ส่องส่งออกครึ่งปีหลัง ท่ามกลางสมรภูมิ “สงครามการค้า-น้ำมันพุ่ง” หวังบาทอ่อนเพิ่มกำไรส่งต่อลงทุน

หากพิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ การเติบโตเศรษฐกิจยังมีแรงหนุนต่อเนื่องมาจากด้านต่างประเทศ ทั้งการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวขยายตัวดี และโดยเฉพาะการส่งออกที่ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในภูมิภาคต่างๆ ที่ปีนี้ถือเป็นปีแรกในรอบหลายปี ที่เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกในทิศทางเดียวกัน ทำให้มีความต้องการสินค้าและการค้าขยายตัว

ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา องค์กรการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) โลกขึ้นมาอยู่ที่ 3.9% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5% ซึ่งปี 2560 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.8% สำหรับจีดีพีโลกที่ 3.9% นั้น เป็นอัตราการขยายตัวที่เร็วสุดในรอบ 6 ปี เช่นเดียวกับจีดีพีไทย ที่ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 3.9% เป็นการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งมากขึ้นตามทิศทางการส่งออกและท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคในประเทศ และการลงทุนทั้งโครงการโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ รวมทั้งการลงทุนเอกชน ทยอยฟื้นตัวกระเตื้องขึ้น

ห่วงสงครามการค้ารุนแรง

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่นานาประเทศต่างจับตาและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะหากมีความรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าโลก และสร้างแรงกระเทือนไปยังการส่งออกในหลายประเทศ คือ มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐกับประเทศคู่ค้าเพื่อพยายามจะลดอัตราการขาดดุล ตั้งแต่การตั้งกำแพงภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์และเครื่องซักผ้า รวมทั้งเหล็กและอะลูมิเนียม ต่อมาถึงการที่สหรัฐประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิด Trade War หรือสงครามการค้า มีมากขึ้น

Advertisement

สำหรับสินค้าจีนที่สหรัฐจะจัดเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 25% นั้น มีจำนวนกว่า 1,300 รายการ คิดเป็นวงเงินรวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อาทิ สินค้าเทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์ โดยจะยังไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ รวมทั้งจะเปิดโอกาสให้จีนเข้ามาเจรจาได้ด้วย กรณีหลังนี้เองที่เป็นเป้าประสงค์ที่แท้จริงของสหรัฐ เพื่อนำไปสู่การเจรจาผลประโยชน์ที่มากขึ้นนั่นเอง ขณะที่มังกรผงาดอย่างจีนก็ไม่ยอมสยบแต่เพียงผู้เดียวมีมาตรการตอบโต้ทันที โดยจีนได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ สูงสุดถึง 25% เช่นกัน จำนวน 128 รายการ คิดเป็นวงเงินรวมกว่า

3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ระหว่างนี้จึงยังต้องรอความชัดเจนจากการเจรจาของทั้งสองประเทศว่าจะมีการเจรจาหรือหาทางออกกันอย่างไรบ้าง

ด้านมุมมองจากผู้ที่คร่ำหวอดในวงการเศรษฐกิจและธุรกิจการค้าอย่าง กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการและประธานที่ปรึกษาฝ่ายจัดการ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า หากเกิดสงครามการค้าขึ้นแน่นอนว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบ เพราะไทยเป็นคู่ค้าของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตาม จะมีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ หากสินค้าจีนที่ไม่สามารถนำเข้าไปในสหรัฐได้ จะมีการกระจายตลาดออกมาทั่วโลก จะมากระทบกับราคาให้ต่ำลงได้ หากมีแนวคิดจะย้ายการลงทุนมาไทยมากขึ้นก็ได้ เช่น Made in Thailand ยังสามารถส่งเข้าสินค้าไปทั้งสองประเทศ แต่ความชัดเจนเรื่องการย้ายฐานที่อยู่และการลงทุนจะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้นต้องติดตาม

