ภาคธุรกิจเปิดศึกชิง ‘แรงงาน’ นายจ้างเตือนภัย… ห่วงสะดุดฟื้นศก.ปีเสือ

ภาคธุรกิจเปิดศึกชิง‘แรงงาน’ นายจ้างเตือนภัย...ห่วงสะดุดฟื้น ศก.ปีเสือ

ภาคธุรกิจเปิดศึกชิง ‘แรงงาน’ นายจ้างเตือนภัย… ห่วงสะดุดฟื้นศก.ปีเสือ

หลังจากที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้กระตุ้นทันทีให้ภาคธุรกิจบริการและร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการมากขึ้น เมื่อค้าขายได้ตามต้องการ วัตถุดิบและแรงงานก็ต้องฟื้นตัวตาม แต่หลายเรื่องไม่อาจฟื้นตัวตามได้ทัน หนึ่งในนั้นคือจำนวนแรงงานที่มีจำกัดในขณะนี้เป็นปัญหาสะสมมาตลอดตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่คลัสเตอร์สมุทรสาคร ตามด้วยคลัสเตอร์อีกหลายระลอก แรงงานต่างชาติจำนวนมากกลับประเทศ ประกอบกับทุกประเทศรอบไทยเจอโควิดระบาด การเดินทางมาใช้แรงงานในไทยก็ยากขึ้น ขณะที่ไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าวไม่น้อย

⦁ เข้มงวดแรงงานเถื่อน

จากประเด็นปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพบการลักลอบขนแรงงานต่างชาติเถื่อนเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น จนล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับภาคเอกชน เร่งสำรวจความต้องการแรงงานต่างด้าวเพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายตามความจำเป็นเร่งด่วน ผ่านแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ซึ่งต้องมีการขึ้นทะเบียน ตรวจสอบ คัดกรองรวมถึงการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย

รวมทั้งสั่งการฝ่ายความมั่นคงเพิ่มกำลังเฝ้าระวังบริเวณแนวชายแดนหลังจากที่มีการจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น กำชับให้สืบสวนไปถึงผู้อยู่เบื้องหลังทั้งนายหน้ากระบวนการนำเข้าและขนส่งแรงงานไปตามสถานที่ประกอบการและโรงงาน ขณะเดียวกันขอให้ทุกจังหวัดสำรวจจำนวนโรงงานในพื้นที่และความต้องการแรงงานในพื้นที่ด้วย

Advertisement

⦁ สูญหายจากระบบ4.6แสนคน

ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานในวันนี้ ว่าจำนวนแรงงานทั้งไทยและต่างชาติ ที่ทุกอุตสาหกรรมต้องพึ่งพา รวมกันอยู่ที่ประมาณ 31.82 ล้านคน แต่หลังจากการเปิดประเทศ สำรวจแล้วพบว่าแรงงานพื้นฐานหายไปจากระบบที่มีข้อมูลชัดเจน และส่วนใหญ่คือแรงงานต่างชาติ น่าจะไม่ต่ำกว่า 4.6 แสนคน หรือหายไปถึง 16.6% ทำให้รัฐบาลต้องเร่งนำเข้าแรงงานต่างชาติเข้ามาป้อนอุตสาหกรรมต่างๆ ประมาณ 4 แสนคน หลังจากพบว่าปัจจุบันเริ่มมีความต้องการแรงงานมากขึ้น เห็นว่าแย่งชิงแรงงานและแข่งขันด้านราคากันแล้ว โดยเฉพาะตำแหน่งแม่บ้าน เด็กเสิร์ฟ แรงงานก่อสร้าง แม้กระทั่งแรงงานภาคเกษตร

จากข้อมูลในระบบแรงงานต่างชาติสัดส่วนมากสุดคือแรงงานจากเมียนมา 68.42% กัมพูชา 21.45% และลาว 7.17% สะท้อนให้เห็นว่าขณะนี้ไทยมีความต้องการแรงงานต่างชาติสูงในทุกอุตสาหกรรม แต่ปัญหาคือติดเรื่องนำเข้าแรงงานในจำนวนที่มากเหมือนอดีต เพราะตอนนี้ไทยยังคุมเข้มป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งความต้องการที่ตรงกันคือผู้ต้องการแรงงานและผู้ใช้แรงงานอยากกลับมาทำงานในไทยอีกครั้ง จึงเห็นกระแสการลักลอบเข้าไทยเพิ่มอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันตอนนี้เองหลายธุรกิจก็เริ่มได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานต่างชาติแล้ว ทั้งในส่วนของธุรกิจอาหารที่บางร้านพนักงานเริ่มไม่พอ เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม พนักงานในตำแหน่งขนย้ายสินค้าเริ่มไม่พอต่อความต้องการ จึงทำให้บางครั้งงานในส่วนนั้นต้องสะดุดลงชั่วขณะ และแรงงานนอกระบบที่หายไปอีกมากเช่นกัน

Advertisement

⦁ จี้แก้ปัญหา‘วาระชาติ’

