เปิดผลสำรวจแรงงานไทย หนี้ครัวเรือนพุ่ง-เงินออมหาย

หมายเหตุ – หอการค้าไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจความคิดเห็นประเด็นธุรกิจ “สถานภาพแรงงานไทย กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท”Ž ระหว่างวันที่ 19-23 เมษายน 2561 โดยการสุ่มตัวอย่างแรงงาน 1,194 ตัวอย่างทั่วประเทศ แบ่งออกเป็นเพศชาย 49.7% เพศหญิง 50.3% ที่มีอายุตั้งแต่ 20-60 ปีขึ้นไป


 

ธนวรรธน์ พลวิชัย
ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ปัจจุบันสถานภาพของแรงงานพบว่า มีภาระหนี้สิน 96% และเพียง 4% ไม่มีภาระหนี้สิน การเป็นหนี้และกู้ยืมมาจากวัตถุประสงค์แรก คือ กู้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 36.1% ตามด้วยใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะ 24.9% เพื่อการลงทุน 13.6% เพื่อที่อยู่อาศัย 10.8% ใช้คืนเงินกู้ 7.2% ค่ารักษาพยาบาล 6.7% และอื่นๆ 0.7%

Advertisement

เมื่อสอบถามสถานภาพทางการเงินของแรงงาน สัดส่วน 68.5% ระบุว่า มีปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายในปัจจุบัน สาเหตุหลักเกิดจากรายได้ไม่เพิ่ม โดย 25.6% ระบุผลจากค่าครองชีพเพิ่มขึ้น 23.7% จากราคาสินค้าแพงขึ้น 19.9% จากภาระหนี้มากขึ้น 13.6% จากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น 9.9% มีของที่ต้องการซื้อเพิ่มมากขึ้น 6.3% รายได้ลดลง และ 1% จากเหตุอื่นๆ และสถานภาพทางการเงินของแรงงาน ส่วนอีก 31.5% ที่ไม่มีปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายในปัจจุบัน ในจำนวนนี้ 73.2% เป็นผลจากการเลือกซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น 20.8 % รายได้เพิ่มสูงขึ้น และ 2% มีรายได้เสริม

จากการสำรวจถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายในปัจจุบัน พบว่า 58.1% ยังใช้จ่ายเท่ากับรายได้ เกิดจากการใช้จ่ายอย่างประหยัด 42.5% สินค้ามีราคาสูงขึ้น 18.8% รายได้น้อย 11.2% ภาระหนี้สิน 11.2% ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 8.8% และเศรษฐกิจไม่ดี 7.5% ขณะที่ 24.9% ใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ที่ได้รับ โดย 52.4% เป็นการใช้จ่ายอย่างประหยัดอีก 12.7% รายได้น้อย ส่วน 11.4% สินค้าราคาแพง 8.5% ภาระหนี้สิน 7.8% เศรษฐกิจไม่ดี 7.2% เก็บออม และขณะที่ 17% ใช้จ่ายมากกว่ารายได้ เกิดจากสินค้ามีราคาสูง 58.8% เศรษฐกิจไม่ดี 16.5% ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 9.2% ค่าครองชีพสูง 6.2% รายได้น้อย 6.2% และภาระหนี้สิน 3.1%

เมื่อเปรียบเทียบภาระหนี้สินของแรงงานไทย พบว่าในปี 2560 แรงงานมีภาระหนี้สิน 97% และไม่มีภาระหนี้สิน 3% ขณะที่ในปี 2561 แรงงานมีภาระหนี้สิน ลดลงเหลือ 96% และไม่มีภาระหนี้สิน เพิ่มขึ้นเป็น 4%

Advertisement

ด้านวัตถุประสงค์ในการกู้ พบว่าในปี 2560 ส่วนใหญ่ 37.5% ระบุเกิดจากเพื่อซื้อทรัพย์ (รถยนต์/จักรยานยนต์) รองลงมาคือ เพื่อใช้จ่ายทั่วไป 24.4% เพื่อซื้อบ้าน 14.3% ลงทุน 10.7% ใช้คืนเงินกู้ 8.7% ค่ารักษาพยาบาล 3.9% และที่เหลืออื่นๆ อีก 0.6%

ส่วนวัตถุประสงค์ในการกู้ ในปี 2561 ส่วนใหญ่ 36.1% เกิดจากเพื่อใช้จ่ายทั่วไป เพื่อซื้อทรัพย์ (รถยนต์/จักรยานยนต์) 24.9% ลงทุน 13.6% เพื่อซื้อบ้าน 10.8% ใช้คืนเงินกู้ 7.2% ค่ารักษาพยาบาล 6.7% และอื่นๆ 0.7%

