กสทช.จับมือธปท. ธนาคาร ผู้ให้บริการ ออกมาตรการเพิ่มล้อมคอกปัญหาโมบายแบงก์กิ้ง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงานกสทช.ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการใช้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการสร้างความเชื่อมั่น และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้บริการของ 2 อุตสาหกรรม

โดยทุกหน่วยงานเห็นพ้องเพิ่มความมั่นใจให้แก่ประชาชน ดังนี้ 1.สำนักงาน กสทช. ธปท. สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกันในการพิสูจน์ตัวตนผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในทิศทางเดียวกัน และกสทช.จะออกหนังสือกำชับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้ดำเนินการตามกระบวนการพิสูจน์ตัวตน กำหนดมาตรการให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด

2. ธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะร่วมกันประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการโมบาย แบงก์กิ้ง อินเตอร์เน็ต แบงก์กิ้ง และ พร้อมเพย์ ในกรณีโทรศัพท์เคลื่อนที่สูญหาย ต้องแจ้งให้ธนาคารพาณิชย์ที่ใช้บริการอยู่ทราบ เพื่อยกเลิกการใช้บริการ และแจ้งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ออกซิมการ์ดใหม่

3.กรณีพิสูจน์ได้ว่าผู้ใช้บริการได้ดำเนินการแจ้งให้ธนาคารพาณิชย์ระงับบริการ โมบายแบงก์กิ้ง อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง และ พร้อมเพย์ ผู้ใช้บริการไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

Advertisement

4. ระหว่างที่ยังไม่มีระบบการเชื่อมต่อตรงระหว่างธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้ธนาคารพาณิชย์แจ้งหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้งาน โมบายแบงก์กิ้ง อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง และพร้อมเพย์ ให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทราบ เพื่อดูแลเป็นกรณีพิเศษ

5. การออกซิมการ์ดใหม่สำหรับเลขหมายที่มีการใช้บริการ โมบายแบงก์กิ้ง อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง และพร้อมเพย์ ผู้ใช้บริการต้องดำเนินการด้วยตนเองเท่านั้น ไม่สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นได้

นายฐากร กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว ทางกสทช.จะเสนอให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ นำระบบสแกนลายนิ้วมือมาใช้ ในการยืนยันตัวบุคคลสำหรับเจ้าของหมายเลขที่ต้องการออกซิมการ์ดใหม่ ซึ่งกสทช.จะรับผิดชอบในส่วนของระบบซอฟต์แวร์ ส่วนทางผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบค่าอุปกรณ์สแกนลายนิ้วมือและอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล โดยในส่วนของการจัดเก็บข้อมูล เบื้องต้นอาจสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ทางผู้ประกอบการจำนวนมหาศาล ฉะนั้นกสทช.จะนำเงินจากกองทุนวิจัยปละพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ(กองทุน ยูเอสโอ) มาช่วยสนับสนุนบางส่วน และคาดจะใช้งานระบบดังกล่าวได้ต้นปี2560

Advertisement

นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ในระยะยาว สิ่งสำคัญที่สุด คือการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ใช้งาน เช่น การตั้งรหัสไม่ให้เดาง่าย การไม่ใช้โปรแกรมเสริมในการใช้งานโมบาย แบงก์กิ้ง และพฤติกรรมการหลอกลวงจากทางมิจฉาชีพ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากกรณีมีผู้ใช้งานเกิดความเสียหายจากการใช้งานโมบาย แบงก์กิ้ง ส่วนหนึ่งเพราะที่ผ่านมา อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ไม่ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับทางสถาบันการเงิน ดังนั้น 2 อุตสาหกรรมมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ถือเป็นการยกระดับระบบรักษาความปลอดภัยให้สูงขึ้น ในส่วนของผู้ประกอบการโทรคมนาคม จากนี้จะเพิ่มความเข้มงวดในการออกซิมการ์ดมากขึ้น เช่นต้องให้เจ้าตัวมาแสดงบัตรประชาชนตัวจริงด้วยตนเองในการออกซิมการ์ด หรือ ประสานงานสถาบันการเงิน เพื่อดูแลเลขหมายที่ใช้งานโมบายแบงก์กิ้งเป็นกรณีพิเศษ และเห็นด้วยที่กสทช.จะนำระบบสแกนลายนิ้วมือมาใช้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image