เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ขสมก.žวิกฤตรุมเร้า ร้องบิ๊กตู่žช่วยด้วย!

จัดพิธีรับมอบรถโดยสารปรับอากาศเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) 489 คัน ล็อตแรก 100 คัน ไปอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนสารพัดปัญหายังตามหลอกหลอน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่ไม่จบไม่สิ้น

กลับกลายเป็นว่าจะหนักหนาสาหัสมากขึ้นกว่าเดิม ภายหลังศาลปกครองกลางได้ให้ทุเลาการบังคับใช้มติคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 เรื่องการอนุมัติผลประมูลโครงการจัดหารถเมล์เอ็นจีวี พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษา จำนวน 489 คัน วงเงิน 4,261 ล้านบาท ที่กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ประกอบด้วย บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) และ บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูล และมติบอร์ดครั้งที่ 16/2560 ที่รับรองรายงานการประชุมครั้งก่อนหน้า ตามคำร้องของ บริษัท สยาม สแตนดาร์ด เอนเนอจี้ จำกัด โดยศาลปกครองกลางไม่ให้นำมติบอร์ดทั้ง 2 ครั้งไปดำเนินการใดๆ ที่มีผลผูกพันเป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

สั่งชดเชยค่าเสียหายเบสท์ริน
ทั้งนี้ยังให้ ขสมก.ชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด บริษัท อาร์แอนด์เอ คอมเมอร์เชียล วิฮีเคิลส์ เอสดีเอ็น บีเอชดี จำกัด บริษัท รถยนต์เซินหลง (เซี่ยงไฮ้) จำกัด และบริษัท เทคโนโลยีพลังงานใหม่เป่ยฟังกวางโจว จำกัด เนื่องจากบอกเลิกสัญญาจัดซื้อจัดจ้างรถโดยสารปรับอากาศเอ็นจีวีและบำรุงรักษา จำนวน 489 คัน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเงิน 1,159 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น 1,147 ล้านบาท นับถัดจากวันที่ 7 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นวันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ ขสมก.ส่งมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 30 กันยายน 2559 จำนวน 547,427 บาท คืนแก่บริษัทเบสท์ริน กับพวก ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากคืนไม่ได้ ให้ชดใช้เป็นเงินตามจำนวนหนังสือค้ำประกันดังกล่าว

ทำเอาสะเทือนแผนการดำเนินงานที่ ขสมก.วางไว้ทั้งหมดทันที

Advertisement

สำหรับรถเมล์เอ็นจีวีใหม่ดังกล่าวเป็นรถโดยสารชานต่ำขนาด 12 เมตร 35 ที่นั่ง รองรับการใช้งานของผู้พิการและผู้สูงอายุ ระบบเบรกเอบีเอส พร้อมปรับลดระดับความสูงของตัวรถ มีถังก๊าซ 9 ใบ ภายในห้องโดยสารบุฉนวนกันความร้อนและเสียงรบกวน เก้าอี้โดยสารปกติ 31 ที่นั่ง
และแบบพับได้ 4 ที่นั่ง มีป้ายไฟดิจิทัลบอกเส้นทาง กล้องซีซีทีวี 5 จุด พื้นที่จอดวีลแชร์ 2 คัน พร้อมที่ล็อกล้อ กริ่งสัญญาณหยุดรถสำหรับคนพิการ มีระบบจีพีเอสเพื่อให้ตรวจสอบพิกัดของรถโดยสารผ่านสมาร์ทโฟน มีระบบอี-ทิคเก็ต รองรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและตั๋วร่วม เป็นต้น

แผนส่งมอบรถเมล์ใหม่ชะงัก
ตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้ จะเริ่มรับมอบล็อตแรกก่อน จำนวน 100 คัน เพื่อนำมาวิ่งให้บริการใน 8 เส้นทาง ของเขตการเดินรถที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคมเป็นต้นไป ประกอบด้วย สาย 20 ป้อมพระจุลจอมเกล้า-ท่าน้ำดินแดง, สาย 21 วัดคู่สร้าง-จุฬาฯ, สาย 138 พระประแดง-หมอชิต 2, สาย 140 แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสาย 105 มหาชัยเมืองใหม่-คลองสาน

