ประมูลคลื่น 1800 วัดผลงานบอร์ด กสทช.รักษาการ

กลายเป็นประเด็นที่สร้างความเคลือบแคลงใจให้กับผู้คนในสังคมทันที เมื่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 19 เมษายน มีมติ ล้มกระดานŽ การสรรหา 7 กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ด กสทช. ตามที่คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เสนอรายชื่อมา 14 คน แยกเป็น 7 ด้าน ด้านละ 2 คน เพื่อให้ลงมติเลือกให้เหลือด้านละ 1 คน ดังนี้

1.ด้านกิจการกระจายเสียง พ.อ.กฤษฎา เทอดพงษ์ และ นายธนกร ศรีสุขใส
2.ด้านกิจการโทรทัศน์ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ พล.อ.มังกร โกสินทรเสนีย์
3.ด้านกิจการโทรคมนาคม นายอธิคม ฤกษบุตร และ นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ
4.ด้านวิศวกรรม พล.อ.ต.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ และ พ.อ.อนุรัตน์ อินกัน
5.ด้านกฎหมาย นายมนูภาน ยศธแสนย์ และนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร
6.ด้านเศรษฐศาสตร์ นายภักดี มะนะเวศ และนายณรงค์ เขียดเดช
และ 7.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน นพ.สุริยเดว ทรีปาตี และ นายวรรณชัย สุวรรณกาญจน์

เพราะภายหลังการประชุมลับยาวนานกว่า 3 ชั่วโมง นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช.และเลขานุการวิป สนช. ชี้แจงสาเหตุการลงมติไม่เลือก กสทช. ตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ เนื่องจากใน 14 คน พบว่า 8 คนมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติและจริยธรรม และแม้สมาชิกบางคนจะทักท้วงว่าตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เมื่อกรรมการสรรหาเสนอชื่อมา สนช. ต้องเลือกเพียงอย่างเดียวเท่านั้นไม่มีหน้าที่วินิจฉัยคุณสมบัติ การยกเว้นไม่เลือกตามรายชื่อที่เสนอ เสี่ยงต่อการถูกผู้ผ่านการสรรหาฟ้องร้องได้แต่ข้อทักท้วงนั้นไม่เป็นผล สนช.ลงมติล้มกระดาน กสทช.ด้วยเสียง 118 ต่อ 25 งดออกเสียง 20

๐บิ๊กตู่ใช้ม.44จบปัญหา
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งเพื่อตัดปัญหาทั้งหมด เนื่องจากมีการร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติ
ผู้สมัครกรรมการ กสทช.เข้ามาจำนวนมาก และไม่แน่ใจว่าสรรหาใหม่แล้วปัญหาเหล่านี้จะกลับมาอีกหรือไม่ ทั้งยังไม่มั่นใจว่า จะสามารถสรรหาผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการ กสทช.ได้ภายใน 30 วัน
ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า 1.ยกเลิกกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช.ที่ดำเนินการไปก่อนวันประกาศคำสั่ง และระงับกระบวนการสรรหาที่จะมีขึ้นหลังจากนี้ จนกว่าหัวหน้า คสช.จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น 2.ให้กรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบันยังคงดำรงตำแหน่ง ปฏิบัติหน้าที่ตามความจำเป็นไปพลางก่อน หากกรรมการคนใดต้องพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุก็ตาม ให้กรรมการที่เหลือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าหัวหน้า คสช.จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ คสช.ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการสรรหากรรมการ กสทช. เมื่อพิจารณาจนได้ทางออกแล้วให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งหัวหน้า คสช.เพื่อดำเนินการต่อไป

Advertisement

๐กสทช.ถูกจำกัดหน้าที่
จากคำสั่งดังกล่าวทำให้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความตามมาตรา 19 วรรค 2 ที่ระบุว่า ให้กรรมการ กสทช.ชุดรักษาการปัจจุบัน ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี กสทช.ชุดใหม่ ดังนั้น กรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบันจึงมีอำนาจหน้าที่ตามสถานการณ์ปกติ แต่ในคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ระบุถึงการปฏิบัติหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน ในข้อ 2 คือ ยังคงดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ตามที่จำเป็นไปพลางก่อนŽ กลายเป็นข้อจำกัด ที่ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ กสทช.แตกต่างไปจากเดิม
ดังนั้น กรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบันคงจะปฏิบัติหน้าที่หรือทำอะไรได้ไม่มากนัก คือเลือกทำเฉพาะภารกิจ หรือหน้าที่ที่ทำแล้วไม่เกิดความเสียหาย แต่จะครอบคลุมแค่ไหนนั้น บอร์ดชุดนี้คงจะต้องมานั่งหารือรายละเอียดกันก่อน เพราะกรรมการแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะของแต่ละคน ซึ่งความคิดอาจจะไม่ตรงกันก็ได้

