่อเทคโนโลยีเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมเริ่มพัฒนา จึงไม่น่าแปลกใจที่กลุ่มทุนสื่อรายใหญ่แทบทุกรายของประเทศไทยจะหันมาทำสถานีทีวีของตัวเอง เช่น ทรู เนชั่น เวิร์คพอยท์ แกรมมี่ อาร์เอส เมเจอร์ กันตนา ไทยรัฐ เดลินิวส์ ฯลฯ รวมไปถึงกลุ่มทุนรายเล็กๆ อีกมาก ที่เข้ามาร่วมชิงเค้กก้อนนี้ แม้ว่าในช่วงแรกๆ เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมจะยังมีฐานผู้ชมสู้ฟรีทีวีไม่ได้ก็ตาม

๐คลอดทีวีดิจิทัลเปิดฟรี48ช่อง
และแล้วเทคโนโลยีทีวีดิจิทัลก็เดินทางมาถึง โดยเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการสลายสภาพการผูกขาดของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในประเทศไทย ทำให้ข้อจำกัดเรื่องจำนวนช่องรายการ 6 ช่องหมดไป โดยมติคณะกรรมการ กสทช.กำหนดให้ระบบทีวีแบบดิจิทัล มีช่องรายการทั้งหมด 48 ช่อง แบ่งออกเป็น ช่องบริการทีวีสาธารณะ 12 ช่อง ช่องบริการธุรกิจ 24 ช่อง และช่องบริการชุมชน 12 ช่อง ซึ่งถือว่าเพิ่มมาจากเดิมถึง 8 เท่า หรือ 700% ทำให้กลุ่มทุนรายอื่นๆ เข้ามาเปิดสถานีได้ในที่สุด
ทีวีดิจิทัลŽ จึงได้ทำลายข้อจำกัดด้านจำนวนช่อง และคุณภาพความคมชัดของสัญญาณในระบบอนาล็อกไปอย่างสิ้นเชิง

Advertisement

๐เคราะห์ซ้ำกรรมซัดทีวีดิจิทัล
ภายหลังทีวีดิจิทัลเกิดขึ้นมาแล้ว ก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ก่อเกิด สมาร์ทโฟนŽ โทรศัพท์มือถือที่เพิ่มเติมความสามารถมากขึ้น นอกเหนือจากการใช้โทรเข้า-โทรออกเพียงอย่างเดียว ก็สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ติดตามความเคลื่อนไหวในสังคมออนไลน์ ถ่ายรูป ติดตั้งแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้มากมาย พร้อมทั้งปรับแต่งลูกเล่นการใช้งานโทรศัพท์ให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี
ซึ่งจากผลการวิจัยระบุว่า คนไทยมีแนวโน้มที่จะถือครองโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2553 ที่ถือครองเพียง 19% เพิ่มขึ้นเป็น 67% ในปี 2559 สาเหตุสำคัญเป็นเพราะราคาของสมาร์ทโฟนที่ปรับตัวลดลง และมีจำนวนรุ่นหลากหลายให้เลือกในหลายระดับราคา นอกจากนี้ยังพบว่าคนที่พักอาศัยในกรุงเทพฯ มีสัดส่วนการถือครองสมาร์ทโฟนมากที่สุดถึง 90% เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีสัดส่วน 39% ส่วนตามหัวเมือง
หลักการถือครองเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 82% และผู้ที่อยู่ในชนบท ถือครองสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นจาก 10% เพิ่มเป็น 53% ในปี 2559
สมาร์ทโฟนนี่เองที่ทำให้ พฤติกรรมของผู้บริโภคŽ เปลี่ยนแปลงไป โดย คนไทยŽ ใช้เวลาเข้าอินเตอร์เน็ตต่อวันมากที่สุดในโลก (รวมทุกอุปกรณ์) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน และหากวัดเฉพาะการใช้งานอินเตอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟน ไทยŽ ยังคงเป็นประเทศที่ใช้เวลาท่องเน็ตต่อวันมากที่สุดในโลกเช่นกัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ชั่วโมง 56 นาที นอกจากนี้คนไทยยังใช้เวลาในการเล่นโซเชียลมีเดียโดยเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 10 นาทีต่อวันและใช้เวลาไปกับการดูทีวี (บรอดแคสต์, สตรีมมิ่ง,วิดีโอ ออน ดีมานด์) ไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง 3 นาทีต่อวัน จน กรุงเทพมหานครŽ ครองแชมป์เมืองที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กŽ มากสุดในโลก
โดย นีลเส็นŽ บริษัทซึ่งให้ข้อมูลและการประเมินผลชั้นนำของโลก เปิดเผยข้อมูลออกมาว่า ปัจจุบันผู้รับชมโทรทัศน์ที่มีอายุ 13-14 ปี มีสัดส่วนการชมโทรทัศน์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ 33% และอายุ 25-34 ปี รับชมโทรทัศน์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นสัดส่วน 36% ในขณะที่ผู้ชมวัย 35-44 ปี รับชมผ่านออนไลน์ เป็นสัดส่วน 23% และอายุ 45 ปี รับชมผ่านออนไลน์ 9% ขณะเดียวกันยังมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงการเข้าถึงผู้ชมโทรทัศน์รายวัน หรือจำนวนคู่ตาที่เห็น (Reach) มีการปรับตัวลงเล็กน้อย จากปี 2557 ที่ 61.8% เป็น 58.2% ในปี 2560
ทั้งนี้เมื่อเจาะลึกลงไปถึงพฤติกรรมการรับชมโทรทัศน์ของแต่ละช่วงอายุจะพบว่า กลุ่มผู้ชมที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มหลักและกลุ่มวัยรุ่นช่วงอายุ 15-24 ปีนั้น มีเปอร์เซ็นต์การเข้าถึงผู้ชมที่ลดลง แต่กลุ่มผู้ชมวัย 25 ปีขึ้นไป นั้นดูโทรทัศน์เป็นเวลานานขึ้น ในขณะที่กลุ่มวัยรุ่นช่วงอายุ 15-24 ปีนั้นใช้เวลาในการดูทีวีน้อยลง
อย่างไรก็ตาม นีลเส็นยังได้ชี้แจงสาเหตุการลดลงของจำนวนผู้ชมในกลุ่มอายุ 15-24 ปี ว่าไม่ได้เป็นการหยุดบริโภคสื่อ หากแต่เป็นการย้ายแพลตฟอร์มในการรับชมเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มมากขึ้น

