แบงก์เปิดศึกยกเลิกค่าฟี! ลูกค้ารับอานิสงส์เต็มๆ โอนฟรีทั่วประเทศ

สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาคการเงินธนาคารสร้างความฮือฮาทั่วบ้านทั่วเมือง ด้วยการประกาศยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) การทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล ทั้งการโอนเงินข้ามเขตจังหวัด การโอนเงินต่างธนาคาร การโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ การชำระค่าสาธารณูปโภค การเติมเงิน เหมือนเสี้ยนหนามที่ได้ถูกรื้อออกจากใจของลูกค้าผู้ใช้บริการทุกคน เพราะที่ผ่านมาค่าฟีเป็นอุปสรรคระหว่างธนาคารและลูกค้าที่ยังไม่สามารถก้าวข้ามไปได้

กลยุทธ์แข่งแย่งชิงซื้อใจลูกค้า
การที่เสือนอนกิน ซึ่งเป็นคำเปรียบเปรยถึงธนาคารพาณิชย์ตลอดทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา ยอมลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองก่อนนั้น เรียกว่าเป็นกลยุทธ์ชิงซื้อใจลูกค้าก่อน เพราะคู่แข่งขันในอุตสาหกรรมการเงินนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ธนาคารพาณิชย์อีกต่อไป อย่าง LINE ที่มีผู้ใช้งานในไทยกว่า 42 ล้านคน ซึ่งปัจจุบัน LINE มีบริการ Rabbit line pay ซึ่งดำเนินการร่วมกับกลุ่มบีทีเอส ผู้ให้บริการบัตรแรบบิท รวมถึงกลุ่มสื่อสารที่ปัจจุบันมีการให้บริการชำระเงินแก่ฐานลูกค้าของตนเอง ทั้ง AIS mPay, True money wallet นอกจากนี้ยังมีอีวอลเลทอื่นๆ เช่น Airpay, Bluepay ซึ่งปัจจุบันสามารถทำธุรกรรมชำระเงินพื้นฐานได้ทั้งหมด และมีการจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดให้ลูกค้ามาลงทะเบียนใช้งาน เพราะฐานลูกค้ายิ่งมาก โอกาสในการทำธุรกิจก็มากยิ่งขึ้นไปด้วยยุคเทคโนโลยีที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ ธนาคารพาณิชย์จึงตัดสินใจตัดเนื้อตัวเอง ยกเลิกค่าฟี เพื่อรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ แม้ก่อนหน้านี้จะมีบริการพร้อมเพย์ที่สามารถโอนผ่านหมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือหมายเลขบัตรประชาชนที่ผูกไว้กับบัญชีธนาคาร ธนาคารก็ยังกั๊กที่จะเก็บค่าฟี แม้มูลค่าโอน 5,000 บาท จะไม่เสียค่าฟี แต่หากโอนเงินมากกว่า 5,000 บาทขึ้นไป ก็จะถูกเก็บค่าธรรมเนียม แต่ไม่เกิน 10 บาทต่อรายการ

การยกเลิกค่าฟีครั้งนี้ จึงเป็นการปรับโครงสร้างการจัดเก็บค่าฟีของระบบธนาคารไทยที่บิดเบี้ยวมานาน โดยลักษณะธุรกรรมที่ควรคิดค่าฟีแพงกลับคิดราคาถูก ขณะที่ส่วนที่ควรคิดราคาถูกกลับคิดค่าฟีแพง อย่างกรณีการโอนเงิน 100 บาท จากธนาคารหนึ่งไปอีกธนาคาร ต้องเสียค่าฟีถึง 25 บาท คิดเป็น 1 ใน 4 ของมูลค่าเงินที่โอนไป แต่ความจำกัดของช่องทางการใช้บริการทางการเงิน ลูกค้าจึงต้องยอมรับสภาพและยอมจ่ายค่าฟีในช่วงที่ผ่านมา แต่พัฒนาการในระบบการเงินทำให้มีตัวเลือกที่จะใช้บริการมากขึ้น
ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบและเลือกใช้บริการที่ถูกกว่าได้

