แฉเล่ห์ ‘ล้งจีน’ ทุบราคา ‘ผลไม้ไทย’

การเข้ามาตลาดของกลุ่มพ่อค้าจีนเข้ามาร่วมทุนกับพ่อค้าผลไม้ไทย เพื่อรวบรวมผลไม้ (ล้ง) ส่งไปขายยังประเทศจีน โดยเฉพาะทุเรียนและมังคุดใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ในห้วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

ส่งผลต่อกลไกตลาดผลไม้ของภาคตะวันออกอย่างมาก เพราะล้งจีนเหล่านี้ใช้เงินมหาศาลลงรับซื้อผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด ที่ชาวจีนชอบบริโภค แม้จะส่งผลดีต่อราคาผลไม้ในภาครวมทั้งระบบ สะท้อนให้เห็นจากห้วงระยะเวลาข้างต้น เกษตรกรชาวสวนผลไม้ในภาคตะวันออกไม่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแทรกแซงราคาผลไม้เหมือนในอดีต ทั้งยังส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า

นั่นเป็นผลด้านบวก

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ภาพล้งจีนในห้วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา กลับสร้างปัญหาขึ้นมาไม่น้อยเช่นกัน เพราะล้งจีนเริ่มเห็นผลประโยชน์จากการค้าผลไม้ ทั้งล้งไทยแท้และเกษตรกรต่างได้รับผลกระทบจากเล่ห์เหลี่ยมพ่อค้าชาวจีนมาแล้ว

Advertisement

เจ้าของแผงรับซื้อผลไม้ใน จ.ตราด หลายราย พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เล่ห์เหลี่ยมของล้งจีน มีทั้งการกดราคาด้วยวิธีการต่างๆ ที่พบมาคือ เมื่อปีที่ผ่านมา มีข่าวการส่งทุเรียนอ่อนไปยังประเทศจีนและถูกตีกลับมาประเทศไทย

ข่าวนี้สร้างปัญหากับภาพลักษณ์ของประเทศไทยมาก และส่งผลกระทบต่อราคาพอสมควร แต่ด้วยความต้องการสูง ทำให้ข่าวได้รับการแก้ไขได้ อีกทั้งมีการเปิดเผยอีกว่า ข่าวดังกล่าวเป็นการกระทำของกลุ่มพ่อค้าจีน สร้างข่าวขึ้นเพื่อกดราคาทุเรียนและหากำไรจากส่วนต่างที่ลดลง เรียกว่า ทุบราคาŽ

อีกวิธีการหนึ่ง คือการรวมตัว ไม่รับซื้อทุเรียนและมังคุดในตลาด โดยอ้างว่าประเทศจีนไม่รับซื้อ หรือชะลอการรับซื้อ ทำให้ทุเรียนและมังคุดในตลาดไม่มีการเคลื่อนไหว เมื่อล้งใหญ่ๆ ไม่รับซื้อ ทำให้ผลผลิตที่ออกมามาก และจะราคาต่ำลง แล้วล้งจีนจะใช้ห้วงเวลาที่ผลผลิตออกมามาก ราคาลดลง หรือทางราชการขอความร่วมมือ ล้งจะออกมารับซื้อในราคาใกล้เคียงหรือมากกว่าตลาด 1-2 บาท ได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ แถมยังได้กำไรจากส่วนต่างอีกมากมาย วิธีการนี้เรียกว่า รวมหัวฮั้วราคาŽ
นอกจากนี้ มีอีกวิธีการหนึ่งที่ได้ผลและใช้กันบ่อย คือ การส่งลูกไล่ (ล้ง) ลงพื้นที่ ทั้งที่สวนโดยตรงและจอดรถยนต์รับซื้อตามริมถนน โดยให้ราคาที่สูง เพื่อล่อใจเกษตรกรให้นำมาขายลักษณะรายย่อย โดย ลูกไล่Ž จะแจ้งเกษตรกรว่า หากมีผลผลิตมากให้ขนไปขายที่ล้งใหญ่ เกษตรกรบางรายสนใจข้อเสนอ จะขนใส่รถบรรทุกไปที่ล้ง ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่เมื่อถึงล้งใหญ่ กลับถูกกดราคา และจำเป็นต้องขาย เนื่องจากหากขนผลไม้ไปขายแหล่งอื่นๆ ที่อยู่ไกล ต้องเสียค่าขนส่งเพิ่ม เหมือนผีเมื่อถึงป่าช้าแล้วอย่างไรก็ต้องเผา ล้งที่ใช้วิธีการนี้ส่วนใหญ่เป็นล้งที่มีลูกค้าเจ้าประจำอยู่แล้ว เมื่อถึงช่วงต้องการผลผลิตมากๆ จึงจำเป็นต้องเร่งส่งลูกไล่ไปหาผลผลิต ยังมีวิธีการอื่นๆ เช่น การเหมาสวนล่วงหน้า เกษตรกรจะได้รับความเสี่ยงมากกว่าการขายตามปกติ

