ยอดขายเอสเอ็มอียังแย่รอกำลังซื้อฟื้นต้นปีหน้า

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แถลงผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ทั่วประเทศ จำนวน 427 ราย เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยและผลประกอบการ ซึ่งสำรวจระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2559 พบว่า เอสเอ็มอีมองภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 สัดส่วน 0.75% มองดีขึ้นมาก 12.3% ดีขึ้น 41.3% ใกล้เคียงกัน 39.8% แย่ลง และ 5.85% แย่ลงมาก ส่วนไตรมาสแรกอยู่ที่ 0.70% 11% 36.4% 41.6% และ 10.3% ตามลำดับ คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 สัดส่วน 1.10% มองดีขึ้นมาก 13.50% ดีขึ้น 46.60% ใกล้เคียงกัน 32.60% แย่ลง และ 6.20% แย่ลงมาก สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเอสเอ็มอีมองเศรษฐกิจจะดีขึ้นจากรายได้ธุรกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น

นายเกียรติอนันต์กล่าวว่า รายได้เอสเอ็มอีเมื่อเทียบกับที่คาดหวังไว้ในไตรมาสที่ 2 สัดส่วน 12.7% มีรายได้ที่ได้รับมากกว่าที่คาดหวังไว้ ซึ่งรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10.2% ส่วน 27.2% ใกล้เคียงกับที่คาดหวังไว้ 45.2% ต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ ซึ่งรายได้ต่ำกว่าที่คาดเฉลี่ย 24.6% และ 14.9% ไม่แน่ใจ ส่วนไตรมาสที่ 1 สัดส่วนอยู่ที่ 9.2% 23.5% 57.8% และ 9.5% ตามลำดับ ตัวเลขสะท้อนเอสเอ็มอีขาดทุนน้อยลง เนื่องจากเอสเอ็มอีปรับตัว ลดต้นทุนการผลิต และทำการตลาดเชิงรุกมีกิจกรรมส่งเสริมการขาย ทำการตลาดออนไลน์

“อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมเอสเอ็มอี 2 ใน 3 จากทั้งหมดยังลำบากอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มทำเกษตรดั้งเดิม และค้าปลีก-ส่งที่ซื้อมาขายไป เพราะกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้น ต้นทุนเพิ่มจากการขาดวัตถุดิบในช่วงแล้ง ส่งผลรายได้และกำไรลดลงจนกระทบสภาพคล่อง อาจต้องรอให้กำลังซื้อฟื้นตัวในไตรมาส 1 ปีหน้า เพราะช่วงนี้หนี้ครัวเรือนยังสูง ต้องค่อยๆ ชำระหนี้ ดังนั้น หากปีนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 3% ปีหน้าจะเห็นการฟื้นตัวของเอสเอ็มอีได้ชัดเจนขึ้น คาดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเอสเอ็มอีปีนี้อยู่ที่ 2.5-2.7%” นายเกียรติอนันต์กล่าว

นายเกียรติอนันต์กล่าวว่า ส่วนกรณีเบร็กซิทคาดไม่กระทบกับการส่งออกและยอดขายของเอสเอ็มอีนัก เพราะการค้าไปยุโรปและอังกฤษยังใช้ระเบียบเดิมกันอยู่ แต่ส่งผลต่อภาคการเงินในระยะสั้น จากนี้อังกฤษต้องเจรจากับอียูอย่างน้อย 2 ปี หรืออาจมากกว่านั้น ซึ่งแต่ละประเทศยังพอมีเวลาเตรียมตัว เช่น ภาคธุรกิจใช้เครื่องมือประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ภาครัฐเตรียมแผนสำรองในกรณีที่ตลาดการเงินส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image