เจ้าสัวธนินท์ สะกิดรัฐ ชี้แนวปรับโครงสร้างภาคการผลิต-ท่องเที่ยว เปิดทางต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์

เจ้าสัวธนินท์ กระตุ้นรัฐ อย่าปล่อย “นาทีทอง” หลุดมือ ชี้แนวพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ปรับโครงสร้างภาคการผลิต-ท่องเที่ยว ชูจุดแข็งควบคุมโรคเป็นจุดขาย เปิดทางต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ ระดมเงินเข้าประเทศ

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ แสดงความคิดเห็นเรื่องภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันว่า หากรัฐบาลสามารถจับจุดให้ ถูกต้องด้วยการบริหารเศรษฐกิจเหมือนการควบคุมโรคระบาด จะสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสขึ้นมาได้ ถือเป็นนาทีทองของเศรษฐกิจไทย

โดยสิ่งที่ตนเองเห็นว่าสมควรทำอย่างเร่งด่วนก็คือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้พร้อม เพื่อจะได้ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วเมื่อภาวะเศรษฐกิจ โลกเป็นใจ

นายธนินท์กล่าวว่า รัฐบาลควรระดมเงินดอกเบี้ยต่ำเพื่อมาสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยเน้นไปใน ภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าซึ่งอยู่ในความต้องการของตลาดโลก

“เราต้องผลิตของที่เขาอยากซื้อ อยากใช้ ไม่ใช่ผลิตตามความต้องการ ของเราเอง ตรงนี้เราสามารถทำการสำรวจวิจัยออกมาได้ และควรจะเริ่มทำเสียตั้งแต่วันนี้ อย่ารอ”

Advertisement

นอกจากนั้นแล้ว อีกภาคธุรกิจที่รัฐต้องเข้าไปให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ก็คือธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว เพราะสถานการณ์โรคระบาดที่ เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องชั่วคราว จะต้องมีเวลาสิ้นสุด เมื่อถึงเวลานั้นประเทศไหน ที่พร้อมกว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ มากที่สุด

“เช่น ถ้าให้เงินช่วยเหลือโรงแรม เขาต้องไปปรับปรุงระบบแอร์คอนดิชั่น จากแอร์รวมเป็นแอร์แยก จะต้องมีระบบตรวจสอบและรับรองความปลอดภัยของผู้พักที่ทำให้นักท่องเที่ยวสบายใจ เราจะเอาความเป็นเบอร์หนึ่งในเรื่องการควบคุมโรคมาเป็นเครื่องมือในการทำมาหากินอย่างไร เน้น ที่กลุ่มลูกค้ามีสตางค์เพื่อหารายได้มาทดแทนส่วนที่หายไป” นายธนินทร์กล่าว

ประธานอาวุโสเครือซีพีกล่าวอีกว่า แนวทางการใช้ชีวิตและการทำงานที่เปลี่ยนไป่ของคนหลังโรคระบาด ที่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ทำงานไปเที่ยวไปก็ได้ จะทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมกลับมาเฟื่องฟู แต่ทุกฝ่ายต้องมีการปรับตัว ต้องชูเรื่องความปลอดภัยขึ้นมาเป็นจุดขายให้ได้

Advertisement

นายธนินทร์กล่าวอีกว่า อีกภาคธุรกิจหนึ่งที่รัฐควรจะเข้าไปดูแลก็คือภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแต่ละหลังนั้น มีการกระจายรายได้ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นปูน เหล็ก แรงงาน หรือเมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ยังมีเรื่องของเฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่ง ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้เกี่ยวข้องเป็นวงกว้าง

“เช่นตอนนี้ ถ้ากำลังซื้อในประเทศชะลอตัว เป็นไปได้หรือไม่ว่าเราจะเปิดให้ต่างประเทศที่มีสตางค์เข้ามาซื้อบ้าน เน้นไปที่พวกมีรายได้สูง เช่น ขายบ้านหลังละ 1 ล้านเหรียญ หรือ 30 ล้านบาท ถ้าขายได้ 1 ล้านหลัง ก็จะมีเงินไหลเข้าประเทศ 30 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณในแต่ละปีถึง 10 เท่า”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image