‘พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์’ คิกออฟ รมว.ดีอี สานต่อ ‘5G’

ถือฤกษ์สะดวก เข้าสักการะท้าวมหาพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เพื่อเข้าปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) คนที่ 2 อย่างเป็นทางการ สำหรับ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์Ž

งานแรกที่หมายมั่นปั้นมือ ภายหลังหารือร่วมกับคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวง คือให้มีการดำเนินการปรับปรุงรูปแบบเว็บไซต์ และเฟซบุ๊กของกระทรวงให้มีความทันสมัย มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่เป็นประโยชน์กับประชาชนผู้ใช้งาน อาทิ มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของกระทรวงที่ชัดเจน สามารถรับเรื่องร้องเรียน หรือสอบถามข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลได้ รวมถึงสามารถตอบโต้กับประชาชนได้ และเข้าถึงง่าย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและดึงดูดผู้เยี่ยมชมในทั้งสองช่องทางเพิ่มขึ้น

สำหรับโครงการใหม่ที่มองว่าน่าจะเป็นบทบาทของกระทรวงดีอี ในการริเริ่มอย่างเป็นรูปธรรมคือ การจัดตั้งศูนย์สกัดกั้นข่าวปลอม (เฟคนิวส์ เซ็นเตอร์) โดยหลังจากนี้จะหารือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวง เพื่อหาแนวทางดำเนินการ โดยจะเน้นข่าวที่มีผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง เช่น การแชร์ข่าวปลอมที่สร้างความตื่นตระหนกต่อภัยพิบัติตามธรรมชาติ หรือโรคติดต่อ, ข่าวยั่วยุที่สร้างความแตกแยกให้กับสังคม และเสียหายต่อบ้านเมือง, ข่าวปลอมที่เสื่อมเสียต่อองค์กรและสถาบันอันเป็นที่เคารพของคนไทย พร้อมทั้งย้ำว่า แนวคิดนี้ไม่ใช่เพื่อมุ่งรังแกใคร

ทั้งนี้ ยอมรับว่าการจัดตั้งส่วนงานขึ้นมาดูแลส่วนนี้อาจใช้เวลา และมีข้อจำกัดด้านผู้เชี่ยวชาญที่จะมาให้ข้อมูลอย่างชัดเจนว่า ข่าวใดจริง ปลอม หรือมีทั้งจริงและปลอม ดังนั้น ในเบื้องต้นอาจมีการประสานงานไปยังหน่วยงานภายนอก หรือกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาเป็นผู้ชี้แจงข่าวปลอมนั้นๆ โดยทำการเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางการสื่อสารของกระทรวงดีอี ยกตัวอย่างข่าวไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ จะประสานกระทรวงสาธารณสุข มาเป็นผู้ชี้แจงข้อมูล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเตรียมศึกษาถึงการทำเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาช่วยในการคัดกรองข่าวปลอมที่แพร่กระจายผ่านเครือข่ายโซเชียล
ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งแชร์ข่าวปลอมอันดับ 1


Advertisement

“การตั้งศูนย์เฟคนิวส์ เซ็นเตอร์ ไม่ได้ตั้งเป้าเพื่อปิดกั้นหรือรังแกผู้ที่คิดต่าง เห็นต่าง คู่แข่ง ศัตรู หรือผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามแต่อย่างใด โดยเรามีกรอบการทำงานที่ชัดเจนคือ การสกัดกั้นข่าวปลอม ข่าวยั่วยุ ข่าวที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยก สกัดกั้นข้อมูลเท็จที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น และในฐานะคนไทยคนหนึ่ง เมื่อมีโอกาสได้เข้ามาทำงานตรงนี้ คิดว่าเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่งŽ” นายพุทธิพงษ์ ระบุ

