‘อาคม’ ยัน รบ.เตรียม วงเงิน 1 แสนล้านบาท ออกมาตรการ ช่วยเอสเอ็มอี

“อาคม” ยัน รัฐบาล มีมาตรการ ช่วยเอสเอ็มอี วงเงิน 1 แสนล้านบาท

เมื่อวันที่ 25 กันยายน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินมาตรการสร้างอาชีพใหม่ให้แรงงานที่ต้องกลับบ้านจากผลกระทบโควิด-19 และช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ยังไม่สามารถเปิดธุรกิจได้ โดยเมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ได้เสนอกรอบดูแลผู้ประกอบการเอสอ็มอีให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบหลักการแล้ว โดยกรอบที่เสนอนั้นมีวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนจะนำมาใช้อย่างไรนั้นจะมีรายละเอียดออกมาอีกครั้ง

“แม้ว่ากระทรวงแรงงานจะรายงานว่า ตัวเลขคนออกจากงานแล้วเข้างานใหม่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน แต่ยังมีแรงงานบางส่วนที่เรายังไม่รู้ว่าออกจากงานไปแล้วกลับเข้ามาสู่ระบบการจ้างงานหรือประกันสังคมหรือไม่ จะสังเกตได้ว่าคนที่ออกจากงานบางส่วนกลับภูมิลำเนา เพื่อรอโรงงาน ร้านอาหารกลับมาเปิด บางส่วนเปลี่ยนใจอยู่บ้าน รอฝึกอาชีพ และสร้างอาชีพใหม่ ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องเข้าไปช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากโดยเน้นไปที่ภาคชนบท” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม 2 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานผ่านระบบประกันสังคม มาตรา 33, 39, และ40 รวมทั้งยังมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลให้เงินไปเลย โดยใช้หลักเกณฑ์ตามจำนวนของลูกจ้าง รายละ 3,000 บาท แต่ไม่เกิน 200 คน ดังนั้นเอสเอ็มอี 1 ราย หากมีลูกจ้างจำนวน 200 คน จะได้รับเงินช่วยเหลือกว่า 6 แสนบาท ซึ่งเป็นการเติมสภาพคล่องในช่วงที่ปิดกิจการ ทั้งยังมีมาตรการทางด้านการเงิน ทั้งด้านสินเชื่อ และการพักชำระหนี้ โดยสถาบันการเงินทุกแห่งพร้อมให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐ ทั้งการพักชำระหนี้ และการยืดเวลาการชำระหนี้ รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ด้วย

นายอาคม กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการเติมสภาพคล่อง เช่น ธนาคารออมสิน ที่ขาดสภาพคล่องก็สามารถนำที่ดินมาใช้กู้เงินได้ เอสเอ็มอีแบงก์ ที่รับเงินจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) มาปล่อยสินเชื่อ เป็นต้น ส่วนเอสเอ็มอีที่ยังขาดความรู้ ก็จะเข้าไปแนะนำด้านเทคนิคการตลาด การผลิต และการวิจัยพัฒนาธุรกิจ ขณะที่เอสเอ็มอีที่ไม่ได้อยู่ในระบบ เนื่องจากเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มาก่อน และอาจจะมีบัญชีหลายธนาคาร ก็จะเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้ อย่างสภาหอการค้าก็มีมาตรการที่ดูแล เช่น พี่ช่วยน้อง ในการรับสินค้าเข้ามาขายในห้างสรรพสินค้า หรือการให้เครดิตเทอมที่ยาวขึ้น สำหรับผู้ผลิตที่ส่งของมาให้ในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

Advertisement

“เอสเอ็มอีของไทยมีกว่า 3 ล้านราย แต่ที่เข้ามาอยู่ในระบบไม่มาก ปัญหาส่วนหนึ่งคือมีหนี้สินหลายแบงก์ และธุรกิจไม่ได้ประสบความสำเร็จมาก่อน อาจจะไม่ได้เข้าเงื่อนไขของแบงก์ ส่วนโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่ผู้จบการศึกษาใหม่ หรือ โค-เพย์เมนต์ ที่ช่วยเหลือการจ้างงานคนละครึ่งนั้น คณะกรรมการใช้จ่ายเงินกู้ได้เสนอกรอบเรื่องการจ้างงานให้ครม. พิจารณาแล้ว ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไรต้องรอติดตาม ซึ่งมาตรการนี้นับเป็นมาตรการที่สำคัญในการช่วยรักษาการจ้างงาน”นายอาคม กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครม.ได้อนุมัติในหลักการ ให้หน่วยงานของรัฐโดยชอบของรัฐมนตรีเจ้าสังกัด มีหน้าที่จัดทำรายละเอียดโครงการให้สอดคล้องกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ทั้งเพื่อการพยุงการจ้างงาน เพื่อการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และเพื่อกระตุ้นการบริโภค ในการเสนอให้ สศช. เพื่อรวบรวมและจัดทำความเห็นเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ว่าโครงการใดมีความเหมาะสม จะได้รับหลังสือแจ้ง ให้ดำเนินตามขั้นตอนต่อไป โดยแบ่งช่วงการพิจารณาการใช้เงินกู้ ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ในส่วนแผนการฟื้นฟู 1.7 แสนล้านบาท เป็น รอบที่ 1 เดือนตุลาคม 2564 จำนวน 1-1.2 แสนล้านบาทและ รอบที่ 2 จำนวน 5-7 หมื่นล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image