“หิรัญญา” เลขาฯบีโอไอ ชูปี59-ยุคทอง”ลงทุน”

หลังจากตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุน ปี 2558 สะบักสะบอมเหลือเพียง 217,300 ล้านบาท ลดลงจากปี 2557 ที่อยู่ประมาณ 1,956,500 ล้านบาท สาเหตุหลักจากการเริ่มใช้ยุทธศาสตร์การลงทุนใหม่ช่วง 7 ปี (2558-2564) ที่ตัดสิทธิประโยชน์กิจการที่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ขณะเดียวกันเพิ่มกิจการที่เป็นการอัพเกรดประเทศ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ใช้แรงงานไร้ฝีมือลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

ปี 2559 รัฐบาลจึงกำหนดเป้าหมายให้เป็นปีแห่งการลงทุน วางเป้าหมายยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนให้ได้ 450,000 ล้านบาท ผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนทั้งปกติและเพิ่มเติม โดยเฉพาะการกำหนดนโยบายคลัสเตอร์ นโยบายเร่งรัดการลงทุน เพื่อหวังกอบกู้ความเชื่อมั่นลงทุนไทยให้กลับมา กระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตตามเป้าหมาย

ภาระหนักจึงตกที่ นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่ง “มติชน” มีโอกาสสัมภาษณ์ถึงแนวทางการบริหารจัดการให้บรรลุเป้าตามที่รัฐบาลวางไว้

-มีแผนชักจูงการลงทุนอย่างไรให้ได้ตามเป้าหมาย

Advertisement

หลังจากรัฐบาลกำหนดนโยบายแบ่งเป็น 2 กรอบ โดยกรอบแรกคือกลุ่มสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่แล้วจะดูแล 1.มาตรการพื้นฐานตามประเภทกิจการตามยุทธศาสตร์ใหม่ 2.มาตรการส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่น 3.มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม

กรอบที่ 2 จะดูแล 1.มาตรการเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา ฝึกอบรมเทคโนโลยี 2.ตามพื้นที่ลงทุน อาทิ นิคมทั่วไป เขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3.มาตรการตามคลัสเตอร์ หรือกลุ่มอุตสาหกรรม ที่แบ่งเป็น 7 ซุปเปอร์คลัสเตอร์ และ 2 คลัสเตอร์ 4.มาตรการสำหรับเอสเอ็มอี และ 5.มาตรการเร่งรัดการลงทุน

ทำให้บีโอไอต้องกำหนดแผนทำงานตลอดทั้งปี โดยเฉพาะด้านการประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจถึงนโยบาย และมาตรการต่างๆ ที่ออกมา โดยเฉพาะนโยบายคลัสเตอร์ มีบริษัทสนใจมาก ทั้งที่เป็นบริษัทไทยและต่างชาติ อย่างเดือนมีนาคมมีคำขอกลุ่มคลัสเตอร์เพิ่มขึ้น คำขอที่มากเป็นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Advertisement

วางเป้าหมายว่าคำขอจะต้องมาจาก 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ อย่างน้อย 60% ของโครงการทั้งหมดที่เข้ามายื่นบีโอไอ ตอนนี้จึงทำโรดโชว์เข้มข้น ทั้งระดับรองนายกรัฐมนตรี สำนักงานทั้งระดับเลขาธิการบีโอไอ รองเลขาธิการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ ทำให้มีทริปจากส่วนกลางไปโรดโชว์ไม่ต่ำกว่า 80 ทริป และยังมีออฟฟิศบีโอไออีก 14 แห่งทั่วโลกเร่งชักจูงนักลงทุนเช่นกัน รวมโรดโชว์ปีนี้ประมาณ 100 ทริป มากที่สุดของบีโอไอ เพื่อเป้าหมายชักจูงบริษัทที่มีโอกาสมาลงทุนในไทย 600 บริษัท ซึ่งมีรายชื่ออยู่แล้ว และจาก 600 บริษัท แยกออกมาได้ 200 บริษัทที่จะชักจูงเข้มข้น ทำให้เชื่อมั่นว่าจะได้ตามเป้าหมาย

