กรมชลฯ เฝ้าระวังฝนตกหนักต้นต.ค. โล่งน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลด

แฟ้มภาพ เขื่อนเจ้าพระยา

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยในระหว่างการนำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเตรียมการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาภาษีเจริญ อ.กระทุ่มแบน จ. สมุทรสาครว่า หลังจากที่กรมชลฯได้ศึกษาพบว่า พื้นที่ฝั่งตะวันตกมีการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคมและประชากรศาสตร์ ไปค่อนข้างมาก จากเดิมที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งสามารถรองรับน้ำหลากจากทิศเหนือได้ดี แต่ปัจจุบันกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร พื้นที่เชิงเศรษฐกิจ และโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก จึงส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำออกสู่ทะเลอย่างมาก จนลุกลามไปสู่ปัญหามหาอุทกภัย ในปี 2554 ขึ้น กรมชลฯจึงได้มีแผนที่จะจัดทำโครงการระบบระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และลดผลกระทบที่เกิดจากปัญหาน้ำท่วมมากยิ่งขึ้น

นายสมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2559 เขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,712 ลบ.ม./วินาที จากที่ในช่วงวันที่ 29 กันยายน – 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการระบายน้ำสูงสุด 1,998 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลงอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร (ซม.) อาทิ บางหลวงโดด ลดลง 35 ซม. บางบาล ลดลง 27 ซม.ทั้งนี้ กรมชลฯ ยังคงระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยระบายน้ำในช่วงน้ำลงทะเล อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักในช่วงต้นเดือนตุลาคม ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ไว้อย่างใกล้ชิดต่อไปทั้งนี้ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีพื้นที่เพียงพอที่จะรับปริมาณน้ำ ที่จะเกิดจากฝนตกเหนือเขื่อนได้ทั้งหมด สำหรับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนยังอยู่ในเกณฑ์มาก ยังคงต้องระบายน้ำในอัตราวันละ 40 ล้านลบ.ม./วินาที แต่จะสามารถเก็บกักน้ำได้เต็มอ่างฯ ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ สำหรับการบริหารจัดการน้ำบริเวณท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ นั้น กรมชลประทาน ได้ใช้เขื่อนพระรามหก บริหารจัดการ โดยแบ่งรับน้ำลงคลองระพีพัฒน์ ประมาณ 150 ลบ.ม./วินาที และควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก 518 ลบ.ม./วินาที โดยไม่มีพื้นที่ใดได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ

“ขอยืนยันว่า ขณะนี้ กรมชลฯยังไม่มีการระบายน้ำเข้าทุ่ง หรือ พื้นที่เกษตรกรรมในภาคกลาง เพื่อทำเป็นพื้นที่เเก้มลิง หรือพื้นที่รับน้ำแต่อย่างใด เนื่องจากขณะนี้เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำการเก็บเกี่ยว ซึ่งคาดว่าในระยะเวลา 1 -2 สัปดาห์ข้างหน้า เกษตรกรในพื้นที่น่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ หลังจากนั้นกรมชลฯจึงจะมาวิเคราะห์อีกทีว่าควรระบายน้ำเข้าทุ่งใดบ้างตามความเหมาะสมของแต่ละสถานการณ์ อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์เบื้องต้น คาดว่าจะมีการระบายน้ำเข้าทุ่งจริงเป็นปริมาณที่ไม่สูงนัก เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวปริมาณฝนและน้ำน่าจะเริ่มคลี่คลายแล้ว”นายสมเกียรติ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image