ม.44 ยืดหนี้ ‘ทีวีดิจิทัล’ žแค่ยาแก้ปวด ‘ช่อง7-เวิร์คพอยท์’ รอด…ที่เหลือลุ้นไปต่อหรือจอดำ

จากธุรกิจที่เคยเป็นความหวัง แย่งกันทุ่มเงินก้อนโตเพื่อการเป็นเจ้าของทีวีสักช่อง ผ่านมา 4 ปีเต็มๆ ข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ วันนี้ ทีวีดิจิทัลŽ กลายเป็นธุรกิจที่กำลังดิ้นรนอย่างหนัก เฉียดใกล้คำว่า ล้มเหลวŽ มากกว่า ประสบความสำเร็จŽ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจำนวนหนึ่ง อาทิ วอยซ์ทีวี อมรินทร์ แกรมมี่ เนชั่น เดลินิวส์ สปริงนิวส์ ทีเอ็นเอ็น ทรูโฟร์ยู ฯลฯ ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอความช่วยเหลือตั้งแต่กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา กระทั่งหัวหน้า คสช.อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 44 ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด จากนั้นมาเรื่องก็เงียบหายไป เล่นเอาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลร้องเพลงรอกันอยู่นานสองนาน

๐ม.44อุ้มทีวีดิจิทัลพักหนี้3ปี
แต่ท้ายที่สุด วันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา มาตรา 44 มาตามนัดแบบเฉียดฉิวในวันชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต งวดที่ 5 พอดิบพอดี หลังมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2561 เรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ไฟเขียวให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลสามารถพักชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลได้ไม่เกิน 3 ปี โดยจ่ายดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สนับสนุนค่าโครงข่าย (มักซ์)ไม่เกิน 50% เป็นเวลา 24 เดือน
ทันทีที่ประกาศดังกล่าวแพร่สะพัด บรรดาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 20 ช่อง ต่อแถวขอใช้สิทธิพักชำระค่าใบอนุญาต มีเพียงช่อง 35HD (ช่อง 7) บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด และช่อง 23 (Workpoint) บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัดเท่านั้น ที่ไม่ใช้สิทธิควักเงิน 372 ล้าน และ 395 ล้าน (ตามลำดับ) ชำระตามกำหนด

๐20ช่องพึ่บพั่บขอใช้สิทธิ
ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล จำนวน 20 ช่อง ที่ยื่นหนังสือขอใช้สิทธิตามมาตรา 44 ประกอบด้วย ช่องเด็ก ได้แก่ ช่อง 13 (3 Family) บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด และช่อง 14 (MCOT Family) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ช่องข่าว ได้แก่ ช่อง 16 (TNN24) บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด, ช่อง 18 (NEW18) บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด, ช่อง 19 (สปริงนิวส์) บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด, ช่อง 20 (ไบรท์ ทีวี) บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด, ช่อง 21 (Voice TV) บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด และช่อง 22 (Nation TV) บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด ช่องวาไรตี้ได้แก่ ช่อง 24 (True4U) บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด, ช่อง 25 (GMM25) บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด, ช่อง 26 (NOW) บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด, ช่อง 27 (ช่อง8) บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด, ช่อง 28 (3SD) บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด และช่อง 29 (MONO29) บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ช่องวาไรตี้ความคมชัดสูง ได้แก่ ช่อง 30 (MCOT HD) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), ช่อง 31 (ONE) บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี จำกัด, ช่อง 32 (ไทยรัฐทีวี) บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด, ช่อง 33 (3HD) บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด, ช่อง 34 (อมรินทร์ทีวี) บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด และช่อง 36 (PPTV HD) บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด

๐วอยซ์ทีวีหนาวหวั่นไม่ได้พักหนี้
แต่เรื่องกลับไม่จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง เมื่อ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ออกมาระบุว่า กสทช.จะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ข้อ 9 ตามมาตรา 44 คือ “ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดทําผังรายการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาต มีการผลิตรายการหรือการดําเนินรายการที่ดี ให้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง ชัดเจน มีสาระ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม เนื้อหารายการมีความหลากหลาย ไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน…Ž”
กล่าวคือ ผู้ประกอบการที่จะมีสิทธิได้รับการพักชำระหนี้จะต้องไม่เคยกระทำผิดเงื่อนไขของ กสทช.จนเกิดการตีความว่าบางช่องอาจไม่ได้สิทธิ อย่างเว็บไซต์ ilaw ระบุว่า หากพิจารณาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่เคยเป็นคู่กรณีของ คสช.ก่อนหน้านี้อย่างวอยซ์ทีวี เคยถูก คสช.ใช้มาตรการจำนวนมากควบคุมเสรีภาพการนำเสนอรายการโดยเฉพาะเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองและ คสช. ถูกตัดสินมีความผิดและได้รับการลงโทษจาก กสทช.ไม่ต่ำกว่า 16 ครั้ง ครั้งล่าสุดเพิ่งจะผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ถูกคำสั่งระงับการออกอากาศบางรายการเป็นการชั่วคราวเพื่อปรับปรุงแก้ไขรายการ พร้อมกับคำขู่ว่าหากยังฝ่าฝืนอาจเป็นเหตุให้ต้องพักใช้หรือถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์กันว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกรายจะได้รับการช่วยเหลือ กสทช.จะทำหนังสือยืนยันการพักชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตไปยังผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล พร้อมทั้งเรียกทุกรายเข้าหารือเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในวันที่ 7 มิถุนายนนี้

