สหรัฐ-จีนปะทะเดือด แลกหมัดสงครามการค้า ไทยได้หรือเสีย

สถานการณ์ที่น่าจับตามองและถือเป็นเรื่องใหญ่ในระบบเศรษฐกิจการค้า การส่งออกของโลกในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องการห้ำหั่นกันในสงครามการค้าโลกระหว่างสองยักษ์ใหญ่ สหรัฐอเมริกา กับ จีน ที่กำลังคุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ ต่างฝ่ายต่างแลกหมัดกันไม่ลดละ เหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์แทบทุกสำนัก ที่ไม่ว่าจะไตร่ตรองถึงข้อดีข้อเสียแล้วก็ไม่คิดว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐ จะจุดชนวนสงครามการค้ากับจีนจริง อย่างไรก็ตามเมื่อสงครามเกิดขึ้นแล้ว ประเทศน้อยใหญ่ที่ต่างมีความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันต้องถูกหางเลขไม่มากไม่น้อย อย่างในประเทศไทยเองก็ส่งสัญญาณความวิตกผ่านตลาดหุ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 4 เมษายน 2561 ที่นักลงทุนกระหน่ำเทขายหลักทรัพย์ กันอย่างหนัก จนเมื่อปิดตลาด ดัชนีร่วงลงไปถึง 40.26 จุด ปิดที่ 1,724.98 จุด มูลค่าการซื้อขายสูงถึง 93,160.59 ล้านบาท

จุดสตาร์ตสงครามเมื่อทรัมป์นำทัพสหรัฐ
หากย้อนกับไปถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดสงครามการค้าในครั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 ทรัมป์ก้าวขึ้นมามีบทบาทในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐ ในสภาวการณ์ที่สหรัฐมี 2 พรรคใหญ่คือ พรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ซึ่งที่ผ่านมาพรรคเดโมแครตนำโดย บารัค โอบามา สามารถขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ 2 สมัย และเมื่อถึงยุคของทรัมป์ ความต้องการในการสร้างจุดเปลี่ยนใหม่ๆ เพื่อปฏิรูปสหรัฐจึงเกิดขึ้น เนื่องจากพรรครีพับลิกันไม่เคยมีใครที่จะสู้ฝั่งพรรคเดโมแครตได้

เมื่อทรัมป์มีจุดมุ่งหมายในการดำเนินการแก้ปัญหาในจุดที่พรรคเดโมแครตไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ประกอบกับทรัมป์เองเคยมีสถานะเป็นนักธุรกิจใหญ่ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากมายมาก่อน จึงเห็นว่าสหรัฐมีการผลิตสินค้า โดยนำวัตถุดิบ กระบวนการผลิต ซัพพลายเชนต่างๆ มาจากจีน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐนั้นต่ำ ทรัมป์จึงมองง่ายๆ ด้วยมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ในยุคเก่า และแสดงให้เห็นว่าสหรัฐสูญเสียความมั่นคง เนื่องจากสหรัฐขาดดุลการค้าค่อนข้างมาก โดยทรัมป์มองว่าการที่ประเทศจะมีความมั่งคั่งได้จำต้องผลิตสินค้าให้ได้เยอะ แล้วส่งออกขายไปประเทศต่างๆ เพื่อนำเงินกลับสู่ประเทศให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ที่เก่า และถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ก็ยังยึดมั่นในแนวคิดนี้อย่างเหนียวแน่น และเดินไปตามทิศทางที่ได้เคยพูดไว้เมื่อตอนหาเสียงในช่วงก่อนหน้านี้

