‘แบงก์ชาติ’ ปัดตอบ ‘แบงก์เป็ด’ ผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย ชี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ จนท.

‘แบงก์ชาติ’ ปัดตอบ ‘แบงก์เป็ด’ ผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย ชี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ จนท.

นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมราษฎร 2563 ได้มีการชุมนุมที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ รัชโยธิน ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้มีการแจกคูปองเป็ดเหลือง หรือธนบัตรของราษฎร ใบละ 10 บาท จำนวน 3,000 ใบ ซึ่งสามารถใช้จับจ่ายใช้สอยได้ ซึ่งมีการถกเถียงกันว่า จะมีความผิดตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งถือว่ามีความผิดตามกฎหมายหรือไม่นั้น เบื้องต้น ตามกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า ธนบัตรจะต้องออกผ่านธปท.และได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น

นายสมบูรณ์ กล่าวว่า การพิมพ์แบงก์ หรือออกธนบัตร ต้องมีการออกประกาศจากกระทรวงการคลัง และมีการออกกฎหมายที่ชัดเจน เพื่อลงบันทึกในราชกิจจานุเบกษา และจะต้องมีการลงนามลายเซ็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าธปท. จึงจะถือเป็นธนบัตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนธนบัตรของราษฎร จะวินิจฉัยว่าใช่หรือไม่ใช่ธนบัตรนั้น ต้องเทียบเคียงกับหลักปฏิบัติข้างต้น

“หากพิจารณาจากการปลอมแปลงธนบัตร พบว่า หากมีการปลอมแบงก์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการตามกฎหมาย หรือจับกุมตามหน้าที่ ซึ่งหมายถึงหากมีการพบเห็นแบงก์ปลอม ส่วนแบงก์เป็ด ส่วนตัวยังไม่เคยเห็น จึงขอพูดตามคำนิยามของธนบัตรก่อนว่า แบงก์ที่ออกได้ตามกฎหมายจริง ต้องออกโดย ธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น ของจริง หรือ ของปลอม มันดูจากว่า ธนบัตรจริง ต้องออกโดยธปท. และมีการออกกฎหมายรองรับ ธนบัตร โดยขณะนี้ส่วนตัวยังไม่เคยเห็นว่า ธนบัตรของราษฎรหน้าตาเป็นอย่างไร จึงลำบากที่จะตอบว่า เป็นของจริงหรือของปลอม ซึ่งความจริงแล้วเป็นหน้าที่พิจารณาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ” นายสมบูรณ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image