๐ดีเดย์4ส.ค.ประมูลคลื่น1800
ภารกิจสำคัญของ กสทช.ชุดรักษาการที่หลายคนจับจ้องในขณะนี้ก็คือ มติที่ประชุม กสทช.เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ให้เดินหน้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ในวันที่ 4 สิงหาคม 2561 โดยให้กำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 37,457 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับการประมูล 4จี เมื่อครั้งที่ผ่านมา
เบื้องต้น นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยโรดแมปประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ไว้ว่า กรอบเวลาการเตรียมการประมูล สำนักงาน กสทช.จะนำประกาศไปลงในราชกิจจานุเบกษาภายในวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 จากนั้นจะประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูลและเผยแพร่เอกสารชี้ชวนการลงทุน รวมทั้งชี้แจงต่อสาธารณะระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม-14 มิถุนายน 2561 และกำหนดการยื่นคำขอรับใบอนุญาตในวันที่ 15 มิถุนายน 2561 กสทช.กำหนดจะพิจารณาคุณสมบัติขั้นแรกระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน-31 กรกฎาคม 2561 หลังจากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมประมูลภายใน
วันที่ 2 กรกฎาคม 2561 จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการ
เตรียมความพร้อมผู้เข้าร่วมประมูลจะเปิดให้เคาะราคาในวันที่ 4 สิงหาคม 2561 เพื่อให้ทันก่อนที่สัญญาสัมปทานระหว่าง บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 15 กันยายน 2561 หากประมูลช้ากว่านี้จะก่อให้เกิดความเสียหายŽซึ่งการดำเนินการดังกล่าวของ กสทช.เพราะต้องการให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด รวมทั้งประชาชน ผู้ใช้บริการจะต้องได้รับสิ่งที่ดีที่สุดในการใช้บริการโครงข่าย

๐ดีแทคžแย้งกติกาการประมูล
หลังมีความชัดเจนแล้ว ทำให้กลุ่มทุนสื่อสารต่างก็จดจ้องการประมูลที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์การประมูลครั้งนี้ของ กสทช. โดยเฉพาะเรื่องราคาตั้งต้นของการประมูล เพราะดูเหมือนว่าจะสูงเกินไป
โดยท่าทีของ นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค ระบุว่า ดีแทคมีความกังวลต่อมติของ กสทช.ที่กลับไปใช้แนวทางเดิมสำหรับการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งไม่ส่งผลดีอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินนโยบายสร้างประเทศไทย 4.0 ในส่วนการประมูลคลื่นความถี่ 1800เมกะเฮิรตซ์
เพราะสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ คือ จะเปิดประมูลจำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 เมกะเฮิรตซ์ รวม 45 เมกะเฮิรตซ์ ภายใต้สูตร N-1 (N =จำนวนผู้เข้าประมูล) กล่าวคือ จำนวนใบอนุญาตต้องน้อยกว่าจำนวนผู้เข้าประมูล 1 ใบเสมอ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งใบอนุญาตมีอายุ 15 ปี พร้อมกับกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 37,457 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ในครั้งล่าสุด และกำหนดราคาขั้นต่ำในการเคาะราคาการประมูลแต่ละครั้งคือ 75 ล้านบาท และกำหนดหลักทรัพย์ค้ำประกันการประมูล (แบงก์การันตี) เท่ากับ 1,873 ล้านบาท
กฎ N-1 ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะสามารถชี้ชะตาได้ว่าการประมูลครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ หรือไม่ประสบความสำเร็จเลย เพราะโดยหลักของ N-1 ถ้าอยากให้ใบอนุญาตออกทั้งหมด 3 ใบอนุญาต แสดงว่าต้องมีเข้าร่วมการประมูลไม่น้อยกว่า 4 ราย แต่สำหรับประเทศไทยนั้นมีผู้ประกอบการเพียง 3 ราย ที่มีเม็ดเงินเยอะๆ หากจะให้มี 4 ราย จะต้องบวกเพิ่มอีก 1 ราย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่ถ้าบอกว่าผู้ประกอบการ 3 ราย จะเข้าร่วมการประมูล ซึ่งก็อาจจะคิดหนัก เพราะเมื่อมีเข้าร่วมประมูล 3 ราย ใบอนุญาตก็ยังออกได้แค่ 2 ใบอนุญาต หรือหากมีดีแทคเข้าประมูลเพียงรายเดียว โดยอีก 2 ราย
บอกว่าสู้ไม่ไหว หรือเป็นกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ การประมูลก็จะไม่เกิด เพราะ 1-1 เท่ากับ 0
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น คลื่นก็จะถูกพักการประมูลออกไปเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งถ้าทางออกเป็นไปแบบนี้ จะทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจและเสียโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ ในขณะที่เราทุกคนอยากที่จะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพิ่มมากขึ้น อยากใช้อินเตอร์เน็ตที่เร็วขึ้น แต่ในความจริงอุตสาหกรรมด้านโทรคมนาคมก็ยังไม่ถึงกับปิดประตูตาย ยังเห็นว่ามีผู้ที่สนใจอยากจะเข้ามาลงทุน และสนใจที่อยากจะได้คลื่นความถี่เพิ่ม แต่ถามว่า ถ้าเราไปบังคับเขามากจนเกินไปว่า ต้องซื้อเป็นผืนใหญ่ๆ เท่านั้น
ผลสุดท้ายแล้ว อาจจะขายไม่ออกเลย ซึ่งก็ต้องจับตาดูต่อไป

