ไทยชูระเบียงเศรษฐกิจ เชื่อมการค้า-การลงทุน ในกรอบ IMT-GT

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวถึงการประชุมระดับรัฐมนตรีและการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 24 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ( IMT-GT) ช่วงวันที่ 28 กันยายน – 1 ตุลาคม 2561 ณ เมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย ว่า ที่ประชุมฯมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าต่อผู้นำในการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 12 เดือนมิถุนายน 2562 ทั้งนี้ ในแผนงาน IMT-GT เพื่อขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพด้านคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

” ไทยเสนอให้มีการจัดลำดับความสำคัญในแต่ละระเบียงเศรษฐกิจที่เหมาะสม สอดคล้องกับแผนการปรับบทบาทของระเบียงเศรษฐกิจของไทย เพื่อให้มีการบูรณาการร่วมกัน รวมทั้งเร่งรัดการทำความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดน และบูรณาการการผ่านด่านที่มีอุปสรรค เช่น การเชื่อมโยงระหว่างด่านสะเดาแห่งใหม่-ด่านบูกิตกายูฮิตัม การเร่งรัดความร่วมมือในอนุภูมิภาคที่สามารถสร้างรายได้และส่งผลกระทบต่ออนุภูมิภาคอย่างรวดเร็ว เช่น การสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวจุดหมายเดียว การยกระดับมาตรฐานฮาลาลที่เท่าเทียมกัน ความร่วมมือด้านการแปรรูปเกษตรระดับสูงของยางพารา ปาล์มน้ำมัน ประมง เป็นต้น ”

นายอดุลย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้ติดตามและแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่าง 3 ประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้สามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลก ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ระหว่างผู้นำสามประเทศ IMT-GT ที่จะขยายความร่วมมือการเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาที่มีศักยภาพผ่านการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2560-2564 ให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการค้าการลงทุนทางด้านชายแดน ผ่านโครงการก่อสร้างพื้นฐานและเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รวมทั้งสร้าง Platform ให้ SMEs มีโอกาสพัฒนาการค้าขายระหว่างกันและสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้

นายอดุลย์ กล่าวต่อว่า IMT-GT เป็นกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคครอบคลุมสามเหลี่ยมเศรษฐกิจของ 3 ประเทศ ได้แก่ 1. อินโดนีเซีย เกาะสุมาตรา 10 จังหวัด ซึ่งใกล้กับมาเลเซีย 2. มาเลเซีย ทางเหนือ/ตะวันตกของประเทศรวม 8 รัฐ ที่ติดกับไทย-อินโดนีเซีย และ 3. ไทย 14 จังหวัดภาคใต้ รวมตัวกันเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เสริมสร้างความเชื่อมโยงทั้งภายในกลุ่มและภายในหรือนอกอาเซียน ลดความเหลื่อมล้ำ

Advertisement

โดยมุ่งเน้น 3 สาขาหลัก คือ 1. เกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 2.ท่องเที่ยว และ 3.ผลิตภัณฑ์/บริการฮาลาล โดยมีสาขาสนับสนุน 4 ด้าน ได้แก่ 1. การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน 2. การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีการสื่อสาร 3. สิ่งแวดล้อม และ 4. การศึกษา วัฒนธรรมและทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ เป็นหน่วยงานหลักของสาขาการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน (WGTI) ซึ่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธานคณะทำงานสาขาอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image