รองประธานอีคอนไทยจึงเสนอว่า “รัฐบาลควรดึงปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหา เช่นเดียวกับที่ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ ยังอยากเสนอให้รัฐตั้งกรมขึ้นมาดูแลแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะ เพราะจำนวนแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมีกว่า 3 ล้านคน ตอนนี้การดูแลของภาครัฐเป็นเพียงระดับกองเท่านั้น จะดูแลทั่วถึงได้อย่างไร อีกทั้งแรงงานแต่ละอุตสาหกรรมก็มีความแตกต่างกันโดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตรที่ส่วนใหญ่จะเข้ามาแบบผิดกฎหมาย เพราะไม่มีนายจ้างและเข้ามาแค่ฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต จึงมองว่าถึงเวลาที่รัฐต้องพิจารณาการดูแลในส่วนนี้ใหม่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นนั้นรัฐบาลจะต้องทำเอ็มโอยูกับประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ใหม่ เพื่อให้เราสามารถนำเข้าแรงงานถูกกฎหมายโดยเร็วที่สุดต่อไป รวมถึงต้องมีมาตรการดูแลเกี่ยวกับโควิด-19 หรือการกักกันตัว ทั้งลูกจ้างและนายจ้าง แต่ยังเดาทางไม่ถูกว่าแรงงานที่อยู่ระหว่างการนำเข้านี้จะมาทันช่วยเหลือภาคธุรกิจหรือไม่ เพราะยังมีหลายข้อกำหนดที่ยังติดขัด”

⦁ ภาคอุตฯป่วนขาดแคลนรุนแรง

เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ภาคการส่งออกของไทยกำลังเติบโตได้ดีจากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า ซึ่งเป็นไปตามที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ได้ประมาณการไว้ว่า ภาคการส่งออกของไทยในปี 2564 จะเติบโต 12-14% ซึ่งปัจจุบันการส่งออกโตแล้ว 12% แต่ที่น่ากังวลตอนนี้คือ ภาคธุรกิจกำลังประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานต่างชาติที่สวนทางกับคำสั่งซื้อล่วงหน้า (ออเดอร์) เข้ามาจำนวนมากแล้ว ส่วนแรงงานชาวไทยที่เคยทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงเกิดคลัสเตอร์สมุทรสาคร จนถึงตอนนี้แม้สถานการณ์คลี่คลายแล้วก็ไม่ได้กลับมาทำงานต่อ ธุรกิจไม่น้อยเกิดภาวะสะดุดชั่วคราว

เมื่อธุรกิจต้องเดินหน้าความต้องการนำเข้าแรงงานต่างชาติเพื่อมาแทนคนไทยก็เพิ่มขึ้น โดยช่วงที่ผ่านมาเฉพาะแรงงานอุตสาหกรรมภาคผลิตและส่งออกขาดแคลนแรงงานกว่า 5 แสนคน และเมื่อรัฐบาลประกาศเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารและค้าปลีกก็ต้องการแรงงานต่างชาติเช่นกันอีกประมาณ 3 แสนคน แค่ 2 ส่วนนี้รวมกันกว่า 8 แสนคนแล้ว จึงเกิดขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายตามชายแดน จับกุมได้ทุกวัน อีกทั้งยังมีความกังวลว่าแรงงานที่ลักลอบเข้ามานั้นจะนำโรคติดต่อ หรือโควิด-19 เข้ามาแพร่ในไทยโดยไม่รู้ตัวหรือไม่

⦁ เสนอรัฐตั้งศูนย์แซนด์บ็อกซ์

จากข้อกังวลดังกล่าวทางภาคเอกชนจึงเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานจัดทำศูนย์แซนด์บ็อกซ์ตามแนวชายแดนขึ้นมา รวมถึงทางกระทรวงแรงงานต้องมีการประสานงานกับภาคเอกชน เพื่อทราบถึงจำนวนแรงงานที่ต้องการ และนำเข้าแรงงานถูกกฎหมาย รวมถึงดูแลในเรื่องของการคัดกรองตรวจหาเชื้อโควิด-19 จัดหาวัคซีนให้ในกรณีที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ก่อนที่จะจัดหารถและนำส่งไปยังปลายทาง หรือโรงงานที่ได้มีการตกลงกันไว้ หากสามารถดำเนินการได้จะมีผลดี ดังนี้ 1.สามารถจัดหาแรงงานได้ตามจำนวนที่ต้องการ 2.ป้องกันการติดต่อจากโรคโควิด-19 และ 3.มีการลงทะเบียนแรงงานถูกกฎหมาย สามารถตรวจสอบได้ง่าย และดีต่อความมั่นคงของประเทศ

ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานในกลุ่มแรงงานก่อสร้างเริ่มเห็นผลกระทบอย่างชัดเจนแล้ว ในบางพื้นที่ถึงขั้นขับรถตู้ไปหน้าไซต์งานเพื่อเจรจาดึงตัวไปทำงาน โดยยื่นข้อเสนอในการจ่ายเงินเดือนที่สูงกว่าเป็นเท่าตัว เพื่อให้แรงงานเหล่านั้นไปทำงานให้ ส่งผลให้หลายไซต์งานเริ่มมีปัญหากระทบกับงานก่อสร้าง จากปัญหาเหล่านี้ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้รัฐบาลต้องรีบนำเข้าแรงงานถูกกฎหมายเพื่อลดปัญหาเหล่านี้โดยเร็วต่อไป

จากปัญหาแรงงานที่ภาคเอกชนได้ฉายภาพให้เห็นข้างต้น ถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐต้องสกัดก่อนลุกลามบานปลายจนกระทบทุกภาคส่วน ส่งผลเสียต่อเป้าหมายปี 2565 ปีแห่งการฟื้นเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image