Advertisement

๐กสทช.ชุดปัจจุบันมีอำนาจเบ็ดเสร็จ
ฟาก นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า หากกระบวนการสรรหากรรมการ กสทช.ยังดำเนินไปตามกรอบระยะเวลาเดิม หรือหากได้กรรมการ กสทช.ชุดใหม่ ก็มีหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการด้วยความเร่งด่วน เช่น การประมูลคลื่นความถี่อย่างที่ทราบกัน นอกจากสัญญาสัมปทานที่ใกล้จะหมดอายุขัยในเดือนกันยายน 2561 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการประมูลคลื่นความถี่จะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลา 1 เดือน หรือ 2 เดือนได้ ซึ่งถ้าไม่รีบดำเนินการล่วงหน้า และปล่อยให้สัญญาสัมปทานหมดไป ก็อาจจะเกิดปัญหา อาทิ ลูกค้าที่อยู่ในระบบสัมปทานเดิม และไม่มีผู้ให้บริการมารองรับในคลื่นความถี่เดิม รวมถึงปัญหาอื่นๆ อีก
ต่อให้ไม่มีเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ หรือมีกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ ตามที่รอคอยกันอยู่ กรรมการ กสทช.ก็ควรที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาในหลายเรื่อง อาทิ เรื่องสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งระยะหลังมานี้มีเรื่องให้ผู้บริโภคตื่นตระหนก ตกใจกันอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัญหาข้อมูลลูกค้ารั่วไหล ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับตัวผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมอย่างชัดเจน หรือแม้แต่เรื่องของเอสเอ็มเอสดูดเงิน ซึ่งแก้ปัญหาไม่ได้เสียที ทั้งเรื่องมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นบทบาทของกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ที่เรารอคอยกัน
ฉะนั้น ถึงแม้จะเป็นช่วงของกรรมการ กสทช.ชุดรักษาการ หรือถ้าไม่มีคำสั่งตามมาตรา 44 เดิม โดยมารยาทบุคคลที่เป็นวาระรักษาการ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรไหนก็ตาม มักจะไม่ค่อยกล้าตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวพัน หรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องที่อาจจะส่งผลกระทบต่ออนาคต เพราะกังวลว่าหลังจากตัวเองพ้นจากตำแหน่ง และมีกรรมการชุดใหม่เข้ามา จะมีงานที่คั่งค้าง ทำให้ชุดใหม่ต้องมานั่งสะสางกันต่อ
อย่างที่ทราบกันดีว่า ในระยะเวลาอันสั้น หรือในระยะกลางข้างหน้านี้ จะยังไม่มีการสรรหากรรมการ กสทช.อย่างแน่นอน ซึ่งสุดท้ายนายกรัฐมนตรีก็ทำให้ได้เห็นชัดเจนกันเลย ด้วยการประกาศใช้มาตรา 44 เพื่อทำให้กรรมการ กสทช.ชุดรักษาการมีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น ในการที่จะเร่งดำเนินการในหลายเรื่อง แต่อยากจะให้ทำด้วยความเร่งรีบจริงๆ และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องทำด้วยความตรงไปตรงมาและโปร่งใสด้วย เพราะไม่เช่นนั้นก็อาจจะเกิดปัญหาตามมาในอนาคต