Advertisement

๐แค่ช่วยต่อลมทีวีดิจิทัล ยังต้องดิ้นต่อ
อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเป็นเพียงการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปเท่านั้น ซึ่งทุกฝ่ายต่างก็ยอมรับ และผู้ประกอบการเองต่างก็อยู่ในภาวะดิ้นรนอย่างหนัก หากรัฐไม่ช่วยเหลือ เชื่อแน่ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่คงไปไม่รอด
“เมื่อพินิจพิเคราะห์แนวทางการช่วยเหลือแล้ว รัฐไม่ได้เสียหายก็ควรช่วยเหลือ เพราะเอกชนคือกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีอะไรที่ช่วยเหลือได้ก็ควรช่วยเหลือและสนับสนุน เพื่อให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนŽ”
การมีเงินกองตรงหน้า 1.2 แสนล้านบาท เป็นใครก็ชอบ แต่คุ้มหรือไม่หากแลกมาด้วยการที่อุตสาหกรรมชะงักงัน ส่งผลกระทบภาพรวมเศรษฐกิจ การประมูลคลื่นไร้การแข่งขัน ธุรกิจสื่อสารไร้กำลังเงินขยายการลงทุน ตามเทรนด์ของเทคโนโลยีที่กลายเป็นพลังสร้างแต้มต่อของการแข่งขัน เพียงเพราะ
ตื่นตระหนกกับตัวเลขความเสียหายบนกระดาษ ในขณะที่โลกความเป็นจริงมีหลายแกน หลายมิติ มากกว่าวัดกันแค่ตัวเลขที่ปั้นแต่งขึ้นมา

๐แย่งเค้กชิ้นเดียวแต่คอนเทนต์ไม่ต่าง
ขณะที่คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ มองว่า ความช่วยเหลือที่ออกมาล่าสุดคงไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น เพราะเมื่อถึงกำหนดก็ต้องหอบเงินไปชำระอยู่วันยังค่ำ เสมือนยาแก้ปวดที่บรรเทาอาการเจ็บปวด แต่ไม่มีสรรพคุณรักษาโรคให้หายขาด
สิ่งที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลวาดฝันไว้ถึงยอดผู้ชมที่ถล่มถลายและผลกำไรที่งดงาม ถูกกระทบกระเทือนด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นับวันจะขลุกตัวอยู่แต่บนโลกออนไลน์ ทั้งการถูกดิสรัปชั่นจากเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ซ้ำร้ายผู้ประกอบการหลายรายต้องแบกรับต้นทุนค่าดำเนินการจำนวนมหาศาล ซึ่งดูจะสวนทางกับเม็ดเงินโฆษณาที่นานวันกลับหดตัวลงกว่าเดิม
จากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น มีทั้งผู้ประกอบการที่พยายามตะเกียกตะกาย ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการบางรายเตรียมเดินตามรอย บริษัท ไทยทีวี จำกัดŽ (ไทยทีวี และโลก้า) ภายใต้การบริหารงานของ เจ๊ติ๋ม-พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ประธานกรรมการบริหาร ที่ปล่อยจอดำไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก
“เมื่อเปิดดูทีวีดิจิทัลจะพบว่าในหลายๆ ช่องมีการนำเสนอคอนเทนต์ที่คล้ายคลึงกัน เปรียบเหมือนการแย่งชิงเค้กก้อนเดียวกัน เว้นเสียแต่ว่าบางช่องมีการนำเสนอคอนเทนต์ที่แตกต่างออกไป ทำให้มีความโดดเด่น ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาไหลเข้ามา ประคับประคองให้การดำเนินธุรกิจสามารถไหลลื่นไปได้Ž”