ส่งมอบล็อตที่ 2 อีก 100 คัน ภายในวันที่ 26 เมษายน ล็อตที่ 3 อีก 100 คัน ภายในวันที่ 26 พฤษภาคม และล็อตสุดท้าย 189 คัน จะส่งมอบภายในวันที่ 25 มิถุนายน เมื่อรับมอบครบทั้ง 489 คัน ขสมก.จะนำไปบรรจุในเส้นทางของเขตการเดินรถที่ 5, 2, 1 และ 3 รวม 25 เส้นทาง ครอบคลุมการให้บริการในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล

Advertisement

นอกจากนี้ทางกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO จะต้องลงทุนสร้างศูนย์บำรุงรักษาและซ่อมแซมรถโดยสารตามสัญญาว่าจ้างซ่อมบำรุง ระยะ 10 ปี เพื่อดูแลการบำรุงรักษาและซ่อมแซมรถโดยสารในเขตการเดินรถที่ 1, 2, 3 และ 5 ด้วย

แต่พอศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาออกมา กระบวนการต่างๆ ทั้งหมดก็จะต้องชะลอไว้ก่อน โดยระหว่างนี้ ขสมก.ก็จะต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองและจะเดินหน้ารับรถเมล์เอ็นจีวีที่เหลืออีก 389 คันจากกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ต่อไป ส่วนคดีที่ 2 ขสมก.ก็จะยื่นอุทธรณ์ตามขั้นตอนเช่นกัน เนื่องจาก ขสมก.มีข้อมูลที่นำไปโต้แย้งในชั้นศาลปกครองสูงสุดได้ เช่น ศาลปกครองกลางเห็นว่า ขสมก.ไม่ได้กำหนดเรื่องแหล่งกำเนิดรถไว้ในเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) แต่ในข้อเสนอของ
เบสท์รินระบุว่าจะผลิตรถในประเทศจีนและจะประกอบตัวรถในประเทศมาเลเซีย เป็นต้น

ขณะเดียวกันทาง ขสมก.ก็ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นที่น่าหนักใจ เพราะที่ผ่านมา ขสมก.ก็ต่อสู้ตามขั้นตอน เช่น กรณีศาลมีคำสั่งคุ้มครองให้ ขสมก.รับมอบรถเมล์จากเบสท์ริน แต่ ขสมก.ก็ยื่นอุทธรณ์และศาลปกครองสูงสุดก็รับพิจารณา รวมถึงกรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ยึดเงินค้ำประกันจากเบสท์ริน ซึ่ง ขสมก.ก็ยื่นอุทธรณ์และศาลก็กลับคำพิพากษาให้ยึดเงินค้ำประกันได้ เป็นต้น

มอบขสมก.อุทธรณ์ใน30วัน
เรื่องนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุในเบื้องต้นว่า เท่าที่ทราบคำสั่งยังไม่ค่อยสอดคล้องกัน จึงมอบให้ ขสมก.ไปพิจารณา วิเคราะห์ และแยกแยะประเด็นต่างๆ เพื่อหารือกับอัยการ เกี่ยวกับความชัดเจนในข้อคำสั่งดังกล่าวเพื่อที่จะเดินหน้ายื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ส่วนกรณีที่บริษัท ช ทวี ได้ส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวีไปแล้ว 100 คัน พร้อมเดินรถแล้วนั้น

