‘สุพัฒนพงษ์’ แจง 8 ข้อ เรื่องจริงเศรษฐกิจไทย ยันไม่ได้แย่อย่างที่อภิปรายในสภา

‘สุพัฒนพงษ์’ แจง 8 ข้อ เรื่องจริงเศรษฐกิจไทย ยันไม่ได้แย่อย่างที่อภิปรายในสภา

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ระบุถึงการชี้แจงข้อสงสัยและข้อกล่าวหาของพรรคฝ่ายค้าน เรื่องการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า ข้อเท็จจริงของสถานการณ์เศรษฐกิจไทยขณะนี้ ไม่ได้แย่อย่างที่อภิปรายกันในสภา โดยมีรายละเอียด 8 ข้อ ดังนี้

1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19
ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ผู้อภิปรายหลายท่านบอกว่าประเทศไทยย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายสิบปี ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ย่ำแย่ของทุกประเทศ จุดต่ำสุดของไทยอยู่ที่เดือน เม.ย.ปีที่แล้ว หลังรัฐบาลค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ดัชนีชี้วัดทุกตัวจึงดีขึ้นตามลำดับ

จนกระทั่งเดือน ธ.ค.มีการระบาดระลอกใหม่ ดัชนีบางตัวก็ยังดีกว่าเดือน เม.ย. ด้วยเรามีประสบการณ์และข้อมูลจากการระบาดครั้งแรก จึงไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ แต่คุมเข้มบางจังหวัด ตัวเลขเศรษฐกิจดูจะลดลง แต่สัญญาณบวกได้ปรากฏอยู่ในไตรมาสที่ 4 โดยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งการบริโภค การลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการลงทุนและบริโภคของรัฐ

ข้อมูลของสภาพัฒน์ ปี 63 เราติดลบ 6.1% แต่ถ้าติดตามข้อมูลมาตั้งแต่ต้นปี หลายสถาบันเห็นว่าไทยจะติดลบ 10%, 8.5% บ้าง แต่ประเทศไทยเราร่วมมือกันและควบคุมได้ ถือว่าบอบช้ำไม่มาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ไม่มีใครไม่ลบ แต่ที่ต่ำที่สุดคือฟิลิปปินส์ มีเพียงเวียดนามที่เป็นประเทศที่เพิ่งเติบโต แต่ก็เติบโตน้อยกว่าอัตราที่เคยเติบโตอยู่มาก ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเราไม่ได้แย่ที่สุด เราเกาะกลุ่มอยู่ในประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้

Advertisement

2. การว่างงาน
ผู้อภิปรายหลายท่านบอกว่ามีคนว่างงาน 10 ล้านคน แต่คงเป็นประมาณการตั้งแต่ช่วงแรกที่เกิดการระบาด เพราะเขาไม่รู้ว่าการระบาดอย่างนี้ มีผลกระทบให้เกิดการว่างงานกันเท่าไร ก็คงมองในกรณีเลวร้ายที่สุดถึง 10 ล้านคน แต่ตัวเลขจริงที่ปรากฏออกมาคือ 1.9% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนสูงกว่านี้ แสดงให้เห็นถึงความบอบช้ำที่มีทั่วโลก แต่ประเทศไทยเราทำได้ดี

3. ความน่าเชื่อถือในสายตานานาชาติ
3 สถาบันจัดอันดับเครดิต คือ มูดี้ส์ ฟิทช์เรตติ้ง และสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส ประเมินให้ไทยอยู่ในอันดับเท่าเดิม ในขณะที่หลายประเทศถูกปรับลดอันดับลง สำหรับความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของประเทศไทยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจหรือการควบคุมการแพร่ระบาด ปรากฏว่าอยู่ในการจัดอันดับต่างๆ หรือการยอมรับจากนานาชาติ ล่าสุดเราติดอันดับ 1 ใน 4 ประเทศที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ดีที่สุดในโลก ในขณะที่ความเข้มแข็งทางการเงิน การคลัง ติดอันดับต้นๆ ของประเทศเกิดใหม่ที่น่าลงทุนที่สุด นี่คือการประเมินเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมานี้เอง

4.รัฐบาล Very กู้ จริงหรือเปล่า
ปี 63 หนี้สาธารณะของเราอยู่ที่ราว 52% ของจีดีพี ตัวเลขกลมๆ ของหนี้สาธารณะคือ 8.1 ล้านล้านบาท ตอนที่ท่านนายกฯรับตำแหน่งใหม่ๆ หนี้สาธารณะมีอยู่ 5.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับรัฐบาลก่อนหน้านั้น ซึ่งอยู่ในตำแหน่ง 2 ปี 8 เดือน หนี้ของเขาเพิ่ม 1.3 ล้านล้านบาท รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ อยู่ 6 ปี 9 เดือน หนี้เพิ่มขึ้น 2.6 ล้านล้านบาท เฉลี่ยกู้ต่อเดือนไม่ต่างกัน

Advertisement

แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ยังกู้น้อยกว่าด้วยซ้ำไป เงินกู้เหล่านี้ได้ถูกกระจายไปใช้ในการลงทุนโครงการสำคัญๆ ตั้งแต่ปี 59-63 จำนวน 162 โครงการ เป็นโครงการทางด้านคมนาคม สาธารณูปโภค และพลังงานเกือบทั้งหมด นี่คือการสร้างพื้นฐานให้ประเทศไทยเติบโตต่อไปในอนาคต และเป็นการกู้ที่ไม่เกินเลยจากรัฐบาลก่อนหน้านี้