นอกจากนี้ จะดำเนินการตรวจเยี่ยมหน่วยงานในสังกัดกระทรวง ควบคู่ไปกับการหารือร่วมกับสมาคม, ภาคเอกชน, ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม (เวนเดอร์), ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง เช่น สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (อีคอมเมิร์ซ) เป็นต้น ซึ่งเบื้องต้นได้ประสานกับ น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ และนางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงดีอี เพื่อทำหน้าที่รวบรวมรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การหารือร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะต้องการที่จะรับฟังปัญหา เพื่อดำเนินการแก้ไขและดำเนินการจัดทำเป็นนโยบายต่อไป คงไม่คิดเองทำเอง

ส่วนการทำงานร่วมกับองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ อย่าง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)Ž ที่หลายฝ่ายต่างจับตานั้น นายพุทธิพงษ์เปิดเผยว่า กสทช.เป็นหน่วยงานที่ทำงานใกล้เคียงกับกระทรวงดีอีอย่างต่อเนื่อง คิดว่าไม่เป็นปัญหาอะไรหากจะมีการหารือร่วมกัน ที่ผ่านมา กสทช.ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะองค์กรกำกับดูแลกิจการสื่อสารของประเทศอย่างเหมาะสม เพียงแต่กระทรวงดีอีก็มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน ส่งเสริม พัฒนา และดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตามกฎหมาย หากมองว่าทั้งสองหน่วยงานมีการทำงานที่ควบคู่กัน โดยมีเป้าหมายในการทำงานเพื่อประชาชน อาทิ การอำนวยความสะดวกด้านโครงข่ายการสื่อสารให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ

Advertisement

ขณะที่การขับเคลื่อนสู่ 5G นั้น นายพุทธิพงษ์เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนตั้งตารอ โดยประเทศไทยมีกรอบเวลาไปสู่ 5G ในปี 2563 พร้อมกันกับทุกประเทศเกือบทั่วโลกนั้น นายพุทธพงษ์ย้ำว่า การไปสู่ 5G เร็วหรือช้าไม่ใช่สาระสำคัญ สำคัญที่คุณภาพของความเป็น 5G ประกอบกับความพร้อมของโอเปอเรเตอร์ และประชาชนด้วย หากเร่งขับเคลื่อนไปสู่ 5G อาจเลือกทำเฉพาะบางพื้นที่ที่มีความต้องการใช้งาน อาทิ พื้นที่เศรษฐกิจ หรือตามหัวเมืองใหญ่ ส่วนคลื่นความถี่ใดที่มีความเหมาะสมกับ 5G นั้น วันนี้คงตอบยากเพราะมีความเกี่ยวข้องกับหลายองค์ประกอบ ให้ระบุชัดเจนวันนี้ อาจชี้นำไปในทิศทางอื่นได้ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติดีกว่า โดยเชื่อว่าไม่นานจะมีกรอบการจัดสรรที่ชัดเจน

ส่วนการที่นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นต้น นายพุทธิพงษ์มองว่าเป็นเพราะการส่งเสริมการลงทุนในด้านต่างๆ อาทิ สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอากร การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ หรือวัสดุที่จำเป็น ที่มีการเสนอสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุนได้มากกว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการที่ไทยขับเคลื่อนไปสู่ 5G ที่ล่าช้า แม้อาจส่งผลกระทบบ้างแต่เชื่อว่าไม่มากนัก

ที่ผ่านมาทั้งกระทรวงดีอีและ กสทช.ได้ปูแนวทางการขับเคลื่อนสู่ 5G มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนายพุทธิพงษ์ได้สะท้อนแนวคิดว่า หากมองในมิติหนึ่ง การที่ทั้ง 2 หน่วยงานมีการเร่งดำเนินการก็ไม่ได้ผิดแปลกอะไร แม้จะมีความซ้ำซ้อนไปบ้าง แต่ในความเห็นของนายพุทธิพงษ์มองว่าถ้าจะให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น การแยกกันกำกับดูแล แยกการดำเนินการ เพื่อลดภาระหน้าที่ของกันและกันก็เป็นเรื่องที่ดี และประโยชน์ที่ได้รับก็ตกอยู่ที่ประชาชน

นี่เป็นเพียงแนวคิดของรัฐมนตรีดีอีคนใหม่ ส่วนทางปฏิบัติจะเกิดขึ้นได้จริงตามนั้นหรือไม่ ต้องติดตามต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image