ทางด่วน..ที่ไม่ด่วน วิบากกรรมคนกรุงเทพฯ

เป็นอีก 1 ปัญหาอมตะคู่คนกรุงเทพฯ สำหรับ “วิกฤตรถติด” หรือเรื่องการจราจรติดขัด ทั้งรถติดบนทางราบ และรถติดทางด่วน ที่ไม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร ก็ยังไม่สามารถแก้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้วยความที่การโดยสารระบบรางในกทม. อยู่ในช่วงวางโครงข่ายเชื่อมต่อ ประกอบกับวิถีชีวิตเร่งรีบของคนกรุงฯ ที่ยังจำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว ทำให้มีปริมาณรถที่วิ่งในกทม. แต่ละวันมากกว่า 10 ล้านคัน และทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติการจดทะเบียนของกรมการขนส่งทางบก

ในขณะที่ถนนหนทางในกทม. ล้วนมีจำกัด เมื่อจะต้องพึ่งพา “ทางด่วน” เพื่อให้ไปถึงจุดหมายโดยไว แต่ปรากฎว่ากลับต้องติดแหง่กลอยฟ้า แถมมีทีท่าว่า ปัญหาติดขัดบนทางด่วนนับวันยิ่งรุนแรงกว่าทางราบ

ไม่ต้องพูดถึงช่วง “ชั่วโมงเร่งด่วน” ซึ่งในบางภาวการณ์ติดไม่ขยับ !

Advertisement

เสียทั้งเงิน เสียทั้งอารมณ์ น้ำมันเชื้อเพลิงถูกเผาผลาญไปอย่างไร้ประโยชน์

ในส่วนของแนวทางแก้ไขที่ฟังดูแล้วมีประสิทธิภาพ มีข้อมูลทางออกรองรับตามหลักวิทยาศาสตร์ มีแผนงานชัดเจนในการทำออกมาเป็นรูปธรรมเพื่อแก้วิกฤตรถติดทางด่วนนั้น หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบ ได้แก่ “การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” หรือ “กทพ.” ก็ดูเหมือนพยายามจะหาทางออก

Advertisement

แต่ยังขยับช้ามาก !

อาทิ แนวคิดการสร้างทางด่วนสองชั้น หรือ “ดับเบิลเดค” ในจุดสำคัญๆ เพิ่มเติม,​ การปรับระบบ Easy Pass ยุคใหม่ ฯลฯ

ล่าสุด แม้ว่า “กทพ.” เริ่มขยับเพื่อให้การแก้ปัญหาการจราจรบนทางด่วนได้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ด้วยการเซ็นสัญญาก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่ 4 พร้อมกับก่อสร้างทางพิเศษชั้น 2 หรือ “ดับเบิ้ลเดค” เพื่อเพิ่มผิวการจราจรให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามก็ยังมีข้อกังวลอยู่ เพราะแม้จะเพิ่มผิวการจราจรพื้นที่ทางด่วนช่วง “กทม. รอบนอก” แล้ว แต่เมื่อปริมาณรถทะลักเข้ามาสู่ “กทม. ชั้นใน” ช่วง “ทางด่วนขั้นที่ 2” ก็ไม่สามารถหนีปัญหารถติดได้ และจะเกิดปัญหามากขึ้นด้วยซ้ำ

ลองคิดภาพดูว่า ปัจจุบันก็หนักหนาสาหัส หากเพิ่มปริมาณรถที่เข้ามาจากพื้นที่รอบนอกได้มากขึ้น แต่พื้นที่ชั้นในยังมีผิวการจราจรเท่าเดิม อะไรจะเกิดขึ้น ??

นอกจากนั้น ทางด่วนขั้นที่ 2 ใช้งานมากว่า 30 ปี ไม่มีการปรับปรุง เพราะรัฐไม่สามารถเวนคืนที่ดินเพื่อขยายผิวทางด่วน รวมถึงแก้ปัญหาคอขวดตัดกระแสไม่ได้

ที่ผ่านมา เมื่อย้อนดูทิศทางข่าวจะพบว่า กทพ. ออกอาการนิ่งๆ ไม่ค่อยทำอะไร ไม่ยอมเจรจาให้เอกชนลงทุนเพิ่ม หรือเพราะหวังแต่รอสัมปทานจบเพื่อยึดคืน

 

ต่เมื่อเกิดกรณีศาลสั่งให้รัฐต้องจ่ายค่าปรับให้แก่เอกชน หรือที่เรียกว่า “ค่าโง่ทางด่วน” เพราะรัฐเองดันไปทำผิดสัญญา สร้างทางแข่งกับเอกชน กล่าวคือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “BEM”