Advertisement

”สงครามการค้านั้นสวนทางกับกระแสโลกที่ต้องการให้เกิดการแข่งขันและการค้าเสรีอย่างมาก ทั้งนี้ การตั้งกำแพงภาษี สหรัฐจะได้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมและสินค้าที่สหรัฐต้องการปกป้องในระยะสั้น แต่ในระยะยาว การที่ป้องกันอุตสาหกรรมและสินค้าเหล่านั้นจะส่งให้เกิดอ่อนแอ เพราะโลกของการค้าควรสร้างให้เกิดการแข่งขัน ทั้งแข่งขันด้านนวัตกรรมใหม่ มีการลงทุนพัฒนานวัตกรรม และแข็งแรงจนสามารถผลิตเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศได้ ส่วนอุตสาหกรรมและสินค้าที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลมีแนวโน้มอ่อนตัวลง เพราะไม่ได้มีการคิด พัฒนาและลงทุนด้านนวัตกรรมเพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคต” นายกานต์กล่าว

มองแค่จิตวิทยาต่อรอง

”เกมส์นี้ไม่ใช่เรื่องสงครามการค้าแต่เป็นเรื่องสงครามจิตวิทยา สหรัฐพยายามจะใช้การตั้งกำแพงภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อขู่จีน แต่เกมส์นี้สหรัฐเล่นผิดคน เพราะจีนเองก็มองเกมส์ออก ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่แค่จีนที่พึ่งพาสหรัฐเท่านั้น แต่สหรัฐก็ต้องพึ่งพาจีนเช่นกัน” อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าว และว่า ดังนั้นการมีการใช้มาตรการกำแพงภาษีจะกลายเป็นว่าบริษัทสหรัฐเองที่จะเจ๊ง เพราะการผลิตสินค้าของสหรัฐต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบจากจีนเพื่อลดต้นทุน และยังมีความต้องการบริโภคสินค้าจากจีนด้วย มองว่าจะเป็นแค่การขู่กันไปขู่กันมา สุดท้ายจะสามารถประนีประนอมกันโดยไม่ได้ตั้งกำแพงภาษี รวมทั้งไม่ได้ลดการนำเข้า แต่จะเจรจาให้สหรัฐมีการส่งออกไปจีนได้มากขึ้น ซึ่งไทยก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ สุดท้ายจะเกิดอะไรขึ้นยังต้องติดตาม เพราะจะเป็นปัจจัยชี้ถึงการส่งออกในระยะต่อไปว่าจะดูดีต่อเนื่องหรือไม่

ส่งออกQ1โตดี

ภาพรวมการส่งออกไทย ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์พบว่ามูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เดือนมกราคมมีมูลค่า 20,101.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 17.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เดือนกุมภาพันธ์ มูลค่า 20,365.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10.26% เดือนมีนาคมอยู่ที่ 22,362.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.06% ทำให้ช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมามีมูลค่าส่งออกรวม 62,829.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11.29%

ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกในรูปของเงินบาทนั้น จะเห็นอัตราการขยายตัวที่ติดลบมากขึ้น เพราะค่าเงินบาทปีนี้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีแนวโน้มที่แข็งค่าตั้งแต่ต้นปี  โดยช่วงเดือนมกราคมที่ค่าบาทยังใกล้เคียงช่วงสิ้นปี 2560 มีมูลค่าการส่งออก 652,511.5 ล้านบาท ขยายตัว 7.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่เมื่อค่าเงินบาทเริ่มแข็ง มูลค่าเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 643,705.8 ล้านบาท ติดลบ 0.56% และติดลบต่อที่ 3.99% โดยเดือนมีนาคมมูลค่าการส่งออกที่ 697,074.1 ล้านบาท

โดยรวมไตรมาสแรก อยู่ที่ 1,993,291.4 ล้านบาท ขยายตัว 0.52%

บาทอ่อนค่าสุดในรอบปี

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความไม่แน่นอนในตลาดการเงินโลกทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าไปมากที่สุดที่ 31.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมีนาคม ตั้งแต่เปิดต้นปีที่ 32.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และเริ่มกลับด้านมาอ่อนค่าในช่วงปลายเดือนเมษายนต่อเนื่อง และทำสถิติอ่อนค่ามากที่สุดในรอบปีโดยค่าเงินบาทแตะระดับสูงกว่า 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปัจจุบันเคลื่อนไหวราว 31.95-32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยอมรเทพกล่าวต่อว่า ค่าเงินบาทขณะนี้ไม่ได้มีอะไรหวือหวา เป็นการแกว่งแบบออกข้าง หรือ Sideway ตามข่าว ทั้งพื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐที่การจ้างงานเพิ่มขึ้น

อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและว่างงานลดลง ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์มองกันว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้ง หรือทุกไตรมาส จากเดิม 3 ครั้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะเฟดขึ้นดอกเบี้ยมาอยู่แล้ว ระยะสั้นคาดว่าเดือนพฤษภาคมนี้ไปถึงกลางเดือนมิถุนายน ซึ่งเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยรอบที่ 2 ค่าเงินบาทอาจจะอ่อนไปถึงระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้

จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจภูมิภาคและพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งมีโอกาสเงินทุนจะไหลเข้ายังมีในไตรมาสที่ 3 และค่าเงินบาทจะแข็งค่าได้บ้าง มองกรอบค่าเงินบาทที่ 31.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไตรมาสที่ 4 จะเห็นการอ่อนค่าของเงินบาทต่อ เพราะมีการเลือกตั้งกลางปีของสหรัฐ ซึ่งความไม่แน่นอนจากสถานการณนี้และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเดือนธันวาคม รวมทั้งการให้มุมมองการขึ้นดอกเบี้ยปี 2562 นักลงทุนจะกลับไปถือดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าและบาทอ่อนค่า ความไม่แน่นอนคนจะกลับไปถือดอลลาร์สหรัฐไว้ก่อน โดยสิ้นปีมองกรอบค่าเงินที่ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอาจจะอ่อนค่าต่อในปี 2562

ราคาน้ำมันพุ่งฉุดบาทลงต่อ

ค่าเงินบาทที่อ่อนค่านั้นเป็นผลดีต่อการส่งออกเพราะทำให้ผู้ประกอบการส่งออกมีรายได้และกำไรในรูปเงินบาทเพิ่มมากขึ้น และช่วงนี้มีแรงกดดันอีกจากการที่สหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์ที่เคยทำไว้กับอิหร่าน และจะบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจสูงสุดต่ออิหร่าน เกิดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical risk) ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากความกังวลเรื่องปริมาณน้ำมันกลายเป็นซัพพลายช็อก ทำให้ราคาน้ำมันมีโอกาสที่จะทะลุ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลได้ และระยะสั้นอาจจะไปสูงถึง 85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดี หากปริมาณการส่งออกน้ำมันจากอิหร่านลดลงไปยังมีน้ำมันจากสหรัฐและซาอุดีอาระเบียมาทดแทนได้ ทั้งนี้ ปัจจัยเรื่องความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบเกิดการผันผวนและปรับระดับสูงขึ้นได้อีกในระยะต่อไป ทั้งความตึงเครียดด้านการเมืองของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน อย่างเวเนซุเอลา ไนจีเรีย ซีเรีย รวมถึงความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลด้วย สำหรับประเทศไทยการที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นถือว่าไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะไทยเป็นประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมันสุทธิ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ขาดดุลการค้า อาจส่งผลเศรษฐกิจอาจจะชะลอในระยะสั้น และมีผลต่อค่าเงินบาท เพราะมูลค่าการนำเข้าที่สูงขึ้นจะกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนลงโดยอัตโนมัติ

ผู้ส่งออกมีกำไร หวังลงทุนต่อ

ขณะที่เสียงสะท้อนจาก กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มองว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าถึงระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออกที่จะมีรายได้และกำไรมากขึ้น และมองว่าค่าเงินบาทยังมีทิศทางที่จะอ่อนค่าได้อีก จากดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าเพราะนักลงทุนมีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจสหรัฐมากขึ้น และแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นของเฟด ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อัตราการว่างงานของสหรัฐอยู่ในระดับต่ำเพียง 3.9% และมีปัจจัยหนุนเศรษฐกิจสหรัฐจากการปรับลดภาษีนิติบุคคลจาก 35% มาอยู่ที่ 22% ด้วย