พร้อมเพย์หนุนเลิกจ่ายค่าฟี
ที่การยกเลิกค่าฟีสามารถทำได้เพราะได้มีการย้ายระบบการโอนเงินรายย่อยแบบเดิม หรือ ORFT ขึ้นไปอยู่บนระบบพร้อมเพย์ ซึ่งเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินใหม่ ที่ต้นทุนการทำธุรกรรมต่ำมาก เมื่อต้นทุนต่ำอยู่แล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเก็บค่าฟีแพงๆ กับลูกค้า และปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่ก็ทำธุรกรรมด้วยตนเองผ่านช่องทางดิจิทัล ทั้งโมบายแบงกิ้งและอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง ยิ่งไม่มีเหตุผลที่ธนาคารจะไปเรียกเก็บค่าฟีจากลูกค้า เพราะธนาคารเพียงให้บริการระบบ ขณะที่ลูกค้าทำธุรกรรมด้วยตนเองผ่านสมาร์ทโฟนของตนเอง

Advertisement

ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จึงได้นำประโยชน์จากจุดนี้มาสร้างกิมมิคทางการตลาด โดยยกเลิกค่าฟีการทำธุรกรรมไปซะเลย เมื่อธนาคารหนึ่งเริ่ม ธนาคารอื่นๆ ก็ไม่สามารถอยู่นิ่งได้ เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกธนาคารได้ประโยชน์เหมือนกัน และหากอยู่เฉยๆ ก็มีโอกาสที่จะเสียลูกค้าให้กับธนาคารอื่นจึงเร่งประกาศยกเลิกค่าฟีกันออกมา จนสร้างกระแสทอล์กออฟเดอะทาวน์ลูกค้าที่ได้ฟังอย่างนี้หลายคนที่ไม่ได้ใช้โมบายแบงกิ้งและอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง ก็อยากที่จะเข้ามาใช้งาน เพราะของฟรีใครๆ ก็ชอบ ขณะที่ทุกธนาคารก็คาดหวังว่าจะมีลูกค้าใช้โมบายแบงกิ้งและอินเตอร์เน็ตแบงกิ้งในการทำธุรกรรมมากขึ้น ซึ่งต่อไปจะสามารถขยายให้บริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้าได้ง่ายขึ้น ผ่านบิ๊กดาต้าและการใช้แมชชีน เลิร์นนิ่ง

ไทยพาณิชย์จุดประกายเลิก
สำหรับรายละเอียดการยกเลิกค่าฟี ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ยกเลิกค่าฟีบน SCB Easy ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้งการโอนเงินข้ามเขตจังหวัด การโอนเงินต่างธนาคาร และการโอนเงินพร้อมเพย์ การเติมเงิน เช่น เติมเงินมือถือ บัตรทางด่วน และอีวอลเลทต่างๆ การจ่ายบิลค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ภาษี ค่าบัตรเครดิต เป็นต้น ทั้งนี้ยังใช้บริการกดเงินไม่ใช้บัตร จากตู้เอทีเอ็มของธนาคารได้ทั่วประเทศ

ตามด้วยธนาคารกสิกรไทย ที่ได้ยกเลิกค่าฟีในวันที่ 28 มีนาคม ผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ K PLUS,K PLUS SME, K-Cyber, K-Cyber SME สำหรับโอนเงินข้ามเขตจังหวัด การโอนเงินข้ามธนาคาร จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ เติมเงิน ขณะที่ธนาคารกรุงไทย จะยกเลิกการเก็บค่าฟีตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม จนถึงสิ้นปี 2561 นี้ ทั้งการโอนเงินข้ามเขต หรือโอนต่างธนาคาร จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ บริการเติมเงิน ผ่าน KTB netbank
ด้านธนาคารกรุงเทพก็ไม่น้อยหน้า ได้ยกเลิกค่าฟีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป ผ่านโทรศัพท์มือถือ Bualuang Mbanking และทางอินเตอร์เน็ต Bualuang Ibanking สำหรับธุรกรรมโอนเงินข้ามเขต โอนเงินต่างธนาคาร โอนเงินพร้อมเพย์ การชำระบิลค่าสินค้าและบริการ และบริการเติมเงิน ทั้งนี้ยังได้ยกเลิกค่าฟี การกดเงินสดจาก ATM ข้ามเขต การโอนเงินข้ามเขตภายในธนาคาร และโอนเงินไปยังบัญชีต่างธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 1-30 เมษายน 2561 เพื่ออำนวยความสะดวกและมอบเป็นของขวัญให้กับลูกค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย

