จับตา ‘พายุโมลาเบ’ อ่อนกำลังเป็นดีเปรสชัน ก่อนเคลื่อนเข้าอุบลฯ คืนนี้

จับตา ‘พายุโมลาเบ’ อ่อนกำลังเป็นดีเปรสชัน ก่อนเคลื่อนเข้าอุบลฯ คืนนี้

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา พายุโซนร้อนโมลาเบ (พายุระดับ 3) ฉบับ 9 (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2563) ระบุว่า เมื่อเวลา 22.00 น. วันนี้ (28 ตุลาคม 2563) พายุโซนร้อนโมลาเบ (พายุระดับ 3) บริเวณเมืองสาละวัน ประเทศลาวอยู่ห่างจากทางด้านตะวันออกของจังหวัดอุบลราชธานีประมาณ 120 กิโลเมตร หรือมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 15.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 106.7 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 22 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน (พายุระดับ 2) และจะเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณจังหวัดอุบลราชธานีในคืนนี้ (28 ตุลาคม 2563) ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเป็นบริเวณกว้าง โดยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักมากบางแห่งกับมีลมแรง สำหรับลมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง ส่งผลทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรง

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากมีดังนี้

ในช่วงวันที่ 28-29 ตุลาคม 2563

Advertisement

ภาคเหนือ: จังหวัดพะเยา น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร ตาก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี สกลนคร บึงกาฬ นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ในวันที่ 30 ตุลาคม 2563

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย ตาก และกำแพงเพชร

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และลมแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร อ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image