5G เจเนอเรชั่นใหม่ พลิกโฉมนวัตกรรม

5G เจเนอเรชั่นใหม่ พลิกโฉมนวัตกรรม

ยิ่งใกล้ระยะเวลาตามแผนการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อเตรียมขับเคลื่อน 5G ของประเทศไทย ตามกรอบสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้เกิดการใช้จริง ปี 2563-64

ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ ผู้ให้บริการเครือข่าย (โอเปอเรเตอร์) ด้านโทรคมนาคม ต่างก็ติดตามในเรื่องนี้ และมีการแสดงความคิดเห็นในหลายแง่มุมต่อโรดแมป 5G ของประเทศไทย หนึ่งในนั้นอย่าง วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระบุกับ “มติชน” ว่า อย่างที่ทราบกันดีว่า 5G คือเจเนอเรชั่นต่อไปในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเมื่อเทียบกับระบบ 4G ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน พบว่ามีข้อแตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะ 5G จะมีประโยชน์กับธุรกิจในรูปแบบ “ธุรกิจกับธุรกิจ (บีทูบี)” มากกว่าธุรกิจในรูปแบบ “ธุรกิจกับผู้บริโภค (บีทูซี)” ทำให้ 5G มีส่วนเกี่ยวข้องกับเวอร์ติคอล อินดัสทรี หรืออุตสาหกรรมแนวดิ่ง เช่น อุตสาหกรรมการผลิต (แมนูแฟคเจอริ่ง),ภาคการเกษตร (อะกริคัลเจอร์), ความปลอดภัยสาธารณะ (พับบลิค ซีเคียวริตี้) และทางการแพทย์ (เมดิคอล) เป็นต้น

“5G จึงเป็นกลไกในการขับเคลื่อนที่สำคัญ ทำให้อุตสาหกรรมแนวดิ่ง ที่มีจำนวนเป็นร้อยเป็นพัน เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนั่นก็หมายถึง รูปแบบการใช้งาน (ยูสเคส) ของแต่ละอุตสาหกรรมที่จะตามมา”

แต่การผลักดันการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อก้าวเข้าสู่ยุค 5G ต้องอาศัยหลายปัจจัย ได้แก่ 1.ภาครัฐให้การสนับสนุน ส่งเสริม ซึ่งปัจจุบันพบว่า ภาครัฐให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก โดยมีการประชาสัมพันธ์ การจัดเวทีสัมมนาต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีกับประชาชน เพราะ 5G จะเป็นส่วนหนึ่งในการก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 หรือยุคที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม 2.คลื่นความถี่ เพื่อรองรับ 5G ที่ต้องมีความกว้างของแถบคลื่นความถี่ (แบนด์วิดท์) ขนาด 100 เมกะเฮิรตซ์ ขณะที่แบนด์วิดท์ในระบบ 4G มีขนาด 20 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะพบว่าแตกต่างกันถึง 5 เท่า

Advertisement

โดยคลื่นความถี่ เพื่อให้บริการ 5G ประกอบด้วย 3 ย่านความถี่ ได้แก่ ย่านความถี่ต่ำ (โลว์แบนด์) ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่มีคุณสมบัติด้านความครอบคลุมของสัญญาณ เป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะการใช้งานอุปกรณ์อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที), ย่านความถี่กลาง (มิดแบนด์) ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่เหมาะสม ทั้งเพื่อรองรับความครอบคลุมของสัญญาณ และรองรับความจุของโครงข่าย และย่านความถี่สูง (ไฮแบนด์) ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่มีคุณสมบัติด้านการรองรับความจุได้สูงมาก เนื่องจากมีขนาดแบนด์วิดท์ที่กว้าง และมีความหน่วง (ลาเทนซี่) ที่ต่ำ จึงเน้นใช้งานในพื้นที่ที่มีปริมาณการใช้งานสูง หรือมีความต้องการอัตราข้อมูลที่สูง โดยเฉพาะการใช้งานในระบบที่ต้องการความแม่นยำสูง

