‘2 ปรอท 1 กระบอกเสียง’ รูปแบบการสื่อสารสภาวะเศรษฐกิจในยุคโควิด : สันติธาร เสถียรไทย

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. นายสันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ผู้เขียนหนังสือ Futuration เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า

“2 ปรอท 1 กระบอกเสียง” รูปแบบการสื่อสารสภาวะเศรษฐกิจในยุคโควิด

ในยุคโควิดการตรวจวัดไข้เป็นเรื่องปกติ

แม้แต่ในระดับประเทศเราก็เหมือน”วัดไข้”ทุกวันด้วยการดูสถานการณ์คนติดเชื้อในประเทศและประกาศผลทุกวัน

Advertisement

แถมยังมีการเช็คไข้เพื่อนๆคือประเทศอื่นๆรอบตัวอีกด้วยว่ามีใครติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน

ในมุมนี้ถือว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จมาก ไปไหนคุยกับคนต่างชาติต่างคนก็ชม

แต่ในทางบริหารมีคำพูดที่ว่า

Advertisement

“คุณวัดสิ่งใดคุณก็ได้สิ่งนั้น (What you measure is what you get)”

หากบริษัทวัดแต่กำไรและรายงานตัวเลขนั้นทุกไตรมาสเป็นหลัก บริษัทนั้นก็ให้ความสำคัญกับผลกำไรจนอาจมองข้ามผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อม หรืออย่างน้อยก็ไม่ตระหนักถึงความสำคัญเท่าที่ควร

เช่นเดียวกัน

การที่เราตรวจคนติดเชื้อของประเทศและประกาศผลทุกวันแม้เป็นสิ่งที่ดีแต่ก็อาจทำให้เรายึดติดกับภาพความสำเร็จที่มี 0 เคสเป็นเวลานานได้โดยไม่รู้ตัว

ปัจจุบันเราเผชิญสอง’โรค’คือทั้งโควิดและเศรษฐกิจแต่เสมือนมี”ปรอทวัดไข้”ชุดเดียวที่คอยวัดแต่การติดเชื้อโควิดทุกวัน

แล้ว”ไข้ทางเศรษฐกิจ”ล่ะเรามีปรอทวัดที่ดีพอ บ่อยพอและสื่อสารชัดเจนพอหรือยัง?

มีบทเรียนอะไรจากแนวทางวัดไข้และประกาศผลโควิดของศบคที่นำมาปรับใช้กับด้านเศรษฐกิจได้หรือไม่?

ส่วนตัวผมมองว่ามี 3 แนวทางสำคัญที่น่ามาช่วยกันคิดพิจารณาสำหรับพัฒนาการสื่อสารสภาวะเศรษฐกิจ

1.ควรมีกระบอกเสียงกลางใช้สื่อสารผลการ”วัดไข้”ทางเศรษฐกิจ

จริงๆต้องย้ำว่ารัฐบาลมีตรวจอาการทางเศรษฐกิจอยู่ตลอดอยู่แล้วแต่ปัจจุบันเรามีหลายแพลตฟอร์มในการสื่อสารตัวเลขเศรษฐกิจทำให้กระจัดกระจายและไม่เห็นภาพรวมแตกต่างจากด้านสาธารณสุข

แต่ละหน่วยงานเศรษฐกิจจะประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่ตนเองดูแลอยู่ เช่น สภาพัฒน์ประกาศ GDP และสภาวะสังคม กระทรวงคลังและธปทรายงานสภาวะเศรษฐกิจรายเดือนที่ตนเองติดตาม กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการค้าระหว่างประเทศ ฯลฯ

ซึ่งล้วนแต่เป็นรายงานที่ทำดีมาก ข้อมูลแน่นและมีประโยชน์มหาศาล

แต่จะดีกว่าไหมหากมีแพลตฟอร์มศูนย์กลางและมีSpokeperson หลักหนึ่งคนเพื่อการสื่อสารสภาวะเศรษฐกิจ เป็น One stop shopให้คนตามข่าวสารสภาวะเศรษฐกิจ โดยใช้ข้อมูลใหม่ๆที่เพิ่งออกมาในแต่ละหน่วยงานมานำเสนอในรูปแบบให้ย่อยง่ายสำหรับคนทุกวงการ

โดยศบศที่ตั้งขึ้นมาใหม่อาจสามารถทำหน้าที่นี้ได้เลย

ทั้งนี้การสื่อสารแบบรวมศูนย์นี้อาจไม่ต้องมาแทนที่การประกาศของแต่ละหน่วยงานก็ได้ เช่น Spokepersonของศบศอาจแค่ประกาศสรุปและส่งไมค์ต่อให้หน่วยงานที่เจ้าของตัวเลขได้พูดอธิบายลงรายละเอียดต่อก็ยังได้