หากยังจำกันได้ ในนโยบายสร้างกำแพงกั้นพรมแดนเม็กซิโก หรือด้วยแนวคิดอเมริกามาก่อน (America First) ของรัฐบาลทรัมป์ ที่ได้สะท้อนออกมาให้เห็นในหลายกรณี อาทิ การตัดสินใจถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (tpp) แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จุดชนวนสงครามการค้าให้ลุกโชน คือ ทรัมป์มองว่าธุรกิจสหรัฐนั้นขาดดุลจากจีนเยอะ จนเสียเปรียบจีนมากเกินไป ทรัมป์จึงต้องพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสหรัฐอีกครั้ง เพื่อดึงผลประโยชน์กลับคืนมา อีกทั้งในช่วงปลายปี 2561 สหรัฐจะมีการเลือกตั้งกลางเทอม ซึ่งหากประสบความสำเร็จ ทรัมป์จะได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนสหรัฐด้วย

Advertisement

กลยุทธ์ขู่ฟ่อ ก่อนเจรจาประกาศชัย
ทั้งนี้ ทรัมป์มีระบอบการดำเนินงานแบบรวมศูนย์อำนาจ ใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง โดยทรัมป์มักใช้วิธีตีปี๊บขู่ประเทศต่างๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะแค่ขู่ แต่หากประเทศอีกฝ่ายไม่ยินยอมเดินตามเกมของสหรัฐ ทรัมป์ก็จะทำจริงตามคำขู่นั้น ทั้งนี้ ด้วยวิธีของนักธุรกิจ ภายหลังจากการขู่ ประเทศต่างๆ ก็จะมีการขอเจรจาสิทธิประโยชน์ระหว่างกันกับสหรัฐในที่ลับ และจากนั้นทรัมป์จะออกประกาศว่าสหรัฐเป็นผู้ชนะ ภายใต้วิสัยทัศน์ Make America Great AgainŽ ด้วยกระบวนการลักษณะนี้ ทรัมป์ก็จะได้รับคะแนนนิยมจากชาวสหรัฐอย่างล้นหลาม

หากย้อนกลับไปจะเห็นในอีกหลายกรณีที่ทรัมป์ใช้กลยุทธ์ดังกล่าว อาทิ ทรัมป์เคยขู่ว่าจะถอนตัวจากความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) อีกกรณีที่เห็นได้ชัดคือ การที่ทรัมป์ขึ้นภาษีเหล็ก 25% กับอะลูมิเนียม 10% ทุกรายการที่นำเข้าจากทั่วโลก มีผลเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 232 ของกฎหมายการค้าฉบับปี 2505 ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือเป็นการใช้อำนาจทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอการอนุมัติจากสภาคองเกรส ซึ่งการขึ้นภาษีดังกล่าวส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียมทั่วโลก เห็นได้ว่าไม่ว่าประเทศไหนก็ตามที่ส่งสินค้า 2 กลุ่มนี้เข้ามาให้สหรัฐ จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่อยากเสียภาษีก็ให้ดำเนินการติดต่อเจรจายกเว้นกำแพงภาษีเหล็กกับสหรัฐในฐานะพันธมิตร และแม้คำสั่งของทรัมป์จะระบุโดยตรงว่าจะมีการยกเว้นให้แก่แคนาดาและเม็กซิโก ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านและเป็นสมาชิกนาฟตา แต่ทั้งสองประเทศมองว่าสหรัฐกำลังใช้เรื่องนี้มาเป็นเงื่อนไขกดดันในการเจรจานาฟตาให้เป็นไปตามความต้องการของรัฐบาลทรัมป์

อย่างไรก็ตาม หลายประเทศก็เข้าไปเจรจาด้วยจริง เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา เม็กซิโก เกาหลีใต้ โดยสหรัฐยื่นข้อเสนอว่า หากคุณไม่อยากเสียภาษี คุณต้องเอาบางสิ่งบางอย่างมาแลกเปลี่ยนกัน ทั้งนี้ สหรัฐจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากข้อตกลงเดิม และประเทศต่างๆ จำต้องเสียเปรียบเล็กน้อย ในท้ายที่สุดทรัมป์จะไปประกาศกับประชาชนของตัวเองได้ว่า สหรัฐประสบความสำเร็จ โดยทำให้หลายประเทศต้องมาติดต่อเจรจาด้วยได้