คลื่นความถี่ที่ในระดับสากลกำหนดให้เป็นย่านความถี่หลัก สำหรับให้บริการ 5G คือ ย่านความถี่กลาง ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 2600 และ 3500 เมกะเฮิรตซ์ โดยเฉพาะคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ จะได้รับความนิยมอย่างมาก และปัจจุบันมีผู้ผลิตอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคม (เวนเดอร์) ผลิตอุปกรณ์ขึ้นมารองรับจำนวนมากและแพร่หลาย ขณะที่คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ เวนเดอร์ในประเทศจีน มีความพยายามที่จะผลักดันให้มีการใช้งาน จึงเชื่อว่าคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวจะเป็นคลื่นความถี่ที่ดีและเหมาะสม ซึ่งเข้าใจว่าเป็นหนึ่งในคลื่นความถี่ที่อยู่ในแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (สเปกตรัม โรดแมป) ครั้งต่อไป ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

“การประมูลคลื่นความถี่ในระบบ 4G ที่ผ่านมา พบว่าราคาค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ต้องแบกรับเป็นราคาที่สูงมาก ทำให้ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการลงทุน ส่งผลต่อการลงทุนด้านการพัฒนาโครงข่าย ฉะนั้น การประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ที่มีประโยชน์อย่างมากกับเศรษฐกิจมหภาค (แม็คโคร อีโคโนมิกส์) ก็หวังว่า ภาครัฐหรือหน่วยงานกำกับดูแล จะมีการสนับสนุน ส่งเสริมให้ราคาค่าใบอนุญาตไม่สูง จนทำให้ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงเกินไป”

Advertisement

ยกตัวอย่างใน “ประเทศจีน” ที่รัฐบาลมีความพยายามผลักดันการขับเคลื่อน 5G อย่างเต็มที่ จึงมีวิธีการอนุญาตและจัดสรรคลื่นความถี่ ด้วยวิธีการให้เปล่า เพราะมองว่าคลื่นความถี่เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ที่จะนำมาสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นหลายสิบเท่า ขณะที่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 “สหรัฐอเมริกา” มีการสร้างทางหลวงระหว่างรัฐ (อินเตอร์สเตท ฟรีเวย์) ทั่วประเทศ โดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง แม้รัฐบาลจะต้องใช้เงินในการบำรุงรักษาพอสมควร แต่การที่รัฐบาลลงทุนดังนี้ ทำให้ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาขยายตัวดีขึ้นอย่างมหาศาล จากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานนี้

“เข้าใจว่าวิธีการให้เปล่าในประเทศไทย คงเป็นไปได้ยาก แต่หากภาครัฐหรือหน่วยงานกำกับดูแลจะมีมาตรการอะไรบางอย่าง เพื่อบรรเทาภาระของโอเปอเรเตอร์บ้าง เพื่อผลักดันการขับเคลื่อน 5G ให้เกิดขึ้นก่อนก็ไม่เสียหาย เพราะจะทำให้ประเทศไทยไม่ตกขบวนในการเข้าสู่ 5G ที่ล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ แน่นอน”

และกรณีที่จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติในทุกภาคส่วน แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการผลักดันการขับเคลื่อน 5G ของภาครัฐ จึงเชื่อว่าคณะกรรมการชุดนี้จะช่วยตอบโจทย์ในทุกด้าน ทำให้หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และรูปแบบใบอนุญาตมีความเหมาะสม และเมื่อการประมูลคลื่นความถี่มาถึง “ทรู” ยินดีที่จะเข้าร่วมการประมูล แต่หากอยู่ในกรอบที่เกินความสามารถ ชนิดที่เรียกว่า เพี้ยนเข้าป่า เชื่อว่าผู้ถือหุ้น หรือคณะกรรมการของบริษัท ก็คงจะพิจารณาไม่เข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม คิดว่าภาครัฐหรือหน่วยงานกำกับดูแล จะรับฟังข้อเสนอของโอเปอเรเตอร์ ผ่านการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และมีการศึกษาข้อมูลเพื่อใช้ในการอ้างอิง ซึ่งคำนึงถึงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ ทำให้การกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ออกมาสมเหตุสมผล นำมาซึ่งประโยชน์สูงสุด แก่ประชาชนและประเทศชาติ
—-
ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของความคิดเห็นต่อการขับเคลื่อน 5G ของประเทศ ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้ารับฟังจากแนวคิดจากตัวแทนภาครัฐและเอกชนได้ในการเสวนา “Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEAN” ในวันพุธที่ 30 ตุลาคม 2562 เวลา 08.30-12.30 น. ณ ห้อง อินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image