แบงก์ทยอยยกเลิกต่อเนื่อง
ส่วนธนาคารเกียรตินาคินยกเลิกค่าฟีผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้ง KK e-Banking และ KK e-Banking @PhatraEdge เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนเป็นต้นไป ได้แก่ การโอนเงินต่างธนาคารแบบทันที การโอนเงินต่างธนาคารแบบ 1-2 วันทำการ การโอนเงินข้ามเขตภายในธนาคาร การโอนเงินพร้อมเพย์ การชำระค่าสินค้าและบริการ รวมถึงบริการเรียกเก็บเงินแบบไม่มีกำหนด

ธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็ไม่ตกขบวน ยกเลิกค่าฟีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เมื่อทำธุรกรรมผ่าน KMA (Krungsri Mobile Application) และ KOL (Krungsri Online) ทั้งการโอนเงินข้ามเขตข้ามธนาคาร จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ เติมเงินมือถือ และกดเงินไม่ใช้บัตร (Krungsri Cardless) สำหรับลูกค้าบัญชีออมทรัพย์
จัดให้ ยกเลิกค่าฟี โอนเงินข้ามเขตข้ามธนาคาร จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง เพิ่มเติมจากการกดเงินฟรีที่ตู้ ATM ทุกตู้ทั่วประเทศ และหากจ่ายบิลผ่านช่องทาง KMA และ KOL รับเงินคืน 5 บาทต่อบิล เป็นเวลา 6 เดือน (สูงสุด 30 บาทต่อเดือน) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เช่นกัน

ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ หรือ LH Bank ยกเลิกค่าฟี โอนเงินและจ่ายบิลผ่านช่องทางดิจิทัล LH Bank M Choice (แอพพลิเคชั่นบนมือถือ) และ LH Bank Speedy (อินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง) ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน-31 ธันวาคม 2561 และธนาคารธนชาต ยกเลิกค่าฟี โอนเงินและจ่ายบิลผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่าน Thanachart Connect และ Thanachart i-Net ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน นอกจากนี้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ธนาคารทหารไทยได้นำร่องการยกเลิกค่าฟี โดยมีผลิตภัณฑ์ ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี บัญชีเพื่อใช้ ที่สามารถกดเงินทุกตู้ ทุกแบงก์ ทุกจังหวัด โอนข้ามจังหวัดหรือโอนต่างธนาคาร จ่ายบิล เติมเงิน ไม่มีค่าฟีและไม่จำกัดจำนวนครั้ง ถือเป็นธนาคารแรกที่กล้าจะยกเลิกค่าฟีให้ลูกค้า

หลังจากที่ธนาคารขนาดใหญ่นำร่องประกาศยกเลิกค่าฟี ธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กก็ทยอยประกาศ ไปจนถึงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ อย่างธนาคารออมสิน มีแผนจะประกาศยกเลิกค่าฟีเช่นกัน

เดิมนั้น การโอนเงินข้ามเขตจังหวัด 5 ครั้งแรกไม่เสียค่าฟี แต่รายการต่อไปเสียค่าฟี 10 บาท การโอนเงินต่างธนาคารค่าฟีอยู่ที่ 25-30 บาทต่อรายการ การโอนพร้อมเพย์ 0-10 บาทต่อรายการ การจ่ายบิลและเติมเงิน ซึ่งแล้วแต่ผู้ให้บริการเป็นคนกำหนด
เป็นต้น