นอกจากนี้ ยังพบว่าในปี 2561 แรงงานมีหนี้สินรวมเฉลี่ยต่อครัวเรือนปรับสูงขึ้นในรอบ 10 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2552 โดยอยู่ที่ 137,988.21 บาท และเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีหนี้สินรวมเฉลี่ยต่อครัวเรือน อยู่ที่ 131,479.89 โดยแบ่งเป็นหนี้สินในระบบ สัดส่วน 65.4% และนอกระบบ 34.6% หรือขยายตัว 4.95% ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของแรงงานในปี 2561 พบว่ามีปัญหาเพิ่มขึ้นเป็น 85.4% ไม่มีปัญหาลดลงเหลือ 14.6% และเมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีปัญหาอยู่ที่ 78.6% และไม่มีปัญหาอยู่ที่ 21.4%

เมื่อพิจารณาด้านการเก็บออมของแรงงาน พบว่าในปี 2561 แรงงานมีการเก็บออมลดลงเหลือ 41.4% และไม่เก็บออมเพิ่มขึ้นเป็น 58.6% เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีการเก็บออมอยู่ที่ 62.6% และไม่เก็บออมอยู่ที่ 37.4% ทั้งนี้ คาดว่า มูลค่าการใช้จ่ายในวันแรงงาน ปี 2561 อยู่ที่ 2,193.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีมูลค่าการใช้จ่ายอยู่ที่ 2,115.17 ล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 3.7% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 3%

เมื่อถามถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีผลเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2561 มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด พบว่า 45.5% คิดว่ามีความเหมาะสมปานกลาง ขณะที่ 24.2% คิดว่ามีความเหมาะสมน้อย 16% คิดว่า มีความเหมาะสมน้อยมาก 11.4% คิดว่ามีความเหมาะสมมาก 1.8% คิดว่ามีความเหมาะสมมากที่สุด และ 1.2% คิดว่าไม่มีความเหมาะสมเลย

ในการสำรวจครั้งนี้ แรงงานได้มีข้อเสนอแนะถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนใหญ่ 62.3% ควรมีการปรับขึ้นทุกปี อีก 28% ควรปรับขึ้นตามภาวะค่าครองชีพ และ 9.6% ควรปรับขึ้น 2 ปีครั้ง โดยแรงงาน 44.7% ยังคาดหวังว่าการปรับขึ้นค่าแรงควรเพิ่มเท่ากับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น อีก 18.2% เห็นควรเพิ่มเท่ากับค่าเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้น 15.3% เห็นว่าควรเพิ่มเท่ากับค่าอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นอีก 13.6% เห็นควรเพิ่มเท่ากับค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มสูงขึ้น และ 8.2% อีกหลายความเห็นอื่นๆ เช่น ควรเพิ่มเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หรือค่าเช่าบ้าน

สำหรับประเด็นที่แรงงานต้องการเสนอต่อภาครัฐ เพื่อขอความช่วยเหลือหรือดำเนินการ อาทิ ควรมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทุกปี, ลดปัญหาการว่างงาน ช่วยเหลือผู้ว่างงาน, ควบคุมราคาสินค้า และดูแลค่าครองชีพ, แก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว, การดูแลประกันสังคม ในเรื่องค่ารักษาพยาบาล, ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และดูแลควบคุมหนี้สินนอกระบบ

เมื่อดูจากผลสำรวจดังกล่าว หอการค้าไทยมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ ในปี 2561 หลังจากพบว่าบรรยากาศของการลงทุน ยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยมองว่าเม็ดเงินจากการลงทุนภาครัฐลงสู่ระบบล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น โดยรัฐบาลจำเป็นต้องผลักดันให้โครงการต่างๆ เดินหน้าไปตามกำหนด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งในขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจยังคงไม่มั่นใจว่า จะสามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ หลังจากราคาพืชผลทางการเกษตร ยังมีราคาไม่สูงนัก รวมถึงราคาปศุสัตว์ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อของภาคเกษตรชะลอตัว แต่อย่างไรก็ตาม ทางหอการค้าไทยยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้อยู่ที่ 4.4% หรืออยู่ในกรอบ 4.2-4.6%

กรณีมีนักลงทุน เช่น อาลีบาบา และผู้ลงทุนในอีอีซี (เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) เข้ามาจะส่งต่อสถานการณ์แรงงานปัจจุบัน โดยสิ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่พ้นคือ การปรับโครงสร้าง ซึ่งความยากของระบบเศรษฐกิจขณะนี้คือ เศรษฐกิจปรับโครงสร้าง และทำให้นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอาจจะจับประเด็นข้อมูลไม่ทัน โดยเชื่อว่า กระแสของการใช้เงินที่เป็นคริปโตเคอเรนซียังเกิดขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะใช้มาก ต่อมาคือ ปัญญาประดิษฐ์ หรือหุ่นยนต์ จะเกิดขึ้นแน่นอน