Advertisement

เมื่อพญามังกรถูกย้อนเกล็ด จีนสวนทันควัน
จากชั้นเชิงทางธุรกิจที่นำมาสู่กลยุทธ์ทางการเมืองดังที่กล่าวไปนั้น เนื่องด้วยสหรัฐเป็นประเทศมหาอำนาจอันดับ 1 ส่งผลให้ประเทศต่างๆ พร้อมหมอบให้กับการเดินหมากในลักษณะนี้ของทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลี หรือแม้แต่ไทยเอง เช่นในกรณี บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (เอสซีจี) ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เพื่อซื้อถ่านหินจากภาคเอกชนสหรัฐ 155,000 ตัน เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ก็เป็นประเด็นการเมืองในเรื่องพลังงานเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่าหลายประเทศต่างสวามิภักดิ์ แต่คงเว้นไว้ให้กระดูกชิ้นใหญ่ 2 ชิ้น ที่ดูท่าว่าไม่น่าจะยอมง่ายๆ เป็นแน่ กระดูกชิ้นแรกคือ ยุโรป ที่ปัจจุบันยุโรปก็มีปัญหาภายในมากพอสมควร และทรัมป์คงจะเดินเกมเข้าไปสู่ยุโรปในไม่ช้า

กระดูกชิ้นโตอีกชิ้นคือจีน เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับทางสหรัฐมากที่สุด ถึงเกือบครึ่งหนึ่งของยอดการขาดดุลการค้ารวมทั้งหมดของทางสหรัฐ ฉะนั้น ขณะนี้จีนจึงเป็นจุดมุ่งหมายหลักที่ทรัมป์ต้องเคลื่อนไหวอะไรบางอย่าง เพื่อไม่ให้สหรัฐเสียเปรียบทางการค้าไม่ว่าจะกับประเทศเล็กหรือประเทศใหญ่อีกต่อไป การเปิดสงครามการค้ากับจีนจึงเกิดขึ้น

ทั้งนี้ สหรัฐจะใช้เครื่องมือ 2 รูปแบบ โดยเครื่องมือแบบแรกคือ เครื่องมือแบบกว้าง ที่ปรับขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม โดยส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก ยิ่งปัจจุบันจีนเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกทั้งเหล็กและอะลูมิเนียมรายใหญ่ที่สุดของโลก ก็ยิ่งถูกแรงกระแทกจากเครื่องมือนี้ไม่น้อย และยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐใช้อีกหนึ่งเครื่องมือที่ถือว่าเน้นหนักในการโจมตีจีนโดยเฉพาะ โดยให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐและองค์กรสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ทำการศึกษาว่าประเทศต่างๆ ที่ทำการค้าการลงทุนกับสหรัฐนั้น มีพฤติกรรมที่เอารัดเอาเปรียบสหรัฐหรือไม่ ซึ่งผลการศึกษาออกมาก็มีมูลที่ว่าจีนมีการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่ทรัมป์ยกมาให้เหตุผลเพื่อลงนามในข้อกฎหมายใหม่ ต่อเนื่องจากการขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งคราวนี้คือการขึ้นภาษีสินค้าจากจีน 1,300 รายการ เป็นการรีดภาษีนำเข้าจากจีน 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.86 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 2.5% ของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐ หรือคิดเป็น 11.4% ของการนำเข้าจากจีนในปี 2560 โดยเน้นไปที่กลุ่มสินค้าที่จีนได้เปรียบทางเทคโนโลยี อาทิ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ต่างถูกผลกระทบทันทีเมื่อคำสั่งมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ทรัมป์ยังมอบหมายให้ทาง สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ เสนอการตั้งข้อจำกัดของการลงทุนจากจีนในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่รู้จักจีนดีก็คงจะพอทราบว่าจีนนั้นมองตัวเองทัดเทียมกับสหรัฐ และจะไม่ยอมให้ใครมาเอาเปรียบหรือเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ รัฐบาลจีนภายใต้การนำทัพของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ก็ตอบโต้กลับอย่างทันควันโดยกำหนดอัตราภาษีศุลกากรสูงถึง 25% สำหรับการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ รวม 128 รายการ อาทิ เศษเหล็ก อะลูมิเนียม รวมถึงหมูและผลไม้ คาดว่ามีมูลค่ารวมกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 93,400 ล้านบาท) โดยมาตรการนี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2561 ส่วนมาตรการล่าสุดของจีนคือการเตรียมเก็บภาษีเพิ่มสินค้าบางรายการ เช่น ถั่วเหลือง เครื่องบินที่น้ำหนักน้อยกว่า 45 ตัน วิสกี้ ฯลฯ ซึ่งประเด็นสำคัญที่ทางเกษตรกรสหรัฐ (ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทรัมป์) กลัวมากก็คือเรื่องของการขึ้นภาษีถั่วเหลือง เพราะจีนถือเป็นผู้นำเข้าถั่วเหลืองรายใหญ่ของสหรัฐ ซึ่งตอนนี้จีนใช้วิธีว่าถ้าหากสหรัฐขึ้นภาษีสินค้ามูลค่ารวมเท่าไร จีนก็จะขึ้นภาษีมูลค่าเท่ากับทางสหรัฐ โดยรัฐบาลจีนให้เหตุผลว่า มาตรการดังกล่าวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของจีนและทำให้เกิดความสมดุลจากการสูญเสียที่มีสาเหตุจากอัตราภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐ

ยาหอมและยาพิษในสงครามการค้า
อย่างไรก็ดี นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงแง่มุมทางด้านโอกาสในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงผลกระทบในแง่ลบจากสงครามดังกล่าวว่า เมื่อเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนขึ้น ที่รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศได้ประกาศออกมาแล้วว่า สหรัฐไม่อยากนำเข้าสินค้าจากจีน เช่นเดียวกับจีนที่ไม่อยากนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ซึ่งมีรายชื่อของสินค้าหลายประเภทที่ทั้ง 2 ประเทศไม่ยอมกัน ยิ่งมีการกีดกันสินค้ากันมากเท่าไร โอกาสของประเทศโลกที่สามก็เปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเมื่อภาคการผลิตของทั้งสหรัฐและจีนยังต้องดำเนินต่อไป ทั้ง 2 ประเทศจึงยังจำเป็นต้องหาแหล่งสินค้าจากประเทศอื่น จึงเป็นโอกาสของธุรกิจไทยที่จะเข้าไปแทรกในส่วนนี้ได้ รวมถึงประเทศอื่นๆ หากเอกชนมีศักยภาพในการเข้าไปต่อรองธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการที่ยังเป็นช่องว่างดังกล่าว หรือทางภาครัฐอาจช่วยสนับสนุนให้ข้อตกลงเกิดขึ้น ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด โอกาสอีกด้าน คือการลงทุนทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้น เห็นได้จากจีน รัสเซีย หรือเกาหลีเหนือ ที่มีความมั่นคงทางการเมืองมาก ในขณะที่ประเทศประชาธิปไตยเริ่มง่อนแง่น อาทิ เยอรมนี หลังจากการเลือกตั้งก็ยังไม่เสถียรเท่าไรนัก ทั้งนี้ การเกิดสงครามทางการค้าอาจทำให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนได้ เช่น ประเทศไหนที่มีที่ตั้งที่ดี มีเสถียรภาพ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสงครามการค้า ก็มีโอกาสที่เงินลงทุนจะไหลเข้ามามาก เมื่อการต่อสู้ของสหรัฐและจีนยังไม่แน่ชัดว่าจะยุติเมื่อไร การลงทุนในประเทศโลกที่สามก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งประเทศเหล่านี้