๐เอกชนขอมาตรการเยียวยา
เมื่อผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องประสบพบเจอกับสถานการณ์เฉกเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะส่งเสียงร้องโอดครวญไปยังรัฐบาลให้มีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบบ้าง แต่กลับไม่มีทีท่าที่รัฐบาลจะเหลียวแล กระทั่งเวลาหมุนเวียนมาประจวบเหมาะกับกรณีศาลปกครองกลางเคาะให้ เจ๊ติ๋ม ทีวีพูลŽ
ชนะคดี
ทำให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ต้องเชิญผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกช่อง และ กสทช.เข้าหารือร่วมกันเป็นการเร่งด่วน เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา
โดยทางผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้ยื่นข้อเสนอไปยังรัฐบาลทั้งหมด 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอไม่ชำระเงินค่าประมูลใบอนุญาตที่เหลืออยู่จำนวน 16,000 ล้านบาท 2.ให้รัฐบาลจ่ายค่าเช่าโครงข่าย (มักซ์) สัญญาณทีวีดิจิทัล แทนผู้ประกอบการทั้งหมด และ 3.ให้รัฐบาลหาแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในระยะยาว
จนนำมาสู่ข้อสรุปมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 2 ข้อ คือ 1.ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะได้รับการพักชำระหนี้ 3 ปี โดยผู้ประสงค์จะขอพักชำระหนี้จะต้องยื่นความจำนงภายใน 30 วัน และต้องจ่ายดอกเบี้ยตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด และ 2.กสทช.จะสนับสนุนค่าเช่าโครงข่าย (มักซ์) สัญญาณทีวีดิจิทัลไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าเช่าที่ต้องชำระ โดยจะสนับสนุนเป็นเวลา 24 เดือน นับจากวันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาตรา 44 ซึ่งมาตรการดังกล่าวผู้ประกอบการทั้งหมดได้เห็นชอบร่วมกัน เพราะเชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด รัฐบาลไม่เสียประโยชน์ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลก็จะได้รับประโยชน์บ้าง
ใจความสำคัญของมาตรการเยียวยา คือ การจะนำข้อสรุปภายหลังการหารือดังกล่าวเสนอไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 27 มีนาคม เพื่อออกเป็นคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ภายในเดือนมีนาคม และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไปŽ
สำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ประสงค์จะขอคืนใบอนุญาต โดยใช้กรณีเช่นเดียวกับ เจ๊ติ๋ม ทีวีพูลŽ เป็นบรรทัดฐานของการตัดสินใจนั้น ซึ่งหากพูดตามหลักการของเหตุและผลแล้ว จะพบว่าขณะนี้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้ชำระเงินค่าใบอนุญาตมาแล้ว 4 งวด จากทั้งหมด 6 งวด คิดเป็น 65-68% ยังเหลือการชำระเงินเพียง 30-31% กับเวลาใบอนุญาตที่เหลืออยู่ 11 ปี ซึ่งมีความแตกต่างจากกรณีของเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ที่ยุติการจ่ายค่าใบอนุญาตตั้งแต่งวดที่ 1 จึงคาดคิดว่าคงไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่จะคืนใบอนุญาต และคงยอมไปตายเอาดาบหน้ากับระยะเวลาออกอากาศที่เหลืออยู่