เล่ห์เหลี่ยมเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะเวลาไม่นาน และเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น จากการเข้ามารับซื้อผลไม้ร่วมกับล้งไทย หากไม่มีการแก้ไข ย่อมจะเกิดผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรของไทยไม่มากก็น้อย

นายศราวุฒิ กองเเก้ว เจ้าของล้งป้าเมียด (แผงรับซื้อผลไม้ป้าเมียด) หรือแผงม้าเหล็ก อ.เขาสมิง จ.ตราด ล้งคนไทยที่ทำมานานกว่า 20 ปี เล่าให้ฟังว่า ที่แผงรับซื้อผลไม้ที่เรียกทั่วไปว่า แผงม้าเหล็ก เราทำกันมาตั้งแต่รุ่นแม่ และต่อมายังรุ่นลูกรับซื้อผลไม้ทุกชนิด ภายหลังมาเน้นเรื่องมังคุด สับปะรด และลองกอง ที่แผงจะมีลูกไล่ออกไปรับซื้อผลไม้ในสวนโดยตรงและมีสวนผลไม้ใน อ.เขาสมิง เขามาส่งผลไม้ให้ทุกปี ทางแผงได้รับความไว้วางใจเพราะซื้อในราคาตลาดและจ่ายเงินดี ทำให้ได้รับความเชื่อถือ ทุกวันนี้แม้จะมีล้งคนไทยได้รับเงินทุนจากชาวจีนมาร่วมธุรกิจด้วย ก็ไม่ได้รับผลกระทบเท่าไร และสามารถสู้ได้ แต่สุดท้ายก็คัดผลไม้ส่งขายให้กับพ่อค้าส่งออกคนจีน สามารถทำให้แผงผลไม้ของเราอยู่ได้

ที่ผ่านมาผลไม้ของ จ.ตราด มักจะมีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ และเกษตรกรชาวสวนผลไม้มักได้รับผลกระทบทุกปี ภายหลังล้งจีนเข้ามาทำให้ผลผลิตเหล่านี้หายไปจากตลาด เพราะส่งไปขายในจีนจำนวนมาก ราคาผลไม้ก็มีราคาดี ไม่มีการประท้วงให้เห็นอีก แม้ว่าล้งจีนได้แก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นอย่างดี

แต่ปัญหามักจะเกิดขึ้นในระยะหลังก็คือ ล้งจีนที่มีเงินทุนมากและจับมือกันสัก 2-3 แห่ง ต้องการกดราคาหรือดัมพ์ราคาผลไม้ในตลาดให้ลดลงก็หยุดการรับซื้อไป 2-3 วัน ราคาผลไม้ก็จะลดลงแล้ว เป็นเรื่องง่าย เรื่องเหล่านี้บางทีเกษตรกรไม่รู้และได้รับผลกระทบ การแก้ปัญหาเรื่องนี้รัฐต้องเข้ามาควบคุมแต่ไม่ใช้ยกเลิกหรือห้ามทั้งหมด เพียงแต่ลดบทบาทลงอย่าให้ผูกขาดตลาดทั้งหมด ส่วนจะใช้มาตรการอะไรนั้นรัฐบาลต้องดูแลเองŽ

นายศราวุธกล่าวว่า แผงผลไม้ของตนเองยังต้องพึ่งพาล้ง แต่ก็ไม่ทั้งหมดเพียงแต่กระจายผลผลิตไปยังตลาดอื่นๆ เช่น ตลาดไทยหรือตลาดส่งออกโดยคัดคุณภาพเพื่อการส่งออกก็จะสามารถอยู่รอดได้

นายชัยวัฒน์ ปริ่มผล เจ้าของสวนผลไม้อำไพ ที่ตั้งบริษัท ผลอำไพฟรุตตี้ไทย จำกัด เป็นทั้งผู้ผลิตผลไม้คุณภาพและส่งออก และแปรรูปด้วย เปิดเผยว่า ยอมรับว่าล้งเข้ามามีบทบาทในเรื่องการรวบรวมผลผลิตผลไม้สูงมาก แม้จะแก้ปัญหาราคาผลผลิตได้บ้าง แต่การจะพึ่งเรื่องล้งทั้งหมดจะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เกษตรกรต้องยกระดับพัฒนาคุณภาพสวนผลไม้ของตัวเองให้ดี และสามารถส่งออกได้ จะทำให้มีรายได้สูง ที่ผ่านมาเกษตรกรชาวสวนของ จ.ตราด ยังมีไม่มากที่เข้ามายกระดับในเรื่องนี้ หากทำได้จะเกิดผลดี และเป็นทางรอดของเกษตรกร

อีกทั้งยังสามารถพัฒนาการขายตรงผ่านออนไลน์ได้จะยิ่งส่งผลดีกับเกษตรกรโดยรวม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image