พณ.นำทัพนักธุรกิจบุกโอมาน-อิหร่านเจรจาการค้า

โอมาน เมื่อวันที่ 31 มกราคม นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในโอกาสเดินทางเยือนโอมานว่า โอมานเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่และเป็นผู้ค้าสำคัญอันดับ 4 ของไทยในกลุ่มตะวันออกกลาง แม้ขณะนี้มูลค่าการค้า 2 ฝ่ายจะมีเพียง 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ในส่วนนี้เป็นการส่งออกจากไทยมาโอมาน 600 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าสินค้าจากโอมานมาไทย 600 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่ไทยนำเข้าสินค้าหลักสำคัญจากโอมานคือ น้ำมัน และปลาทะเล ประเทศไทยถือเป็นประตูสู่อาเซียนให้กับโอมาน ขณะที่โอมานจะเป็นประตูสู่ตะวันออกกลาง ซึ่งการเดินทางมาเยือนโอมานครั้งนี้ จะเกิดความร่วมมือหลายด้าน ทั้งในเรื่องความสัมพันธ์ทางการทูต การค้า สาธารณสุข วิทยาการ พลังงานแก๊ส เหมืองแร่ และการท่องเที่ยว เป็นต้น เบื้องต้นจากการพูดคุยกับรัฐบาลโอมาน ต้องการเชิญชวนให้ไทยเข้ามาลงทุนในโอมาน เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรมระดับกลางถึงบน อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล เพราะโอมานมีวัตุดิบและเป็นแหล่งประมงสำคัญตะวันออกกลาง

นางอภิรดีกล่าวว่า ในครั้งนี้มีนักธุรกิจประมาณ 20 ราย ร่วมเดินทางมาด้วย คือ หอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และบริษัทรายใหญ่ของไทยเข้ามาหารือกับภาคเอกชนรายใหญ่ของโอมาน แต่อย่างไรก็ตามในครั้งนี้แม้จะยังไม่มีการลงนามความร่วมมือทางด้านการค้า แต่เชื่อหลังจากนี้จะเกิดความร่วมมือ ซึ่งโอมานมีประชากร 3 ล้านคน เป็นคนต่างชาติ 1.7 ล้านคน ในจำนวนนี้ 70% เป็นคนอินเดีย ดังนั้นการแปรรูปอาหาร และอาหารฮาลาล เป็นตลาดที่มีศักยภาพที่ไทยจะมาร่วมลงทุน

นางอภิรดีกล่าวว่า นอกจากนี้ โอมานเชื่อถือสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลของไทย แต่ละปีมีคนโอมานเดินทางเข้าไปรักษาพยาบาล และบางส่วนต้องมีการพักฟื้น ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่จะมีการเข้ามาลงทุนศูนย์ฟักฟื้นสำหรับผู้ป่วยในโอมาน ขณะนี้โรงพยาบาลบางปะกอกสนใจเข้ามาลงทุนทำธุรกิจศูนย์พักฟื้นในโอมาน

“ที่วิตกภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันที่ลดลงจนกระทบรายได้โอมาน แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลมากนัก รายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 40,000 เหรียญสหรัฐต่อปี และโอมานมีแผนจะปรับการลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง การเยือนครั้งนี้จะเป็นโอกาสดีที่จะฟื้นการค้าในระดับสูงของรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายในรอบกว่า 10 ปี ” นางอภิรดีกล่าว

Advertisement

นางอภิรดี กล่าวว่า นอกจากนี้ระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ ก็มักกำหนดการเยือนอิหร่านด้วย เพื่อหารือในเรื่องการขายข้าวให้กับอิหร่าน ซึ่งขณะนี้ มีแนวโน้มที่รัฐบาลอิหร่านจะผ่อนปรนให้มีการซื้อขายกับภาคเอกชน จากเดิมที่ความร่วมมือจะเป็นแบบ จีทูจี และครั้งนี้ได้นำผู้ส่งออกข้าวไทย 7 รายเข้ามาร่วมหารือคาดหวังที่จะเกิดการซื้อขายข้าวประมาณ 300,000 แสนตัน พร้อมกันนี้ จะมี 2 บริษัทผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของไทย ได้แก่ บริษัทศรีตรัง และบริษัท วงศ์บัณฑิต เข้าร่วมเจรจาขายผลิตภัณฑ์ยางจากไทย เพื่อช่วยแก้ปัญหายางตกต่ำและชดเชยการกำลังซื้อจากจีนที่ชะลอตัวลง โดยหลังจากที่อิหร่านถูกยกเลิกการคว่ำบาตรจากนานาชาติ เชื่อว่าจะเป็นโอกาสที่จะเข้ามาขยายการค้าการลงทุนในอิหร่านอย่างรวดเร็ว โดยรัฐบาลอิหร่านได้เชิญชวนให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนด้านธุรกิจโรงแรม เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image