ตามหลักการเมื่อสัญญาเดินแล้วต้องเดินตามสัญญา เพราะหากไม่ปฏิบัติตามสัญญาอาจจะเป็นปัญหาอีกด้าน ขณะเดียวกันก็ต้องดูคำสั่งศาลด้วยว่าจะเป็นปัญหากับการเดินสัญญาต่อหรือไม่ สำหรับการให้บริการประชาชนของรถเมล์เอ็นจีวี 100 คันแรกที่รับมอบมาแล้วนั้นก็ดำเนินการต่อไป โดยไม่หยุด ส่วนการรับมอบรถเมล์เอ็นจีวีล็อตต่อไป ต้องดูผลการวิเคราะห์ของ ขสมก.ก่อน ซึ่งทั้งหมดต้องยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ส่วนความเป็นไปได้ในการฟ้องกลับบริษัทเบสท์รินนั้น เวลานี้
ยังตอบไม่ได้ ขอให้ ขสมก.ไปพิจารณาอย่างละเอียดก่อน ทั้งนี้เชื่อมั่นและมั่นใจว่าระบบและขั้นตอนต่างๆ ของ ขสมก.ที่ดำเนินการมาถูกต้องตามระเบียบทั้งหมด

อี-ทิคเก็ตžยังรับมอบไม่ได้
นอกจากปัญหานี้แล้ว โครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ หรืออี-ทิคเก็ต บนรถเมล์ จำนวน 2,600 คัน วงเงิน 1,665 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี
ที่มีนิติบุคคลร่วมทำงาน โดยบริษัท ช ทวี เป็นผู้ชนะการประมูล ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา นิติบุคคลร่วมทำงาน โดย ช ทวี ได้ส่งมอบระบบอี-ทิคเก็ต บนรถเมล์ 100 คันแรกให้ ขสมก.ตรวจสอบเป็นรอบที่ 2 แต่ ขสมก.ก็ไม่สามารถรับมอบได้ เพราะยังไม่ผ่านเกณฑ์ตามทีโออาร์ โดยปัญหาที่พบคือ เครื่องอี-ทิคเก็ต ยังอ่านค่าโดยสารไม่ถูกต้อง เช่น ผู้โดยสารลงรถเมล์ระหว่างทางแต่กลับคิดค่าโดยสารเต็มจำนวน แต่ ขสมก.ก็ยอมรับว่ามีพัฒนาการดีขึ้นจากการส่งมอบครั้งแรก และใช้งานได้ประมาณ 80% แล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ เครื่องเก็บค่าโดยสารแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติ หรือแคชบ็อกซ์ ยังพบปัญหาแบบเดิมและยังไม่สามารถใช้งานได้

จากนั้นในวันที่ 28 มีนาคม คณะกรรมการตรวจรับได้เชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าหารือเพื่อสรุปปัญหาและอุปสรรคที่พบ พร้อมขอให้ทางบริษัทกลับไปแก้ไขข้อบกพร่อง และนัดส่งมอบระบบอี-ทิคเก็ตอีกครั้งในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้

ในเรื่องนี้ นางพนิดา ทองสุข รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ขสมก. ยืนยันว่า หากตรวจรับครั้งที่ 3 แล้วยังไม่ผ่านก็อาจพิจารณายกเลิกสัญญา โดยเอกชนจะอ้างไม่ได้ว่าความบกพร่องดังกล่าวเกิดจากปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาระบบไฟฟ้าบนรถเมล์หรือระบบตั๋วร่วม เพราะเอกชนต้องรู้สภาพรถเมล์ ขสมก. ตั้งแต่ก่อนเข้าประมูลอยู่แล้ว หากปล่อยไปก็อาจเกิดความเสียหายกับ ขสมก. ขณะเดียวกัน ขสมก.ได้นำเรื่องการยกเลิกติดตั้งแคชบ็อกซ์บนรถเมล์ 2,600 คัน ภายใต้สัญญาโครงการเช่าระบบ
อี-ทิคเก็ต ให้ฝ่ายกฎหมายและกรมบัญชีกลางพิจารณาด้วยว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่

นางพนิดาระบุอีกว่า ขสมก.ได้ส่งหนังสือถึงนิติบุคคลร่วมทำงานโดยบริษัท ช ทวี เพื่อเรียกค่าเสียหายจากโครงการติดตั้งระบบอี-ทิคเก็ต รวม 22 ล้านบาท แบ่งเป็น