ส่งเสริมทำธุรกรรมทางดิจิทัล
ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ คาดว่าจะทำให้ระบบพร้อมเพย์ที่ภาครัฐพยายามปลุกปั้นมาในช่วงที่ผ่านมานั้น ได้รับผลกระทบ คนจะใช้น้อยลงหรือไม่นั้น มองว่า ไม่ว่าคนจะกลับมาโอนเงินด้วยเลขบัญชีมาก หรือโอนด้วยหมายเลขโทรศัพท์ หรือบัตรประชาชน ก็นับเป็นธุรกรรมบนระบบพร้อมเพย์ทั้งหมด ดังนั้น การยกเลิกค่าฟี ส่งเสริมให้ทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลจะยิ่งทำให้ธุรกรรมพร้อมเพย์มากขึ้น และลูกค้าเองสามารถเลือกได้ว่าจะโอนเงินโดยใช้หมายเลขใด ใครที่ยังไม่คุ้นชินและยังไม่ได้ผูกหมายเลขโทรศัพท์มือถือ
และหมายเลขบัตรประชาชนกับบัญชีธนาคารเพราะกังวลเรื่องข้อมูลส่วนตัว ยังสามารถโอนโดยใช้เลขบัญชีได้ แต่กรณีเร่งด่วนซึ่งไม่สามารถหาเลขบัญชีได้ทันที การโอนด้วยหมายเลขโทรศัพท์มือถือ และหมายเลขบัตรประชาชนก็ตอบโจทย์ เพราะทั้งสองหมายเลขนี้เราจำได้อยู่แล้ว

ฟากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ให้ความเห็นว่า การปรับลดค่าฟีของธนาคารพาณิชย์ ทั้งการโอนเงินด้วยเลขที่บัญชีของการจ่ายบิลและเติมเงิน ตามกลไกตลาดในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้ประชาชนใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น เป็นไปตามเป้าหมายการส่งเสริมให้ประชาชนและภาคธุรกิจใช้อีเพย์เมนต์ ลดการใช้เงินสดและเช็ค ซึ่งธนาคารพาณิชย์ก็จะได้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นและสามารถต่อยอดการให้บริการอื่นๆ ได้ และจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลางทำให้เกิดการแข่งขัน ธนาคารพาณิชย์และผู้ใช้บริการทางการเงินจะได้ประโยชน์ในระยะยาว

เชื่อจุดเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้า
เช่นเดียวกับ ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ที่มองว่าครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมที่ธนาคารมีการยกเลิกค่าฟี และอีกจุดเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เข้าถึงสมาร์ทโฟนมากขึ้น ทำให้การใช้บริการอีเพย์เมนต์จะมากขึ้น และยิ่งไม่มีค่าฟี ต่อไปคนจะกลัวการไปสาขามากขึ้น แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่กำลังผลักดันให้เกิดขึ้น คือ การลดการใช้เงินสดทั้งระบบ เพราะทุกคนได้ประโยชน์ ตั้งแต่ลูกค้าที่ไม่ต้องพกเงินสด ที่เสี่ยงต่อการสูญหาย ร้านค้าไม่ต้องมาเบิกเงินสดที่ธนาคาร ธนาคารไม่จำเป็นต้องเตรียมเงินสดไว้จำนวนมาก ผู้พิมพ์ธนบัตรอย่าง ธปท.ก็ประหยัดต้นทุนการพิมพ์ธนบัตร ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนเงินสดได้ทั้งซัพพลายเชน ซึ่งในระยะยาวจะช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดที่กว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี ให้ทยอยลดได้ต่อเนื่อง

ปรีดีŽ ระบุต่อว่า การยกเลิกการเก็บค่าฟีจากธุรกรรมจะกระทบกับรายได้ส่วนนี้ทันที จากเดิมที่ธนาคารเคยเก็บค่าฟีโอนเงิน 25 บาท ก็ไม่ได้เก็บ แต่เงินนี้ก็ไม่ได้หายไปไหน ธนาคารคืนเข้ากระเป๋าของลูกค้า ทำให้ลูกค้าประหยัดต้นทุนได้ ในส่วนของธนาคารเองแม้ว่าจะเสียรายได้ค่าฟี แต่สามารถประหยัดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสด และมีโอกาสที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีโอกาสได้รายได้ค่าฟีจากส่วนอื่นเพิ่มขึ้น ทั้งนี้รายได้ค่าฟียังเติบโตจากกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ และ
รายได้ดอกเบี้ยยังขยายตัวตามสินเชื่อ