-นอกจากต่างประเทศแล้ว แผนการโรดโชว์ในประเทศเป็นอย่างไร

ในประเทศไม่ได้ทิ้ง มีการจัดสัมมนาใหญ่ระดับภาค ทั้ง จ.ปราจีนบุรี จ.นครราชสีมา จ.เชียงใหม่ จ.ชลบุรี มีผู้ประกอบการทั้งที่ได้บีโอไอ และยังไม่เคยได้บีโอไอ สนใจเข้าฟังมากกว่า 300-400 ราย รายละเอียดสัมมนาสรุปให้เห็นภาพทั้งหมดไม่เช่นนั้นนักลงทุนจะงง เพราะมีมาตรการออกมาเยอะ จะชี้เป้าว่าอันไหนดีเหมาะกับคุณ บีโอไอมีสำนักงานภูมิภาค 7 แห่งมีหน้าที่จัดสัมมนา เดินไปหาลูกค้า ทำความเข้าใจ ทำให้การทำงานสำเร็จมากขึ้น และร่วมมือกับเครือข่าย ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในพื้นที่ ทำให้กระจายข้อมูลไปได้มาก

พอออกไปชี้แจงในภาคต่างๆ แล้วมีเอสเอ็มอีคิดว่าบีโอไอให้ความสนใจแค่ต่างชาติกับรายใหญ่ ทำให้ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ ตอนนี้มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในท้องถิ่น (โลคอล อินเวสเมนท์) บีโอไอจะช่วยเชื่อมให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ช่วยรายเล็ก การลงทุนจะยั่งยืน ไม่ใช่ลงทุนแล้วทิ้งร้างไว้ ต้องให้คนท้องถิ่นรู้สึกเป็นเจ้าของด้วย หากท้องถิ่นแข็งแรงขึ้น มีโลคอลอินเวสเมนท์ซึ่งมีทั้งส่งเสริมโรงงานแปรรูป ศูนย์จำหน่าย และการท่องเที่ยว ทั้ง 3 ส่วนจะเป็นโมเดลที่มีผลเชิงเศรษฐกิจค่อนข้างเยอะในภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ส่งออกยาก

-ผ่านไตรมาสแรกแล้ว แนวโน้มขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นอย่างไร

ดีขึ้นเยอะ ตัวเลขยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเดือนมีนาคม และยอดรวมไตรมาส 1 (มกราคม-มีนาคม 2559) เติบโตดีมาก เดือนมีนาคมยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 54,010 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 10,380 ล้านบาท ตลอดไตรมาส 1 อยู่ที่ 89,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 26,930 ล้านบาท คิดเป็น 234% จำนวนโครงการอยู่ที่ 311 โครงการ เพิ่มขึ้นจาก 157 โครงการ

การลงทุนที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 มาจากการยื่นขอลงทุนตามนโยบายคลัสเตอร์ 12 โครงการ มูลค่าลงทุน 21,608 ล้านบาท อีกส่วนคือโครงการขนาดใหญ่ 17 โครงการ มูลค่าลงทุน 37,564 ล้านบาท

แนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศทางตรง (เอฟดีไอ) ช่วงไตรมาส 1 ยังพบว่าเติบโตดี เพราะมีสัดส่วนกว่าครึ่งของยอดขอส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดอยู่ที่ 51,084 ล้านบาท ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่งทั้งลงทุนเอง และลงทุนผ่านประเทศอื่น สัดส่วนการลงทุน 30% จากเอฟดีไอทั้งหมด การลงทุนหลัก อาทิ ผลิตชิ้นส่วนระบบเครื่องยนต์ 7,200 ล้านบาท ผลิตรถยนต์ 2,875 ล้านบาท รองลงมาคือเนเธอร์แลนด์ ซึ่งญี่ปุ่นลงทุนผ่านเนเธอร์แลนด์ 5,000 ล้านบาท อาทิ ผลิตเคมีภัณฑ์หรือพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4,000 ล้านบาท และชิ้นส่วนยานพาหนะ 1,754 ล้านบาท เป็นต้น อันดับ 3 คือลงทุนจากจีน อาทิ การผลิตซิลิกา 1,400 ล้านบาท และขนส่งทางอากาศ 700 ล้านบาท เป็นต้น และอันดับ 4 คือลงทุนจากเกาหลี อาทิ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 3,541 ล้านบาท

ด้วยคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เติบโตอย่างมาก ทำให้มั่นใจว่าช่วงไตรมาส 2 มูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนจะมากกว่า 100,000 ล้านบาท ทำให้ครึ่งปีจะมีมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท ตลอดปีนี้จะมีมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 450,000 ล้านบาท