5.รัฐบาลนี้ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงที่สุด
รัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลที่ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงที่สุด เพราะสูงมาตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว และสูงมาเรื่อยๆ ตอนที่ท่านนายกฯเข้ามาเมื่อกลางปี 57 เรามีหนี้ครัวเรือนประมาณ 80% ท่านพยายามประคับประคองไม่ให้เพิ่ม มีปีหนึ่งลดลงไปที่กว่า 70% พอมาเกิดวิกฤต จีดีพีลดลงจาก 80% ที่พยายามรักษาไว้ กลายเป็น 86% เราพยายามบริหารจัดการให้เป็นหนี้มีคุณภาพ ประมาณ 65% ของหนี้ครัวเรือนจึงเป็นหนี้ที่กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ใช้ประกอบธุรกิจ ซื้อพาหนะ ที่เหลือเป็นเรื่องการอุปโภคบริโภค ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ของปีที่ผ่านมา ตอนนั้นเกิดโควิด-19 แล้ว เรามีหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้เสียที่อยู่ในระบบธนาคารเพียง 3% อยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยของหนี้เสียของระบบธนาคาร

6.แบงก์จะล้มไหม
ความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินดูที่ทุนที่มีความเพียงพอต่อสินเชื่อที่ปล่อยออกไป ซึ่งวันนี้อยู่ในสัดส่วน 20% มากกว่าอัตราขั้นต่ำที่ ธปท.กำหนด คือประมาณ 11% นับว่าสูงกว่าราว 2 เท่า เอ็นพีแอลหรือหนี้เสียในระบบ 3.1% ถ้าเรากลัวกันว่าเศรษฐกิจดิ่งแล้วแบงก์จะล้ม ก็ไปดูกันตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนั้นทุนของสถาบันการเงินมีเพียง 9.5% ซึ่งต่ำกว่าปัจจุบันมากกว่าครึ่งหนึ่ง ต้องถือว่าสถาบันการเงินเข้มแข็งมาก สินเชื่อก็โตขึ้นในปีที่ผ่านมา กำไรยังมีอยู่ สถาบันการเงินยังมีความเข้มแข็งที่จะดูแลลูกหนี้

7.ธุรกิจหนี้ท่วมจนต้องปิดกิจการมากที่สุด
วันนี้ 21 สถาบันการเงินมีการปรับโครงสร้างหนี้จำนวนที่อยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้จะดำเนินกิจการต่อไปได้ และในปี 63 มีการจัดตั้งใหม่ 63,340 ราย เช็คเด้งน้อยลง 23% การขอใบอนุญาตส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ มีผู้ขอมากกว่าปี 62 สำหรับเรื่องที่บอกว่าประชาชนหนี้ท่วมจนอยู่ไม่ได้นั้น ที่ผ่านมาเราให้ไป 50,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มีจำนวนคนหลายล้านคนที่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ยและการพักชำระหนี้ จนถึงสิ้นปี มีมาตรการเยียวยาครอบคลุมคน 42.3 ล้านคน และรัฐบาลยังได้มีมาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ และเงินสมทบประกันสังคม พร้อมเสริมสภาพคล่อง สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นเงิน 2 แสน 9 หมื่นกว่าล้านบาท

ก่อนโควิด-19 ระลอกใหม่เมื่อเดือน ธ.ค. ครม.อนุมัติการช่วยเหลือผ่านการค้ำประกันของ บยส. ให้ธุรกิจที่มีปัญหา โดยเฉพาะที่เป็นเอสเอ็มอีในวงเงิน 1 แสน 5 หมื่นล้านบาท กลุ่มที่เป็นรายย่อยไมโครเอสเอ็มอีอีก 2.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ การคิดดอกเบี้ยผิดนัด ธปท.ปรับการคิดดอกเบี้ยผิดนัดใหม่เป็นอัตราดอกเบี้ยปกติ และคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามจำนวนที่ผิดนัด ตรงนี้เป็นการบรรเทา ลดค่าใช้จ่ายทางการเงินจะมีผลตั้งแต่เดือน เม.ย.64

8.ประเทศไทยไม่ได้เหลื่อมล้ำมากที่สุด
มีคนพูดว่าประเทศไทยเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก นั่นเป็นแค่มิติเดียว คือความมั่งคั่ง ถ้าจะดีต้องดูให้ครบทุกมิติ ต้องดูโอกาส การเข้าถึงระบบสาธารณสุข สิทธิประโยชน์ต่างๆ การดูแลโดยภาครัฐบาล รวมกันแล้ว ไทยเราเป็นประเทศอันดับต้นๆ ในอาเซียนที่มีความเหลื่อมล้ำน้อย ยิ่งหากดูเรื่องความยากจน เราน้อยที่สุด ถ้าไม่นับสิงคโปร์ เพราะรัฐบาลสร้างโอกาส มีสวัสดิการด้านสาธารณสุข และมีสวัสดิการที่ดูแลประชาชนที่มีความเปราะบาง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image