๐บอร์ดกสทช.มีมติอุทธรณ์คดี
อย่างไรก็ตาม แม้ศาลปกครองกลางจะตัดสินเรื่องดังกล่าวไปแล้ว แต่ฝั่ง กสทช.ที่แม้จะน้อมรับในคำตัดสินก็ยังมี 3 ประเด็นที่ค้างคาใจ จึงจะเดินหน้ายื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป ได้แก่ ประเด็นที่ 1.การอนุญาตดำเนินการช่องทีวีดิจิทัลของ กสทช. เป็นการออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการ ไม่ใช่เป็นลักษณะสัมปทานร่วมกับผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลไม่ใช่หน่วยงานให้บริการ ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาต ต้องชำระค่าใบอนุญาตตามกฎหมาย
ประเด็นที่ 2 กสทช.ทำตามแผนแม่บทในการขยายโครงข่ายการเข้าถึงทีวีดิจิทัล ที่ระบุว่าเดือนมิถุนายน 2560 จะครอบคลุมโครงข่าย 95% ของพื้นที่ และในขณะนี้ได้ครอบคลุม 95.5-95.6% แล้ว ซึ่งผู้ฟ้องคดีรับทราบก่อนการเข้าสู่กระบวนการประมูลแล้ว และประเด็นที่ 3 ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 กำหนดว่า เมื่อผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาต ต้องชำระใบอนุญาต ทั้งนี้การแบ่งชำระเงินค่าประมูลช่องทีวีดิจิทัลออกเป็นงวดๆ เพื่อให้สะดวกต่อการดำเนินการ และช่วยให้ผู้ประกอบกิจการมีเงินทุนในการพัฒนาบริการ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบกิจการไม่ต้องชำระเงินเมื่อต้องการเลิกกิจการ
ทั้งนี้ กสทช.ยืนยันว่า ได้ดำเนินการตามขั้นตอนถูกต้องทุกประการแล้ว ซึ่งการไม่ประสบความสำเร็จของผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล เกิดจากความสามารถในการแข่งขันภายใต้ตลาดเสรีที่เป็นธรรม และในกรณีของบริษัท ไทยทีวี จำกัด ที่เข้าประมูลช่องทีวีดิจิทัลในหมวดรายการเด็ก ซึ่งเป็น 1 ใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มรายการเด็ก และรายการข่าว ที่สร้างผลกำไรน้อย และผู้ประกอบการที่เข้าประมูลก็รับทราบ ปัจจุบัน กสทช.ได้ดำเนินการแจกคูปอง เพื่อแลกกล่องเซตท็อปบ็อกซ์ เพื่อรับชมช่องทีวีดิจิทัลไปแล้วจำนวน 17,531,296 ใบ โดยมีผู้เข้ามาแลกแล้ว 10,145,032 ใบ ซึ่ง กสทช.มองว่าการที่ไม่มีผู้เข้ามาใช้สิทธิเพื่อแลกกล่องเป็นสิ่งที่ กสทช.ควบคุมไม่ได้
หลังจากนี้จึงต้องจับตาแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่สรุปออกมา จะเดินหน้าไปถึงขั้นใช้ ม.44 ออกเป็นคำสั่งได้ตามแผนที่กำหนดหรือไม่เพราะนี่จะเป็นการต่อลมหายใจให้กับ ทีวีดิจิทัลŽได้อีกเฮือกหนึ่ง ขณะที่การยื่นอุทธรณ์ของ กสทช.จะพลิกคดีได้ไหม ยังต้องติดตามใกล้ชิด!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image