‘สมคิด’ ฉายภาพ เศรษฐกิจไทยโฉมใหม่ ทันสมัย-เติบโต-เข้มแข็ง

หมายเหตุ – นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ก้าวใหม่เศรษฐกิจไทย รับความท้าทายอย่างมั่นคง” ในงานสัมมนา “Thailand Taking off to New Heights” ที่อิมแพค เมืองทองธานี จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม


จากสถานการณ์การปรับเปลี่ยนของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจและก้าวย่างเพื่อเป็นส่วนสำคัญทั้งการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของภูมิภาค

สัญญาณการเปลี่ยนแปลง ประการแรก คือเศรษฐกิจโลกได้ส่งสัญญาณฟื้นตัว หลังประสบกับภาวะถดถอยและซบเซามานาน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศอียู หรือญี่ปุ่น ซึ่งล้วนแต่เป็นตลาดคู่ค้าสำคัญของไทยทั้งสิ้น

ประการที่สอง คือการเปลี่ยนแปลงการเติบโตของฐานเศรษฐกิจโลกนั้นได้หันเหจากตะวันตกมาสู่ตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย ทำให้เศรษฐกิจในเอเชียเติบโตอย่างก้าวกระโดดและกำลังกลายเป็นความหวังใหม่ที่จะมาค้ำจุนเศรษฐกิจโลก รวมถึงเป็นหลักยึดเหนี่ยวของนโยบายการค้า การลงทุนเสรีของโลก

Advertisement

ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจระหว่างประเทศล้วนเริ่มต้นจากเอเชียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันสำคัญกับภูมิภาคอาเซียน ที่เป็นแหล่งผลิตอันสำคัญ ทั้งภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมอันหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนุภาค CLMVT ที่ประกอบด้วย 5 ประเทศ คือกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่พุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง ดินแดนนี้จึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากประเทศใหญ่ๆ ที่มีพลังทางเศรษฐกิจ อาทิ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น กระทั่งสหรัฐอเมริกา หรือประเทศกลุ่มอียู

ขณะเดียวกันไทยกำลังมีบทบาทนำในการผลักดันให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือพัฒนากลุ่มประเทศ CLMVT เป็นครั้งแรก ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ความร่วมมือนี้จะส่งผลให้กลุ่มประเทศ CLMVT เติบโตต่อไปอย่างมั่นคงในภายภาคหน้า ด้วยบทบาทของประเทศไทย ทั้งศักยภาพทางเศรษฐกิจและด้วยตำแหน่งที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ย่อมอยู่ในสถานะในการเอื้อประโยชน์ต่อการทะยานตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียได้โดยตรง

ประการที่สาม คือความมั่นคงทางสถานการณ์การเมืองของไทย ได้เอื้ออำนวยให้ประเทศไทยสามารถทุ่มเทกับการปฏิรูปให้มีความทันสมัย และมีอำนาจในการเเข่งขันมากยิ่งขึ้น ช่วงปี 2558-2560 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผลักดันการพัฒนาประเทศอย่างมุ่งมั่น เนื่องจากโอกาสได้มาถึงประตูหน้าบ้านของไทยแล้ว หน้าที่ของไทยคือการรวมพลังกันภายในประเทศ แล้วร่วมมือกับประเทศพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน เร่งปฏิรูปสร้างจุดเเข็งและสร้างสัมพันธ์กับมิตรประเทศให้แนบแน่น เพื่อเปลี่ยนโอกาสให้เป็นความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม

Advertisement

ผลจากการทำงานอย่างหนักของรัฐบาล และการร่วมมือกับประเทศพันธมิตร ไม่เพียงส่งผลให้ไทยรอดพ้นจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ แต่ยังสามารถสร้างพัฒนาการใหม่ๆ ในหลายมิติอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ความแตกต่างระหว่างปี 2558 กับปี 2560 นั้น เราได้เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจจาก 2.8% มาสู่ 4% และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องด้วยปัจจัยสนับหนุนหลายประการ การเติบโตของมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่า 10% ตัวเลขคำขอการส่งเสริมการลงทุนที่เติบโตจาก 983 โครงการ มูลค่ากว่า 190,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,456 โครงการ มูลค่ากว่า 600,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 224% และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่า 700,000 ล้านบาท ในปี 2561 นี้