2.ควร”วัดไข้เศรษฐกิจ”และประกาศผลบ่อยขึ้น

ทุกวันนี้คงต้องยอมรับว่าการตามตัวเลขสภาวะเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมนั้นอาจไม่เพียงพอเพราะตัวเลขสำคัญๆมักออกมาช้ากว่าความเป็นจริงมาก เป็นเสมือนการเหมือนขับรถโดยดูกระจกหลังไกลๆ

เช่นกว่าตัวเลข GDP จะออกมาว่าไตรมาส2 (เม.ย – มิ.ย) เราติดลบ12%กว่า ก็กลางเดือนสิงหาคมเข้าไปแล้ว ตัวเลขเศรษฐกิจจริงอื่นๆที่ออกมาอย่างเก่งก็บอกได้เป็นรายเดือนและดีเลย์ประมาณ 2 เดือน

แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้มีข้อมูลเศรษฐกิจรุ่นใหม่ที่มีความถี่สูงเก็บเป็นรายวันที่สามารถมาใช้”วัดไข้”คร่าวๆได้ระหว่างที่รอตัวเลขจริงยกตัวอย่าง เช่น

ข้อมูลการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ท่องเที่ยวจังหวัดต่างๆที่หาได้จากทั้ง Google Community Mobility Report และFacebook Movement Range Maps เป็นต้น รวมไปถึงข้อมูลที่เก็บจากการเช็คอินแพลตฟอร์มไทยชนะ ข้อมูลโรงแรมที่เปิดให้จองออนไลน์ ฯลฯ

หากมีการรวบรวมข้อมูลเศรษฐกิจรุ่นใหม่เหล่านี้มาวิเคราะห์และรายงานผลในรูปแบบที่เข้าใจง่ายโดยไม่ต้องถึงกับทุกวันแต่ในความถี่บ่อยขึ้นเช่น เดือนละ 2ครั้งน่าจะเป็นประโยชน์ทีเดียว

ความจริงเท่าที่ผมเข้าใจว่าหลายหน่วยงานรัฐของไทยก็มีการติดตามและวิเคราะห์ตัวเลขพวกนี้อยู่แล้วเพียงแค่ต้องนำมาประกาศผลสื่อสารบ่อยขึ้นเท่านั้นเอง

3.ควรประกาศผลการวัดไข้เศรษฐกิจและโควิดควบคู่กัน

ศบคและศบศอาจควรมีกระบอกเสียงร่วมกันเพื่อสื่อสารสถานการณ์การติดเชื้อรายวันและสภาวะทางเศรษฐกิจช่วงนั้นไปคู่กัน โดยการรายการสภาวะเศรษฐกิจไม่ต้องทำทุกวันเพราะตัวเลขใหม่ไม่ได้ออกมาบ่อยขนาดนั้น (ดูข้อ2)

วิธีนี้จะช่วยให้คนเห็นภาพรวมว่าต้นทุนทางเศรษฐกิจของการคุมการติดเชื้อคืออะไร

หากต่อไปจะมีการเปิดเมือง/ประเทศมากขึ้นและเกิดการติดเชื้อมากขึ้นไม่ใช่ 0 คนตลอดเราก็จะได้เห็นว่าการผ่อนคลายนั้นๆมีผลช่วยด้านเศรษฐกิจหรือไม่อย่างไรแค่ไหน

การทำเช่นนี้อาจช่วยให้คนยึดติดกับตัวเลข”0”น้อยลงและให้ความสำคัญกับมิติทางเศรษฐกิจมากขึ้น เสมือนมีปรอทวัดไข้สองชุดคอยเช็คทั้งอาการติดเชื้อและอาการทางเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้การรวมศูนย์ด้านการสื่อสารอาจมีผลทางอ้อมช่วยการประสานงานระหว่างนโยบายเศรษฐกิจและสาธารณสุขซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในเฟสนี้อีกด้วย

แน่นอนนี่เป็นแค่ข้อเสนอกว้างๆเท่านั้นคงต้องฝากช่วยกันคิดต่อในรายละเอียดว่าจะดีไซน์อย่างไรให้การสื่อสารและประสานงานมีประสิทธิภาพที่สุด

แต่ส่วนตัวคิดว่าแนวคิด “2 ปรอท 1 กระบอกเสียง”น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในยุคที่ประเทศไทยจะต้องเดินทรงตัวบนเชือกระหว่างไข้โควิดและไข้เศรษฐกิจไปอีกนาน

 

“2 ปรอท 1 กระบอกเสียง” รูปแบบการสื่อสารสภาวะเศรษฐกิจในยุคโควิดในยุคโควิดการตรวจวัดไข้เป็นเรื่องปกติ…

โพสต์โดย สันติธาร เสถียรไทย – Dr Santitarn Sathirathai เมื่อ วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม 2020

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image