อาทิ เวียดนาม หรือแม้แต่ไทย ที่มียุทธศาสตร์ทางด้านที่ตั้งอยู่ในระดับดีมาก อีกทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกมองว่าเป็นตลาดในอนาคตอยู่แล้ว เนื่องจากมีเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นโอกาสที่ดีหากภาครัฐมีศักยภาพในการดึงภาคการลงทุนมาได้

อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าที่เกิดขึ้นก็ทำให้เกิดความเสี่ยงกับไทยเช่นเดียวกัน เนื่องด้วยไทยจะถูกผลกระทบต่อเนื่องจากการที่จีนส่งออกสินค้าไปสหรัฐไม่ได้ ทำให้สินค้าขั้นกลางบางส่วนที่ไทยส่งออกไปจีนเพื่อประกอบชิ้นส่วน และส่งต่อไปยังสหรัฐนั้น จะถูกผลกระทบอย่างมาก ซึ่งเป็นปัญหาที่น่ากังวล หากภาครัฐสามารถเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนสินค้าหรือหันเหไปหาตลาดอื่นได้ก็ต้องรีบทำ

อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนมองความเสียหายในสงครามการค้าโลกที่เกิดขึ้นจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐเพื่อต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ในปี ค.ศ.1930 ภายหลังการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น สมาชิกสภาคองเกรสได้เสนอร่างกฎหมายขึ้นภาษีนำเข้าด้านการเกษตร เพื่อหวังช่วยเกษตรกรชาวสหรัฐ แต่หลังจากการขึ้นกำแพงภาษีไม่นาน สหรัฐก็ถูกบรรดาประเทศต่างๆ ตอบโต้ในทันที โดยใช้วิธีขึ้นภาษีการนำเข้าจากสหรัฐเช่นเดียวกัน จนเกิดวิกฤตการณ์สงครามการค้าในครั้งนั้น ภายหลังฝุ่นที่ตลบอบอวลในสมรภูมิเริ่มเบาบางลง ก็เกิดภาพชัดขึ้นว่าไม่มีใครเป็นผู้ชนะในสงครามนี้ ทุกฝ่ายต่างพ่ายแพ้ โดยสหรัฐต้องประสบกับสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น ขณะที่การค้าโลกก็หลั่งเลือดอย่างยืดเยื้อยาวนานจนล่มสลายกันเกือบทั้งหมด

สำหรับสงครามการค้าโลกระหว่างสหรัฐกับจีนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น ภาพรวมก็ยังเป็นสถานการณ์ที่ยังน่าจับตามองกันต่อไป เพราะเป็นสงครามระหว่างสองยักษ์ใหญ่ที่ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก ทั้งนี้ หลายฝ่ายได้ออกมาว่า ท้ายที่สุดแล้วการฟาดงวงฟาดงาใส่กันของทั้งสองประเทศต้องลงเอยด้วยการเจรจาทางการค้าอย่างแน่นอน เพราะหากทรัมป์ยังประกาศเพิ่มการเก็บภาษีจากสินค้าจีนต่อไป ทางการจีนเองก็คงมีมาตรการสวนกลับออกมาเรื่อยๆ อย่างที่ได้เห็นกันไปแล้ว เมื่อต่างฝ่ายต่างขึ้นภาษี ผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือความเดือดร้อนที่จะกระทบไปสู่ประชาชนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม มาตรการตอบโต้สหรัฐของทางการจีนที่ออกมาในครั้งนี้ยังไม่ถือว่าเป็นยาแรงมาก เพราะคงเล็งเห็นว่าหากใช้ยาแรงคงเกิดเป็นสงครามที่พ่ายแพ้กันทุกฝ่าย

เพราะเมื่อพญาช้างสารชนกันหญ้าแพรกก็แหลกลาญฉันใดก็ฉันนั้น

หวังว่าในไม่ช้าไม่นานทั้ง 2 ฝ่ายจะเปิดประตูเจรจาระหว่างกัน!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image