พาณิชย์รับมติครม. เร่งตั้งสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม นำร่อง 3 สินค้าหลัก “ข้าว-มันสำปะหลัง-ปาล์ม” ดันมูลค่าเพิ่มเกือบเท่าตัว

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายในงานสัมมนา “อนาคตสินค้าเกษตรไทยในยุค Thailand 4.0 รุ่งหรือร่วง” ที่โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ดว่า ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ขณะนี้กระทรวงกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งสถาบันดังกล่าว เพื่อเป็นหน่วยงานในการรวบรวมข้อมูลเชิงลึก การส่งเสริมการวิจัยนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มภาคเกษตร รวมทั้งจัดหาตลาดและจับคู่ธุรกิจให้แก่สินค้าเกษตรนวัตกรรม โดยคาดว่าเมื่อแล้วเสร็จจะเริ่มการนำร่องสร้างนวัตกรรมภาคเกษตรใน 3 สินค้าหลัก คือ ข้าว มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ซึ่งจะช่วยมูลค่าการผลิตและการส่งออกให้สูงขึ้นเกือบเท่าตัว อาทิ ข้าว มีแนวคิดที่ส่งเสริมพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยา ส่วนมันสำปะหลัง สามารถส่งเสริมเป็นแป้งทำขนมสำหรับผู้แพ้โปรตีน และเครื่องดื่มวอดก้า

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ศูนย์การค้าระหว่างประเทศฯ ได้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ศึกษาแผนยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร 3 ชนิด คือ ข้าว มะพร้าว และทุเรียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม โดยคาดว่าหากยกระดับสินค้าเกษตร 3 ชนิดได้จะช่วยเพิ่มมูลค่าการผลิตและการส่งออกของภาคเกษตรในปี 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 10% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 1.3% รวมทั้งจะเป็นการช่วยลดความผันผวนการส่งออกสินค้าเกษตรขั้นพื้นฐาน ไม่ให้เคลื่อนไหวขึ้นลงรุนแรงเหมือนในอดีต ทั้งนี้ในปี 2558 การผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป มีมูลค่าประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท การผลิตสินค้าเกษตรขั้นพื้นฐาน มีมูลค่าประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท การส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปมีมูลค่าประมาณ 3.8 แสนล้านบาท และการส่งออกสินค้าเกษตรขั้นพื้นฐาน มีมูลค่าประมาณ 4.3 แสนล้านบาท

นายอัทธ์ กล่าวว่า สำหรับผลการศึกษาการยกระดับนวัตกรรมข้าว สามารถแบ่งออกเป็น 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.เป็นผู้นำการผลิตข้าวและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุดของโลก โดยการสนับสนุนเกษตรกรให้ผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติการเกษตรที่ดี (จีเอพี) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ 2.สร้างกลุ่มคลัสเตอร์ข้าว เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพกับเกษตรกร การสนับสนุนเครื่องมือและเครื่องจักรให้สอดคล้องกับความต้องการ การผลิตด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ 3.สร้างนวัตกรรมแปรรูปข้าว 4.0 โดยการผลักดันการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าว การสร้างตราสินค้า รูปแบบผลิตภัณฑ์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวหอมมะลิ 4.การจัดตั้งศูนย์อัจฉริยะข้าว เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลการตลาดเชิงลึกตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เตือนภัยทิศทางตลาดข้าวโลก และดูแลช่องทางการจัดจำหน่ายกฎระเบียบการส่งออกนำเข้า 5.การจัดตั้งศูนย์กลางแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวอาเซียน โดยการร่วมทุนตั้งโรงงานแปรรูปในอาเซียน จัดตั้งโรงสีอาเซียน และศูนย์เรียนรู้แปรรูปข้าว

นายอัทธ์ กล่าวว่า ส่วนการยกระดับมะพร้าว แบ่งออกเป็น 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยการขยายพื้นที่เพาะปลูกในจ.ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา และนครปฐม การทำพื้นที่เพาะปลูกต้นแบบ 1 จังหวัด 1 พื้นที่ 2.การสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น 3.การพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำมะพร้าวน้ำหอมบรรจุกล่องโดยรสชาติไม่เปลี่ยน 4.การจัดตั้งสถาบันมะพร้าว เพื่อเป็นฐานข้อมูลการผลิต การตลาดเชิงรุกทันต่อสานการณ์ และเชื่อมโยงธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน และ5.การขยายฐานการผลิตไปสู่กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) เพื่อเป็นฐานวัตถุดิบมะพร้าวแปรรูป

Advertisement

การยกระดับทุเรียน แบ่งออก 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การเพิ่มขีดความสามารถของการผลิตและบริหารการรับซื้อเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน โดยการส่งเสริมเทคนิคปลูกทุเรียนหมอนทอง 2.การเพิ่มประสิทธิภาพข้อมูลเพื่อยกระดับการบริหารห่วงโซ่อุปทานให้แข็งแกร่ง โดยการส่งเสริมให้มีการบริหารข้อมูลแบบวัน สต๊อป เซอร์วิส 3.การสร้างโอกาสตลาดทุเรียนให้สอดคล้องกับกระแสนิยมของผู้บริโภค โดยการส่งเสริมการลงทุนเปิดร้านกาแฟให้ทุเรียนเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบอาหาร และเครื่องดื่ม 4.การสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ทุเรียนเพื่อสร้างคุณค่าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคด้วยนวัตกรรม โดยการสนับสนุนให้มีการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคของประเทศต่างๆอย่างต่อเนื่องและเผยแพร่ในช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย

นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ ประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการยกระดับสินค้าเกษตรสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพราะจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันสินค้าเกษตรไทยที่ได้รับมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ (คิว) และมาตรฐานการปฏิบัติการเกษตรที่ดี (จีเอพี) ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมวิชาการเกษตร มีเพียง 2 แสนรายการเท่านั้น เมื่อเทียบกับจำนวนเกษตรกรภายในประเทศที่มีจำนวนที่สูงถึง 23 ล้านคน ซึ่งเกษตรกรจะไม่สามารถยกระดับรายได้เลย หากสินค้าเกษตรไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน เนื่องจากการส่งออกสินค้าเกษตรส่วนใหญ่แทบทุกประเทศจะต้องผ่านมาตรฐานขั้นต่ำในประเทศก่อน ดังนั้นหากสินค้าเกษตรไม่ผ่านมาตรฐาน ก็จะทำให้การส่งออกยาก เมื่อส่งออกไม่ได้เกษตรกรก็ไม่สามารถยกระดับรายได้ได้ เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เกษตรกรจะต้องเร่งดำเนินการ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องเร่งปรับตัวและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image