โดยเหตุผลที่สำคัญคือ แรงงานจะมีทั้งค่าแรง ภาระของเงินประกันสังคม และเงินสำรองเลี้ยงชีพ แต่ถ้าใช้แรงงานของปัญญาประดิษฐ์ หรือหุ่นยนต์ ที่ไม่มีการเจ็บป่วย มีเพียงค่าเสื่อมราคา และไม่ต้องใช้เงินส่งประกันสังคม ไม่ต้องจ่ายกองทุนสำรองตามกฎหมาย ดังนั้น แนวโน้มของโลกจะวิ่งไปที่หุ่นยนต์มากยิ่งขึ้น และผู้บริโภคสามารถค้นหาข้อมูลได้จากแอพพลิเคชั่น และโทรศัพท์มือถือ จึงคาดว่าคนรุ่นใหม่ตั้งแต่เจเนอเรชั่นวาย (Generation Y) จนถึงเจเนอเรชั่นแซด (Generation Z) จะสามารถค้นหาข้อความ และซื้อสินค้าผ่านทางโทรศัพท์มือถือ

ดังนั้นแพลตฟอร์มของอีคอมเมิร์ซ เฉกเช่นอาลีบาบายังไงก็มา ถ้าไม่ก่อตั้งที่ประเทศไทยก็จะสามารถเข้าถึงคนไทยได้ง่าย เนื่องจากพฤติกรรมของคนไทยมีการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การที่นักลงทุนพวกนี้เข้ามาเป็นไปตามวัฒนธรรม ซึ่งปรากฏการณ์ต่างๆ นี้ เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ โดยจะส่งผลให้ประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ฉะนั้น กรณีของอาลีบาบา เป็นเพียงกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อประเทศ การที่อาลีบาบาเข้ามาจัดตั้งในประเทศไทยถือว่าเป็นมุมในเชิงบวก เพราะจะเป็นการเข้ามาจัดตั้งที่จะทำให้เม็ดเงินในการลงทุนเพิ่มเข้ามา และมีกระบวนการเสียภาษีในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลดีกว่าการที่คนไทยไปซื้อของต่างประเทศ และไม่มีระบบการเสียภาษี ดังนั้นการจ้างงานผ่านระบบคนกลางอาจจะหายไป แต่ไม่ได้หมายความว่าการจ้างงานจะหายไป เพราะโรงงานก็ยังต้องผลิตสินค้า แต่คนงานอาจจะลดน้อยลง เพราะเป็นเรื่องของสิ่งประดิษฐ์ เครื่องกลที่จะเข้ามาแทนที่ ตามกรอบไทยแลนด์ 4.0 โดยจะส่งผลให้ประเทศไทยผันตัวไปสู่ภาคการบริการมากขึ้น คล้ายกับประเทศสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ฉะนั้นสังคมไทย และแรงงานไทย สถาบันทางการศึกษาไทย จะต้องสนับสนุนฝีมือแรงานเข้าสู่ภาคการบริการ เช่น การอบรมความเป็นพยาบาล การอบรมนวดสปา ทำอาหาร และท่องเที่ยว

และสิ่งที่นายแจ๊ก หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานกลุ่มบริษัทอาลีบาบา เคยกล่าวไว้ว่า หุ่นยนต์แทนคนไม่ได้ เพราะหุ่นยนต์ไม่มีอารมณ์ ดังนั้นคำว่า อีโมชั่น หรือความรู้สึก มันจึงทำให้คนยังอยู่ได้ เพียงแต่ว่า แรงงานและประเทศในระดับนโยบายจะต้องปรับตัว ยังไงแรงงานไทยไม่ควรต้องตกงาน ถ้าไม่เลือกงาน 1.เรายังเป็นประเทศฐานการผลิตยังมีการจ้างงานอยู่ การใช้งานที่เป็นฝีมือยังมีอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งหุ่นยนต์ไม่สามารถทำแทนได้ 2.ประเทศไทยจะมีงานบริการเพิ่มมากขึ้น 3.เรายังมีตำแหน่งงานอื่นอยู่ เพราะว่าเรายังใช้แรงงานต่างด้าวประมาณ 3 ล้านคน ถ้าคนไทยนั้นปรับตัวเข้ากับงาน คนไทยก็น่าจะไม่มีการตกงาน แต่การใช้งานในหน่วยงานอาจจะมีการจ้างงานลดลงจริง ตามกรอบที่มีการใช้แอพพลิเคชั่นแทน ให้เทคโนโลยีแทน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image