สำหรับแนวโน้มการส่งออกปีนี้มีทิศทางที่ขยายตัวดีขึ้นตามตลาดโลก โดยจากการหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ได้ปรับคาดการณ์การส่งออกปีนี้เพิ่มเป็นเติบโต 8% ภายใต้สมมุติฐานค่าเงินบาทที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์หสหรัฐ จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 6% ที่ระดับค่าเงินบาทเดียวกัน สะท้อนว่าความต้องการในตลาดโลกยังดี ซึ่งหากค่าเงินบาทอ่อนค่าไปถึง 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ผู้ประกอบการส่งออกจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 1 บาท โดยที่ผ่านมานั้น แม้ผู้ประกอบการส่งออกจะมีการส่งออกได้ดีต่อเนื่อง แต่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้รายได้ลดลงและกดดันกำไร ซึ่งหากพิจารณามูลค่าการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ในรูปดอลลาร์สหรัฐ

ขยายตัวถึง 10% ขณะที่มูลค่าการส่งออกรูปเงินบาทติดลบประมาณ 0.6% จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ขณะที่เดือนมีนาคมส่งออกรูปดอลลาร์โต 7% แต่บาทที่แข็งใกล้ลงมาที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มูลค่าการส่งออกในรูปบาทติดลบสูงถึง 4% ดังนั้น ผู้ประกอบการส่งออกอาจจะมีการขาดทุนหากค่าบาทยังแข็งค่าต่อไป แต่แนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน อาจจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในรูปบาทเดือนเมษายนและพฤษภาคมปรับดีขึ้น และอาจจะกลับมาเป็นบวกได้

หากบาทยังมีทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่อง ลุ้นส่งออกโตตามเป้า หนุนเกิดลงทุน เป้าหมายการส่งออกปี 2561 นี้สำนักเศรษฐกิจต่างๆ ยังให้ไว้ในระดับสูง แต่ชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อน โดยกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกที่ 8% หรือมูลค่าการส่งออกรวม 255,630 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเฉลี่ยมูลค่าการส่งออกเดือนละ 21,000 ล้านบาท ซึ่งช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมามีมูลค่าการส่งออกแล้ว 62,829 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเฉลี่ยต่อเดือนใกล้เคียง 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนการส่งออกที่มีทิศทางดีขึ้นและค่อยๆ ไต่ระดับ โดยปกติแล้วช่วงครึ่งปีหลังจะเป็นช่วงที่การส่งออกคึกคัก เพราะจะมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาต่อเนื่อง เช่นเดียวกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังที่คาดว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัว 8% ด้านธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องและคาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับการส่งออกของไทย ในระยะต่อไปจึงได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจคู่ค้าในปี 2561 เป็น 3.7% จาก 3.5% และการส่งออกจากเดิมที่ประมาณการไว้ 4% ปรับเพิ่มส่งออกขยายตัว 7%

สิ่งที่ต้องติดตามเพราะอาจจะกระทบภาวะและบรรยากาศในตลาดโลก คือ นโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐที่อาจนำไปสู่การตอบโต้ทางการค้าระหว่างกัน จะส่งผลกระทบทั้งทางตรงต่อปริมาณการค้าและทางอ้อมต่อราคาและห่วงโซ่การผลิตโลก ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจอื่นของสหรัฐ ทั้งด้านการค้าและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคต่างๆ ที่อาจรุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินรวมทั้งในส่วนการส่งออกของไทยที่เห็นการ

ฟื้นตัวดีขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะมีการส่งผ่านผลดีจากภาคการส่งออกไปยังภาคส่วนอื่นของเศรษฐกิจประเทศมากน้อยเพียงใด ซึ่งการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าทำให้ผู้ประกอบการส่งออกมีกำไรเพิ่มขึ้นและมีเงินทุนเหลือพอที่จะเริ่มลงทุนใหม่หรือยัง

หากมีการลงทุนก็จะมีเงินหมุนลงสู่ระบบเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งจะถือว่าเป็นการส่งออกที่ขยายตัวดีอย่างแท้จริงไม่ได้กระจุกอยู่เพียงภาคส่วนเดียวเท่านั้น!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image