ในส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศเติบโตจาก 537 โครงการ มูลค่าลงทุน 96,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 818 โครงการ มูลค่าลงทุน 280,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 200% การลงทุนเฉพาะในส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตเติบโตจาก 83,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 390,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 400%

ตัวเลขนักท่องเที่ยวเติบโตขึ้นจาก 29.9 ล้านคน เป็น 35.4 ล้านคน เที่ยวบินเข้า-ออกประเทศไทยจาก 360,000 เที่ยวบิน เพิ่มเป็น 416,500 เที่ยวบิน สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีศักยภาพในการก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวแห่งภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

และที่น่ายินดีก็คือการจัดอันดับความสามารถในการเเข่งขันของไทยที่ขยับตัวสูงขึ้นทั้งจาก IMD (International Institute for Management Development) และ WEF( World Economic Forum) การได้รับการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจจาก World Bank ในปี 2560 ที่ดีขึ้นถึง 20 อันดับ ในเวลาเพียง 1 ปี รวมถึงการจัดอันดับจาก U.S. News & World Report ว่าไทยเป็นประเทศที่ดีที่สุดในการเริ่มธุรกิจ และติดอันดับ 8 ของประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุด

จากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นด้วยเวลาเพียง 2 ปี และจะดีอย่างยิ่งถ้าเราสานต่อสิ่งเหล่านี้ให้โฉมหน้าเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปอยู่ในระดับที่สูงขึ้น เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริง ซึ่งขณะนี้ไทยมียุทธศาสตร์การลงทุนใน 3 กลุ่มใหญ่ๆ เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น คือ

1.กลุ่มเมกะโปรเจ็กต์ ที่จะช่วยยกระดับสมรรถนะของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รถไฟฟ้าในต่างจังหวัด รถไฟรางคู่เชื่อมโยงการขนส่งทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน และใต้ รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาค รวมถึงโครงการลงทุนด้านพลังงาน ทั้งการสำรวจแหล่งพลังงาน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น หัวใจสำคัญคือท่าอากาศยาน ที่เรามีโครงการพัฒนาท่าอากาศยานและมีนโยบายพัฒนาสนามบินขนาดเล็กในภูมิภาคทั้งหลาย อาทิ โครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 สนามบินดอนเมือง ระยะที่ 3 สนามบินภูเก็ต ระยะที่ 2 และสนามบินเชียงใหม่ ระยะที่ 1 เพื่อเสริมสมรรถนะทางอากาศ สนับสนุนการท่องเที่ยว

อีกทั้งหลายบริษัทในต่างประเทศ โดยเฉพาะแอร์บัส ได้ให้ความสนใจในความร่วมมือเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซ่อมแซมอากาศยาน มุ่งสู่การเป็นเมืองการบิน รวมถึงสร้างโรงงานผลิตอุปกรณ์ อะไหล่ของการบินอย่างครบวงจรอีกด้วย

2.กลุ่มโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย เพราะเราเป็นศูนย์กลางรถยนต์ที่ใหญ่สุดในเอเชีย ไม่ว่าค่ายไหนมีที่ไทยทั้งหมด ซึ่งในอนาคตอยากเห็นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของรถไฟฟ้าด้วย รวมถึงเรามีการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ยิ่งใหญ่มาก ไม่มีประเทศไหนในตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเหมือนเรา

อย่างไรก็ตาม เราต้องการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งรัฐบาลตั้งใจพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อในภูมิภาค ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ในพื้นที่อีอีซี และพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง เชื่อม 3 สนามบิน การยกระดับสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง โครงการท่าเรือมาบตะพุด ระยะที่ 3 เป็นต้น

