“ศุภชัย” เชียร์รัฐบาลทำงานถูกทาง ติงเอกชนชะลอลงทุนนานเกินไป แนะรวมกลุ่มอาเซียนเข้าร่วมทีพีพีมีประโยชน์กว่าแยกเข้าเป็นรายประเทศ

นายศุภชัย พานิชศักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(อังถัด) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก(ดับเบิ้ลยูทีโอ) กล่าวในงานบรรยายพิเศษเรื่อง “ความท้าทายใหม่สำหรับประเทศไทย ในยุคสมัยใหม่ของการค้าและการลงทุน” จัดโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยว่า ระบบเศรษฐกิจโลกในขณะนี้มีทิศทางที่ไม่ชัดเจน มีปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้จากขนาดเศรษฐกิจโลกที่โตเฉลี่ยประมาณ 2% รวมถึงการที่รัฐบาลในประเทศใหญ่ๆ หลายประเทศมีปัญหาเรื่องเงินกู้มากจึงมองว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวล ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากการเมืองโลก ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะเข้ามาแทรกแซงปัญหาเศรษฐกิจ และไม่ก่อให้เกิดการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

นายศุภชัยกล่าวว่า สำหรับเรื่องการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) มองว่า หากจะมีการเข้าร่วมควรจะเข้าร่วมในนามกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่า โดยเฉพาะด้านการเกษตร การผลิตอุตสาหกรรม นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลไทยควรกำหนดจุดยืนให้ชัดเจน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในระบบเศรษฐกิจ ตามปัญหาเศรษฐกิจของโลกที่เกิดจากการเมือง อาทิ ปัญหาการอพยพเข้าอังกฤษของชาวซีเรีย การที่จีนไม่ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมาก ทั้งๆ ที่จีนเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลก

“การทำงานของรัฐบาลในขณะนี้ถือว่ามาถูกทางแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การเก็บภาษีอากร หลักธรรมาภิบาลในการบริหารธุรกิจ แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาคือ การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน มองว่าเอกชนชะลอตัวในเรื่องการลงทุนนานเกินไป ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีทิศทางการลงทุนที่ชัดเจน อาทิ ทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่เอกชนก็ยังไม่ลงทุน ซึ่งมองว่าการทำงานของรัฐบาลและเอกชนจะต้องไปด้วยกัน เศรษฐกิจถึงจะไปได้” นายศุภชัยกล่าว

นายศุภชัยกล่าวว่า นอกจากนี้แล้ว กรณี Brexit หรือการที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป (อียู) โดยภาพรวมมองว่า ในแง่ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะไม่กระทบกับเศรษฐกิจโลกหรือไทยมากนัก อย่างมากสุดจะกระทบในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและราคาหุ้น แต่มองว่าการที่อังกฤษจะออกจากอียูจะกระทบในแง่ภูมิรัฐศาสตร์มากกว่า ซึ่งหมายถึงความมั่นคงหรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการเจรจาต่อรองของอียูจะลดน้อยลง แม้ว่าเดิมทีอียูก็ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่แล้วก็ตาม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image