ในที่สุด รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้มอบแนวทางให้ กทพ. ดำเนินการเจรจาหาทางออกกับเอกชนเพื่อจะได้ยุติข้อพิพาทนับแสนล้าน ด้วยการเสนอสิทธิ์ขยายสัมปทานทางด่วนออกไป เพื่อให้ “รัฐ” จะได้ไม่ต้องเอาภาษีประชาชนไปจ่ายค่าโง่

พร้อมกันนั้น กทพ. เองก็ยังระบุให้ฝ่ายเอกชนต้องยอมควักเงินลงทุนให้รัฐ ด้วยการสร้างทางด่วนสองชั้น หรือ “ดับเบิลเดค” เพื่อแก้ปัญหารถติด ในบริเวณทางขั้นที่ 2 ช่วงพระราม 9-งามวงศ์วาน ระยะทางรวม 17 กิโลเมตร

สำหรับการก่อสร้างดับเบิลเดค พระราม 9-งามวงศ์วาน ตามแผนจะไม่เก็บค่าทางด่วนเพิ่ม และใช้ทางขึ้นลงจากทางด่วนเดิม บริหารจัดการเป็นระบบเดียวกัน

ไม่มีการเวนคืนที่ของประชาชน โดยใช้พื้นที่ตามเขตทางด่วนของทางด่วนเดิม ใช้เวลาทำอีไอเอ 1 ปี ถ้าผ่านก็ก่อสร้างประมาณ 4 ปี ระหว่างนั้นจะต้องมีมาตรการด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ทางด่วน


เมื่อแล้วเสร็จ “ดับเบิลเดค” จุดนี้จะสามารถเพิ่มผิวการจราจรได้ 235,200 ตารางเมตร และสามารถแยกรถวิ่งไกล และวิ่งใกล้ออกจากกัน ทำให้คนที่วิ่งระยะทางไกลๆ ก็ไม่ต้องมาทนรถติดอยู่กับรถที่ลงจุดอื่นๆ

ถ้ามองด้วยข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะพบว่า จริงๆ กทพ. ก็สร้าง “ดับเบิลเดค” อยู่แล้วหลายจุด ทั้งระยะทางสั้นๆ เช่น เพลินจิต ท่าเรือ เพื่อ “บายพาส” รถข้ามจากบริเวณที่ติด และกทพ. กำลังจะสร้างจากพระราม 3-บางโคล่ (20 กิโลเมตร) ด้วยเงินกองทุน TFF ซึ่งเพิ่งเซ็นสัญญาแรกไป เมื่อต้นเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา

ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าแผนเจรจายุติข้อพิพาทระหว่าง กทพ. ในฐานะภาครัฐ กับ BEM ในฐานะเอกชนจะได้ทางออกแบบ วิน-วิน เช่น เอกชนได้ต่อสัญญาสัมปทานออกไปแลกกับมูลค่าความเสียหายที่เอกชนต้องแบกรับ แต่ถ้าในแง่มุมการเจรจาไม่มีข้อกำหนดให้เอกชนต้องสร้าง “ดับเบิลเดค” ด้วย ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้ทางด่วนก็ไม่เกิดครบถ้วน

อีกทั้งไม่มีประโยชน์ใดๆ ที่ กทพ. จะยื้อการสร้างดับเบิลเดคจุดนี้เอาไว้ เพราะนับวันการจราจรยิ่งวิกฤตหนัก ถึงบทสุดท้ายย่อมต้องสร้างอยู่ดี แล้วลองคิดดูว่าถ้าสร้างช้า ต้นทุนในการก่อสร้างจะพุ่งสูงไปอีกแค่ไหน

คงต้องฝากความหวังไว้กับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เจ้ากระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้ดูแล กทพ. เพราะตัวรัฐมนตรีเองก็รับทราบข้อมูลต่างๆ มาพอสมควรแล้ว เชื่อว่าจะสามารถผลักดันเลือกแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้ทางด่วนโดยเร็ว ไม่ปล่อยให้ปัญหาราคาคาซัง รวมถึงเป็นการสร้างผลงานให้กับรัฐบาลไปในตัวด้วย

ไม่ปล่อยให้คนกรุง ต้องเผชิญวิบากกรรม “ทางด่วน-ที่ไม่ด่วน” รถติดแสนสาหัสแบบไร้ทางออกอีกต่อไป !

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

    QR Code
    เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
    Line Image