๐ปรับผังรายการไม่ส่อช่วยทีวีฟื้น
เช่นเดียวกับ เขมทัตต์ พลเดช ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่สะท้อนข้อคิดเห็นว่า แนวทางการช่วยเหลือที่เกิดขึ้นจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ แต่มองว่าจะส่งผลดีแค่ในระยะสั้นๆ เท่านั้น เป็นการยืดอายุให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ในระยะยาวนั้นมาตรการดังกล่าวจะไม่ตอบโจทย์ และไม่สามารถแก้ปัญหาของทีวีดิจิทัลได้ จากนี้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องช่วยเหลือตัวเอง โดยสิ่งที่ควรฉุกคิดและลงมือทำคือต้องพยายามปรับตัวและพยุงสถานการณ์ไว้
การเริ่มต้นจากการปรับผังรายการเป็นเพียงยุทธวิธีหนึ่งของทีวีดิจิทัลแต่ละช่อง ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นฐานว่าแต่ละช่องมีทิศทาง แนวคิด รวมถึงกลวิธีเพื่อดึงดูดผู้ชมอย่างไร บางคราวปรับผังรายการแล้วแต่ทว่า ยิ่งปรับเหมือนยิ่งแย่Ž หรือบางคราวปรับแล้วมีผลเท่าเดิม เม็ดเงินโฆษณาไม่เข้ามา แต่ขณะที่ต้นทุนกลับเพิ่มขึ้น
เห็นได้ชัดจากการปรับผังรายการของทีวีช่องใหญ่ ที่แม้จะมีความแข็งแกร่ง เต็มที่ก็ปรับผังรายการได้เพียง 3-4 รายการ ส่วนในช่องเล็กที่หากจะปรับผังรายการอย่างมากก็ได้เพียง 1 รายการ โดยจะเน้นไปที่รายการที่ออกอากาศช่วง ไพรม์ไทม์ž คือระหว่างเวลา 19.00-22.30 น.ของทุกวัน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีผู้ชมมากที่สุด ในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่ทีวีทำรายได้จากค่าโฆษณามากที่สุดŽ

Advertisement

๐ทั้งNetflix-5Gถาโถมอย่างหนัก
การแข่งขันกับช่องทีวีด้วยกันก็ว่า “เหนื่อยแล้ว”Ž แต่อินเตอร์เน็ตที่รวดเร็วนำพาระบบสตรีมมิง เพิ่มช่องทางทางธุรกิจและสร้างทางเลือกในการบริโภคสื่อให้แก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น แม้แต่ Netflix ซึ่งเป็นบริการ
สตรีมมิงภาพยนตร์และซีรีส์แบบเก็บค่าสมาชิกรายเดือน ก็ยังเข้ามาช่วงชิงสายตาไปจาก
คนดู และหากยังจำกันได้ เมื่อครั้งงานสัมมนา 5G เปลี่ยนโลก เปลี่ยนประเทศไทยŽ เลขาธิการ กสทช.ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษไว้ว่า เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี 5G ในปี 2563 ส่งผลให้ 10 ภาคส่วนต้องปรับตัว ประกอบด้วย 1.ภาคการเงินการธนาคาร 2.ภาคอุตสาหกรรม 3.ภาคการเกษตร 4.ภาคการขนส่ง 5.ภาคการท่องเที่ยว 6.ภาคการแพทย์ 7.การทำงานนอกที่ทำงาน 8.ภาคการค้าปลีก 9.อุตสาหกรรมโทรทัศน์และสื่อ และ 10.ภาครัฐ และหน่วยงานของรัฐ
เมื่อเป็นเช่นนี้ เขมทัตต์Ž ให้มุมมองว่า ท่ามกลางวิกฤตที่ถาโถมเข้ามาเป็นระลอก ไม่สามารถชี้ขาดได้ว่าจากนี้จะหลงเหลือผู้ประกอบการสักกี่รายที่รอดเข้าไปรอในรอบถัดไป และไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีผู้ประกอบการกี่รายบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นล้มหายตายจาก
”ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทีวีดิจิทัลมีครบทุกรูปแบบ ทั้งเรื่องต้นทุนค่าใบอนุญาตที่สูงลิบ กฎกติกาต่างๆ ที่กำกับดูแลแบบยิบย่อย เรื่องเม็ดเงินค่าโฆษณาที่หดตัวลง และล่าสุดคือค่าเช่าโครงข่ายคลื่นความถี่ระบบดิจิทัล (มักซ์) ซึ่งเปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้าย และจากนี้หากทีวีดิจิทัลได้รับความกระทบกระเทือนคงต้องก้มหน้าช่วยเหลือตัวเอง เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับการช่วยเหลือมาพอสมควรแล้วŽ”