มองผลกระทบแบงก์ระยะสั้น
ทั้งนี้ จากการประเมินของบริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด ต่อการยกเลิกค่าฟีของธนาคารพาณิชย์จะส่งผลลบระยะสั้น เพราะจะทำให้รายได้ค่าฟีลดลงประมาณ 5-8% ในส่วนที่เป็นค่าธรรมเนียมธุรกรรมออนไลน์ และอาจเป็นความเสี่ยงเชิงลบต่อกำไรสุทธิของธนาคารขนาดใหญ่ราว 3-5% อย่างไรก็ดี ในระยะยาวคาดว่าส่งผลบวก เพราะต้นทุนดำเนินงานลดลง อาทิ ต้นทุนด้านการบริหารจัดการเงินสด ต้นทุนที่ลดลงจากการลดและปิดสาขาและการบริการผ่านสาขาธนาคารแบบเดิม และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกรรมดิจิทัลที่อาจเพิ่มขึ้น อาทิ บริการเอสเอ็มเอส

หากอัตราการปรับเปลี่ยนมาทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลที่เร็วขึ้นและปริมาณธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลที่มากขึ้นเท่าไหร่ จะยิ่งช่วยให้กระบวนการลดต้นทุนของธนาคารเห็นได้เร็วขึ้น ซึ่งธนาคารที่มีฐานเงินฝากบัญชีกระแสรายวันและออมทรัพย์สูง โดยเฉพาะบัญชีที่ผูกติดกับเงินเดือน จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเจาะฐานลูกค้าช่องทางดิจิทัลมากขึ้นในระยะยาว เนื่องจากมีแนวโน้มที่ลูกค้าจะเลือกใช้เป็นบัญชีหลัก (main bank) สำหรับใช้ทำธุรกรรมต่างๆ โดยข้อมูลปี 2560 ธนาคารธนาคารกสิกรไทย มีอยู่ 79% ธนาคารกรุงไทย 72% ธนาคารไทยพาณิชย์ 65% และธนาคารกรุงเทพ 51% เป็นต้น

ฐานลูกค้าใหม่ขยายตัวเพิ่ม
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การยกเลิกค่าฟีการทำธุรกรรมจะทำให้รายได้ค่าฟีของธนาคารพาณิชย์ปีนี้ขยายตัว 2-3% จากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 7.1% โดยหากพิจารณาผลทั้งปีคาดว่าจะทำให้รายได้ค่าฟีลดลง 15,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการยกเลิกค่าฟีการทำธุรกรรมจะมีผลตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป หรือกระทบรายได้ค่าฟีในช่วง 9 เดือนที่เหลือ หรือราว 9,000 ล้านบาท ทั้งนี้การยกเลิกค่าฟี มองว่า ระยะยาวธนาคารจะได้ฐานลูกค้าใหม่ที่เข้ามามากขึ้นผ่านช่องทางดิจิทัล เป็นโอกาสที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมให้กับลูกค้าได้ ซึ่งรายได้ค่าฟีอื่นๆ ของธนาคารพาณิชย์คาดว่าจะยังเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากปีก่อน ทั้งรายได้จากการลงทุน การปริวรรตเงินตรา ธุรกิจบัตรเครดิต การขายประกันและกองทุน เป็นต้น

ขณะนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นเมื่อเสือทุกตัวต่างลุกขึ้นมาแล้ว หลังจากนี้คงต้องติดตามว่าเสือแต่ละตัวจะงัดกลเม็ดไม้เด็ดอะไรออกมาแข่งกันอีก แต่การแข่งขันที่ไม่มีใครยอมใคร ผลดีก็จะตกกับลูกค้าและผู้ใช้บริการนั่นเอง!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image