บาทอ่อนแต่น้อยกว่าภูมิภาคแต่จะยังผันผวนไปอีกระยะ

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันที่ 24 มิถุนายน อ่อนค่าลงสอดคล้องกับสกุลอื่น โดยค่าบาทเปิดที่ 35.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเมื่อเทียบกับวันที่ 23 มิถุนายนที่ปิดที่ 35.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตลอดทั้งวันอ่อนค่าไปแตะ 35.40-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปิดตลาดที่ 35.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการอ่อนค่าราว 0.37% ขณะที่สกุลเงินอื่นในภูมิภาคอ่อนค่าลงไปราว 1.00-1.50%

ขณะที่ค่าเงินปอนด์ ของอังกฤษมีการอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ 1.38 ปอนด์ต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นการอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 31 ปี นับจากปี 2528 (ค.ศ.1985) ที่ขณะนั้นเงินปอนด์อ่อนค่าที่ 1.15 ปอนด์ต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดีมองว่าเงินปอนด์น่าจะอ่อนค่าลงได้อีกประมาณ 1.30 ปอนด์ต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงไปที่ 1.10 ยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐ

นายจิตตพลกล่าวว่า ส่วนกลุ่มสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ นักลงทุนมีการปิดความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐระยะ 10 ปี ปรับลดลงจาก 1.7% มาอยู่ราว 1.5% และค่าเงินเยน แข็งค่าขึ้นปิดตลาดราว 103 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่ามากที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 แต่ระหว่างวันแข็งค่าไปถึง 99 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี หากเยนเคลื่อนไหวที่ 105-110 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจจะไม่ต้องแทรกแซง แต่หากอ่อนค่าต่ำกว่า 100 เยน ก็อาจจะต้องพิจารณาเข้าแทรกแซงได้

“อัตราแลกเปลี่ยนน่าจะมีความผันผวนต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะเบรคซิท ไม่ใช่จุดจบแต่เป็นการเริ่มต้นที่อาจจะทำให้ประเทศอื่นในกลุ่มอียู เช่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ มีการพิจารณาหรืออาจจะกระทำการแบบเดียวกัน ทั้งนี้ หากพิณารณาดูหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินในอังกฤษและยุโรปพบว่าปรับตัวลงมากกว่า 10% สะท้อนว่าการแยกออกจากกันส่งผลต่อความแข็งแกร่งของทั้งสองฝ่าย ความเสี่ยงของสถาบันการเงินในอังกฤษและยุโรปมีเพิ่มมากขึ้น หากสถาบันจัดอันดับเรทติ้งมีการจัดเรทติ้งใหม่ อาจจะกระทบให้ต้นทุนการเงินสูงขึ้นได้ ” นายจิติพลกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image