1.กรณีที่ทำให้ ขสมก.สูญเสียรายได้วงเงินรวม 21 ล้านบาท เพราะ ขสมก.ต้องสำรองจ่ายค่าโดยสารให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและไม่สามารถเบิกเงินคืนจากกรมบัญชีกลางได้ 2.กรณีส่งมอบระบบอี-ทิคเก็ตและแคชบ็อกซ์ล่าช้า คิดเป็นวงเงินค่าปรับราว 1.6 ล้านบาท เพราะในทีโออาร์กำหนดให้ส่งมอบงวดแรก 100 คัน ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2560

ทั้งนี้การที่บริษัท ช ทวี ไม่สามารถส่งมอบอี-ทิคเก็ตและแคชบ็อกซ์ได้ ยังจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงแผนการฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. ในการเปิดโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด หรือเออร์ลี่รีไทร์ ที่ตั้งเป้าหมายจะลดพนักงานเก็บค่าโดยสารและพนักงานตรวจบัตรโดยสารลง 3,774 คน โดยตามแผนงานที่กำหนด ขสมก.จะใช้ระบบอี-ทิคเก็ตอย่างเต็มตัวตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป โดยการเออร์ลี่รีไทร์จะใช้งบประมาณรวมทั้งหมด 4,774 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2561 วงเงิน 401 ล้านบาท ปี 2562 วงเงิน 4,328 ล้านบาท และปี 2563 วงเงิน 45 ล้านบาท

ณัฐชาติžทิ้งเก้าอี้ประธานบอร์ด
อย่างไรก็ตาม จากสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้น หลายคนก็เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งให้กรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ทยอยลาออกไป โดย นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานบอร์ด ได้ลาออกไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังมีกรรมการบอร์ดลาออก คือ พล.อ.วราห์ บุญญะสิทธิ์ นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ และ นายชัยชนะ มิตรพันธ์

ซึ่งการลาออกในครั้งนี้ นายณัฐชาติยืนยันว่าจะไม่กลับไปดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ขสมก.อีกอย่างแน่นอน พร้อมระบุสาเหตุของการยื่นหนังสือลาออก เพราะได้ปฏิบัติภารกิจ 4 เรื่องที่ได้ประกาศไว้กับบอร์ด ขสมก.เสร็จสิ้นแล้ว ประกอบด้วย 1.การจัดทำแผนฟื้นฟู ขสมก. โดยขณะนี้จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือปรับแก้อีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
2.จัดหารถเมล์เอ็นจีวี ซึ่งได้ดำเนินการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งทยอยรับมอบรถ และเปิดให้บริการประชาชนแล้ว 3.การสรรหาผู้อำนวยการ ขสมก. โดยได้เสนอไปให้นายอาคมพิจารณาแล้ว

4.การแก้ปัญหาหนี้สินให้กับพนักงาน ขสมก. โดยให้พิจารณาหาธนาคารเข้ามารีไฟแนนซ์หนี้สินให้แก่พนักงานแล้ว เพราะปัจจุบันมีพนักงานหลายรายที่เป็นหนี้สินที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยต่อเดือน 10% ของเงินต้น บางคนติดหนี้สินสหกรณ์ และมีพนักงานบางคนถูกหักจนเหลือเงินเดือนไม่ถึง 5 พันบาท ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญ เพราะหากพนักงานไม่พร้อมยังเป็นหนี้สินอยู่ก็ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการเออร์ลี่รีไทร์ของ ขสมก.ได้ ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าตนจะไม่กลับไปดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด
ขสมก.อย่างแน่นอน