-มีมาตรการตัวไหนที่ยังไม่ได้ตามเป้า

จากมาตรการที่ออกมาทั้งหมดพบว่ามาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตจะสิ้นสุดปี 2560 ประกอบด้วย การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อประหยัดพลังงาน ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยเพื่อปรับปรุงเครื่องจักร ลดการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมห้องเย็น ซึ่งกระทรวงพลังงานกำลังผลักดัน การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา หรือออกแบบทางวิศวกรรม เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต มีการลงทุนเพียงหลักร้อยโครงการเท่านั้น ถือว่าน้อย เชื่อว่าผู้ประกอบการอาจไม่มีเวลาพิจารณาแผนการผลิตในภาพรวม ทำให้ต้องใช้เวลาทบทวนตัวเอง เพราะอยากผลิตและขายอย่างเดียว

-ปัญหาการลงทุนเรื่องไหนน่าห่วงที่สุดและต้องเร่งแก้ไข

อุปสรรคใหญ่ คือ เรื่องคน พูดมานานแล้ว อุตสาหกรรมไทยขยับไปสู่เทคโนโลยีสูงขึ้น แต่ยังขาดคนที่มีทักษะ โดยเฉพาะสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เด็กไทยเรียนค่อนข้างน้อย เพราะผลสำรวจการลงทุนของต่างชาติระบุชัดว่า ?คน? คือปัจจัยหลักในการตัดสินใจเข้าลงทุนประเทศนั้นๆ บีโอไอจึงร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ และกระทรวงศึกษาธิการ จับโรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรมมาเจอกันเลย ไปรอแก้ภาพใหญ่เพราะไม่ทัน ใช้วิธีจับคู่ ตรงจุดมากกว่า อย่างที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์ บีโอไอเตรียมไปทำงานด้วย และเตรียมจับมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

-ถ้าต้องเทียบกับประเทศคู่แข่งเป็นอย่างไร

ไม่อยากพูดว่าคู่แข่ง เอาเป็นว่าแต่ละประเทศสามารถดึงการลงทุนเพราะมีจุดเด่นต่างกัน ไทยเด่นเกษตร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี ขณะที่มาเลเซียเก่งไอที ดังนั้นไทยและมาเลเซียอาจทำงานร่วมกันก็ได้ ไม่อยากแข่ง แต่อยากไปด้วยกัน อย่างเวียดนามกำลังเติบโต วัยของประชากรอยู่ในวัยทำงาน ขณะที่ไทยเริ่มผู้สูงวัย เวียดนามค่าแรงถูกกว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ไปตรงนั้น จึงเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน นี่เป็นเหตุผลที่ไทยต้องมีทิศทางการส่งเสริมถึงต้องไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น

-ประกาศเป็นปีแห่งการลงทุนและมีมาตรการต่างๆ ออกมาประเทศอื่นขยับหรือไม่

แน่นอน พอไทยประกาศปีลงทุน ประเทศอื่นก็ขยับ ซึ่งลักษณะของไทย คือ มีอะไรประกาศชัดเจน ประเทศอื่นประกาศไม่ชัดเจน ใช้วิธีเจรจาต่อรองดึงเป็นรายๆ แต่ไทยทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะไม่สามารถอธิบายสาธารณะได้ อย่างตอนนี้ไทยประกาศให้ทั่วโลกรู้ว่า กระบวนการทำธุรกิจไทย ทำได้เร็วขึ้น สะดวกขึ้น พิจารณาต้นทุนการประกอบธุรกิจได้ ทำให้ได้เปรียบประเทศอื่น ล่าสุดต่างชาติสำรวจอันดับการลงทุนของไทยพบว่าติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่น่าลงทุน

-ปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจโลกมีผลต่อการลงทุนหรือไม่

นักลงทุนไม่เคยถามเรื่องการเมืองเลย (ลากเสียง) เพราะเขาขอให้ทำธุรกิจได้ก็พอใจแล้ว ส่วนเศรษฐกิจโลกทุกประเทศกังวลอยู่แล้ว แต่ถ้าปรับตัว ขีดความสามารถไทยดีขึ้นจะแย่งชิงในตลาดโลกได้

-มั่นใจหรือไม่ว่าปี 2559 จะเป็นปีทองของการลงทุน

มั่นใจเต็มร้อย (ยิ้ม) เพราะบีโอไอไม่ได้ทำงานคนเดียว ทำงานร่วมกับหลายๆ หน่วยงาน ขจัดปัญหาอุปสรรคการลงทุน พยายามทำให้สภาพแวดล้อมการลงทุนดีขึ้น ทุกอย่างขับเคลื่อนแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image