๐อำนาจชัด ไม่ต้องรอกฤษฎีกา ตีความซ้ำ
อย่างไรก็ตาม สำหรับสาเหตุที่ต้องออกมาตรา 44 และมีการระบุไปเลยว่าให้กรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบันรักษาการต่อเนื่องยาวนาน เรื่องของการประมูลคลื่นความถี่เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวพันกับในอนาคตอย่างมาก เช่น เอกชนที่จะประมูลคลื่นความถี่ได้ต้องมีระยะเวลาของใบอนุญาต 15 ปี ใช้เม็ดเงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท
เดิมทีกรรมการชุดรักษาการก็ไม่แน่ใจในอำนาจหน้าที่ของตัวเองว่าตัวเองสามารถดำเนินการในเรื่องนั้น เรื่องนี้ได้หรือไม่ จึงจำเป็นต้องทำจดหมายไปถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ได้คำตอบว่าอะไรที่สามารถทำได้ และอะไรที่ไม่สามารถทำได้ เพราะมีความกังวลหลายเรื่อง อาทิ หากมีการประมูลคลื่นความถี่ไปแล้วมีกรรมการ กสทช.ชุดใหม่เข้ามา ปรากฏว่าเอกชนซึ่งอาจจะประมูลคลื่นความถี่ไม่ได้ มีการฟ้องร้องว่ากรรมการ กสทช.ชุดรักษาการไม่มีสิทธิทำก็จะทำให้เกิดปัญหาได้Ž
อย่างไรก็ตาม ตามปกตินั้น แม้จะมีการส่งหนังสือไปหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ไม่ได้หมายความว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะตอบกลับมาในระยะเวลาที่รวดเร็ว เพราะระยะเวลาที่ผ่านมากว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับมาก็ใช้เวลาหลายเดือน และเพื่อไม่ให้กรรมการ กสทช.ต้องมากังวลใจว่าในระหว่างที่ยังไม่มีกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ ต้องมีการจัดทำจดหมายถึงคณะกรรมการกฤษฎีกากันเป็นครั้งๆ เป็นรอบๆ และรอคอยกันเป็นระยะเวลาร่วมเดือนแบบนี้ ซึ่งจะมีปัญหา เพราะฉะนั้น ข้อ 2 ที่ปรากฏในมาตรา 44 ก็มีความชัดเจนว่า ให้ปฏิบัติหน้าที่ไปได้เลย โดยที่กรรมการ กสทช.ชุดรักษาการก็จะสบายใจว่ามีอำนาจในมือตามกฎหมายพิเศษ มาตรา 44 ส่วนข้อ 1
ที่ว่าด้วยเรื่องของการให้ยุติการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ และนัยยะในข้อ 2 ที่ระบุว่าให้กรรมการ กสทช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามสมควรได้เลย จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
นั่นก็แปลว่ากรรมการ กสทช.ชุดรักษาการก็จะสามารถทำงานได้เลย โดยที่ไม่ต้องมาลังเลหรือกังวล เพราะตอนนี้เท่ากับว่ามีกฎหมายพิเศษมาตรา 44 มาคุ้มครองสิทธิ มาคุ้มครองอำนาจ ที่จะจัดการประมูล จะจัดการให้คุณ ให้โทษกับเอกชน หรือว่าดำเนินการอื่นๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง อันนี้คือความหมายที่เขาเลยจำเป็นที่ต้องเขียนแบบนั้นŽ
โดยสรุป บทบาทของ กสทช.ชุดนี้ก็ยังมีอำนาจเต็มที่ที่จะดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องราว หรือเดินหน้าโครงการต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คณะกรรมการชุดนี้จะสั่งเดินหน้าประมูลคลื่น 1800 ในทันทีหลังมีคำสั่ง ม.44 ออกมา
แต่ด้วยที่ต้องการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศและการทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา จึงไม่แปลกว่าทำไมจึงกำหนดราคาตั้งต้นประมูลคลื่นรอบใหม่เสียสูงลิ่ว
ก็ต้องมาดูกันว่าสุดท้ายแล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image