สหภาพยื่นบิ๊กตู่žช่วยแก้ปัญหา
ด้านสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ซึ่งมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงได้มีการประชุมกรรมการบริหารสหภาพ ขสมก.เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา พร้อมมีมติเห็นชอบให้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากยกรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาของ ขสมก. ในวันที่ 24 เมษายนนี้
โดย นายวีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธาน สร.ขสมก. ระบุว่า เรื่องที่จะเสนอคือขอให้ปลดบอร์ดชุดเดิมและเร่งรัดแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหา ขสมก. และปัญหาความเดือดร้อนของพนักงานที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ขณะเดียวกันก็ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสั่งการให้บรรจุแต่งตั้งพนักงานที่ผ่านการสอบคัดเลือกในตำแหน่งต่างๆ ที่ขาดอัตรากำลังของฝ่ายเดินรถ และฝ่ายสนับสนุนการเดินรถให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ เพราะเป็นตำแหน่งที่หารายได้ให้กับองค์กร ซึ่งปัจจุบันขาดอัตรากำลังเป็นจำนวนมาก ทำให้งานเดินรถขาดประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ยังให้พิจารณาทบทวนคำสั่งย้าย นายสุระชัย เอี่ยมวชิระสกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. ที่ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กลับมาปฏิบัติหน้าที่เหมือนเดิม เนื่องจากปัจจุบัน ขสมก.ว่างเว้นผู้อำนวยการมาบริหารงานทำให้การแก้ไขปัญหาองค์การไม่เป็นตามนโยบายและแผนงานที่วางไว้ นอกจากนี้ยังเห็นว่าการปรับโครงสร้างองค์การไม่เป็นไปตามความเห็นของคณะทำงาน ซึ่งมีผู้แทนสหภาพเป็นคณะทำงาน ที่ได้ให้ความเห็นในการปรับปรุงบางหน่วยงานและยุบบางหน่วยงานที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะฝ่ายบริหารบางหน่วยงานมีอัตรากำลังมากเกินความจำเป็น คนล้นงาน เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งปัจจุบันเขตเป็นผู้ดำเนินการในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และยังมีอีกหลายหน่วยงานในสำนักงานใหญ่ โดยควรมีการทบทวนอย่าให้ข้างบนโต ข้างล่างลีบ ดังนั้นจึงควรทบทวนกรอบอัตรากำลังที่ไม่จำเป็น หรือหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็นในสำนักงานใหญ่ และให้ใช้ระบบไอทีทดแทน

วอนเคลียร์ปัญหาคดีฟ้องร้อง
นายวีระพงษ์ยังระบุด้วยว่า ยังจะขอให้รัฐบาลพิจารณารับผิดชอบหนี้สินของ ขสมก.ที่ขาดทุนตามนโยบายของรัฐบาลและให้จัดสรรงบประมาณให้ ขสมก. ชดเชยส่วนต่างที่ขาดหายไปในการบริการเชิงสังคม ที่เก็บราคาต่ำกว่าต้นทุน หากไม่สนับสนุนงบประมาณ ก็เห็นควรให้ ขสมก.ปรับอัตราค่าโดยสารให้เป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริงได้ พร้อมกันนี้ก็ขอให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหากรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ ขสมก.ชดเชยค่าเสียหายทางแพ่งให้กับบริษัทเบสท์ริน กรณีไม่รับรถโดยสารเอ็นจีวีจำนวน 292 คัน ที่ได้ดำเนินการติดตั้งจีพีเอสและได้รับการจดทะเบียนจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) แล้ว เพื่อหาทางออกร่วมกัน และให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับการจัดซื้อจัดจ้างรถเมล์ เอ็นจีวี 489 คัน สหภาพขอให้นายกฯมีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อหาผู้รับผิดชอบ หาก ขสมก.ได้รับความเสียหายในเรื่องดังกล่าว

ท้ายที่สุดจะสามารถแก้สารพัดปัญหาที่รุมเร้า และจะพลิกวิกฤตที่เกิดขึ้นกับ ขสมก.ในครั้งนี้ได้หรือไม่
ยังต้องติดตามใกล้ชิด!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image