3.กลุ่มโครงการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัล เป็นโครงการที่ต้องการขับเคลื่อนให้ไทยเปลี่ยนผ่านจากยุคอะนาล็อกไปสู่ยุคดิจิทัล หรือที่เรียกกันว่าไทยแลนด์ 4.0 เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งประเทศที่มีการเติบโตปีต่อปีนั้น เป็นการเติบโตแบบดั้งเดิมที่เป็นเส้นตรง แต่ระบบดิจิทัลจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปในรูปแบบทวีคูณ อย่างในประเทศจีนที่สามารถก้าวกระโดดได้สูงและเร็ว เป็นเพราะระบบดิจิทัลที่เข้ามาปรับเปลี่ยนระบบการผลิต ศักยภาพของการค้าขาย กระทั่งเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ว่าคนจน คนรวย มีธุรกิจใหญ่หรือเล็ก ก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ส่งผลให้มีความสามารถในการต่อสู้บนเวทีระดับโลกได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น

ฉะนั้นการลงทุนในโลกดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลชุดนี้พยายามผลักดัน อย่างไรก็ตาม ไทยยังถือว่าเป็นหน้าใหม่สำหรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เราจึงทำคนเดียวไม่ได้ ซึ่งเราได้เดินสายคุยกับหลายๆ บริษัทจากต่างประเทศ เพื่อหาความร่วมมือเข้ามาเปลี่ยนโฉมให้เราเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว พัฒนาการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต จนถึงการค้าขายบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวของภาคการผลิต การค้าขาย การจ้างงาน และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยก้าวกระโดดได้ในอนาคต

และที่สำคัญมาก คือการเปลี่ยนภาครัฐบาลไปสู่ระบบ e-government ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานในภาครัฐเริ่มมีการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ภายในวันที่ 27 มีนาคมนี้ จะไม่มีการใช้จ่ายเงินสดอีกต่อไป การโอนเงินจากภาครัฐสู่หน่วยงานรัฐบาล หน่วยงานรัฐวิสาหกิจประชาชน หรือภาคเอกชน จะผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสิ้น

ฉะนั้น นี่คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญ แต่เราไม่ต้องการหยุดแค่นี้ เราต้องการให้ดิจิทัลเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่แท้จริง เราต้องการการเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่สมาร์ทคอมพานี สมาร์ทเอสเอ็มอี อีกทั้งเราไม่ต้องการให้ไทยเป็นที่กระจุกตัวของบริษัทใหญ่ๆ แค่ 30-40 บริษัท จึงจำเป็นต้องสร้างระบบใหม่ที่ทุกแห่งต้องมีความสามารถในการสร้างสตาร์ตอัพ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีแพลตฟอร์มแห่งดิจิทัล มีการสนับสนุนจากทางภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะนำประเทศไทยไปสู่การเปลี่ยนโฉมครั้งสำคัญ และเชื่อว่าเราทำได้แน่นอน ขณะนี้ภาคเอกชนกำลังก้าวไปข้างหน้าแล้ว ภาครัฐกำลังผลักดันโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนรองรับ รวมถึงบุคลากรที่เรากำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดที่ได้กล่าวไปนั้น เกิดขึ้นในเวลาไม่นาน ด้วยการทำงานร่วมกันของทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ที่เราเรียกว่าประชารัฐ จะเห็นได้ว่าไม่มีช่วงใดในประวัติศาสตร์ของเศรษฐกิจเมืองไทยสมัยไหนเลย ที่เราจะมีโครงการปฏิรูปและการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้

ผมมีความเชื่อมั่นมากว่าถ้าไม่มีอะไรมาเป็นอุปสรรค เราจะไปได้อีกไกล สิ่งดีๆ กำลังรออยู่ข้างหน้า และมั่นใจว่าเราทำได้แน่นอน แต่สิ่งสำคัญคือความร่วมมือจากประเทศพันธมิตร ซึ่งโชคดีอย่างยิ่งที่เรามีอยู่มาก โดยเฉพาะกลุ่ม CLMVT ที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเสมอมา มั่นใจได้เลยว่าโฉมใหม่เศรษฐกิจไทยกำลังเกิดขึ้น ทันสมัยมากขึ้น เข้มแข็งมากขึ้น เติบโตได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image