๐ช่อง3ผิดแผนทำเลือดไหลไม่หยุด
ข้อมูลจาก brandthinkbiz.com ระบุถึงตัวเลขรายได้ของ ช่อง 3Ž ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาลดลงแบบฮวบฮาบ โดยในปี 2557 มีรายได้อยู่ที่ 16,381 ล้านบาท และกำไรอยู่ที่ 4,414 ล้านบาท ต่อมาในปี 2558 มีรายได้อยู่ที่ 16,017 ล้านบาท และกำไรอยู่ที่ 2,982 ล้านบาท ปี 2559 มีรายได้อยู่ที่ 12,265 ล้านบาท และกำไรอยู่ที่ 1,218 ล้านบาท และล่าสุดในปี 2560 มีรายได้อยู่ที่ 11,035 ล้านบาท แต่กำไรเหลือแค่ 61 ล้านบาท ลดลงถึง 125% จากปี 2557 ขณะที่มูลค่าบริษัทก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2557 เคยสูงถึง 102,000 ล้านบาท
แต่ปีนี้เหลือเพียง 21,000 ล้านบาท
เดิมทีช่อง 3 ถือได้ว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างมากในวงการทีวี สามารถสร้างรายได้และกำไรมหาศาลจากการซื้อโฆษณาตามช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งในขณะนั้นโฆษณามีมูลค่าถึง 480,000 บาทต่อนาที ในช่วงละครหลังข่าว แต่สถานการณ์กลับหัวหลังจากตัดสินใจเข้าประมูลทีวีดิจิทัลมากถึง 3 ช่องทีวี คือ 3HD 3SD 3Family ในห้วงเวลาที่ธุรกิจทีวีพุ่งขีดสุด หมายมั่นปั้นมือว่าจะขยายอาณาจักรแผ่ไพศาล แต่กลับไม่ประสบผลสำเร็จ ด้วยทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน ทีวีดิจิทัลไม่เปรี้ยงอย่างที่คิด มีคู่แข่งเพิ่มขึ้นที่นำเสนอรายการแปลกใหม่ ทั้งวาไรตี้ และละครโดนใจกลุ่มวัยรุ่น เกิดการดิสรัปชั่นจากเทคโนโลยีส่งผลถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคมิลเลนเนียลเลิกดูทีวี แต่เสพทุกอย่างผ่านออนไลน์ การได้ 3 ใบอนุญาตจึงกลับกลายเป็นการสร้างต้นทุนที่ไม่จำเป็น เมื่อรวมต้นทุนการผลิตคอนเทนต์ราว 9,890 ล้านบาท ทำให้เบียดกำไรที่ควรได้จนเกือบหมด กระทั่งผลประกอบการล่าสุด Q1/61 ที่ประกาศออกมาคือขาดทุนครั้งแรก -131 ล้านบาท กดดันราคาหุ้นช่อง 3 ร่วงหนักเพราะนักลงทุนขายทิ้ง

๐เวิร์คพอยท์-ช่อง7รอด รอเก็บเกี่ยว
หากประมวลความเคลื่อนไหวช่องต่างๆ อาทิ ช่อง 7 ยังสามารถเกาะกุมฐานคนดูต่างจังหวัด ซึ่งเป็นฐานใหญ่ที่สุดของประเทศไว้ได้อย่างเหนียวแน่น แม้จะเจอการแข่งขันสูงขึ้นก็ตาม ขณะที่ช่องเวิร์คพอยท์ทีวี, โมโน 29, ช่องวันของแกรมมี่ รวมถึงช่อง 8 ของอาร์เอสมีเรตติ้งอันดับต้นๆ คนดูอยู่ในกลุ่มน่าจะเอาตัวรอดจากธุรกิจนี้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะเวิร์คพอยท์ และช่องวัน มีเสียงตอบรับจากตลาดโฆษณาอยู่ในเกณฑ์น่าสนใจ
เมื่อมองถึงทิศทางที่เกิดขึ้น ทั้งเวิร์คพอยท์และโมโน 29 มุ่งมั่นอยู่กับแนวทางของตัวเองรายแรกหนักแน่นอยู่กับวาไรตี้โชว์ ส่วนรายหลังมุ่งซีรีส์ดังจากต่างประเทศ ส่วนแกรมมี่ และอาร์เอส ดูเหมือนกำลังปรับโฟกัสใหม่ ในรายของมือเก่าอย่างแกรมมี่ หลังจากขายหุ้น ช่องวัน และจีเอ็มเอ็ม 25 ให้กับผู้ถือหุ้นใหม่ มีความชัดเจนว่ากำลังหวนกลับไปเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์รายการในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นจุดที่แกรมมี่มีความแข็งแกร่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ถึงตอนนี้ จึงมองว่ามีทีวีดิจิทัลเพียงจำนวนหนึ่งที่น่าจะไปต่อได้ ในจำนวนนี้มี 2 ช่องลอยลำแล้ว นั่นคือ 35HD (ช่อง 7) และช่อง 23 (Workpoint)
ที่เหลือต้องเหนื่อยต่อไปเพื่อไม่จอดำ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image