เกษตรดึง’ยโสธรโมเดล’ขยายผลเกษตรอินทรีย์อีก10จังหวัด

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการขยายผลการพัฒนาด้านเกษตรอินทรีย์ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนำ “ยโสธรโมเดล” ซึ่งเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ต้นแบบ ไปพัฒนาต่อยอดการผลิตเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ พร้อมขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นที่มีศักยภาพด้านการผลิตเพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 10 จังหวัด อาทิ พัทลุง หนองคาย อุบลราชธานี ลำพูน ลำปาง เพชรบูรณ์ สงขลา กาฬสินธุ์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ทั้งเพื่อเพิ่มพื้นที่และชนิดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศมากขึ้น

“ภายในปี 2561 ตั้งเป้าให้จังหวัดยโสธรนำพื้นที่เข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จำนวน 100,000 ไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตข้าวเปลือกอินทรีย์กว่า 35,000 ตัน รวมทั้งผลิตผลอินทรีย์อื่นๆ อาทิ แตงโม ผักต่างๆ รวมถึงสัตว์น้ำและไข่ไก่ ป้อนเข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังมุ่งขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศเพิ่มขึ้นปีละไม่น้อยกว่า 10% และมีเป้าหมายส่งเสริมขยายตลาดเกษตรอินทรีย์ (ออร์แกนิค) ได้ประมาณ 20-30%” นายธีรภัทรกล่าว

น.ส.ดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า นอกจากนี้ มกอช.ยังได้มีแผนร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และกระทรวงพาณิชย์เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตและผู้ประกอบธุรกิจเกษตรอินทรีย์ระดับภาค นำร่องที่จังหวัดพัทลุงและขอนแก่น โดยใช้แนวคิดจากยโสธรโมเดลเป็นต้นแบบในการเชื่อมโยงธุรกิจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านทิศทางการผลิต ข้อมูลแนวโน้มความต้องการด้านการตลาด รวมถึงมาตรฐานสินค้าและช่องทางการจำหน่าย ระหว่างแหล่งผลิต เครือข่ายผู้ค้าและผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์สินค้าออร์แกนิก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการรับรองมาตรฐาน รองรับการขยายพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต และเป็นการตอบสนองเป้าหมายยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติปี 2559-2564 ด้วย

“ในปัจจุบันไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทร์ ประมาณ 160,000 ไร่ เกษตรกรกว่า 5,000 ราย ได้ผลผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ประมาณ 50,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นข้าวอินทรีย์ คิดเป็น 60 % ที่เหลือเป็นพืชอื่นๆ สมุนไพร รวมทั้งสินค้าประมง และปศุสัตว์อินทรีย์ มีมูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท ส่วนสินค้าอินทรีย์ที่มีศักยภาพการผลิตและส่งออกสูง อาทิ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ กล้วยหอม สับปะรด เงาะ มะม่วง มังคุด ทุเรียน ผักสลัด แครอต กระเจี๊ยบเขียว ชา และกาแฟอินทรีย์ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน” น.ส.ดุจเดือน กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image